เมื่อองค์กรวิจัย ได้รับรางวัลเมขลา


จะว่าไป รางวัลเมขลาในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่น่าจะบอกได้ว่า การค้นคว้าหาความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด

ฟังดูอาจจะแปลกๆนะครับ ที่องค์กรที่ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จะมาได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงทางโทรทัศน์

แต่มันก็เกิดขึ้นจริงๆแล้วครับ ในเมืองไทยของเราแห่งนี้
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และพนักงานภายในองค์กร ร่วมแรงร่วมพลังกันผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชนออกฉายทางThaiPBS


รายการนี้ชื่อว่ารายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งมูลนิธิสมเด็จพระเทพฯ
เป็นเจ้าของรายการ

เป็นรายการพัฒนาเยาวชนให้มีความคิดในแนวทางวิทยาศาสตร์ โดยรูปแบบรายการเป็นเรื่องราวการผจญภัยของหนูน้อยสองคน แก่นและแก้ว ซึ่งผจญภัยไปในโลกกว้างภายในบ้านหลังเล็กๆที่สามารถบินได้ ร่วมไปกับคู่หูแมวและมังกร

เด็กทั้งสองได้อาศัยแนวคิดแบบเหตุและผล บวกกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำการแก้ไขวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น
เมื่อคุณบ้านพาไปพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆรอบโลกของเรา หรือแม้กระทั้งในอวกาศ และใต้ทะเลลึก

ในส่วนการผจญภัยของเด็กๆและคุณบ้านจะออกแนวแฟนตาซีเพื่อสร้างความตื่นเต้นน่าสนใจให้กับผู้ชม
ซึ่งส่วนนี้ได้สร้างขึ้นในรูปแบบของ Animation ก่อนที่จะปิดท้ายรายการด้วยการทดลองจริงจากเยาวชนที่เข้ามาร่วมอัดรายการในสตูดิโอ เพื่อให้เด็กๆได้สัมผัสด้วยตนเองและได้มีส่วนร่วมคิดต่อยอดกับเรื่องราวที่ได้พบเจอนั้นๆ


รายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้รับรางวัลมณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม สาขาแอนิเมชั่นดีเด่นยอดนิยม
ในปี พ.ศ.2555 ที่เพิ่งรับรางวัลกันไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปีเดียวกับที่ ณเดชน์ และ
ญาญ่า ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายหญิงยอดนิยม จากละครเรื่อง ธรณีนี่นี้ใครครอง

ซึ่งในส่วนของแอนิเมชั่นนี้ ผู้ที่ทำการผลิตก็คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
หรือ สวทช ที่พวกเราน่าจะเคยได้ยินชื่อในฐานะ องค์กรที่ทำหน้าที่วิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ แล้วก็ช่วยพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมสร้างภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่นี้ได้


ที่สนุกคือทีมสื่อของ สวทช เอง หลังจากที่เข้าไปร่วมประชุมกับทางมูลนิธิฯ ได้ตัดสินใจที่จะรับทำในส่วน
Animation นี้ด้วยตนเอง ทั้งที่ก็ไม่เคยทำการ์ตูนสำหรับออกอากาศมาก่อนเลย และด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็เลยต้องระดมพลเอาทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักการตลาด นักออกแบบ รวมทั้งผู้บริหารมานั่งจับเข่าคุยกัน ว่าใครช่วยทำอะไรได้บ้าง

ผู้ร่วมผลิตรายการทั้งหลาย ตั้งแต่ ThaiPBS และ นานมีบุ๊กส์ ก็เลยต้องมาช่วย สวทช เป็นการใหญ่ด้วยกัน
มานั่งคิดคอนเซปต์ด้วยกัน ออกแบบตัวการ์ตูนด้วยกัน ไปจนถึงเอาไปทดลองตลาดกับหนูๆเด็กอนุบาลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน

จะว่าไปงานชิ้นนี้ค่อนข้างเป็นวิชาการด้วย เพราะใช้ผลการทำ Market Research มาปรับแก้ไข
จนกระทั่งได้มาเป็นตัวละครน่ารักๆที่เด็กๆกลุ่มเป้าหมายชื่นชอบ


 

กว่าจะเข็นงานชิ้นนี้ออกมาให้มีมาตรฐานพอที่ทาง ThaiPBS จะยอมรับให้ออกอากาศได้ ทีม สวทช เองก็หืดขึ้นคอ
จากที่คุ้นเคยกับงานทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างหนัก ก็ได้มาเรียนรู้งานด้านศิลปะที่ต้องทำความเข้าใจในด้านอารมณ์อย่างลึกซึ้งขึ้น

จะว่าไป รางวัลเมขลาในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่น่าจะบอกได้ว่า การค้นคว้าหาความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด
เพราะงานชิ้นนี้ว่ากันจริงๆ....

เอานักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ มาเขียนบท
เอานักนักวิชาการ นักการตลาด มาพากย์เสียง
เอาผู้บริหารมาเขียนเพลง และทำดนตรีประกอบ
เอาห้องประชุมและอุปกรณ์ในห้องมาใช้อัดเสียง ไม่ได้ไปอัดกันในสตูดิโอมืออาชีพ
ขอแบ่งเวลาของคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ที่ใช้ในงานวิจัย ในช่วงที่พอหาเวลาได้มาผลิตการ์ตูน
 

ทุกคนไม่เคยมีใครทำงานในลักษณะนี้มาก่อน แต่เมื่อรับที่จะทำก็ต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกัน
ผิดๆถูกๆก็ปรับแก้ไขกันไป ทำงานกันบนพื้นฐานของการเรียนรู้แบบมีเหตุและผล มีการหาข้อมูล มีการทำ Market
Research เพื่อทดสอบแนวคิดต่างๆ เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ต้องลงทุนไปกับอะไรที่เกินตัว
หยิบสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงการพยายามพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สามารถทำสิ่งที่รับผิดชอบได้ดีขึ้น
ก็ทำให้ผลงานชิ้นนี้ออกมาเป็นที่ยอมรับในวงการโทรทัศน์ได้อย่างดี

...จนได้รับการประกาศให้ผลงานชิ้นนี้
รายการโทรทัศน์บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้รับรางวัลมณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม
สาขาแอนิเมชั่นดีเด่นยอดนิยม...

 

ลงานเล็กๆที่ไม่ได้ใช้ทุนทรัพย์มหาศาล ทำงานกันเองด้วยความสามารถของบุคลากรที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆนี้
แม้จะไม่ได้ดีเด่นเท่ากับผลงานระดับ Hollywood จากสตูดิโอระดับโลก แต่ก็เป็นที่น่าภูมิใจสำหรับกลุ่มคนในองค์กรแห่งนี้ที่สร้างรายการนี้ขึ้นมา

ถ้าสนใจจะชมรายการนี้ ตอนนี้ทางโทรทัศน์ออนไลน์ของ สวทช. (NSTDA Channel) ได้รวบรวมมาไว้ให้ชมทางออนไลน์ได้จากที่ลิงค์นี้นะครับ
http://nstdachannel.tv/category/children-and-youth/young-scientist/

______________________________________________________

ขออนุญาตใส่เครดิตเพื่อขอบคุณทีมงานผู้ผลิตไว้ ณ ตรงนี้นะครับ

ที่ปรึกษา: ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล (ผอ.สวทช), ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ (ผช.ผอ.สวทช) 
คุณ สุวิภา วรรณสาธพ (ผช.ผอ.สวทช), คุณ คิม จงสถิตย์วัฒนา (นานมีบุ๊กส์) 
Executive Producer: ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน
Producer: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
Animation Director: นาย กุลพงษ์ อ้นมณี
Character Design: น.ส.ฉัตรทิพย์ สุริยา
เขียนบท: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ดร.กิติมา ไกรพีรพรรณ, นาง รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์, น.ส.กิริณา เทวอักษร
พิสูจน์อักษร: น.ส. คณัฏฏา ศิริไพบูลย์ (นานมีบุ๊กส์) 
พากย์เสียง:
   นาง จินตนา ศรีธิหล้า (น้ำผึ้ง) พากย์เสียงแก่น
   ศิริพร ปานสวัสดิ์ (เป็ด) พากย์เสียงแก้ว
   ปาลี  บุญเสนอ (กุล) พากย์เสียงแก้ว
   ปริทัศน์ เทียนทอง (เบ้ง) พากย์เสียงมังกร
   สมรลักษณ์ แจ่มแจ้ง (แตงโม) พากย์เสียงแมว
Sound Designer: น.ส.พรวรินทร์ หาญสารานุวัฒน์
Music Composition: ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน, นาย พิธาน ตั้งอิทธิโภไคย

 

หมายเลขบันทึก: 537944เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ยินดีด้วยค่ะ

เป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของแก้วเลยล่ะค่ะ ขอบคุณทูกๆกำลังใจ และความยินดีนะคะ/ ด.ญ.แก้ว

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

สุดยอดมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท