ร่วมถอดบทเรียนกับ Happy Ba (ภาค 1)



  

  ***** ก่อนอื่นขอเรียนว่า ความจริงมีกัลยาณมิตรหลายท่านที่ผู้เขียนติดตาม แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม happy ba โดยผู้เขียนดูรายชื่อจาก http://www.gotoknow.org/posts/508047 และhttp://www.gotoknow.org/posts/537212แต่ไม่เป็นไรค่ะ เพื่อตอบโจทย์และเป็นหนึ่งเดียวกัน ผู้เขียนขออนุญาตนำบันทึกบางตอนของแต่ละท่านมาร้อยเรียงตามความคิดเห็นแล้วกันนะคะ แต่กว่าจะทำเสร็จนะคะ หลายวันทีเดียว ไม่ใช่ไม่มี แต่มีมากจนเลือกไม่ถูก เรียกว่า “รักพี่เสียดายน้อง” ค่ะ ขอเริ่มเลยแล้วกันนะคะ

  ***** การได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดสังคมหนึ่ง คือการเป็นที่ยอมรับของสังคมนั้น ครั้งแรกที่เข้าใน G2K รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ส่วนใหญ่จะมอบดอกไม้เฉยๆ ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะยังไม่รู้จักใครเลย แถมยังมีแต่ผู้รู้ทั้งนั้น แต่เมื่อได้รับการตอบรับจากกัลยาณมิตรหลายๆ ท่าน ได้ช่วยสร้างความมั่นใจ จนพบบล็อกแนะนำคือ happy ba ครั้งแรกเห็น อาจารย์ท่านหนึ่งทักทายกันด้วยคำๆ นี้ รู้สึกแปลกใจ แต่เมื่อติดตามเรื่อยๆ อ้อ! เป็นอย่างนี้นี่เอง และผู้ริเริ่มกิจกรรมดีๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน G2K ก็คือท่านอาจารย์ศิลา คุณ Sila  และบันทึกที่ได้ข้อคิด ตอน Happy Ba ฮาเฮที่ทำงาน  http://www.gotoknow.org/posts/535724  อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นว่า ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ใช่หักเหลี่ยมคนอื่น นอกนั้นท่านยังได้แนะนำวงสนทนาที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เช่น ในวงรับประทานอาหาร สภากาแฟ  พักเบรค อย่างนี้เรียกว่าใช้ทุกวินาทีอย่างมีคุณค่าค่ะ

  ***** และผู้ร่วมก่อตั้ง วงสนทนา happy ba อีกท่านคือ ดร.ยุวนุช ตอน ปีใหม่อีกครั้งแล้ว  http://www.gotoknow.org/posts/514769 ได้ตอกย้ำโดยเฉพาะในช่วงปีใหม่เพื่อเริ่มการบันทึกที่ดี จากบันทึกที่กล่าวว่า “อดีตที่ผ่านไปเป็นข้อคิด เป็นบทเรียน ปัจจุบัน และอนาคต อยู่ในมือของเราเอง เริ่มต้นใหม่ได้เสมอในปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด บัณฑิตกล่าวว่า เราสร้างอนาคตจากปัจจุบันนั่นเอง”

  ***** การเริ่มต้นที่ดีต้องเริ่มที่ความอยากรู้ คือตัวเราเอง ดังที่ Kunrapee ตอน เริ่มต้น...อยากเรียนรู้ http://www.gotoknow.org/posts/530891 ได้แบ่งปันเทคนิคเมื่อ 20 ปีก่อน (แต่ผู้เขียนคิดว่ายังเป็นปัจจุบันเสมอค่ะ) คุณ rapee ได้เข้าร่วมประชุมวิชาการ และเทคนิคที่ว่านั้นคือ

  - ไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นกับมุมมองและวิธีคิด

  - เมื่อเข้าห้างสรรพสินค้า ต้องเข้าร้านหนังสือ

  - เที่ยวต่างจังหวัดต้องมีหนังสือติดกระเป๋าไปด้วย

  - แลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนที่เราสนใจ

  - พกกล้องติดตัวตลอดเวลา เพื่อบันทึกความทรงจำและนำมาเล่าด้วยภาพ

เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้แล้วค่ะ

  ***** และแล้วผู้เขียนก็ได้พบกัลยาณมิตรผู้มีความคิดเห็นคล้ายๆ กันค่ะคุณหยั่งราก ฝากใบ  ที่ได้กล่าวถึง ชุมชนออนไลน์แห่งนี้ ด้วยการเขียนทุกประเด็นที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ได้เสนอหัวข้อมา ทั้งหัวข้อที่ถนัดและไม่ถนัด เรียกได้ว่าเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนค่ะ คุณหยั่งราก ฝากใบ ได้แวะเยี่ยมกัลยาณมิตรท่านอื่นๆ เพื่อเลือกประเด็นที่ดี นำมาปรับปรุงงานเขียนของตน และสรุปประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  1. เปิดใจ

  2. เปิดปาก

  3. เปิดหูเปิดตา

  4. เปิดสมอง

  5. เปิดช่อง

  6. เปิดรับ

ผู้อ่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ ตอน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโกทูโนว์ (3-75) http://www.gotoknow.org/posts/533533

***** และท่านที่เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เขียนและให้ข้อมูลในการเรียนรู้ตลอดเวลาอีกท่านก็คือ คุณหมอภูสุภา ตอน อยากรู้_เทคนิควิธีที่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้ตลอดเวลา http://www.gotoknow.org/posts/533001  จากบันทึกเป็นการสนทนาระหว่างแม่ลูกเรื่องการเรียนรู้ ประโยคที่ว่า “ถ้าแม่อยากรู้ ก็จะหาวิธีเรียนรู้เองแหละ” แม้จะไม่ยืดยาวแต่ตอบโจทย์ได้ทันที การรเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนจริงๆ สิ่งที่คุณหมอได้นำมาเสนอคือ อิทธิบาทสี่ นั่นเอง

  - ฉันทะ อยากรู้ ความพอใจ ใคร่รู้ง 

  - วิริยะ ความเพียร

  - จิตตะ ความเอาใจใส่

  - วิมังสา  ทบทวนเหตุผล

ถือว่าเป็นการประยุกต์คำสอนทางพุทธศาสนามาใช้กับการเรียนรู้ได้ดีทีเดียวค่ะ

***** การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น ผู้เขียนคิดว่าหากจะให้ครบทุกกระบวนความ ต้องครบทุกทักษะ อ่าน พูด ฟัง เขียน และที่นี่เราได้ฝึกครบถ้วนค่ะ โดยเฉพาะการเขียนซึ่งคุณประกาย ได้แบ่งปันไว้ ตอน ขีดเขียน สู่การเปลี่ยนแปลง  http://www.gotoknow.org/posts/533855 ดังนี้  การเขียนได้สะท้อนถึงเรื่องราวการจัดการความรู้ สรุปได้ดังนี้

  - มีใจแบ่งปัน

  - เรียนรู้ร่วมกัน

  - นำไปใช้สร้างความรู้

  - ยกระดับความรู้ (งานเขียนต้องมี right views, right concepts และ right actions)

การทำงานทุกอย่างต้องมีเครื่องมือช่วย ต้องใช้ Mind Map และสุดท้ายได้เสนอหลักการเขียนไว้ 3 ประการคือ

  1. ขั้นเตรียม ข้อมูลดิบ

  2. ขั้นเขียน

  3. ขั้นตรวจแก้

ผู้เขียนคิดว่าเมื่อได้ฝึกฝนครบทุกขั้นตอน มั่นใจว่างานเขียนของเรา จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

***** การเขียนที่ประสบผลสำเร็จคือสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ให้ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน ดังที่ คุณ แก้ว อุบล   ตอน km การถอดบทเรียนแบบมืออาชีพ แล้วมาการขีดเขียน เพื่อการเปลี่ยนแปลง  http://www.gotoknow.org/posts/535361 ตัวอย่างบางตอนในบันทึกดังนี้ “KM เหมือนนำ ไหลไปตามภาชนะบรรจุ ไม่ต้องยึดติดรูปแบบ เอาแค่แก่นของ KM ในการทำ KM ถ้าเราสามารถเก็บผักบุ้งในน้ำที่ท่วมทุ่งได้น่าจะดีและเพียงพอแล้ว เหมือนกับบอกให้เราว่า...หลังทำ KM เราอาจสรุปบทเรียนก่อน แล้วค่อยมาถอดบทเรียน ก่อนจะมาช่วยกันถอดรหัสบทเรียนนั้น ขอให้ผลลัพธ์ดี งานดี ก็ใช้ได้แล้ว...”

 ***** แน่นอนว่าการเรียนรู้ของเราไม่มีวันสิ้นสุด ที่สำคัญเราต้องรู้เท่าทัน โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ดังที่ อาจารย์ wasawat   ได้แบ่งปัน ตอน เราควรรู้ให้เท่าทันโลก ไม่ใช่ ให้โลกมารู้เท่าทันเรา http://www.gotoknow.org/posts/532607 ประเด็นคือ ผู้เขียนเองก็เคยมีความรู้สึกและมีความคิดที่ว่า แต่ก่อนไม่ชอบเลยข่าวการเมือง หรือข่าวอื่นๆ ที่อาจสร้างความเบื่อหน่าย แต่เมื่อได้รับการศึกษามากขึ้น พบว่า การรู้เท่าทันเป็นสิ่งสำคัญมาก ประทับใจบันทึกของอาจารย์จากบันทึกบางตอนดังนี้ “สำหรับตัวผมเอง เป็นประเภทเลือกสรรข่าวด้วยตัวของตัวเอง ข่าวใดที่ทำให้เกิดการยกระดับปัญญามากขึ้น จะสนใจรับรู้ ข่าวใดที่ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ ก็จะติดตาม ข่าวใดที่เป็นภัยสังคมแบบใหม่ เราก็จะระมัดระวังตนเองมากขึ้น เราคือผู้เลือกสรร” ขอบคุณแนวคิดดีๆ จากผู้รู้ค่ะ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เขียนและมีความตื่นตัวในการติดตามข่าวสารต่างๆ มากขึ้นค่ะ

 ***** การเขียนบันทึกนั้นอาจเริ่มจากงานประจำที่เราทำ โดยสอดแทรกแนวคิดที่ได้รับเพื่อแบ่งปันร่วมกัน จาก ประสบการณ์การทำงานของท่าน ผอ.ชยันต์    ตอน งานประจำ..ทำโรงเรียนให้เป็นปัจจุบัน  http://www.gotoknow.org/posts/536362  ท่านได้นำแบบอย่างชีวิตการทำงานของ รปภ.ประจำโรงเรียนมาแบ่งปันค่ะ เขาชื่อ “ยามกร่าง” ซึ่งทำหน้าที่อย่างดี นอกนั้นท่านเล่าถึงงานหลักของโรงเรียนคืองานวิชาการ ที่เป็นที่ทราบกันว่า ผลคะแนนสอบโอเน็ตปีนี้ หลายท่านคงไม่ชื่นชอบนัก แต่ที่นี่แม้จะเป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ แต่นักเรียนทำคะแนนได้ระดับสูงกว่าระดับประเทศ” ผู้เขียนคิดว่าการนำประสบการณ์ในที่ทำงานมาแบ่งปันจึงเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีสำหรับผู้อื่นด้วย

 ***** เมื่อเล่าถึงโรงเรียนขอเปลี่ยนบรรยากาศมาที่ระดับอุมศึกษาบ้าง ดร.ชยพร  ตอน การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  http://www.gotoknow.org/posts/515959  นอกจากอาจารย์จะมีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านการเกษตรแล้ว ท่านยังได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำที่ดีแก่นักศึกษาโดยสรุปประเด็นดังนี้

  1. เปิดใจรับฟัง

  2. ตีกรอบการพูดคุย

  3. สรุปตอบจากการฟัง

  4. ต้องมีเวลานั่งสมาธิก่อนให้คำแนะนำ

  5. ยึดหลักธรรม หลักการ เหตุผล

  6. มีเจตนาดี

  7. ทักทาย ให้กำลังใจ เมื่อเจอกัน

ผู้เขียนคิดว่า หลักการดังกล่าวสามารถนำมาช่วยนักศึกษาและนำมาใช้กับการทำงานได้มากทีเดียวค่ะ

 ***** เมื่อกล่าวถึงอาชีพครูก็ขอต่อเนื่องเรื่องราวของผู้เป็นครูเลยนะคะ คือ คุณ Krutoom  ตอน บทบาทครูไทยยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 http://www.gotoknow.org/posts/517496  ความจริงบทความนี้มีหลายท่านได้เสนอความคิดเห็นแต่หากนำประเด็นเดียวกันมาเล่า ก็จะทำให้รสชาติของ G2K เสียไป จึงขอนำเพียงของคุณครูตูมซึ่งเป็นบทความจากนักการศึกษาชื่อดังที่เมื่อเอ่ยนามแล้ว ไม่มีใครที่ไม่รู้จักคือ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่ว่า “ทักษะครูไทยในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย

  1. ทักษะการตั้งคำถาม

  2. ทักษะสอนให้เด็กหาความรู้ด้วยตนเอง

  3. ทักษะในการคัดเลือกความรู้

  4. ทักษะในการสร้างความรู้

  5. ทักษะให้ศิษย์คิดเป็น หรือตกผลึก

  6. ทักษะในการประยุกต์ใช้

  7. ทักษะในการประเมินผล

ผู้เขียนมั่นใจว่า ทักษะเหล่านี้หลายท่านมีอยู่บ้าง แต่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด หากได้นำมาพิจารณาไตร่ตรองอีกครั้ง ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลค่ะ ใช้ได้ทั้งที่เป็นครูและไม่ได้เป็นครู

***** อีกท่านที่ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน การออกค่ายอาสา ฯลฯ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมอๆ คือท่าน อ.ขจิต  ตอน ทักษะของคุณครู http://www.gotoknow.org/posts/517663

ท่านได้แบ่งปันโดยเกริ่นนำด้วยคำกล่าวของ มล.ปิ่น มาลากุล ว่า “กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาเป็นไปฉันนั้น” และ อ.ขจิต ได้แบ่งปันทักษะของครูในสตวรรษที่ 21 ดังนี้

  1. ทักษะในการเป็นวิทยากร

  2. ทักษะการเรียนรู้เรื่อง ICT

  3. ทักษะในการตั้งคำถาม

  4. ทักษะด้านภาษา

  5. ทักษะเรื่องความรัก โดยเฉพาะต่อลูกศิษย์

  6. ทักษะในการเรียนรู้เรื่องชุมชน

ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ และคิดว่าจำเป็นในยุคปัจจุบันอย่างมาก

***** นอกจากอาชีพครูยังมีพยาบาลวิชาชีพอีกหลายท่านที่เป็นกัลยาณมิตร ในส่วนของพยาบาลเอง การศึกษาอบรมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังตัวอย่างที่ คุณทิพยวรรณ  ตอน อบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนการสอนศตวรรษที่ 21 http://www.gotoknow.org/posts/533713 ได้แบ่งปันในบันทึกโอกาสอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายการสอนและวิจัย ว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ

  - ด้านความรู้ เพื่อรับความรู้ในการพัฒนาตนเองให้ทันศตวรรษที่ 21

  - ด้านกระบวนการ เพื่อให้เกิดทักษะ วิธีการสอนในศตวรรษที่ 21

  - ด้านการนำไปใช้ สามารถนำไปวางแผนการสอนนักศึกษาพยาบาลได้

สรุปก็คือ การคิดอย่างเป็นระบบ สอนให้ผู้เรียนหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งล้วนสัมพันธ์กันกับที่ครูท่านอื่นๆ ได้แบ่งปัน

***** การสอนที่ดีนั้นจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์หากขาดซึ่งการฝึกปฏิบัติ ผู้เขียนขอนำแนวคิดและวิธีการของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้สอนลูกชาย ด้วยการฝึกปฏิบัติจากชีวิตจริง ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง โดย อาจารย์แผ่นดิน   ตอน ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก : “เลี้ยงวัว” (ให้คะแนนเต็มร้อย) http://www.gotoknow.org/posts/535752อาจารย์สอนลูกชายด้วยการแกล้งถามคำถามเพื่อทดสอบทักษะของลูก เพื่อจะรู้ว่าวัวจะเข้าคอกได้อย่างไร จึงได้คำตอบที่แสนฉลาดจากลูกชาย “พ่อกะอย่าคึดยากหลาย ปล่อยมันย่างเข้าไปโลด มันฮู้จักหม่องนอนมันอยู่ดอก มันเข้าไปแล้ว พ่อกะจั่งย่างไปผูกมันกะได่” แปลค่ะ พ่อจะคิดยากทำไม ปล่อยมันเดินเข้าไปเลย มันรู้จักที่นอนของมันอยู่แล้ว พอมันเข้าไป พ่อจึงค่อยไปผูกเชือกมันก็ได้ บทเรียนบทนี้ ผู้เขียนอ่านแล้วก็ชื่นชมค่ะ อาจารย์ประสบความสำเร็จมากค่ะ เพราะคำตอบที่ได้รับคือความภาคภูมิใจ

***** ผู้เขียนได้กล่าวถึงกัลยาณมิตรที่มีอาชีพครูและพยาบาลหลายท่าน ต่อไปก็ขอเอ่ยถึงการบริหารงานบุคคล ซึ่งผู้ที่ให้ข้อมูลและแบ่งปันเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อคิด ประยุกต์ใช้ได้กับงานอื่น โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้างาน ได้แก่ คุณบุษยมาศ ตอน การพัฒนาบุคลากร  http://www.gotoknow.org/posts/522354  คุณบุษยมาศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ และให้แนวคิดว่า “การพัฒนามนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ คิดว่า การพัฒนานั้นเป็นไปตามยุคสมัย แตกต่างตามบริบท...การพัฒนาบุคลากรต้องอาศัยเวลา ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมดั้งเดิมของแต่ละคน” ผู้เขียนคิดว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง ในหลักบริหารแล้ว การพัฒนามนุษย์ถือเป็นการลงทุนอีกประการหนึ่งค่ะ

 ***** เมื่อมีการพัฒนาบุคลากร อะไรคือความจำเป็นที่ต้องเริ่ม นั่นคือประเด็นที่ คุณเยาวลักษณ์ ตอน อบรม เพื่อนผู้ให้คำปรึกษา Youth Counselor ตอนที่ 2 : ทักษะชีวิตอาวุธที่มองไม่เห็น 2 การฟัง  http://www.gotoknow.org/posts/510574  ผู้เขียนคิดว่า ทักษะการฟังคือสิ่งสำคัญที่ต้องมีเมื่อต้องการที่จะพัฒนา คุณเยาวลักษณ์ พยาบาลวิชาชีพ ได้เสนอทักษะในการฟังด้วยการเล่าเรื่องจากบทสนทนาของ A และ B ซึ่งครูสามารถนำไปใช้เป็นกิจกรรมในห้องได้ หรือแม้แต่เวลาจัดกิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถประยุกต์ให้เข้ากับบริบทได้

  ผู้เขียนคิดว่าการฟังจึงไม่ได้การได้ยินเสียงเท่านั้น หากแต่เป็นการฟังจากท่าทางและน้ำเสียงด้วย การฟังเป็นทักษะเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถฝึกฝนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติค่ะ

 ***** ฟังเรื่องวิชาการมานานพอควร จึงขออนุญาตย้ายฐานคิดมาที่บรรยากาศเบาๆ แบบสบายๆ แม้ท่านผู้นี้จะเต็มเปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ แต่บ่อยครั้งท่านก็ได้แบ่งปันข้อคิด บทความสบายๆ เพื่อให้กัลยาณมิตรได้ชื่นชมกับความงามของธรรมชาติ จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นคือ ดร.ปริม ตอน ห้วยน้ำดัง...หวัง...และ...รอ http://www.gotoknow.org/posts/519453  จากการบอกเล่าในบันทึกเป็นเรื่องราวความงดงามของธรรมชาติที่ท่านได้รับการบอกขานให้ติดตามจากกัลยาณมิตรใน G2K ในความงดงามของธรรมชาติ ท่านสามารถถอดบทเรียนออกมาเป็นบทความแห่งความหวังและการรอคอย ประโยคสั้นๆ ที่กินใจ “เมื่อกล้าที่จะหวัง ฉันจึงต้องยืดอกรับความผิดหวังนั้นอย่างทรนง” การเปรียบเทียบต้นไม้ที่มีนกเป็นเพื่อน กับคนที่ต้องการกำลังใจ พร้อมความเชื่อมั่นที่เปี่ยมล้น ช่างเป็นบันทึกที่งดงามยิ่งนัก

 ***** เมื่อเล่าถึงเรื่องธรรมชาติ คงไม่มีกัลยาณมิตรท่านใด ไม่ปฏิเสธที่จะทักทาย มอบดอกไม้ให้กับ คุณนงนาท   ตอน ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยความรักและการให้  http://www.gotoknow.org/posts/520247  ท่านคือหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) และผู้ทรงคุณวุฒิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สมแล้วกับหน้าที่ของท่าน ทุกบันทึกล้วนเป็นโครงการดีๆ ที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม น้ำพระทัยจากในหลวงท่านซึมซับมาเต็มๆ ค่ะ

 ***** ผู้อ่านกำลังเอิ่บอิ่มกับเรื่องธรรมชาติ ผู้เขียนขอต่อด้วยบันทึกของ คุณวรรณชไม   ตอน ประทับใจยิ่งนัก...”นักอนุรักษ์น้อย”...  http://www.gotoknow.org/posts/520617 ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของเด็กๆ อาแบ (พี่) และอาเด๊ะ (น้อง) ซึ่งกำลังตื่นเต้นกับการหาปลาในแหล่งน้ำของชุมชนในปัตตานี  พวกเขาฝึกทักษะชีวิต ประเด็นคือพวกเขาเลือกจับเฉพาะตัวโตๆ ที่มีขนาดพอจะประกอบอาหารได้ พวกเขากำลังทำหน้าที่ผู้อนุรักษ์น้อยๆ ผู้บันทึกได้บรรยายถึงเรื่องราวการจับสัตว์ป่า ตัดไม้ทำลายป่า จนความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นบันทึก “ฤา..วิกฤตจะมาถึงเร็วไป ...หากคนไม่มีจิตสำนึกและขาดศีลธรรม?? เราคงต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อปลูกฝังสิ่งดีงามในใจคน..” ผู้เขียนอ่านบันทึกและอยากให้กำลังใจว่า อยุธยายังไม่สิ้นคนดีค่ะอาจารย์

***** กล่าวถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อเลยนะคะ เมื่อใจที่มาพร้อมกับการปลูกฝังที่ดี จึงขยายวงกว้างออกไปสุ่ชุมชน ดังที่ คุณครูมะเดื่อ  ได้นำมาแบ่งปันในบันทึก ตอน ปลูกป่าชายเลน http://www.gotoknow.org/posts/500886 ซึ่งเป็นการนำลูกศิษย์สมาชิกชมรม 2 ภาษาศิลป์ เพื่อร่วมกันปลูกป่าชายเลน นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้ลงสู่ภาคปฏิบัติ เด็กๆ ได้รับความสนุกสนาน ชุมชนและธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เห็นแล้วเป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่งนักค่ะคุณครู

 ***** ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนคิดต่อไปว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น คงเป็นเพราะคนไม่รู้จักคำว่า “พอ” กระมัง ทำให้นึกถึงกัลยาณมิตรท่านนี้ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกข่มใจตนเสมอๆ คือ คุณ Kapoom  ตอน สมถะ...เพื่อพอ  http://www.gotoknow.org/posts/536621 ในบันทึกเล่าถึงประสบการณ์ในการฝึกฝนตนในทางธรรมมากถึงสิบปี การที่ลดใช้ชีวิตในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การทานอาหารนอกบ้าน การงดซื้อของที่ไม่จำเป็น โดยอาศัยศีล 8 ใจความบางตอนดังนี้ “แรกๆ ..เราอาจดูเหมือนแตกต่าง แต่พอนานเข้าก็กลายเป็นความคุ้นชิน  การรักษาศีล 8 ในชีวิตประจำวันในช่วงแรกของชีวิต ถือว่าเป็นการทดลองปฏิบัติ ไม่ได้แสดงออกชัดเจน แต่เป็นการซ้อม ฝึกฝนและทดลอง...”

 จากประสบการณ์นี้ ได้ให้ข้อคิดเรื่องความพอเพียง แม้ทุกคนไม่อาจจะรักษาศีล 8 ได้ แต่อย่างน้อย ความสมถะ พอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การรู้จักพอ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นก็เพียงพอแล้ว

 ***** มีกัลยาณมิตรหลายท่านที่ได้นำหลักธรรมคคำสอนทางศาสนามาแบ่งปัน อาจด้วยการเล่าประสบการณ์ หรือการอ่านจากหนังสือธรรมะ ซึ่งคุณ Tawandin  ตอน ร้อยธรรม นำสู่ รู้กายรู้ใจ http://www.gotoknow.org/posts/523080  ได้นำคำสอนของเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเองก็ชื่นชมอย่างมาก คือ บ่มเพาะความสดใส ให้ชีวิต (พระไพศาล วิสาโล) “ทุกชีวิต ย่อมปรารถนาความสงบเย็นทั้งจากภายนอกและภายใน ร่มไม้นั้น ให้ความสงบเย็นภายนอก ส่วนความสงบเย็นภายในนั้น หาได้จาก...เรือนใจ” ผู้เขียนคิดว่าผู้มีธรรมะในใจ ย่อมเป็นผู้มีสติรู้ตัวค่ะ ขอบคุณที่นำธรรมะดีๆ มาแบ่งปันค่ะ

 ***** ผลของธรรมะนั้น ย่อมแสดงออกภายนอก ซึ่งผู้อื่นสามารถรับรู้ สัมผัสได้ และความดีย่อมคุ้มครองผู้นั้น ดังที่ ผศ. ดร.วิชญธรรม  ตอน ธรรม ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม  http://www.gotoknow.org/posts/521253 เป็นบันทึกที่เรียบง่ายแฝงไว้ด้วยคุณธรรมที่ผู้เป็นพ่อสอนลูกชาย “สิ่งที่หลวงปู่สอน ทุกอย่างเป็นสัจธรรม และป้าป๊าอยากให้ซันรับรู้ว่า..

  1. ความเมตตา

  2. ธรรม ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

  3. รักษาศีลให้บริสุทธิ์

ผู้เขียนเองได้รับความรู้และแนวคิดดีๆ จากพุทธศาสนาไปมากเลยค่ะ

 ***** ธรรมะที่มีในใจ ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในการทำงาน การทำหน้าที่อย่างดี ด้วยความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น บุคคลรอบข้างที่อยู่ใกล้ชิดมากที่สุด ควรได้รับผลจากกระทำความดี ดังที่ คุณทิมดาบ  ตอน แม่...กับเพลงนานแล้วที่ไม่ได้ฟัง... http://www.gotoknow.org/posts/530812 จากบันทึกเล่าเรื่องเรื่องราวของผู้เป็นแม่ที่ได้กระทำต่อลูกน้อย ดังบันทึก “...สิ่งที่ฉันนั้นไม่รู้มาก่อน เธอบอกให้ฉันได้รับรู้ ด้วยการสวมกอด ว่าสิ่งที่ฉันนั้นค้นหา  ที่ชีวิตนี้ไขว่คว้ามาตลอด ก็คือเธอ...” เป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งเชื่อว่าท่านอื่นๆ ก็กระทำเช่นกัน แต่หลายท่านคงไม่มีโอกาสได้กระทำในปัจจุบันแล้ว อาจเพราะอยู่ห่างไกลหรือท่านไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วเช่นเดียวกับผู้เขียนเอง อ่านบันทึกแล้วพลอยซึ้งใจไปด้วยพร้อมภาพบรรยายที่คุณทิมดาบได้สระผมให้ผู้เป็นมารดา

 ***** เมื่อเอ่ยถึงแม่ หลายท่านก็นึกถึงแม่บ้านด้วย จึงได้มีบันทึกน่ารักๆ ของ ท่านวอญ่า  ตอน เสน่ห์แม่บ้าน...ลูกหลานเต็มเริน (เรือน) http://www.gotoknow.org/posts/533132 ได้นำเรื่องราวของศรีภรรยาผู้เป็นที่รักของลูกหลาน พร้อมฝีมือทำอาหารคาว หวาน ช่างเป็นภาพประทับใจนัก ความผูกพันของครอบครัวคือเกราะป้องกันภัยจากสังคมอย่างดีเยี่ยม แต่ผู้เขียนคิดว่าฝีมือทำอาหารแม้จะเก่งเพียงไร แต่น้ำใจของผู้นั้นต่างหาก ที่มีผู้คนแวะเวียน ผ่านไปมา หาเป็นเพียงฝีมือทำอาหารอย่างเดียวก็หาไม่

 ***** นอกจากผู้เป็นแม่ แม่บ้าน แล้ว ลูกๆ ก็สามารถทำอาหารได้ ด้วยการสอนของพ่อแม่และแบบอย่างที่ดี จะสอนให้พวกเขามีทักษะในการดำเนินชีวิต ดังตัวอย่างลูกสาวของ คุณแสงแห่งความดี  ตอน อาหารเพื่อสุขภาพ...ที่หนูทำเอง  http://www.gotoknow.org/posts/530546 ซึ่งหุงข้าว ทำไข่เจียว สำหรับพ่อและพี่ชายของเธอ ช่างเป็นภาพที่ประทับใจ และเป็นบรรยากาศที่หายากขึ้นในยุคปัจจุบัน น้องดวงใจลูกสาวคนเล็กสามารถทำกับข้าวแทนแม่ที่ติดประชุม HA ได้ การปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำอะไรด้วยตนเองบ้าง เป็นการสอนด้วยการดูห่างๆ คล้ายโค้ชชิ่งนะคะ แถมน้องดวงใจยังได้เกร็ดความรู้จากแม่ด้วย ต่างกับหลายคนที่รักลูกไม่ถูกทาง ไม่ยอมให้ทำอะไรเลย ผู้เขียนเชื่อว่าไข่เจียววันนั้นเป็นมื้อที่อร่อยสุดๆ ใช่ไหมคะ คุณแสงแห่งความดี

***** ความรัก ความผูกพันในครอบครัว คือสายใยและภูมิคุ้มกัน การนำเรื่องราวที่ดีของลูกๆ มาแบ่งปัน นอกจากจะช่วยสร้างสีสันให้ G2K แล้วยังเป็นการส่งเสริมให้กำลังใจแก่กันและกันด้วยค่ะ เพราะเด็กๆ ตัวน้อยเหล่านี้คือกำลังใจของผู้เป็นพ่อแม่ และอนาคตของชาติ จากบันทึกของ คุณอักขนิช ตอน เก่ง ดี มีความสุข  http://www.gotoknow.org/posts/531181 นำเรื่องราว ความน่ารักของลูกสาว 2 คนมาแบ่งปันเสมอๆ ครั้งนี้คือผลการเรียนที่น่าชื่นชม แต่ที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าคือการที่เด็กๆ เหล่านี้เป็นคนดีของสังคม เพราะเห็นแบบอย่างของพ่อแม่ จนหล่อหลอมพวกเขาให้เติบโตในแวดวงสังคมของคนดี พี่เพียงพอและน้องแพรวพราว ลูกสาวอยากให้พ่อมีความสุข จนถึงกับพูดว่า “หนูจะสอบให้ได้ที่ 1 และจะเอา 5.00 เลยจ้า จะได้เก่งกว่าพี่เพียงพอ” ความไร้เดียงสาของเด็กๆ ก็น่ารักแบบนี้นี่เอง


หมายเลขบันทึก: 537352เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บันทึกนี้ใช้ "พลัง" มากมายมหาศาลเลยนะครับ

ชื่นชม ๆ  ครับ ;)...

เห็นด้วยกับท่าน อ.วัต ครับ

คุณ เป็นนักอ่านที่ยอดเยี่ยมเลยล่ะครับ

เพียบเลย..."รักพี่เสียดายน้อง"  จริงๆ นะครับเนี่ย   555

สาระเพียบล้น...กรองมาให้เป็นอย่างดี  ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วปิติมากค่ะ น้ำตาจะไหลด้วยความซาบซึ้ง บันทึกนี้สะท้อนความเป็นนักอ่าน นักจับประเด็น และถอดสาระความงามของบันทึกแต่ละท่านได้อย่างน่าทึ่ง น่าชื่นชมมาก ๆ ค่ะ โอ้โห ไม่ทราบว่าจะสรรหาคำชมอย่างไร เหนือคำบรรยายค่ะ   เห็นด้วยกับอาจารย์ Wasawat ค่ะ บันทึกนี้ทรงพลังจริง ๆ 


    อ่านบันทึกนี้แล้ว รู้เลยค่ะ ว่า "คุณ tuknarak" ต้องทำงานหนักกว่าที่ผ่านมามาก เพราะการสร้างงานเขียนจากการสะท้อนสิ่งที่ได้อ่านนี่ ไม่ใช่งานหมูๆ เลยนะคะ แล้วนี่นำเสนอตั้งเกือบ 30 เรื่อง ขอชื่นชมในความเป็นนักอ่าน และความสามารถในการนำมาถอดบทเรียนค่ะ

    "ไอดิน-กลิ่นไม้" ผู้เชื่องช้ายังไม่ได้เริ่มงานนี้เลยนะคะ แค่วางแผนขั้นต้นในการทำงานนี้เท่านั้นเองค่ะ ขอเรียนรู้จากคุณ tuknarak ก่อนนะคะ ขอบคุณค่ะ  

ขอชื่นชมค่ะ น่าประทับใจมากๆ 

มาร่วมชื่นชมบันทึกที่น่าจดจำ และ happy Ba มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท