“ค่างแว่นถิ่นใต้”.. สายสัมพันธ์ชีวิตกลางป่าใหญ่ ณ.เขาพะเนินทุ่ง


เจ้าตัวที่กระโดดจากเรือนยอดหนึ่งไปอีกยอดหนึ่ง แขน ขายาว ขนสีเทา บางตัวมีลูกอ่อนขนสีทองเกาะด้านหน้า ขณะเคลื่อนที่ เห็นหน้าตาบอกได้ว่า ที่บริเวณด้านข้างตา ต่างจากส่วนอื่นบนใบหน้า คล้ายแว่นตาหรือคล้าย ตัวอักษร “C.” มองจ้องให้ดี .....ใช่เลย ..”ค่างแว่นถิ่นใต้”

ค่างแว่นถิ่นใต้”.. สายสัมพันธ์ชีวิตกลางป่าใหญ่

ณ. ยอดเขาพะเนินทุ่ง  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน




กิ่งก้านไหว ใบแกว่งสะบัด เห็นเพียงคาคบไม้ สะกดใจให้หยุดมองชั่วขณะ  ใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหว ก็ยังมองไม่เห็นตัว พยายามเพิ่มการสังเก...ยังไม่ใช่ แต่ก็ไม่รู้สึกผิดหวัง  เพราะก่อนที่จะเลิกราติดตามเจ้าตัวที่เคลื่อนที่ไว  มองไปด้านหน้า ยากที่จะละสายตา ด้วยสีหวานของช่อดอกกล้วยไม้ป่า   หลากช่อ แต้มเติมสีสะพรั่งบานในป่า ณ. เวลานี้   เหลียวมองไปทางไหนก็ชื่นตา  ..อย่ากระนั้นเลย นั่งชมบรรยากาศสบายๆ มีกล้วยไม้ป่า รายรอบ  ณ. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ  โซนกล้วยไม้ป่า ยอดเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์  ที่เราปลีกตัวไปเติมพลังจากธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ปกคลุมด้วยทะเลหมอกยามเช้า (อ่านเพิ่มเติมได้ที่   http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/566




กล้องส่องทางไกล (spotted telescope) และ DSLR D90เตรียมพร้อมไว้ ..เล็งๆว่าจะกดระรัวชัตเตอร์เมื่อไหร่  ขณะที่นั่งพักจากการเดินดูนก ยามเช้า ที่ดูจะบินเข้ามาทักทาย หลากหลายทั้งชนิดและจำนวน  นั่นคือเพื่อนๆที่เราไปเยือนป่าครานั้น ในเส้นทางฯหลายสายบนยอดเขาพะเนินทุ่งในระยะเวลา 2 คืน 3 วันที่เราไปกางเต็นท์ ค้างแรม ท่ามกลางธรรมชาติที่นั่น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/574)



เช้านั้นโดยไม่คาดคิด... ..อะไรเอ่ย??..หน้าตาบ๊องแบ๊ว ...นั่งหันด้านหน้ามาพอดีกับมุมกล้องที่กำลังส่องดูกล้วยไม้ป่าบนคาคบ

...ครอบครัวที่เข้ามาเพิ่มสีสันยามสายในช่วงนี้  เห็นทีจะเป็นเจ้าตัวที่กระโดดจากเรือนยอดหนึ่งไปอีกหนึ่งและต่อๆไป  แขน ขายาว ขนสีเทา บางตัวมีลูกอ่อนขนสีทองเกาะด้านหน้า ขณะเคลื่อนตัว เดิน ห้อยโหนไปตามยอดไม้ กิ่งก้านแกว่งไกวให้เห็น คะเนว่ามีหลายตัวทีเดียว..หน้าชัดๆในกล้องส่องทางไกล...เห็นหน้าตาบอกได้ว่า ที่บริเวณด้านข้างตา มีลักษณะผิวหนังที่มีสีด่าง ต่างจากส่วนอื่นบนใบหน้า คล้ายแว่นตาแต่เป็นเพียงครึ่งหนึ่ง ลักษณะคล้าย ตัวอักษร “C.” มองจ้องให้ดี .....ใช่เลย ..”ค่างแว่นถิ่นใต้”



และแล้วในที่สุด...กล้วยไม้ป่าช่อนั้นก็อันตรธานหายไป  อยู่ในมือของเจ้า... ที่จงใจเด็ด ไม่ดมไม่ชม และแล้วก็เอาเข้าปาก เคี้ยวได้น่ามอง..  ...กล้วยไม้ป่า..เจ้าจงภูมิใจ ถึงแม้ว่ากว่าจะออกดอกได้ ช้าปานใด ไม่ใช่เพียงแต่ รูปสวย กลิ่นหอมเท่านั้น  แต่ชั่วอึดใจก็หมดสิ้นแล้วซึ่งชีวีที่อยู่รอดมา ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบ  ตามบทบาทและกลไกในระบบนิเวศแห่งนี้  ในฐานะเป็นพืชอิงอาศัย (epiphyte)  เป็นผู้ผลิต  ปรุงอาหาร แถมด้วยการคายออกซิเจน ให้กับโลก   บทบาทขณะนี้  สละชีวิตเป็นอาหารโดยตรง ที่ไม่ต้องปรุง..สำหรับค่างแว่น. ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริโภค  สรรพสิ่งแล้วเป็นไปตามครรลองแห่งกฏธรรมชาติ   สักวันหนึ่งก็จะต้องเป็นเรา  เตรียมความพร้อมไว้ ฝึกเจริญสติและใช้ชีวิตอย่างประณีตเถอะนะ  เผลอเตือนตน และเหลียวมองไปรอบๆ  ณ. บริเวณป่าที่ยอดเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  มีนกและผองเพื่อนหลายชนิด ให้เราได้ยลและยิน  ไม่ว่าจะเดินหรือนั่งพักผ่อน ก็จะผ่อนคลาย ใช้ประสาทสัมผัสได้ครบทุกส่วน ในการทำความรู้จักกับชีวิตในป่า  (สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/578)




ทำความรู้จักเพื่อนตัวน้อยนี้  ... ค่างแว่นถิ่นใต้ (Dusky Langur) เป็นสิ่งมีชีวิตจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับคน (primate) เป็น สัตว์นม/สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) ฝ่ามือ มือ เท้าสีดำ หางตรงยาว  (สังเกตจากรูป)   อยู่กันเป็นสังคม  ดูแลกันในกลุ่ม  ตัวเมียดูแลลูก    ลูกค่างเกือบทุกชนิดจะมีขนตัวสีเหลืองทองเช่นเดียวกับค่างแว่นถิ่นใต้   และจะเกาะที่อกแม่   ถึงแม้ว่าขณะแม่เคลื่อนไหว   ทั้งคู่จะดูแลไม่แยกจากกันจนกว่าลูกจะโต  ... ใครนะที่ช่างจะใจร้าย ..พรากแม่-ลูก เพียงเพื่อล่าแม่ค่างนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารป่า ปล่อยให้ลูกค่างกำพร้าแม่ หรือมิวาย จับลูกค่างไปขายอีก ...เฮ้อ!! เศร้า... ควรช่วยกันดูแล ให้วิถีสัตว์ป่าอยู่คู่กับป่า...หยุดเสียทีกับพฤติกรรมที่พรากลูกพรากแม่.. เสียงร้องโหยหวนของแม่ที่เสียลูก ตามหาลูก หรือลูกที่ขาดแม่... เป็นอย่างไร..มิอาจจะบรรยาย..


โดยพฤติกรรม..ค่างแว่นถิ่นใต้  กินใบไม้ ยอดไม้อ่อนๆ และดอกไม้เป็นอาหารหลัก แต่กินแมลงเสริมบ้างเป็นครั้งคราว  อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม มีอาณาบริเวณที่ชัดเจน (territory)  นั่นหมายถึง เป็นทั้งแหล่งอาศัย และอาหาร  ชีวิตกลางป่าใหญ่ ที่เป็น"บ้าน" มีอาหารพร้อม และเปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล ... จึงน่าพิศมัยยิ่งนัก..


การดำรงชีพในป่า...ค่างแว่นถิ่นใต้มักจะหากินกระโดดข้ามไปมาในเรือนยอด หากินใบไม้เป็นช่วงๆแล้วพัก... เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำหน้าที่ย่อยเซลลูโลสจากใบไม้  คิดๆแล้วน่าพิศวงใน กลไกการย่อยอาหาร   เพราะต่างกับสัตว์กินพืชที่มีกระเพาะ 4 กระเพาะ เช่นวัว ควาย  พวกสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ  แต่ค่างแว่นแม้กินพืชก็ยังมีกระเพาะเดียว  เพียงแต่เอนไซม์ในการย่อยเซลล์พืช จะส่งผ่านจากแม่ไปยังลูก  ฉะนั้นลูกค่างแว่นที่ถูกนำมาเลี้ยงโดยมนุษย์ก็มักจะเปราะบาง ด้วยขาดกลไกดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เกิดขึ้นในวิถีตามธรรมชาติ เท่านั้น ...มนุษย์เราอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องการจะเลี้ยงด้วยความน่ารัก ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง... ยกเว้นกรณีจำเป็นต้องช่วยเหลือในบางสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อค่างแว่น


การกระจายตัวของค่างแว่นถิ่นใต้และถิ่นเหนือใช้เส้นละติจูด ..เป็นเกณฑ์ ทางเขตภูมิศาสตร์ของโลก พบค่างแว่นถิ่นใต้ ได้ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย ..ในประเทศไทยพบการกระจายในภาคใต้เป็นหย่อมๆ แถบภูเขาหินปูน หรือชายทะเล

ประจักษ์พยานเท่าที่ได้ไปพบเจอ..”ค่างแว่นถิ่นใต้”..ด้วยตนเองมาแล้ว  ก็เช่นเดียวกับที่มีรายงานไว้   เริ่มตั้งแต่ เพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  แนวเขาเป็นทางเดินของสัตว์ที่จะเดินทางติดต่อ ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี    จากนั้นก็ เจอน้องค่างแว่นได้อีกที่  “เขาหินปูนริมทะเล..แถบ  จ. ประจวบคีรีขันธ์    ต่อมาก็ที่ จ. ชุมพร (บ้านเกิดของฉัน)..ที่ถ้ำเขาพลู   และไม่พบค่างแว่นถิ่นใต้อีกเลย จนกระทั่งไปพบแหล่งอาศัยอีกที่ จ. สตูล..อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา  ส่วนในคาบสมุทรมาเลย์นั้นพบที่ เกาะปีนัง..


ภาพวาดลายเส้น ค่างแว่นถิ่นใต้ โดยคณะนักวิจัยชาวเบลเยี่ยม....ณ ยอดเขาพะเนินทุ่ง ที่เราไปใช้ชีวิตที่นั่นในช่วงเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/579)


สาระน่ารู้

ค่างในบ้านเรามี 2 สกุล สี่ชนิด ได้แก่ ค่างแว่น..(ถิ่นเหนือ Trachypithecus phayrei), ถิ่นใต้ (T. obscura), ค่างหงอก (T. cristata)  และค่างดำมลายู (Presbytis melalophos)   โดยเฉพาะค่างแว่นถิ่นใต้  ชื่อนั้นมีความหมาย เนื่องจากที่รอบตามีลักษณะคล้ายการสวมแว่นตา (spectacles langur)  แต่ไม่ครบวง เป็นรูปอักษร " C"


มีใครทราบบ้างไหม??. .นอกจากค่างแว่นถิ่นใต้  ก็จะมีเพื่อนคู่ักันคือ  "ค่างแว่นถิ่นเหนือ" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก  เพียงแต่  มีข้อแตกต่างกันพอที่จะสังเกตได้ง่าย .. อะไรเอ่ย??


ฝากคำก่อนลา... อ่านแล้ว..ใครไม่หลงรักน้องค่างแว่นบ้าง?? ...โปรดเมตตา อย่าำทำร้ายสัตว์ป่าเลยนะ  ไม่ว่าจะเพื่ออาหารที่มีเมนู "อาหารป่า" หรือความเชื่อในเรื่องเป็นยารักษาโรค  โปรดรักษา่ป่าที่เป็นบ้านให้..ค่างและผองเพื่อน รวมถึงกล้วยไม้ป่าได้อาศัยพึ่งพา   อีกทั้งเราได้ไปเยือนเยี่ยมป่าด้วย :-))


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1329


หมายเลขบันทึก: 534808เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ให้ค่ะ

ยังไม่เคยสัมผัสกับ ค่าง ได้แต่เห็นภาพและในสารคดีบ้าง อ่านแล้วรู้สึกว่าเขาก็น่ารักเชียวค่ะ

ตอบคำถาม... (จากคำตอบที่ให้ไว้ในบันทึกแล้ว) ว่า  ลักษณะที่แตกต่างกันของค่างแว่นเหนือน-ค่างแ่ว่นใต้คือ

ที่รอบตามีลักษณะคล้ายการสวมแว่นตา (spectacles langur)  แต่ไม่ครบวง เป็นรูปอักษร " C"

     ขอบคุณที่  ให้ความรู้ค่ะ

ที่เขาล้อมหมวก ในกองบิน 5 ประจวบฯ  มีค่างแว่นถิ่นใต้เยอะจ้ะ

ดีจังค่ะ ชอบใจมากค่ะ คนถ่ายเก่งมากค่ะ

ใครจะมีบุญได้สัมผัสกล้วยไม้ป่าได้ใกล้ชิดเพียงนี้ .......คนไปดูก็มีบุญ และเจ้าตัวที่อยู่ที่นี่ก็มีบุญค่ะ ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีๆ ค่ะ

ขอขอบคุณบันทึกที่งดงาม น่ารัก ชอบจังค่ะ

อยากให้สิ่งต่างๆเหล่านี้คงอยู่ตลอดไป ไม่ต้องไปอยู่ในจานใบหรูที่ร้านอาหาร 

ด้วยระลึกถึงค่ะ อาจารย์:)


สวัสดีค่ะพี่อาจารย์

ภาพของเจ้าค่างแว่น ทำให้ปริมอ่านบันทึกนี้นานมากค่ะ เพราะมัวแต่มองดูรูปที่แสนจะน่ารักค่ะ 

อยากเป็นกล้วยไม้ให้เจ้าได้เก็บกินจังค่ะ ;)

ขอบคุณความงดงามของชีวิตที่นำมาฝากในค่ำคืนนี้ค่ะพี่อาจารย์

ขอบคุณครับ ได้ทั้งความรู้และเสน่ห์ของภาพครับ ผมประทับใจในความน่ารักและวิถีชีวิตขิงมันที่ทำให้เรารู้เรื่องธรรมชาติมากขึ้นครับ..ภาพที่ชอบมากๆคือ ตอนที่ค่างกำลังกินดอกกล้ายไม้ครับ 


สวัสดีค่ะ...คุณวรรณชไม...แวะมาอ่านเรื่องราวของค่างแว่น มาชื่นชมฝีมือการถ่ายภาพ...ค่างแว่นน่ารักมากๆนะคะ...ขอบคุณค่ะ

บ่องตง ชอบจุงเบย    น่าทำเป็นหนังสารคดี  

สวัสดีค่ะคุณหยั่งราก ฝากใบ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายและ ฝากความเห็นไว้ค่ะ ..อืืมม์..ค่างแว่นน่ารักจริงๆ โดยเฉพาะเห็น กลุ่มครอบครัวของค่างเหล่านี้ในธรรมชาติ ในป่า..ที่ควรจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ...เพราะเราเข้าไปเยือนในถิ่นของเขา ถ้าไม่ทำตัวให้กลืนกันกับสิ่งแวดล้อมที่ค่างแว่นอาศัยอยู่ก็จะสังเกตเห็นตัวได้ยากค่ะ  นิสัยเคลื่อนที่เร็ว ไม่อยู่นิ่ง  และเป็นความโชคดีที่กล้วยไม้ป่าบานในช่วงนั้น ดูเหมือนค่างแว่นก็รอคอยโอกาสนี้  เลยลงมาเก็บกินซะนี่..แอบดูพฤติกรรม ผ่านกล้องส่องทางไกล โดยที่น้องค่างไม่รู้ตัวค่ะ  จึงได้เห็นว่า พฤติกรรมทางสังคมและ ตัวเดี่ยวๆเป็นอย่างไร ทีมงานก็เลยเก็บภาพได้ แบบไม่ขยับเขยื้อนกายใ้ห้ค่างสังกตเห็นค่ะ

อุ๊ปส์..คำถามไม่เคลียร์  ขออภัยๆๆ:-((  เอาเป็นว่า..ลักษณะของค่างแว่นถิ่นเหนือที่ต่างจากค่างแว่นถิ่นใต้ ก็ตรงที่วงที่รอบตานั่นหล่ะค่ะ ครบเป็นวง และ วงรูปตัว C อย่างที่กล่าวไว้

สวัสดีค่ะคุณครูทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาเยือนค่ะ  เห็นน้องค่างแว่นเค้ากินใบไม้  ยอดไม้  ทำให้นึกถึงเมนูอาหารที่คุณครูทิพย์นำเสนอหลายเมนู เร็วๆนี้  ช่าง น่าทาน น่าอร่อย  ..คล้ายๆกับที่เห็นค่างแว่นกินกล้วยไม้ป่าวันนั้น  อืมม์..หนึ่งช่อหมดไปอย่างรวดเร็ว..คงอร่อยไม่ต่างกันกับเมนูอาหารของครูทิพย์  แน่ๆเลย  อิอิ :-))

สวัสดีค่ะคุณมะเดื่อ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ค่างแว่นถิ่นใต้  พบได้ที่ เมืองประจวบเช่นกัน. เคยไปเยี่ยมน้องค่างที่นั่นด้วยแล้วนะคะ .พูดถึงกองบินแล้ว 5 แล้วคิดถึงเช่นกัน  เพราะไปเยี่ยมตั้งแต่สมัยเด็กๆ มีคุณลุงทำงานเป็นทหารในกองบิน บ้านพักก็อยู่ในนั้นด้วย  โดยเฉพาะ.. อ่าวมะนาวเีนี่ย..ไปเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ สวย ชอบมากจนเดี่ยวนี้ ยิ่งได้ปีนขึ้นเขาไปและมองมุมสูงยิ่งสวยค่ะ  วันก่อนไปเที่ยว เดินริมหาดช่วงที่ต้นปีบออกดอก หอมไปทั่ว  ไว้ีมีโอกาสจะไปเยี่ยมอีกค่ะ  อาจจะมีโอกาสได้เจอกับคุณมะเดื่อบ้างก็ได้นะค่ะ :-))

ค่างแว่นถ่ินใต้...ที่เขาล้อมหมวก ก็จะมีแหล่งอาศัยที่ต่างไปจากยอดเขาแก่งกระจานด้วยลักษณะของระบบนิเวศ ในเรื่องอาหารการกิน  แต่ความน่ารัก ความเป็นครอบครัวของค่างก็คงไม่ต่างกันนะค่ะ  จะได้อยู่คู่กับประจวบฯ เป็นโอกาสให้เด็กๆและผู้สนใจได้เรียนรู้ค่ะ :-))

สวััสดีค่ะคุณ Bright Lily

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย และดีใจที่ชอบค่างแว่นค่ะ  ส่วนใหญ่ถ้าเห็นไวๆ ก็จะได้เพียง ภาพแหงความประทับใจว่า เคลื่อนที่เร็ว ปรู๊ดปร๊าดกระโดดจากยอดไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง  ไม่เคยได้เห็นภาพ ค่างแว่นนั่งนิ่งๆ หยิบดอกไม้กินเป็นอาหาร  ดูเป็นธรรมชาติดีจัง   และรู้สึกดีที่เห็นครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้มีสุขในป่า ตามประสาสัตว์ป่าค่ะ

โดยส่วนตัวก็นับว่าดีใจเช่นกันที่ได้เห็นและบันทึกภาพนี้ค่ะ  ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพก็ยกให้ทีมงานและกองเชียร์ที่ทั้งแบกกล้อง ขาตั้งกล้องและ กล้องเทเล..อืมม์..หลายกิโลเชียวค่ะ ทั้งน้ำหนักและระยะทางในการเดิน  แต่เป็นการเดินในป่าที่ร่มรื่นก็ลืมไปเลยกับความหนักและความไกล 

หากคุณ Bright Lily ชอบเดินทางพักผ่อน หาโอกาสไปเยีืือนนะค่ะ  ไม่ไกลนัก ที่เมืองเพชรนี่เอง  แต่กว่าจะไปถึงยอดพะเนินทุ่ง อช. แก่งกระจาน   การเดินทางต้องวางแผนหน่อยค่ะ  และรถที่ใช้เดินทางควรเป็น 4W  เพราะทางมีทุกรูปแบบ   และทาง อช.จำกัดจำนวนรถและคนที่ไปใช้พื้นที่ด้วยค่ะ เพื่อรบกวนสัตว์น้อยที่สุด โดยจัดให้รถเดินทางขึ้นและลงเป็นช่วงเวลาค่ะ  รับรองว่าหากได้ไปที่นั่น..สงบ ผ่อนคลาย รายล้อมด้วยธรรมชาติจริงๆค่ะ  อ้อ..น้ำตกก็มีนะค่ะ  เดินลงไปเที่ยวก็ได้เหงื่อมาท่วมตัวละค่ะ แฮ่ๆ มีทากดูดเลือด คอยทักทายเล็กน้อย   อาจฝากรัก ด้วยรอยแผลไว้เพื่อบอกว่า ได้มาเยือนผืนป่าทางตะัวันตกแล้วนะค่ะ ..:-))

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม และฝากความเห็นไว้    ค่ะ..ค่างแว่น น่าตา พฤติกรรมน่ารัก น่าเอ็นดู  เต็มไปด้วยพลังที่อบอุ่นกัน อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่  ไปไหนก็ไปด้วยกัน  ตัวเล็กๆสีทอง ที่เกาะแม่ก็ได้ฝึกทักษะการกระโดด เคลื่อนที่ในหมู่ยอดไม้ ดูแล้วคล่องแคล่วจริงๆ. อยู่ไม่นิ่งนัก  ยังนึกถึงสมัยเด็กที่เรียนว่า "พวกลิงล่างกลางป่า จับมามัด สาระพัดฝึกได้ดังใจหวัง...  นึกเห็นภาพว่าจะต้อง "มัด" เชียวหรือนี่  จึงจะฝึกกันได้..แฮ่ๆ...หรือไม่ก็เปรียบเปรยว่า ซนยังกะลิง ค่าง...ต่อไปคงไม่ค่อยมีใครเปรียบเปรยอย่างนี้อีกแล้วกะรมัง  ..เพราะไม่แน่ว่าจะรู้จักค่างหรือไม่...หรือบอกความแตกต่างของ ลิง กับ ค่าง ได้หรือไม่...ยังสงสัยค่ะ ..  จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ผ่านน้ำร้อนมาก่อน  มีโอกาสก็จะแนะนำ บอกเล่าให้รู้จักกันค่ะ  จึงเป็นที่มาของการเขียนบันทึก..ค่างแว่นถิ่นใต้ ..นี้ค่ะ พีใหญ่ :-))

สวัสดีค่ะน้องหนูรี

คนริมเลตานี คิดถึงชาวถ้ำเช่นกันนะคะ..รู้สึกว่าเรายังมีพันธะกิจต่อกัน เอาไว้พี่ติดต่อกลับไปอีกครั้งนะค่ะทางเมล์   เพิ่งจะได้มานั่งสางงานและเขียนบันทึกบ้างก็ช่วงนี้ละค่ะ

ค่างแว่นถิ่นใต้น่ารัก น่าชัง มากค่ะ   แต่ถ้าให้เอามาเลี้ยงก็คงไม่ใช่  เพราะเห็นน้องค่างแว่น ตาแป๋วๆนั่งกินดอกไม้ในป่า ดูแล้วเหมาะจะเป็น"บ้าน" ของเขามากกว่า   แฮ่ๆ..แม่ครัวหัวป่าก์อย่างน้องหนูรี.. ยังไม่อยากให้สิ่งที่เห็นไปอยู่ในจานหรู รสเด็ด... บางครั้งมีข่าว เห็นซากเนื้อสัตว์ป่าที่มาวางขายแล้ว สะท้อนใจว่า ..กินอย่างอื่นไม่ได้้แล้วหรือ??   กิเลศหนาปกคลุม ถึงกับจะมองไม่เห็น ..ตาบ๊องแบ๊วของผองสัตว์เหล่านี้  เป็นไปได้อย่างไร??  เขาก็มีครอบครัวของเขาเช่นกัน  แถมไม่ได้ทำร้ายใคร  มีแต่คนใจร้ายไประรานเขาถึงถิ่น เข้าป่าไปล่าสัตว์..เฮ้อ..จนใจจริงๆเจียว.. แล้วจะบ่นมากกว่านี้  ไปก่อนละนะ ..ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทายเสมอ :-))

สวัสดีคะน้องปริม

ที่สิงค์โปร์ ไม่ทราบว่ามีค่างแว่นหรือปล่าวนะคะ??  พี่เห็นที่ปีนัง แต่เรื่อยลงไปในคาบสมุทร ไม่ทราบว่ามีกระจายไปถึงไหนค่ะ  อืมม์...เพราะความน่ารัก ของค่า่งแว่น จึงอยากจะใช้โอกาสนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทำไมคนที่ชอบกินอาหารป่า จึงไม่เห็นความน่ารัก ของสัตว์ป่าแม้แต่น้อย จ้องจะกินร่ำไป ระรานชีวิตอื่นๆ ... อืมม์..พี่ชื่นชมน้องปริมนะค่ะ ที่ไม่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร...(ของพี่ก็ทำเป็นครั้งคราวในช่วงกินเจประจำปี บางทีก็กินนานกว่านั้น จนกว่าวัตถุดิบในการปรุงอาหารฝืดเคือง ก็เลิก   แต่โดยปกติการทำอาหารทานเองก็จะเป็นผักๆ ไข่ เต้าหู้และปลา/อาหารทะเล เป็นส่วนใหญ่ค่ะ) ไม่คิดจะเบียดเบียนชีวิตอืน อย่างน้อยก็ได้ขัดเกลากิเลสลงบ้างนะ่คะ

น้องปริมค่ะ  พี่สังเกตดู เจ้าค่างแว่น ที่ถ่ายรูปมา  สงสัยว่าจะถนัดขวา นะค่ะ อิอิ.. เพราะเจ้าจะถือดอกไม้ด้านซ้าย และมือขวาจับเข้าปาก  คล้ายกับเราที่ส่วนใหญ่ถนัดขวากัน ทักษะการใช้มือของพวก primate ก็จะคล้ายๆกัน บางท่าจับดอกกล้วยไม้ทั้งสองมือ พิจารณาเลือกว่าจะเด็ดส่วนไหนกินก่อน ช่างจะฉลาดจริงๆค่ะ

มีการบันทึกไว้ว่า วิธีการที่แม่ค่า่งทำให้ลูกหย่านมเร็วขึ้น ก็จะหาใบพืชมาทา ลูกดูดนมก็จะขม  คล้ายๆคนแต่ก่อนที่มีเทคนิคหย่านมด้วยการใช้บอระเพ็ด.. ฮือๆๆ..ขมๆๆ .ลูกกินแล้วโดนรสขมก็มีอยากกินต่อไป...พฤติกรรมคล้ายกันในเชิง evolution นะค่ะ  แฮ่ๆ..เพียงแต่สังสัยสนุกๆค่ะ น้องปริม  ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณลูกหมูเต้นระบำ

ดีใจค่ะ ที่ทราบว่าประทับใจ ค่างแว่นถิ่นใต้.. โดยเฉพาะที่บอกว่า ชอบภาพค่างแว่นกินดอกกล้วยไม้ ...หากมีโอกาสแวะไปชมในถึงถิ่นนะค่ะ ที่เพชรบุรี อช. แก่งกระจาน   และยอดเขาพะเนินทุ่ง เป็นยอดที่มีลานกว้าง กางเต็นท์ได้ค่ะ  หรือไม่ก็พักที่บ้านกร่าง สถานทีพักรถในช่วงแรก ในเส้นทางก่อนได้รับอนุญาตขึ้นไปที่ยอดพะเนินทุ่ง    อืมม์...ที่บ้านกร่าง ก็เต็มไปด้วย ผีเสื้อสวยๆ นกเยอะๆ    แต่ที่พะเนินทุ่ง นกและบรรยากาศทะเลหมอกค่ะ น้ำค้างลงแรงมากในเวลากลางคืน  คงต้องเลือกเวลาไปที่นั่นสักหน่อย  บางช่วงอาจจะคนเยอะ แย่งกันใช้ทรัพยากรก็จะดูอึดอัด   แต่ช่วงต้นมีค. ที่เราไปที่นั่น มีสามหลังค่ะ วันต่อมามีนักดูนก เป็นทัวร์จากต่างประเทศ ก็มีอีกหนึ่งเต้นท์ใหญ่  ถือว่าคนน้อยมาก ตื่นเช้ามาก็มีเสียงนกเงือก ร้องเสียงก้อง อย่างกะให้พรพวกเราค่ะ ..ขอบคุณที่แวะมาทักทายและฝากความเห็นไว้ค่ะ... เอ..คุณลูกหมูเต้นระบำ..ท่าอะไรน๊า??. ถ้าทางปักษ์ใต้ มีระบำพื้นเมืองที่ชอบเช่น... รองเง็ง และตาลีกีปัส. จังหวะสนุกด้วย ท่าเต้นก็สวย  ทราบว่า เลียนแบบจากธรรมชาติค่ะ สนใจบ้างไหม๊คะ :-))

พี่อาจารย์คะ 

เท่าที่ไปเดินป่ามายังไม่เห็นค่างที่นี่นะคะ ลิงมีเยอะมากค่ะ แถบบ้านก็มีลิงมาเดินเที่ยว บางวันตื่นมามีลิงนั่งอยู่บนต้นสนนอกหน้าต่างด้วยค่ะ แต่ยังไม่เคยเห็นค่างค่ะ ถ้ามีคงตื่นเต้นเป็นที่สุด เคยเห็นค่างแบบนี้สารคดี The Living Edens ค่ะ แต่พี่อาจารย์ได้เห็นตัวจริง แถมยังสังเกตอีกด้วยว่าถนัดขวา สุดยอดไปเลยค่ะ

พี่อาจารย์พูดจนจำได้ถึงรสขมของบอระเพ็ดที่คุณยายใช้ให้หย่านมตอนก่อนไปโรงเรียนค่ะ แฮ่ะๆๆๆ พรรคพวกเดียวกัน... 

เรื่องสัตว์ป่า สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ปริมคิดว่าสำหรับคนที่มีความรักให้สิ่งอื่น นอกเหนือไปจากตัวเอง เขาจะกินสัตว์น้อยลงค่ะ เป็นธรรมชาติของคนที่มักปกป้องสิ่งที่ตนรัก หากสิ่งที่รักนั้นคือชีวิตอื่น เขาคงกินมันไม่ลง ฆ่ามันไม่ลง พรากลูกพรากแม่มันไม่ได้ แต่หากใจไร้รักแล้ว ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ค่ะ หากถามว่าชาตินี้สิ่งที่ทำแล้วสุขใจที่สุดของปริมคืออะไร การที่ละเว้นการเบียดเบียนชีวิตอื่นก็คงเป็นสิ่งหนึ่งค่ะ ;)

ดีใจจังที่พี่อาจารย์ก็ไม่ค่อยเอ็นจอยเนื้อสัตว์เท่าไหร่... ทำเท่าที่เราทำได้นะคะ

ระลึกถึงค่ะ


สวัสดีค่ะ ดร. พจนา

ดีใจค่ะ ที่ชอบความน่ารักของ ค่างแว่น   ปกติเวลาไปเที่ยวป่า เห็นอะไรก็จะนึกถึงว่า หลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีในบ้านเรา เป็นความภูมิใจที่ระบบนิเวศบ้านเรามีแหล่งอาศัยที่เหมาะและที่อื่นไม่มี  ผืนป่าจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี สำหรับการรู้จักสัตว์ป่า ควรรักษาป่าไว้   และ อช. แ่ก่งกระจาน เข้าถึงได้ไม่ยากนัก ที่ยอดพะเนินทุ่งก็มีพื้นที่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตแบบ outdoor  อีกทั้ง มีความพิเศษทางภูมิศาสตร์เป็นรอยต่อแนวเทือกเขา ตะนาวศรี ลงไปต่อในแนวสันกาลาคีรีทางใต้ด้วย  สัตว์ป่าจึงเดินไปมาถึงกัน  และโดยเฉพาะเรื่องนก ที่เป็นแหล่งรวมของนกอพยพจากเหนือและใต้   อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความน่ารักเป็นทั้งคุณและโทษ...  ส่วนใหญ่พอเห็นว่าน่ารักก็จะนำไปเลี้ยงดู เป็นเจ้าของ  เลยอยากจะชวนเิชิญว่า สัตว์ป่ามีความน่ารักเป็นธรรมชาติก็เมื่อเขาอยู่ในที่ของเขาคือป่า ...ขอบคุณที่แวะมาเยือนและฝากความเห็นไว้ค่ะ :-))

สวัสดีค่ะ..คนถางทาง

ขอบคุณที่แวะมาเยือน บันทึกค่างแว่นถิ่นใต้   ดีใจค่ะที่ทราบว่าชอบ  บังเิอิญ โชคดีช่วงที่ถ่ายภาพได้เป็นช่วงเช้า แสงกำลังสวย  น้องค่างก็มานั่งตรงกล้องที่เซ็ทไว้สำหรับดู ดอกกล้วยไม้พอดี เลยได้ระรัวชัตเตอร์กัน  และเดาว่าคงเป็นอาหารมื้อเช้าของค่างแว่น และครอบครัว  เพราะสังเกตดูไม่ว่า ดอกกล้วยไม้อยุ่ตรงไหน  น้องค่างก็จะเดินไปเด็ดกินอย่างที่เห็นในภาพ ค่ะ  

อืมม์..สำหรับคำแนะนำว่า...น่าทำเป็นหนังสารคดี ...ขอบคุณค่ะบ่องตง ..ชอบจุงเบย  .. ช่วงนี้ก็เก็บสะสมต้นทุนทางปัญญาก่อนนะค่ะ   อิอิ:-)).

อาจารย์เขียนได้น่าติดตามน่าอ่าน ได้สาระ ความรู้ และความน่ารักของค่างแว่นถิ่นใต้บ้านเรามากเลยนะครับ

..

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

สวัสดีค่ะคุณแสงฯ

ยินดีที่แวะมาทักทายค่ะ ..  ค่างแว่นถิ่นใต้.. ที่นำมาเขียนบันทึก  ส่วนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงความสุขตามวิถีธรรมชาติของผองเพือนสัตว์ในป่าใหญ่ที่เป็นบ้าน แบ่งบันพื้นที่ร่วมกัน   การมองเขาเหล่านั้นแล้วสะท้อนมามองเรา ชวนคิดมากมายค่ะ    การไปเยี่ยมเยือนถึงถิ่น จึงเป็นโอกาสในการนำมาเล่าให้นักศึกษาที่ดูแลอยู่ และใช้เป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างความตระหนักในการรักษ์ธรรมชาติ  จึงนำมาไว้ที่นี่ด้วยค่ะ .. ความหลากหลายทางชีวี ของดีบ้านเรา..ควรภูมิใจและร่วมกันรักษ์ไว้.. ขอบคุณค่ะ:-))

จำได้ว่าเคยถ่ายได้ตอนไปแก่งกระจานเหมือนกัน ขอไปค้นภาพก่อนนะครับ

เจอแล้วครับ

ตอนไปเที่ยวพบเขาเป็นฝูง แต่เคลื่อนที่ไวมาก

ผมแอบถ่ายแทบไม่ทัน กลัวรบกวนเขา


สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

ขอบคุณที่นำภาพมาแชร์ไว้ที่นี่ด้วยค่ะ ...อืมม์..หางยาวเห็นได้ชัดเจน และเคลื่อนที่เร็ว  ไปไหนไปกันเป็นกลุ่ม กระโดดอย่างกับนักกายกรรมค่ะ   ส่วนภาพที่พี่ได้มานั้น เราไปนั่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ค่า่งแว่นมาใช้พื้นที่ และเป็นเวลาที่กล้วยไม้ป่า ออกดอกบานสะพรั่ง  เดินชมแล้ว เราก็นั่งพักดูโน่นนี่นั่น  และสังเกตว่า เมื่อค่างแว่นเข้ามาก็จะเด็ดก้านดอกกล้วยไม้กิน จึงเซ็ทกล้องไว้ที่หนึ่งช่อ   เดาใจน้องค่างไว้ว่าประเดี๋ยวจะต้องมี บางตัวปีนมาเด็ดกินแน่ ๆ  และแล้ววันนั้นเราก็ได้รางวัล ประจำวัน... ได้เห็นหน้าตาค่างแว่นชัดเจน... แพนกล้อง spotted telescope..ไปมาก็สังเกตพฤติกรรมได้มาก  มิรู้เบื่อ   แต่ก็แอบส่อง และสังเกตอย่างเงียบๆ เคลื่อนไหวช้าๆ ไม่ให้แแปลกปลอม ดูจนน้องค่างกินกล้วยไม้หมดช่อ  เวลากินก็มีตัวอื่นมาแย่งตามประสาเด็กๆซนๆ  ขอมีเอี่ยวด้วย  เพลินดีค่ะน้องแอ๊ด  หากมีโอกาสก็จะไปเยี่ยมอีกหลายๆๆๆครั้ง  ชอบบรรยากาสที่นั่นค่ะ.:-)) ว่าจะเอาหลานๆวัยเด็กที่ กทม. ไปนอนค้าง กางเต็นท์ในป่า สอนดูนกดูไม้ดูค่างแว่นและผองเพื่อนบ้างค่ะ ..  น้องแอ๊ดก็คงชอบเช่นกันใช่ไหม๊เอ่ย?? 

สวัสดีดร.วรรณชไมแวะเอาภาพลูกนกเค้าแมวมาฝากค่ะ

                                 

หลงรักตั้งแต่แรกพบแล้วล่ะคะ่

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร. พจนา

ขอบคุณที่แวะมาทักทายอีกครั้ง  พร้อมของฝากที่ชอบมากค่ะ...ฮืมม์..ช่างรู้ใจ  อิอิ :-))  นกเค้าที่คานาดาเหรอค่ะ?? เอ..เป็นนกเค้าชนิดไหนน๊า??  ขนตัวปุยๆอย่างนี้   ชอบทุกตัวเลยค่ะ    แหม..นึกถึง snowy owl...

.นกเค้าทุกชนิดมีบทบาทที่น่าสนใจมากในระบบนิเวศ  เป็นผู้ล่าในยามค่ำคืน ที่มีความสำคัญในสายใยอาหาร ควบคุมพฤติกรรม predator & prey ในระบบ..กินหนู กินงู..  ในบ้านเรามีหลายชนิดและกำลังถูกคุกคามไปเรื่อย ๆ ทั้งเค้ากู่ (นกฮูก, collared scops owl)  นกแสก (barn owl)  ฯลฯ 

 เมือไม่นานมานี้ได้มีโอกาส เชิญชวนกันดูนกกลางคืน ในมอ.  เห็นชีวิตยามค่ำคืนของนกกลางคืน เปรียบเทียบกับช่วงพักผ่อนกลางวัน   หรือนกกลางวันที่พักผ่อนกลางคืน  ช่างน่าสนใจมากค่ะ   สักวันจะมาเล่าให้ทราบกันนะค่ะ  

ขอบคุณค่ะ  สำหรับ  ภาพลูกนกเค้า.. ที่เต็มไปด้วย..ขนตัวชนิด...down feather..:-))

สวัสดีค่ะคุณยาย อุปส์ คุณมนัสดา

 อืมม์...หลงรักตั้งแต่แรกเห็น...เช่นกันค่ะ.ก็น้องค่าง น่ารักจริงๆด้วย...  แต่หากใครรักชอบกล้วยไม้ป่า  อาจจะคิดว่า น้องค่างเป็นนักทำลายก็ได้น๊า?? .. .มองได้หลายมุม..แถมเราอาจจะมองไม่ครบอีกต่างหากค่ะ เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในระบบนิเวศ   แต่เอาเป็นว่า วิถีในธรรมชาติสรรพสิ่งก็มีทั้ง "โครงสร้าง"  "หน้าที่" และ "บทบาท" ในระบบนิเวศที่สัมพันธ์กัน ..ถ้าไม่มีการแทรกแซง ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศที่สมดุล ยั่งยืน  แต่มนุษย์เราก็ช่างจะใจดี/ใจร้าย ..ชอบแทรกแซงจัดการไปซะหมด เพื่อประโยชน์ของใครน๊า??        แฮ่ะๆๆ    รวมถึงการที่เราเข้าไปเยือนป่า ไปดูนก ดูน้องค่าง ฯลฯ  นี่ก็เข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตของสัตว์ป่า พืชป่า    แต่ปลอบใจว่า พยามทำตัวให้เป็นปกติ รบกวนน้อยที่สุด  เป็นเพืื่อนกัน  respect กันในเบื้องต้น  จึงได้สังเกตเห็นน้องค่างแว่นถิ่นใต้และกล้วยไม้ป่า ..อย่างที่นำมาแบ่งปันไว้ที่นี่ค่ะ ..  ..ขอบคุณ คุณยาย..( ยังสวย)..ที่แวะมาทักทายค่ะ :-))

สวัสดีค่ะ อ่านเรื่องค่างแว่นทำให้สงสารสัตวชนิดมากๆเดี่ยวนี้แถวบ้านไม่่มีแล้วเมื่อ 40 กว่าปีเคยกินแกงค่ัวค่างบ่อยๆเนื้อมันอร่อยมากสัตว์ป่าหมดไปป่าถูกทำลายหาดูยากดีใจได้ดูรูปและความเป็นอยู่ของค่างแว่น น่ารักค่ะ

สวัสดีค่ะ อ. นภวรรณ

ขอบคุณที่เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับค่าง  อืมม์... เมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน สัตว์ป่าคงเยอะกว่าปัจจุบันแน่ๆ และค่างป่าก็คงเยอะนะค่ะ จากที่เล่ามาว่าได้กินแกงคั่วค่างบ่อยๆ  การถูกล่าเพื่อเป็นอาหารก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงของสัตว์ป่า รวมถึงการทำลายแหล่งอาศัยคือพื้นที่ป่าลดงลง

ดีใจค่ะ ที่ทราบว่าชอบเรื่องราวของค่างแว่นที่นำเสนอ  บังเอิญได้เห็นค่างแว่นถิ่นใต้ช่วงที่กล้วยไม้ป่าบาน ก็เลยได้โอกาสในการเฝ้าดูน้องค่างได้ใกล้ชิค่ะ  การได้ไปเห็นชีวิตของสัตว์ป่าอยู่ในป่า หาอาหารกินได้เองตามธรรมชาติ ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการรักษาป่าที่เป็นเสมือนบ้าน แหล่งอาหาร และคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่า และสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันในระบบ  ซึ่งถ้าป่าถูกทำลาย สัตว์ป่าอยู่ไม่ได้ การถูกพรากจากครอบครัวใหญ่ เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไปเพิ่มภัยคุกคามให้กับสัตว์ป่า  ถึงแม้ว่ายังมีส่วนหนึ่งก็เข้าใจและไม่พยายามไปแทรกแซง แถมด้วยความรักและเมตตาให้กับสัตว์เหล่านี้ ..ขอบคุณที่แวะมาเยือนและฝากความเห็นไว้ค่ะ :-))

๑.ท่านอาจารย์ ถ่ายรูปเก่งจัง

๒.อยากจะเห็น ในป่าจริงๆ ซักครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท