วรรณคดีศึกษาในระดับมัธยมศึกษา: หยุดก้าวย่ำ...นำก้าวหน้า


วรรณคดีศึกษาในระดับมัธยมศึกษา: หยุดก้าวย่ำ...นำก้าวหน้า


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


             วรรณคดีหรือวรรณกรรมย่อมเป็นศิลปะอันวิจิตร คำว่าวิจิตรในที่นี้ มิใช่ด้วยการประกอบขึ้นจากเส้นสาย  สีสัน หรือรูปร่างที่ปรากฏแก่สายตา แต่เป็นความวิจิตรที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ จากการที่ผู้อ่านเกิดความตื่นตาและตื่นใจ จากสัมผัสรับรู้รสเสียงแห่งถ้อยคำ และรสสัมผัสอันเร้าใจของ  ถ้อยความ  ที่นำไปสู่ความคิดอันบรรเจิด  ด้วยคุณูปการของวรรณคดีและวรรณกรรมดังกล่าวนี้เอง  นักวรรณคดีจึงมุ่งหวังว่า เมื่อได้บรรจุวรรณคดีหรือวรรณกรรมเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษา อย่างน้อยก็ปรากฏเป็นรูปธรรมในตำราเรียนทั่วไปแล้ว  เยาวชนหรือผู้เรียนที่ได้ศึกษา  จะเกิดอรรถรสต่าง ๆ จากการอ่าน เฉกเช่นเดียวกับตน อันจะนำไปสู่การสร้างความคิด ที่ขยายขอบเขตออกไป ก่อเกิดเป็นปัญญาและปรีชาชาญจากการอ่านในที่สุด


               แต่การณ์กลับหาได้เป็นเช่นที่นักวรรณคดีวาดหวังไว้ไม่ เพราะจากการสังเกตการจัดการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมในชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา ก็พบว่าปรีชาญาณการอ่านของผู้เรียนไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เลย ก็ด้วยเหตุใดเล่า หากมิใช่การจัดการเรียนการสอนของครูภาษาไทย  ที่ส่วนหนึ่งมิได้นำพาต่อพันธกิจของการศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรม ที่เน้นการสร้างปัญญาความคิด จากศิลปะที่ผู้เขียนรังสรรค์ขึ้น  ภาพที่ปรากฏคือ  ครูภาษาไทยส่วนหนึ่งกลับไปมุ่งเน้น  การสอนที่ทำให้วรรณคดีและวรรณกรรม กลายเป็นตัวบทที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา  ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และถูกขุดขึ้นมาศึกษาพอเป็นพิธี หรือพอที่จะอ้างแก่ผู้อื่นได้ว่าได้ลงมือศึกษาแล้ว  การศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมประเภทนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาที่ “ตื้นเขิน” คือ รู้ว่า วรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้น คืออะไร มีรายละเอียดเนื้อหาอย่างไร  แต่หาได้ทราบเลยว่า วรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้น มีนัยอย่างไร มีเป้าหมายในการสร้างเพื่ออะไร  และต้องการจะสื่อความคิดใดมาสู่ผู้อ่าน  ซึ่งคำถามประการหลัง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถตอบได้จากการศึกษาด้วยการถอดความ ดังที่ครูภาษาไทยทั่วไปนิยมปฏิบัติ  แต่จะต้องอาศัยการศึกษาด้วยการตีความเท่านั้น  และการสอนตีความนี้เอง ที่ครูภาษาไทยไม่สามารถนำพาผู้เรียนให้ไปถึงได้ ชั้นเรียนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่  จึงยังคงย่ำอยู่กับที่ คือ  ย่ำอยู่กับการถอดความ  หรือแปลความหมายของวรรณคดีหรือวรรณกรรมอยู่นั่นเอง


             ครูภาษาไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะการตีความวรรณคดีและวรรณกรรมที่ตนเองอ่าน  เพราะวรรณกรรมนั้น จะมีคุณค่าหรือไม่ มิได้อยู่ที่ตัววรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่วรรณคดีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการตีความโดยฝ่ายผู้อ่าน ซึ่งมีความคิด ประสบการณ์ และ  ความเป็นปัจเจกชนเข้ามามีส่วนในการทำความเข้าใจความหมายต่าง ๆ อันทำให้เกิดคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมแต่ละเล่มขึ้น ซึ่งอาจแตกต่างเปลี่ยนแปรไปตามผู้อ่านแต่ละคน วรรณคดีเรื่องหนึ่ง  เมื่อผ่านการตีความโดยผู้อ่านคนหนึ่งแล้ว  อาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ในขณะที่ผู้อ่านอีกคนหนึ่ง อ่านวรรณคดีเรื่องเดียวกันนั้น ก็อาจจะตีความ และลงข้อสรุปเห็นไปว่า งานนั้นเป็นศิลปะชิ้นเอกในชีวิตของตนก็เป็นได้ การตีความจึงเป็นกิจอันเสรี ที่ส่งเสริมสิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย  ครูภาษาไทยจึงต้องตระหนักถึงหลักการของตีความในประเด็นนี้ให้มาก และไม่พึงเลยที่จะยัดเยียด  ผลของการตีความของตนสู่ผู้เรียน  เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว  การตีความย่อมมิใช่  กิจอันมีเวลาเป็นที่สิ้นสุด หรือจบภายในตัวเอง ตราบที่เวลาเปลี่ยน ประสบการณ์ของผู้อ่านเปลี่ยน  เหตุปัจจัยต่าง ๆ ในการอ่านเปลี่ยน ความในวรรณคดีหรือวรรณกรรม ก็ย่อมถูก  “ตี”  ไปได้หลากหลายยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปมาได้ด้วยเช่นกัน  ความพยายามที่จะบังคับให้ความหรือนัย  ต่าง ๆ ในวรรณคดีคงที่ หรือไม่เปลี่ยนแปลง ย่อมจะส่งผลให้ในที่สุดแล้ว  คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมในฐานะศิลปกรรม และแหล่งบ่มเพาะปัญญาความคิดย่อมสูญสิ้นไปด้วย


             สิ่งแรกที่ครูภาษาไทยควรฝึกฝนตนเอง เพื่อให้เกิดทักษะการอ่านวรรณคดีหรือวรรณกรรมคือการ “หาช่องว่าง” ในการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม  คำว่าช่องว่าง มิใช่วรรคตอนของ  การพิมพ์โดยทั่วไป แต่เป็นการเปรียบเทียบ  หมายถึงช่องว่างทางความคิด ที่ผู้อ่านจะต้องใช้ความคิดของตนเติมเต็มเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่อ่านนั้น  นักวรรณคดีศึกษาอย่าง เจตนา นาควัชระ (2555: 234) ได้อ้างถึงคำพูดของนักวรรณคดีชาวเยอรมันที่ชื่อ วอล์ฟกัง  อิแซร์ ว่า  ช่องว่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจในการอ่าน วรรณคดีที่มีคุณค่า คือวรรณคดีที่มีช่องว่างมาก  เพราะผู้อ่านได้ใช้จินตนาการของตนเข้าไปผสมผสาน  การผสมผสานและเติมเต็มช่องว่างทางความคิดเหล่านี้ ก็คือการตีความนั่นเอง  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ครูภาษาไทยจะต้องเป็นผู้ที่ช่างสังเกต และหมั่นเติมเต็มช่องว่างในการอ่านอยู่เสมอ จากการคิดต่อ  และคิดเพิ่มเติมจากวรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน เช่นนี้ จึงจะเริ่มแสดงให้เห็นสัญญาณของความ “ก้าวหน้า”  ในชั้นเรียนวรรณคดีและวรรณกรรม ที่จะไม่หยุดนิ่งหรือ “ก้าวย่ำ” เฉกเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอีกต่อไป


           อย่างไรก็ตาม มีประเด็นอันน่าจะหยิบยกมากล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ด้วยว่า  การตีความวรรณคดีควรเกิดขึ้นหลังจากการถอดความวรรณคดีใช่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับประเภทของวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่นำมาให้ผู้เรียนศึกษาด้วย  เพราะคงเป็นความจริงที่จะต้องกล่าวว่า การถอดความจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่อ่านนั้น เขียนขึ้นด้วยสำนวนภาษา หรือใช้คำศัพท์ที่ผู้เรียนไม่คุ้นเคย ไม่ทราบความหมาย ดังที่ปรากฏในสิ่งที่เรียกว่า “วรรณคดีมรดก” การศึกษาวรรณคดีประเภทนี้  ผู้เรียนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการถอดความ เพื่อให้ได้สาระสำคัญของเรื่องก่อนที่จะไปคิดต่อหรือคิดเพิ่มเติม  แต่สำหรับวรรณกรรมบางประเภท โดยเฉพาะวรรณกรรมปัจจุบัน อาทิ  เรื่องสั้นหรือนวนิยายนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มศึกษาจากการถอดความก่อน  เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องแปลความหมาย เป็นแต่เพียงการให้ผู้เรียนสรุปรายละเอียดเบื้องต้นของเรื่อง  จากนั้นผู้สอนก็สามารถที่จะนำผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการของการศึกษาในเชิงตีความได้ทันที อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า  การถอดความนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตีความ และครู ภาษาไทยจะหยุดกระบวนการเรียนการสอนวรรณคดีหรือวรรณกรรม เพียงแค่ในชั้นของการถอดความ  หรือสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่อ่านนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการสอนแบบที่เรียกว่า “ครึ่ง ๆ กลาง ๆ” ไม่ครบองค์ประกอบของกระบวนการศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรม และเป็นการก้าวย่ำอยู่กับที่ ดังที่ได้เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้นั่นเอง 


               การตีความ คือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดต่อ หรือคิดแย้ง ในประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้เขียนแสดงไว้ (เจตนา นาควัชระ, 2555: 234) แล้วการสอนให้ผู้เรียนคิดต่อหรือคิดแย้ง ควรมีลักษณะเช่นไร


              ดังที่กล่าวแล้วมาข้างต้นว่า ครูภาษาไทยไม่พึงละเลยที่จะเป็นผู้หาช่องว่างในวรรณคดีและวรรณกรรมที่ตนเองอ่าน  ความช่างสังเกตเกี่ยวกับช่องว่างทางความคิดนี้เอง ที่จะนำครูภาษาไทยไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ จากการอ่าน  ดังนั้น ข้อปฏิบัติประการแรกในการเตรียมการสอนให้ผู้เรียนตีความคือ ครูภาษาไทยจะต้องค้นาพบช่องว่าง หรือประเด็นเหล่านั้นก่อนให้จงได้ จากนั้นก็จะต้องรู้จักที่จะหยิบยกประเด็นเหล่านั้นชูให้ผู้เรียนเห็น และโน้มนำให้ผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการของการตีความ ด้วยการคิดต่อ คิดเพิ่ม คิดริเริ่ม หรือคิดโต้แย้ง  ในที่นี้ จะแสดงตัวอย่างของการจับประเด็นที่นำไปสู่การตีความ  จากวรรณคดีเรื่องราชาธิราช ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ ในช่วงต้น จับความตอนที่มะกะโทวางแผนที่จะกำจัดอลิมามาง เจ้าเมืองเมาะตะมะผู้เป็นน้องเขย และคิดที่จะยกตัวเป็นเจ้าครองเมืองเสียเองนั้น  ความในวรรณคดีกล่าวไว้ว่า 


 

  “ตัวเราเป็นพี่เมียอลิมามางมิได้คิดประทุษร้าย และอลิมามางให้ไปลวงเรามาจะฆ่าเสียด้วยหาสาเหตุมิได้  อลิมามางคิดมิชอบก็ถึงแก่ความตายเอง แผ่นดินเมืองเมาะตะมะก็เป็นสิทธิของเรา บัดนี้ เราจะให้ตั้งศาลาใหญ่ศาลาหนึ่ง  สำหรับสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรทั้งปวงไปมาอาศัย”

 

 

              จากข้อความข้างต้น แม้เมื่อสืบย้อนกลับไปในเนื้อความจะอ้างเหตุว่า อลิมามางเป็นฝ่ายผิด เพราะคิดอ่านที่จะลอบสังหารมะกะโทพี่เขย ด้วยใจริษยา เพราะเห็นว่า มีผู้คนไปขึ้นกับมะกะโทมากกว่าตนเอง จึงคิดกำจัดเสีย ด้วยการวางแผนล่อลวงให้ไปกินเลี้ยง แต่มะกะโทซ้อนแผนแล้วจับ  อลิมามางสังหารได้ แต่การให้เหตุผลแก่ผู้อื่นว่า  เมื่ออลิมามางตายแล้ว แผ่นดินเมืองเมาะตะมะก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ตนนั้น ดูจะเป็นการคิดสรุปที่รวบรัดเกินไปหรือไม่  คำถามนี้สามารถหยิบยก  นำขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปรายของทั้งชั้นเรียนได้  และอาจจะนำไปสู่การอภิปรายถึงสาเหตุว่า เป็นไปได้ที่การฆ่าอลิมามางและเข้ายึดครองเมือง เป็นแต่เพียงการหาข้ออ้างให้เกิดความชอบธรรม เพราะเมื่อว่ากันที่ใจของมะกะโทแล้ว เห็นได้ว่า  ย่อมมีใจปรารถนาอยู่ในแผ่นดินเมาะตะมะมาก่อนหน้านี้แล้ว  ทั้งกับที่ได้วางแผนมาอย่างต่อเนื่อง  แต่เมื่อครั้งอดีตที่เกิดนิมิตฟ้าผ่าคานหาบ ทำให้มะกะโทเองมีความฝังใจอยู่ไม่เสื่อมคลายว่า ตนเองจะได้เป็นใหญ่ในวันหนึ่ง  ผนวกกับการที่ลอบพา  นางเทพสุดาสร้อยดาว ราชธิดาในพระร่วงกรุงสุโขทัยหนีกลับมาด้วย และมอบน้องสาวคือนางอุ่นเรือนให้อลิมามาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว เหตุต่าง ๆ ดังกล่าวนี้  ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า  มะกะโทนั้นใช้อลิมามางเป็นเครื่องมือนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง การฆ่าอลิมามางเสียในครั้งนี้ จึงดูว่าเป็นความก็ชอบธรรมของมะกะโทแล้ว  ที่จะตั้งตนเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ภาพของมะกะโทจึงเป็นฝ่ายที่ถูกต้องที่ลุกขึ้นมาตอบโต้ต่อผู้รังแก ทั้งที่จริงแล้ว ผู้รังแกไม่เคยทราบมาก่อนว่า ตนเองกลายเป็นหมากตัวหนึ่งของผู้ถูกรังแกอย่างมะกะโทมาตั้งแต่ต้นเท่านั้น

 

            ก้าวหน้าของวรรณคดีศึกษา  อยู่ที่การส่งเสริมให้ครูภาษาไทยรู้จักที่จะหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ในวรรณคดีและวรรณกรรมมาศึกษาด้วยใจที่เป็นธรรม หยิบยกเพราะสนใจที่จะเติมเต็มให้เกิด  การขยายขอบเขตของความคิด จากเนื้อหาที่ผู้เขียนเองได้เว้นช่องว่างเอาไว้ ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว  ก็ตาม แล้วนำประเด็นนั้นมาให้ผู้เรียนคิดต่อ คิดเพิ่ม คิดริเริ่ม คิดโต้แย้ง ชั้นเรียนวรรณคดีศึกษา จึงจะก้าวหน้าไปสู่ชั้นเรียนของการตีความ การถกเถียง อภิปรายด้วยเหตุและผลได้ในที่สุด  สังคมอันอุดมด้วยปัญญานั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการเรียนวรรณคดีและวรรณกรรมด้วยการย่ำอยู่ในลักษณะเดิม เช่นที่เป็นมาอีกต่อไป แต่ครูภาษาไทยจะต้องกล้าที่จะริเริ่ม และเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่า การตีความ อันเป็นความก้าวหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้นในธรรมดาของการสอนวรรณคดีในประเทศไทย 


รายการอ้างอิง

เจตนา นาควัชระ.  2555. ทางสายกลางแห่งวรรณคดีวิจารณ์.  กรุงเทพ ฯ: โอเพ่นบุ๊กส์.

   

 

 

 

   

หมายเลขบันทึก: 533447เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2013 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท