(23) ใครอยากได้ ยกมือขึ้น!


"ใครอยากได้ยกมือขึ้น" .. คุณว่าได้ผลไหม ยิ่งกว่าได้ผลอีก เพราะดิฉันได้เห็นการผนึกกำลังกันของกลุ่มเจ้าหน้าที่ คนๆ เดียวตอบได้ไม่ครบถ้วน ก็มีการต่อรองขอตัวช่วย ตัวช่วยก็ช่างเชื่องช้า ต้องมีตัวเสริม ตัวแทรก ช่วยกันตอบหมดทุกตัว บางครั้งไม่สำเร็จ พยาบาลก็ร่วมกับเขาด้วย

ดิฉันอ่านบันทึกเรื่อง "ธนบัตรใบละ 1,000 บาท กับคุณค่าของคุณ" ของคุณ NANA แล้วหวาดเสียว กลัวว่าตัวละครในเรื่องจะฉีกธนบัตรใบนั้นเสีย อะไรจะลงทุนขนาดนั้น บันทึกนี้น่าสนใจที่คุณครูท่านหนึ่งพยายามสร้างคุณค่าให้กับนักศึกษาผ่านธนบัตร เครื่องมือที่มีคุณค่า (ราคา) ในตัวมันเอง

ดิฉันมีประสบการณ์การใช้ธนบัตรใบละ 100 บาท เพื่อจูงใจคนมาแลกเปลี่ยนค่ะ

ในหน่วยงานของดิฉันนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นพี่ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ขอให้เป็นผู้มีอำนาจในการจ่ายสูงกว่าก็พอ จะถููกผู้ที่เป็นลูกน้อง เป็นน้อง หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ ก็คือเป็นผู้มีอำนาจจ่ายต่ำกว่า ทำการรีดไถเป็นประจำ ขอน้ำแข็งบ้าง ขอกาแฟบ้าง บ้างก็ลงทุนถามว่า "หัวหน้าอยากกาแฟไหม ผมจะไปซื้อให้" ฯลฯ

ไปว่าเขาไม่ได้หรอก ก็เราให้เขาเองจนติดเป็นนิสัย

ดิฉันทำงานในหอผู้ป่วยจิตเวช เคยปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่ง พฤติกรรมก้าวร้าวมามากนัก สารภาพตรงนี้เลยว่า ลำพังพยาบาลผู้หญิงนั้นต่อให้มีสัก 100 คนก็ทำอะไรไม่ได้เท่าเจ้าหน้าที่ผู้ชายเพียงคนเดียวหรอก

มื่อมีเหตุการณ์รุนแรง พวกเราพยาบาลจะทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมตามหลักการและประสบการณ์ หากไม่สำเร็จก็ถึงคิวเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องเข้าควบคุมผู้ป่วยอย่างรัดกุม ภายใต้การดูแลของพยาบาลอีกชั้นหนึ่ง โดยผู้ป่วยต้องปลอดภัยเสมอ ดังนั้น ทุกครั้งที่ต้องปะทะกัน ต้องบอกว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ถูกปะทะจึงจะถูกต้อง เขาก็จะได้รับบาดเจ็บฟกช้ำดำเขียวไปตามๆ กัน พยาบาลผู้หญิงก็ได้แต่ปลอบใจ แล้วก็ .. เยียวยา โดยตัดเสื้อให้ใหม่บ้าง (กรณีเสื้อขาดหรือแค่กระดุมหลุดก็ตาม) ตัดกางเกงให้ใหม่บ้าง (ในกรณีที่เป้ากางเกงขาด) ฯลฯ แต่ถ้าเชือกผูกรองเท้าหลุดนี่ไม่ได้นะคะ อย่างน้อยก็ได้ดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้ว ข้อเท็จจริงก็ได้ดื่มเครื่องดื่มเย็นกันทุกคนนั่นแหละตั้งแต่หัวหน้าถึงลูกน้องคนงานสนามที่ทำงานอยู่แถวนั้น ช่างที่เข้ามาซ่อมในตึกพอดี หรือแม้แต่เด็กมาเดินหนังสือก็ได้ด้วย ผู้เกี่ยวข้องก็จะมีอาการ 'หน้าบาน' ที่ทำให้เพื่อนได้รางวัลไปด้วย เมื่อเกิดเหตุซ้ำๆ จะมากหรือน้อยก็ตาม ทุกคนก็จะเรียนรู้ว่าจะได้รับสิ่งปลอบใจ/เยียวยา/ผลพลอยได้ อย่างถ้วนหน้า เช่นนี้ทุกครั้งไป

ช่วงหลังๆ ดิฉันสังเกตว่าเจ้าหน้าที่เริ่มมีอาการหงอยเหงา เหมือนนักศึกษาในเรื่องของคุณ NANA นั่นแหละ ต่างกันตรงที่คนของดิฉันจะรู้สึกหงอยเหงาทันทีที่พูดหรือทบทวนเรื่องวิชาการ วันหนึ่งดิฉันก็คิดจะให้แรงเสริมพวกเขาโดยควักธนบัตรใบละ 100 บาทขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วถามว่า

"ใครอยากได้ยกมือขึ้น"

ทุกคนยกมือขึ้นโดยเร็ว ดิฉันกล่าวแสดงความเสียใจที่มีธนบัตรเพียงแค่ใบเดียว ดังนั้นหากใครแสดงความสามารถได้ถูกใจก็จะยกให้ฟรีๆ เดี๋ยวนี้เลย โดยอาจจะให้เลือกระหว่างตอบคำถามว่า

"ขยะ จำแนกเป็นกี่ประเภท มีอะไรบ้าง" หรือ

"ใครจะอาสาสาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกต้องได้" เป็นต้น

คุณว่าได้ผลไหม ยิ่งกว่าได้ผลอีก เพราะดิฉันได้เห็นการผนึกกำลังกันของกลุ่มเจ้าหน้าที่ คนๆ เดียวตอบได้ไม่ครบถ้วน ก็มีการต่อรองขอตัวช่วย ตัวช่วยก็ช่างเชื่องช้า ต้องมีตัวเสริม ตัวแทรก ช่วยกันตอบหมดทุกตัว บางครั้งไม่สำเร็จ พยาบาลก็ร่วมกับเขาด้วย ก็เงินมันมากพอจะซื้อกาแฟเลี้ยงได้ทั่วทุกคนนี่นา

ความคิดเรื่องการเสริมแรงทางบวกนี้ประสบความสำเร็จ แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นกว้างขวางมาก เพราะมีจิตอาสาเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น แรกๆ ก็อาสาไปซื้อกาแฟให้หัวหน้า เมื่อไม่ค่อยได้ผลก็อาสาตอบคำถามเกือบทุกวัน

"หัวหน้าถามมาได้เลย ถามอะไรก็ได้ พวกผมจะช่วยกันตอบ"

ท่านใดจะนำเทคนิคนี้ไปทดลองก็ได้นะคะ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ต้องจัดเตรียมรางวัลให้มากพอที่จะมีผลจูงใจกลุ่มเป้าหมายด้วยนะคะ เป็นไปตามทฤษฎีการเสริมแรงค่ะ

หมายเลขบันทึก: 533445เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2013 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเสริมแรงเป็นสิ่งที่ควรทำแต่ก็สร้างนิสัยที่ไม่ดีขึ้นมา ถ้าไม่ต่อท้ายการขอร้องก็จะไม่ได้ผลก็ได้ค่ะ นักเรียนเวลาครูขอช่วยงานก็จะต่อรองว่า ครูจะให้กี่คะแนน  หรือครูบอกว่าเดี๋ยวครูเพิ่มคะแนนให้นะถ้าเธอช่วยกวาดห้องให้สะอาด  ......แรงจูงใจช่วยให้เกิดผลงานค่ะ ชอบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท