ศิลปะสร้างสรรค์..ที่บ้านหนองผือ


สเต็มไฟเบอร์ ใครทราบช่วยอธิบายหน่อยครับ

     ปลายปี๒๕๕๕ มีคนมาเยี่ยมโรงเรียน เห็นใบไม้ที่โรงเรียนกวาดเก็บไว้เยอะ เลยแนะนำให้โทรไปหาทีมวิทยากร"ศิลปะสร้างสรรค์" ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมรีบโทรไปทันที เขาบอกจะว่างช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ผมบอกรอได้ เขาบอกต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่น เป็นค่าตอบแทน ที่พักและอาหาร ผมก็สู้เพราะอยากให้นักเรียนและครูได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    ก่อนวิทยากรจะมาก็คุยกันว่า เขาทำอะไรอย่างไร เขาบอกจะทำเศษวัสดุ เช่น เปลือกมังคุด เปลือกแตงโม ใบไผ่ ใบหญ้าแฝก  ใบบัวบก  ใบโพธิ์ สามารถเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นกระดาษได้ โดยเขาจะนำอุปกรณ์มาเองทั้งหมด

    คณะวิทยากรมาด้วยกัน ๔ คน พ่อ แม่ และลูกชาย ๒ คน เป็นระบบครอบครัว ที่เคยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยประเภทนวัตกรรม มาหลายสำนัก ผู้ที่เป็นลูกชายเก่งมาก ได้ทุนเรียนจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ผมเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมเด็กง่ายๆ ว่ากันเลย ไม่ต้องมีพิธีเปิด กำหนดการไว้ ๑๑ - ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖ คิดเหมือนกัน ทำไมนานจัง แต่ไม่กล้าพูด

     พอวิทยากรมาถึง ก็พาเด็กสำรวจพื้นที่โดยรอบ พบใบอ้อย ทั้งสดและแห้ง รวมทั้งผักตบชวาในบ่อปลา วิทยากรบอกจะใช้วัสดุนี้ล่ะ เป็นการทดลองทำครั้งแรกของเขา ก่อนหน้านี้เขานำกระดาษที่ทำสำเร็จแล้วให้ดู ทำจากพืชผักต่างๆ สวยมาก เนื้อดี งานนี้เหมือนเขามาวิจัยต่อยอดอย่างนั้นแหละ

     นักเรียนลงมือหั่นใบอ้อยและผักตบชวา เห็นแล้ว เด็กนิ่งมาก ต้องใช้สมาธิและความสามัคคีร่วมด้วยช่วยกันทำงาน ผมเริ่มศรัทธาวิธีการคิดของเขา ที่ให้เด็กลงมือทำเอง จากนั้นนำไปใส่เครื่องปั่นเติมน้ำ   ปั่น ๒ รอบ รอบละประมาณ ๕ นาที พอนำออกจากเครื่องปั่น กรองน้ำออก ใบอ้อยสด ใบอ้อยแห้งและผักตบชวา ที่ถูกปั่นแล้ว จับตัวเป็นก้อนละเอียดยิบ

      จากนั้น นำแต่ละอย่างเข้าเครื่องปั่นอีกครั้ง ครั้งนี้ปั่นไม่นาน แต่ส่วนผสมสำคัญมาก คือต้องใส่น้ำเหลวๆสีเหลืองๆข้นมาก มีแรงดันที่อันตรายเหมือนกัน ต้องบรรจุในขวดพลาสติก เขาเรียน "สเต็มไฟเบอร์" ถามสูตรก็ไม่ยอมบอก แต่เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะคิดว่าตั้งใจดีเสียอย่าง ความลับย่อมไม่มีในโลก เทลงไปแล้วปั่นผสมกันให้ได้ที่ แล้วเทลงหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ต้มพออุ่นๆ แล้วเทใส่ขวดแช่น้ำไว้

     วันต่อมา นำทั้งใบอ้อยและผักตบชวาที่ปั่นผสมกับสเต็มไฟเบอร์  ที่บรรจุขวดไว้แล้วนั้น มาเทลงผสมน้ำในกระบะพลาสติก กวนน้ำให้ขุ่นทั่วกัน นำตะแกรงมุ้งลวดขนาด เอ ๔ วางลงไปให้จมน้ำ แล้วยกขึ้นมา เอียงให้น้ำออก จากนั้นตัดขอบเพื่อให้เวลาแห้งจะได้ลอกง่าย เสร็จแล้วไปตากแดดราว ๓ ชั่วโมง

     วิทยากรแบ่งกลุ่มนักเรียน ป.๔ - ป.๖ ให้ได้ทำทุกคน ไม่นานนัก ตะแกรงมุ้งลวดทั้งเอ ๓ และเอ ๔ วางเต็มสนามตะกร้อ เกือบ ๕๐ แผ่น ประกอบด่้วยใบอ้อย สด แห้ง และผักตบชวา สีขาวหม่น แต่เรียบสวย น่าใช้มาก

      วันสุดท้าย..วิทยากรให้กระดาษที่ลอกออกจากตะแกรง ให้เราทั้งหมด แล้วนำเสนอ วิธีการจะนำกระดาษไปใช้ประโยชน์ แปรรูปให้เป็นอะไรได้บ้าง เช่น นำไปปริ้นรูปภาพสวยๆที่ต้องการ ใส่กรอบ เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และนำภาพเล็กๆหลากหลาย ที่ปริ๊นจากกระดาษที่ทำขึ้นเอง ให้เด็กตัดใส่กรอบพลาสติกติดพวงกุญแจที่วิทยากรเตรียมมา เป็นของที่ระลึกสำหรับนักเรียน

      จึงเป็นช่วงเวลา ๔ วันที่คุ้มค่า ครูและนักเรียนจดจ่อกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เวลาผ่านไปเร็วมาก แต่ทุกคนก็เข้าใจกระบวนวิธีการอย่างแจ่มแจ้ง..วิทยากรกลับไปแล้ว..เราอยากทำต่อ วัสดุเราเยอะ แต่เราไม่มีสเต็มไฟเบอร์..เราคิดว่าเขาจะบอกเราหมด เราไม่รู้จริงๆ(หรือเขาหมกเม็ด) เอาน่า..คิดในเชิงสร้างสรรค์ เราต้องอดทนและรอได้..หรือใครทราบช่วยบอกที จะเป็นพระคุณยิ่ง




                                                   









หมายเลขบันทึก: 530587เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นตัวประสานหรือครับ ใช่ที่เห้นเป็นขวดๆๆไหม

ใช่ครับ  ที่เห็นเป็นขวดนั่นเอง


  • ขอบคุณค่ะ
  • โครงการที่น่าสนใจมากค่ะ

....เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง นะคะ .... ดีมากๆ ค่ะ ..... นี้แหละคือ การเรียนรู้ ...ที่แท้จริงๆ .... ขอบคุณมากๆค่ะ 

สวัสดีครับ พี่หมอ

สบายดีนะครับ



อยากบอกว่า....นี่แหละคือ " ทักษะชีวิต"  ที่ไม่ต้องมีค่าสถิติมาเป็นตัวกำหนด  นี่แหละคืออาวุธที่เด็ก ๆ จะนำติดตัวไปใช้ในชีวิตเบื้องหน้า....ขอบคุณจ้ะ

ทึ่งค่ะ งานสร้างสรรค์จริง ๆ ฝึกไว้ค่ะ สมัยก่อน ป้ายังไม่ได้เรียนรู้แบบนี้เลย ดีใจแทนน้อง ๆ ได้ ผอ. ดี ได้อาจารย์ดี เจริญก้าวรุ่งเรืองค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท