แนวคิดเรื่องค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม KnowledgeVolution


Giving is for Freedom; Taking is for Free Beer

เมื่อวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา ดร.จันทวรรณและผมได้ไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการ KM ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และผลการประชุมที่ผ่านมาได้ผลในหลายประเด็นด้วยกัน

ในเรื่องหนึ่งก็คือการที่ มอ. จะนำ KnowledgeVolution มาติดตั้งภายในองค์กร โดย share.psu.ac.th จะเป็น site ที่ให้บุคคลากรภายใน มอ. ใช้ และ learn.psu.ac.th จะเป็น site สำหรับนักศึกษา

เพื่อการติดตั้งและใช้งาน site ทั้งสองนี้ ดร.จันทวรรณและผมจะติดตั้งระบบและดูแลให้ใช้งานได้ไประยะหนึ่ง แล้ว ดร.จันทวรรณจะถ่ายงานไปยัง คุณเมตตา ในการดูแลชุมชน ส่วนงานของผมในเชิงเทคนิคนั้นก็จะถ่ายให้แก่ คุณวิภัทร ครับ

เราหวังว่าต้นแบบที่ มอ. ใช้นี้ ก็น่าจะเป็น best practice ให้หน่วยงานอื่นได้ใช้ด้วยครับ

คราวนี้เมื่อเราต้องมาคิดงบประมาณสำหรับการติดตั้งและใช้งาน KnowledgeVolution ใน มอ. เราก็มานึกกันว่าค่าใช้จ่ายอีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะใส่ในงบประมาณไว้ด้วยคือ "ค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม" ซึ่งให้หน่วยงานที่นำ KnowledgeVolution ไปใช้จ่ายไปยัง สคส.

KnowledgeVolution เป็นซอฟท์แวร์ open-source ครับ เป็นซอฟท์แวร์ที่ "ฟรี" อย่างปรัชญาของ open-source คือ "Free as in Freedom, not as in Free Beer" (กรุณาอ่านปรัชญา "The Free Software Definition" ของ Free Software Foundation ครับ)

 
คำว่า Free ในภาษาอังกฤษมีสองความหมายครับ อย่างที่ FSF ที่อธิบายนั่นละครับ

ดังนั้นค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนั้น เราแนะนำให้ สคส. ในฐานะเจ้าของและผู้พัฒนานวัตกรรม คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้นำซอฟท์แวร์ไปใช้จ่ายรายปี ซึ่งจะจ่ายตาม "ความสมัครใจ" โดยให้ สคส. คิดเกณฑ์เป็นขั้นๆ ไปตั้งแต่ 0 บาท (ไม่ต้องจ่าย) จนถึง xxx,xxx บาท อาจจะตั้งเป็นชั้น Basic, Premium, Gold, Platinum ก็ได้

เพราะ สคส. ต้องมีต้นทุนในการพัฒนานวัตกรรมนี้ และเราเห็นสมควรว่าหน่วยงานที่มีกำลังทุนเพียงพอก็น่าจะได้ "แบ่งปัน" ค่าใช้จ่ายนี้กับ สคส.

แต่ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะจ่ายค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมมากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะได้ซอฟท์แวร์ตัวเดียวกันไปใช้ คือ "ซอฟท์แวร์ล่าสุดและดีที่สุด" ที่เรามีนั้นเอง ตามความหมายของ "Freedom" ที่ทุกคนมีสิทธิ์ใช้อย่างเท่าเทียม ไม่ได้จำกัดที่งบประมาณ

สาเหตุที่หน่วยงานที่มีงบประมาณเพียงพอ "ควรจ่าย" ค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมให้แก่ สคส. ก็เพื่อให้หน่วยงานอื่นที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะได้ "ไม่ต้องจ่าย" ใช่แล้วครับ นั่นคือตามหมายของ "Freedom" อีกนั่นเอง เป็นการให้สิทธิ์ในการใช้จากผู้มีกำลังทรัพย์เหนือกว่าให้แก่ผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยกว่าได้ใช้ซอฟท์แวร์ที่ดีเช่นเดียวกัน

ค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนี้จ่ายที่ สคส. นะครับ ไม่ได้จ่ายที่เรา เราจะไม่รับค่าสนับสนุการพัฒนานวัตกรรมนี้เอง เพราะเราคงบริหารจัดการเองไม่ได้สะดวก และเสียเวลาของเราจากการทำสิ่งที่เราชอบทำ อันได้แก่การพัฒนาซอฟท์แวร์

ส่วน สคส. จะใช้ค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทำอะไรบ้างนั้น ถ้า สคส. ได้รับเท่ากับทุนที่ สคส. ให้เรา ก็แน่นอนว่า KnowledgeVolution เลี้ยงตัวเองได้แล้ว โดย สคส. ให้ทุนเราได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของ สคส. เอง ถ้าได้มากกว่าทุนที่ สคส. ให้เรา นั่นคือ KnowledgeVolution ก็จะเป็นโครงการที่ทำรายได้กลับให้แก่ สคส. เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการอื่นได้ด้วย นั่นคือเป้าประสงค์ของเราครับ

สังเกตว่าพื้นฐานของแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะอยู่บนหลักการของการ "ให้" (ต่างคนต่าง "ให้" กันและกัน) ไม่ใช่หลักการของการ "ขอ" (ต่างคนต่าง "ขอ" กันและกัน)
 
เพราะ Open-source software is "Free" software for "Freedom," not for "Free Beer." ใช่แล้วครับ Giving is for Freedom; Taking is for Free Beer.
หมายเลขบันทึก: 52903เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ป้าเมตตา

I see น่ะแปลว่า ฉันเห็นนะ แล้วตกลงว่าเห็นด้วย หรือเห็นใจล่ะ 

อยากบอกว่า"เข้าใจแล้ว" ภาษาประกิต ว่าอย่างไรคะ วานบอก

อย่างนั้นเขาเรียกว่า I pay รู้มั้ย

เหะ เหะ พวกเราเข้ามาเล่นกันในบ้านของอาจารย์ ไม่ว่ากันนะครับ ไม่อยากให้บรรยากาศมันเครีียดเกิน 

เย้ รอดตัวไป โชคดีที่ไม่มีเรา ก็มันยากอะ ไม่อยากทำเลย

ขอบคุณ ดร.ธวัชชัย สำหรับ idea ที่ innovative เป็นอย่างยิ่ง ....สำหรับ คุณเมตตา คราวหน้าขอให้ใช้คำว่า "I do" ครับ!!

     ชอบแนวคิดนี้มาก ๆ ครับ ด้วยมองเห็นไปไกล ๆ ว่าจะเกิดโอกาสของการพัฒนาต่อยอด KnowledgeVolution ตามแนวทางการพัฒนาโปรแกรมแบบ open-source โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า  "ใครจ่ายได้ก็ต้องช่วยจ่าย เพื่อคนที่จ่ายไม่ได้จะได้ไม่ต้องจ่าย" แล้วทุก ๆ คน (ภาคส่วนต่าง ๆ) สามารถเข้าถึงได้เหมือน ๆ กัน

     ขอบคุณสำหรับ Idea นี้ เพื่อช่วยให้สังคมได้ย่างก้าวเพื่อเข้าสู่ความเป็นธรรมได้ดีขึ้นครับผม

  • ผมขอมองด้วยมุมมองที่แตกต่างนะครับ
  • ผมอาจจะเห็นด้วยในหลักการครับ ว่าใครจ่ายได้ก็ต้องช่วยจ่าย เพื่อคนที่จ่ายไม่ได้จะได้ไม่ต้องจ่าย แต่บริบทนี้น่าจะนำไปใช้ในสังคมตะวันตกได้ไม่ยาก แต่ในสังคมไทย ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าเป็นเรื่องยากในการนำมาใช้ เพราะเรามักจะถามกันต่อจากนั้นอีกว่า ทำไมเราต้องจ่ายแพงกว่า โดยเฉพาะในระบบราชการด้วยแล้ว มีระเบียบกฎเำกณฑ์ที่ผูกมัดให้ดิ้นได้ลำบากครับ แล้วถึงเวลาชี้แจง แล้วจะชี้แจงอย่างไรครับ อาจจะชี้แจงได้ แต่คนฟังจะเข้าใจหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ที่เราจ่ายแพงกว่าเพราะเรามีกำลังที่จะจ่ายได้ ผมว่าคนฟังเขาก็คงสะดุ้งเหมือนกัน
  • ในฐานะที่อาจารย์เป็นบุคลากรของ มอ. ยิ่งเป็นเรื่องยากครับที่จะทำใจ (ของผมเอง) ที่จะให้มหาวิทยาลัยต้องจ่ายเงินจะเรียกว่าค่าสนับสนุนการพัฒนานวตกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยผมเข้าใจครับว่าผู้ถือสิทธิ์ในสินทรัพย์นี้คือ  สคส. อาจารย์ทั้งสองเป็นเพียงผู้พัฒนา โดยรับทุนจากสคส เพื่อพัฒนา นวตกรรมนี้ แต่อย่าลืมนะครับว่า ในขณะที่อาจารย์รับทุนมาพัฒนานี้ อาจารย์ยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรงของอาจารย์ เป็นการยากที่อาจารย์จะบอกว่า  อาจารย์ไม่ได้ใช้เวลาราชการในการทำงานนวตกรรมชิ้นนี้ของอาจารย์เลย แม้ว่าความจริงจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม และหากอาจารย์ใช้เวลาราชการในกาีรพัฒนานวตกรรมนี้ มหาวิทยาลัยก็น่าจะมีสิทธิ์ส่วนหนึ่งใน่ผลงานชิ้นนี้ของอาจารย์ด้วย  ดังนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยจะต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ์ในนวตกรรมนี้
มุมมองของคุณ Mitochondria น่าสนใจมากครับ

แนวคิดค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่ผมประยุกต์มากจากแนวคิดของตะวันตกครับ โดยหลักๆ แล้วก็เอามาจากแนวคิดของ Free Software Foundation ครับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องทดลองที่ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าเมื่อนำมาปฎิบัติแล้วจะไปในทิศทางไหนครับ

ในกรณี KnowledgeVolution นั้น ในทางปฎิบัติแล้วผมยินดีอย่างยิ่งที่ มอ. หรือหน่วยงานไหนๆ จะนำ KnowledgeVolution ไปใช้ครับ และ สคส. ก็เช่นกัน เรื่องค่าใช้จ่ายในการพัฒนาซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้มากมายนัก ผมเชื่อว่า สคส. รับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้สบายมากครับ ส่วนเราสองคนนั้นใช้เวลาราชการทำ KnowledgeVolution เต็มๆ ครับ โดยเฉพาะเวลานั่งประชุม ถ้าเห็นผมนั่งประชุมที่ไหนแล้วพยักหน้าพลางพิมพ์ไปพลาง ขอให้เดาไว้ก่อนเลยว่ากำลังนั่งเขียนโปรแกรม (ฮา)

แต่ที่เราเสนอค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเพราะเราอยากทดลองแนวความคิดใหม่ครับ ถ้าได้ผลลัพธ์ในแนวไหนก็อาจจะได้เป็น best practice ให้กับโครงการ open-source อื่่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยนักพัฒนาคนอื่นๆ ต่อไปครับ

ในการพัฒนา KnowledgeVolution นี้ ผมอยากทดลองของใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการพัฒนาหลายอย่างทีเดียวครับ อาทิเช่น ถ้าเราเอาจริงกับการใช้รูปแบบการพัฒนาแบบ open-source เราจะสามารถระดมนักพัฒนาจากหน่วยงานที่แตกต่างกันมาช่วยกันทำงานได้แค่ไหน แล้วรูปแบบการทำงานจะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ตอนนี้ก็ยังทดลองอยู่ครับ

กลับมาเรื่องค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมต่อครับ คำถามที่ว่าหากหน่วยงานจ่ายแพงกว่าแล้วจะชี้แจงอย่างไร ผมนึกดูแล้วคำตอบจะมีได้เป็นสองแนวครับ หนึ่งก็คือได้เป็น sponsor และได้โฆษณาองค์กร เรื่องนี้บางหน่วยงานอาจจะสนใจบางหน่วยงานอาจจะไม่สนใจ

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อจ่ายค่าสนับสนุนแล้ว จะได้แบ่งปันความเป็นเจ้าของของซอฟท์แวร์ อืมม อาทิเช่น ตอนนี้ สคส. เป็นเจ้าของ 100% (ที่จริงแล้วด้วยสัญญาของ สคส. ความเป็นเจ้าของต้องแบ่งกับ สกว. และ สสส. ด้วย) เมื่อ มอ. ขอสนับสนุน ก็จะเพื่อได้ ownership กี่เปอร์เซ็นต์ ในลักษณะนี้ หน่วยงานก็จะได้นวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานขององค์กรด้วย แต่จะไม่ได้ทั้ง 100% เท่านั้นเอง ผมไม่แน่ใจว่าลักษณะนี้จะเป็นที่น่าสนใจแค่ไหน

open-source projects หลายโครงการมี "owners" รายชื่อยาวเหยียดเชียวครับ แต่เนื่องจาก license เป็น GPL สิทธิ์ในการใช้งานกับความเป็นเจ้าของก็ไม่เกี่ยวกันอยู่แล้ว

มาช่วยกันคิดนะครับว่าเราจะทดลองในแนวทางไหน ตอนนี้เรามีตัวต้นแบบให้ทดลองแล้วก็ต้องลองกันดูครับ อาจผิดบ้างถูกบ้าง แต่ถ้าเราได้แนวความคิดที่กลายเป็น best practice ขึ้นมาได้นี่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวมากทีเดียวครับ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ยิ่งด้วยว่าเป็นไอเดียใหม่ๆ การเขียนแสดงออกมาซึ่งความคิดของแต่บุคคลต่อไอเดียนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ค่ะ ยิ่ง ลปรร. ยิ่งทำให้เกิดข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายค่ะ

อย่างที่ ดร.ธวัชชัย ได้นำเสนอไปแล้วนะค่ะ เราคิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเข้าใจเรื่องไอเดียของ open-source ที่เขาปฏิบัติกันทั่วโลก บางคนอาจเรียกว่า เงินบริจาค (donation) ก็ได้ค่ะ ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้กลุ่มนักพัฒนาระบบชาวไทยช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ open-source ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ จะได้เป็นการประหยัดเงินลงทุนโดยรวมของประเทศ

เราต้องพยายามช่วยกันสนับสนุนแนวคิดของ open-source ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยสมองของคนไทย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ลงทุนกันไปเป็นล้านๆ เพียงเพื่อให้ใช้แค่ในองค์กรเดียว หรือไม่ก็หันไปทุ่มเงินเป็นล้านแก่บริษัทต่างชาติเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ด้าน KM มาใช้ในองค์กรค่ะ

อันที่จริงแล้ว ชุดซอฟต์แวร์นี้เป็นของ สกว. ค่ะ (อ.ธวัชชัยเขียนผิดค่ะ) และตามสัญญาการรับทุนวิจัยจาก สกว. ไม่ว่าทุนวิจัยใดๆ จะเขียนไว้ชัดเจนค่ะว่า ลิขสิทธิ์ของงานอันเกิดจากทุนนี้เป็นของ สกว. ค่ะ

ส่วน GotoKnow.org นั้นเป็นของ สคส. ค่ะ

และสิ่งที่ มอ. ได้จากการที่เราได้รับทุนวิจัยจากภายนอก ก็คือ KPI และ ชื่อเสียงค่ะ

และการทำงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นทุนจากภายในหรือภายนอกก็ตามค่ะ ก็เช่นกับงานสอน หรือ งานบริการวิชาการ หรือ งานบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติของอาจารย์ทุกคนค่ะ

  • หากนวตกรรมนี้ เป็นการรับทุนจาก สกว. ผมคิดว่าทุกอย่างจบครับ เพราะในระเบียบของสกว. จะกำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นของ สกว. และที่สำคัญ สกว.จ่ายเงินส่วนหนึ่งให้กับมหาวิทยาลัย อาจจะมองเป็นค่าตอบแทนให้กับมหาวิทยาลัยในการใช้บุัคลากรของมหาวิทยาลัยในการทำงานวิจัยให้สกว. ซึี่งหมายถึงมหาวิทยาลัยยอมรับ และอนุญาตให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยภายนอกได้ โดยมหาวิทยาลัยจะไม่เรียกร้อง เพราะได้รับเงินไปแล้ว
  • หากนวตกรรมนี้ ไม่ได้เกิดจากทุนสกว. เป็นการรับทุนจากภายนอก ที่ไม่ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับมหาวิทยาลัย แล้วต่อมาพบว่ามีคุณค่าเชิงพาณิชย์มหาศาล เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นทางกฎหมายต่อไปในอนาคตได้ เพราะ มหาวิทยาลัยอาจอ้างสิทธิ์ได้ว่า นวตกรรมที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่บุคลากรปฎิบัติงานปกติในหน้าที่ เพราะตำแหน่งอาจารย์ก็มีหน้าที่วิจัยอยู่แล้ว และใช้เวลาราชการในการทำงาน ดังนั้นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นมหาวิทยาลัยควรมีสิทธิ์ร่วมด้วย  อย่างไรก็ตามแต่ นักกฎหมายคงตอบเรื่องนี้ได้ดีกว่าผม เพียงแต่ผมมองในมุมมองส่วนตัวเท่านั้น
  • หาก software ตัวนี้ดี และเป็นประโยชน์ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าควรแจกฟรีครับ  เพื่อให้คนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แล้วสกว.จะได้อะไรจากการลงทุน ผมคิดว่าในแง่ของการทำธุรกิจ ที่เรายังไม่รู้อะไรเลย และไม่สามารถจะตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สิ่งแรกที่ควรทำคือ ทำอย่างไรผลิตภัณฑ์ของเราจะเป็นที่รู้จัก ดังนั้นการแจกจ่ายฟรี เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของอาจารย์และลองเอาไปใช้ว่าจะดีสมชื่อหรือไม่  หากใช้ได้ดี จะให้เป็นเงินบริจาค ไปยังสกว. เหมือนที่อาจารย์จันทรวรรณบอกก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา นี่เรากำลังพูดถึงในกรณีของการ install ตัว software ได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาดูแลระบบให้ แต่ถ้าหากตัว software จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยญชาญเฉพาะในการลงระบบ และจำเป็นต้องมีการสอนงาน เพื่อให้ใช้ระบบเป็นทั้งในแง่การใช้งานสำหรับ user และการดูแลสำหรับผู้ดูแลระบบแล้ว ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีค่าใช้จ่ายพิเศษ ซึ่งอาจารย์สามารถคำนวนหรือ mark up เพิ่มเข้าไปเป็นค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์หรืออะไรได้อยู่แล้ว
  • ผมว่าเริ่มต้นอยู่ที่เรามีมุมมองนี้อย่างไร เราคิดว่า นวตกรรม (โปรเจ็ค) นี้ เราคิดจะให้มันทำกำไร และคำนวณทุกอย่างเป็น profit center เหมือนเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่ง หรือเราคิดว่าโปรเจ็คนี้ มันเป็นเพียงการทำงานแบบสาธารณกุศล(ไม่ได้หมายถึงอาจารย์ไม่ได้ค่าแรงนะครับ เพราะอาจารย์ได้ค่าตอบแทนจากสกว.อยู่แล้ว แต่หมายถึงว่า สกว.จะนำไปหาผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่) เราคิดอย่างไร ก็ควรดำเนินการตามที่ตั้งใจไว้ครับ
  • ในมุมมองส่วนตัว ผมได้บอกไปแล้วว่า ผมอยากเห็น software ดีๆ ของคนไทย มีใช้กันในองค์กรบ้านเรา และเป็นที่อ้างอิง ให้คนบ้านอื่นได้โจทย์จันกันครับ ถ้าเราเริ่มต้นที่คิดจะทำกำไรแล้ว อาจมาตายตอนจบว่า มีองค์กรใช้จริงน้อยกว่าที่คาด
  • เพิ่มเติมอีกนิด ในเวอร์ชั่นแรกอาจใช้เป็นการทดลองตลาด หากรู้ทิศทางแน่ชัดแล้่ว ค่อยมาว่ากันในเวอร์ชั่นต่อไป
  • หรือท่านอื่นคิดว่าอย่างไรครับ
ต้องขอเรียนว่า KnowledgeVolution นี่แจกฟรีอยู่แล้วนะครับ ใครจะนำไปใช้หรือดัดแปลงก็ได้ตามสิทธิการใช้แบบ GPL (General Public License) โดยสามารถ download และดูวิธีการนำไปใช้ได้ที่ KnowledgeVolution.org ครับ

แนวคิดเรื่อง ค่าการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ที่ผมเสนอในบันทึกนี้ ไม่ใช่เพื่อการทำกำไร นะครับ ประเทศเรามีคนพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อการขายเยอะแล้ว แต่เราทำเพื่อ "แจกฟรี" ครับ เรื่องให้ใช้ได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายนี่เป็นวัตถุประสงค์หลักของเราและผู้ให้ทุนดังที่ผมได้เขียนบันทึกมาตลอด

สิ่งที่ผมเสนอมาในบันทึกนี้คือแนวความคิดของ "เงินบริจาค" นั่นเองครับ หมายความว่า "ซอฟท์แวร์เราแจกฟรีและนำไปพัฒนาต่อยอดได้เต็มที่" แต่ถ้าใครนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ เราก็แนะนำให้ "บริจาค" กลับมาที่ สคส. บ้างตามกำลัง การพัฒนาซอฟท์แวร์นี้จะได้ไม่เป็นภาระของหน่วยงานใดเพียงรายเดียวครับ แต่จะได้เป็น "ภาระร่วม" และจะได้เป็น "ต้นแบบ" สำหรับการพัฒนา "ซอฟท์แวร์สาธารณะ" ที่ "ยั่งยืนและต่อเนื่อง" ต่อไปครับ

แนวความคิดเรื่อง open-source อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยครับ เราจึงมักมองกันว่า open-source คือ "ซอฟท์แวร์ฟรี" เพราะส่วนใหญ่เรานำซอฟท์แวร์ open-source ของต่างประเทศมาใช้ แต่ open-source "ไม่ใช่ ซอฟท์แวร์ฟรี" นะครับ open-source เป็น "ซอฟท์แวร์เพื่อสาธารณะ" ต่างหากครับ

ผมมองว่านอกจากเราจะพัฒนาซอฟท์แวร์ open-source ในประเทศไทยแล้ว เราต้องพัฒนา "ตัวต้นแบบ" ในการพัฒนาเพื่อให้เกิด best practice ของการพัฒนาซอฟท์แวร์แบบ open-source ในประเทศไทยที่ได้ผลลัพธ์เหมือนกับ open-source ในต่างประเทศด้วยครับ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท