ข้าวนครพนมคุณภาพดีจริงหรือ


ข้าวนครพนมปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์

          สถานการณ์ในการผลิตข้าวของจังหวัดนครพนม  ปี  2549  อย่ในเกณฑ์ดี  ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ  พื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด  1,408,760  ไร่  ประมาณการณ์ผลผลิตไม่น้อยกว่า  563,500  ตันข้าวเปลือก  สัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดนครพนม  เป็นข้าวเจ้าร้อยละ  43  ข้าวเหนียวร้อยละ  57  ข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมนี้  ในปี  2549  นี้  จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการโดยการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  (Food  Safety)  โดยได้สำรวจสำมะโนเกษตรกรทุกครัวเรือน  ผลการสำรวจพบว่าการผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ระดับความปลอดภัย (GAP)  ร้อยละ  99  ดังนั้น  เพื่อเป็นการวางแผนรองรับผลผลิตข้าวและเป็นการประเมินคุณภาพผลผลิตว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร  สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมจึงได้จัดสัมมนาเรื่อง  "ข้าวนครพนมส่งออกได้จริงหรือ"  ในวันที่  27  กันยายน  2549  ณ  โรงแรมแม่น้ำโขงแกรนด์วิว  จังหวัดนครพนม  ซึ่งเป็นการสัมมนา  4  ฝ่าย  ประกอบด้วย
1.  ประธานกล่มศูนย์ข้าวชุมชน
2.  ผู้ประกอบการโรงสีข้าว
3.  ผู้ประกอบการร้านอาหาร
4.  ภาคราชการ

          เกษตรจังหวัดนครพนม  (นายสุทธิชัย  ยุทธเกษมสันต์)  มั่นใจว่าการสัมภาษณ์นี้จะทำให้เกิดผลใน  3  เรื่อง  ดังนี้
   
       1.  เกิดการเชื่อมโยง  เข้าใจ  และยอมรับระบบการผลิตและการตลาดข้าวซึ่งกันและกัน
          2.  เกิดเครือข่ายวิถีการผลิตการตลาดข้าว
          3.  เกิดการรักษาคุณภาพข้าวทุกระดับ  ทั้งระดับการผลิต  การแปรรูป  และการเพิ่มมูลค่า  จากระดับความปลอดภัยก้าวไปสู่ระดับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

มุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าว
1.  ผู้ผลิต
          ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจากทุกอำเภอ  มีความมั่นใจว่า  การผลิตข้าวในปัจจุบันนี้  เน้นเรื่องความปลอดภัยมาก  ไม่มีการใช้ยาเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีเฉพาะปุ๋ยเคมี  แต่เรื่องปุ๋ยเคมีมีการใช้น้อยลงทุกปี  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นทุกปี  ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ผลิตตามคำแนะนำของเกษตรตำบล  มั่นใจว่าผ่านระดับความปลอดภัยและได้มาตรฐาน (GAP)  ในปีต่อไปจะพยายามปรับไปสู่ระดับเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น  อยากให้โรงสีและภาคราชการเพิ่มราคาตามคุณภาพให้ด้วย

2.  ผู้ประกอบการโรงสีข้าว
          ในการรับซื้อข้าว  จะรับซื้อตามคุณภาพของข้าว  จะประสานรับซื้อจากกลุ่มผู้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพ  หากกลุ่มใดมีใบรับรองคุณภาพจากทางราชการจะพิจารณาให้ราคาดีพิเศษ  สูงกว่าโรงสีข้าวนครพนมไรซ์และโรงสีข้าวนาแกพงษ์เจริญ  ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า  ผู้ปลูกข้าวควรเน้นคุณภาพ  รักษาคุณภาพใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น  ระมัดระวังในการใช้สารเคมี  เอาใจใส่ในกระบวนการผลิต  จดบันทึกข้อมูลในนาของตนเอง  เพื่อลดต้นทุนการผลิต  เมื่อต้นทุนต่ำ  รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น  ในมุมมองของโรงสีข้าว  ยอมรับว่าคุณภาพข้าวของจังหวัดนครพนมอยู่ในเกณฑ์ดี  เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45  ซึ่งถือว่าสูงมาก  ดีมาก  และยินดีจะประสานกับกลุ่มผู้ผลิตข้าว  จะรับซื้อข้าวคุณภาพจากผู้ผลิตข้าวทุกกลุ่ม

3.  ผู้ประกอบการร้านอาหาร
          ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีนักท่องเที่ยวเข้าร้านมากที่สุดของจังหวัดนครพนมที่เข้าร่วมสัมมนา  3  ร้าน  ได้แก่  ร้านวิวโขง  ร้านรีเวอร์บีท  และร้านลุงเทียนอินโดจีน  ทั้ง  3  ร้าน  ให้ข้อมูลตรงกันว่า  1) จะซื้อข้าวมะลิคุณภาพเท่านั้นมาบริการลูกค้า  2) คุณภาพข้าวหอมมะลินครพนมคุณภาพดีมาก  ลูกค้าทานข้าวเสร็จจะได้รับคำชมทุกครั้ง  และจะถามซื้อข้าวสารด้วย  จนต้องประสานกับโรงสีนำข้าวสารถุงมาวางขายด้วย  3) จะเพิ่มเมนูจากข้าวหอมมะลิมากขึ้น  เช่น  ข้าวมะลิผัดอเมริกัน , ข้าวหอมมะลิผัดปลาเผาะ  ข้าวหอมมะลิขนมหวาน  ฯลฯ

4.  ภาคราชการ
          ภาคราชการทุกส่วนทั้งเกษตร , ธกส. , พานิชญ์  ให้ความมั่นใจว่าจะร่วมกับทุกฝ่ายในการดำเนินงาน  โดยมีเป้าหมายในการผลิตว่า  ไทยคือครัวอาหารของโลก  ตามนโยบายของรัฐบาลจะสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการตลาด  ข้าวนครพนมจะต้องเป็นข้าวคุณภาพที่มีความปลอดภัยและจะเน้นให้มีการรับรองคุณภาพ  (GAP)  ขยายมากยิ่งขึ้น

ผลที่ได้เกินคาด
          จากการสัมมนา  ข้าวนครพนมคุณภาพดีจริงหรือ  ผู้เข้าสัมมนา  4  ภาคส่วน  ได้ตกลงร่วมกันว่า  จะรักษาคุณภาพข้าวทุกระดับตามกระบวนการที่เกี่ยวข้อง  เช่น  เกษตรกรจะรักษาคุณภาพข้าว  โดยไม่ใช้สารเคมี  จะรักษาระดับความปลอดภัย  โรงสีข้าวจะรับซื้อข้าวคุณภาพ  ราคาข้าวจะสูงตามคุณภาพข้าว  จะไม่ปลอมปนข้าว  ผู้ประกอบการร้านอาหารจะใช้ข้าวคุณภาพดีเท่านั้นให้บริการลูกค้าและนักท่องเที่ยว  ซึ่งนับว่าได้ผลดีเกินคาด  ทุกภาคส่วนได้เข้าใจซึ่งกันและกันจะรักษาคุณภาพข้าวในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ
          อย่าลืม  หากท่านมีโอกาสมาแวะเยี่ยมจังหวัดนครพนม  ลองมาทดสอบคุณภาพข้าวก็แล้วกัน  จะแวะที่ร้านอาหารวิวโขง  ร้านรีเวอร์บีท  ร้านลุงเทียนอินโดจีน  รับรองว่า  กินด้วย  หิ้วด้วย  ก็แล้วกัน

คำสำคัญ (Tags): #นครพนม
หมายเลขบันทึก: 52899เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การบันทึกข้อมูลในนาน่าจะบอกรายละเอียดวิธีกานบันทึกให้ชัดเจน จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรรายอื่น ๆ เช่น

"ดิน" ควรจะต้องนำไปวิเคราะห์ก่อนว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง ความเป็นกรดเป็นด่าง และควรจะมีการวิเคราะห์ว่าข้าวชนิดนี้ต้องการธาตุอาหารอะไร 

 "น้ำ" ควรวิเคราะว่ามีโลหะหนัก จุลินทรีย์ สารตกค้าง ออกซิเจน ว่ามีอะไรเห่าไร อะไรจำเป็น อะไรไม่เป็นประโยขน์ 

 "อุณหภูมิ" เท่าไรที่เหมาะสม  

 "ความชื้นสัมพัทธ์" เท่าไรที่เหมาะสม  "สิ่งแวดล้อม" ในอากาศมีอะไรบ้างที่มีผลกระทบ เช่น คาบอนมอนออกไซค์ ซัลเฟอร์ ฯ

"แสงแดด" เท่าไรที่เหมาะสม

หากเก็บข้อมูลละเอียดและต่อเนจื่องได้ ต่อไปจะทำการวิเคราะห์ไดชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร

เรียน  ท่านรอง ไพโรจน์ (รอง อธส.บริหาร)

ขอขอบพระคุณท่านรองครับที่ให้คำแนะนำ  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานมากครับ

นายทวี  มาสขาว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท