ชีวิตที่พอเพียง : 123. ผมชอบเป็น conductor


         ในการประชุมคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ ๓  ของ สสส. เมื่อวันที่ ๗ กย. ๔๙     คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ชี้มาที่ผม ว่าสมัยผมเป็น ผอ. สกว. ผมทำหน้าที่ conductor ทำให้การทำงานใน สกว. เดินไปอย่างบูรณาการกัน     เกิดการสนธิพลัง (synergy) ระหว่างฝ่าย หรือหน่วยงานย่อย ภายใน สกว.

        ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนบันทึกนี้     ซึ่งก็เป็นการเขียนแบบตีความ     ไม่ทราบว่าผมตีความตัวเองถูกต้องหรือไม่

         ตอนเป็น ผอ. สกว. ผมพยายามอย่างยิ่ง ที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเชิงวิชาการ   ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา    ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเพื่อชุมชน     และฝ่ายสนับสนุนการวิจัยโดยชาวบ้าน     และต่อมามีฝ่ายสนับสนุนการวิจัยเพื่อปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ด้วย     ผมพยายามใช้เวที ลปรร. ในกลุ่มผู้บริหาร     กลุ่มเจ้าหน้าที่ ที่เราเรียกว่า PO (Program Officer)    และในกลุ่มผู้ประสานงานโครงการในโปรแกรมใหญ่ๆ ของ สกว.     ตอนนั้นผมไม่รู้จัก KM ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นการ ลปรร. ข้ามศาสตร์ ข้ามแดน     แต่สิ่งที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ทุกคนเกิดการเรียนรู้สูงมาก     และได้ร่วมกันคิดริเริ่มการบริหารงานวิจัยรูปแบบใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน     ผมเข้าใจว่าที่ผมได้รับเครดิตมากก็คงจะมาจากผลงานนี้

       พอคนอื่นๆ ทำงานได้ดี     ผมก็จะเปลี่ยนหน้าที่    ไม่ลงมือทำเอง     หันมาคอยจับตา พิจารณา ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร     ครุ่นคิดว่าน่าจะขับเคลื่อนไปสู่ภาพใหม่อย่างไร     ควรขยับขยายเป้าหมายตรงไหน     ควรขยับทิศทางอย่างไรบ้าง    ควรปรับจุดหนักเบา หรือลำดับความสำคัญอย่างไร     หน้าที่แบบนี้กระมังที่คุณหมออำพลเรียกว่าเป็น conductor       

        ตอนมาทำงานที่ สคส. ใหม่ๆ ผมก็ลุยเองอยู่ ๒ - ๓ ปี     จนตอนนี้เราเริ่มมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง     มีภาคีเครือข่ายมากขึ้น     ทีมงานมีทักษะดีพอที่จะทำได้เอง     และเป็นทีมที่รักใคร่สามัคคีช่วยเหลือกันดีมาก     ผมก็ค่อยๆ ถอยออกไปทำหน้าที่ดูแลภาพใหญ่ เชื่อมโยง KM กับภาพใหญ่ในสังคม มากขึ้น    

        อันนี้กระมังที่เรียกว่าเป็นหน้าที่ conductor

        ย้อนระลึกชาติกลับไปสมัยสร้าง Lab Cytogenetics ที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. เมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว      ผมถามตัวเองว่าผมทำถูกหรือเปล่าที่ทำงานแบบนั้น     คือเป็นหัวหน้า Lab โดยที่ตัวเองทำ Lab ไม่เป็น     ผมทำ blood culture ไม่เป็น    ทำ chromosome harvest ไม่เป็น    และวิเคราะห์โครโมโซมไม่เป็น     แต่ก็สามารถนำการประชุมปรึกษาหารือกับคนในทีมงาน และพัฒนา Lab Cytogenetics จนถึงจุดหนึ่งเราก็บอกตัวเอง และบอกกันเองในทีมว่า     คุณภาพของ lab เราไม่เป็นรองใครในประเทศไทย     เราไม่กล้าประกาศดังๆ กลัวเพื่อนฝูงหมั่นไส้

         มาถึงตอนนี้ผมจึงตีความได้ว่า ผมเป็นหัวหน้า Lab Cytogenetics    ในทำนองเดียวกันกับ conductor ที่เล่นดนตรีไม่เป็น

        ตอนนั้นผมสงสัยอยู่ตลอดว่าผมสารภาพกับทีมงานทุกคนว่าผมทำ lab ไม่เป็น    โดยไม่คิดว่าจะพยายามฝึกทำ เพราะผมมีงานบริหารอยู่ด้วย   และจุดอ่อนนี้ทุกคนต้องช่วยกันอุด     แต่ผมก็มีส่วนในการนำเอาความรู้เชิงทฤษฎีมาจากวารสารและตำราต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกับทีมงาน     ผมสงสัยตลอดมาว่าทีมงานเขาศรัทธาหัวหน้าที่ทำ lab ไม่เป็นได้อย่างไร     ด้วยข้อระวังนี้ผมจึงทำหน้าที่นำเอาความรู้และทรัพยากรด้านอื่นๆ เข้ามาใส่ให้แก่ทีมงาน     ทำให้เขารู้สึกว่าผมไม่เป็นจุดอ่อนของทีม

       ผมนึกออกแล้ว     ผมประสบความสำเร็จในการเป็น conductor แม้จะเล่นดนตรีไม่เป็น    ก็เพราะผมเคารพ และยกย่องความสำเร็จของทีม (วง) และเคารพยกย่องความสำเร็จของ "นักดนตรี" ทุกคน  

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 52896เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท