แจ้งเตือนการระบาดและการป้องกันโรคมือ เท้า ปากและโรคตาแดง


โรคมือ เท้า ปาก และโรคตาแดง

แจ้งเตือนการระบาด  โรค มือ เท้า ปาก

จากข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุข  ได้รายงานการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก  ในเดือนกันยายน 2549
ซึ่งพบการระบาดในโรงเรียน ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจำนวน 1 ราย
  โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใคร่ขอประชาสัมพันธ์  แจ้งเตือนบุคลากรและผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล ให้สนใจ ดูแลสุขภาพบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด

โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส  ซึ่งการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการอาจมีได้หลายแบบ เช่น อาการไข้เฉียบพลันแล้วหายได้เอง  โรคมือ เท้า ปาก  ซึ่งเด็กมักมีอายุระหว่าง 1-5 ปี มักมีไข้นำมาก่อน
1-3 วัน และอาจมีน้ำมูก มีแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ซึ่งทำให้เด็กเจ็บ  กินอาหารไม่ได้ อาจมีน้ำลายไหล มีผื่นแดงๆ หรือผื่นเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาการมักดีขึ้นเองในเวลา 3-7 วัน อาการทางระบบประสาท   เช่น  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  แขนขนอ่อนแรง  เป็นอาการแทรกซ้อน ซึ่งพบไม่บ่อย
การป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ที่สำคัญที่สุด
1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด  หลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อนรับประทานอาหาร
                 2. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก  แก้วน้ำ  ห้ามใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน
3. ในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล   ต้องมีวิธีกำจัดอุจจาระให้ถูกต้อง
4. พี่เลี้ยงเด็ก ต้องล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนเตรียมอาหาร
การเฝ้าระวังป้องกันโรค มือ เท้า ปาก
                1. เมื่อผู้ปกครองพบบุตรหลาน  มีอาการไข้  ผื่นขึ้น มีตุ่มใสขึ้น ที่ปาก มือ และเท้า ขอให้นึกถึงโรคนี้
                2. หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่รวดเร็วเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจเกิดตามมา
  3. แยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กคนอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
     4. โรคนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง จะรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญหากเด็กมีไข้สูงอาจชักได้    
 5.ถ้าโรงเรียนพบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก  ในห้องเรียนเดียวกัน 2 ราย   ต้องแจ้งสาธารณสุขจังหวัด 
เพื่อสั่งปิดโรงเรียนและป้องกันและควบคุมโรค


ด้วยความปรารถนาดี     จากหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ  งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์   คณะแพทยศาสตร์ 
โทร.043- 363573  หรือ  043- 36307


คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส

                                                                                                                                   ประกาย  พิทักษ์ *   ผกากรอง ลุมพิกานนท์**
โรคตาแดง
   เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาขาวที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส   มักพบมีการระบาดในช่วงฤดูฝน   ซึ่งติดต่อกันได้ง่าย รวดเร็ว  ทำให้เกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน  1-2  วัน โดยจะมีอาการตาแดงอย่างรวดเร็ว  เคืองตา  เจ็บตา น้ำตาไหล    ไม่มีขี้ตา ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจะมีขี้ตาได้  บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ หน้าหูโตและเจ็บ   ตาแดงมักเป็นตาข้างหนึ่งก่อน   ต่อมาอีก 2-3 วัน  จะลุกลามไปที่ตาอีกข้างหนึ่ง ระยะเวลาของโรคนี้จะเป็นนาน 10-14 วัน  
การติดต่อ 
  โดยการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันกับผู้ป่วยโรคตาแดง       ในระยะตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติ  โดยเฉลี่ยประมาณ  1-2 สัปดาห์ 
การรักษา 
 เนื่องจากโรคตาแดงเกิดจากเชื้อไวรัส และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ  ถ้ามีอาการเคืองตา แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นกันแดด ไม่ควรปิดตา และไม่จำเป็นต้องล้างตา นอกจากนี้ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และพักการใช้สายตา    อาการมักหายได้เองภายใน 1-2  สัปดาห์
อาการแทรกซ้อน
  โรคตาแดงมักหายเอง พบโรคแทรกซ้อนไม่บ่อย เช่นอาจเป็นกระจกตาอักเสบได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง   ดังนั้นเมื่อเกิดมีอาการตาแดงขึ้นควรพบแพทย์  ไม่ควรซื้อยามากินหรือหยอดตาเอง           
การป้องกันควบคุมโรคตาแดง
1. การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ เป็นสุขนิสัยส่วนบุคคลที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆได้เป็นอย่างดี
2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย  ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หมอน    ผ้าห่ม ของเล่นเด็ก ยาหยอดตา เป็นต้น   ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน  เสื้อผ้าผู้ป่วย ซักด้วยผงซักฟอก ให้สะอาด
3. กรณีที่เด็กเป็นโรคตาแดง ไม่ควรให้ไปโรงเรียน เพราะจะนำโรคไปติดต่อให้เพื่อนได้    ไม่ควรแกล้งเพื่อนโดยการเอามือป้ายตาตนเองแล้วไปป้ายตาเพื่อน  ถ้าเป็นผู้ใหญ่ควรหยุดพักอยู่กับบ้านจนกว่าจะหาย
4. งดการว่ายน้ำในขณะที่เป็นตาแดงหรือมีโรคตาแดงระบาด
5. ผู้ที่เป็นตาแดงข้างหนึ่ง  ส่วนตาอีกข้างหนึ่งไม่มีอาการ ให้หยอดตาเฉพาะข้างที่เป็นตาแดงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องหยอดตาข้างปกติด้วย เพราะจะเป็นการนำเชื้อจากข้างที่เป็นไปยังตาข้างปกติ

หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์
โทร. 043-363573 ,  043 -363077      เบอร์ภายใน 63573   หรือ  63077

 *  พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ   หน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ งานเวชกรรมสังคม โรคงพยาบาลศรีนครินทร์
** ศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

หมายเลขบันทึก: 52889เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท