และแล้วเมื่อโครงการ Patho-Otop1 ดำเนินมาถึงช่วงการนำเสนอความสำเร็จของงาน ปัญหาอันแสนจะยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณกิจก็เริ่มก่อตัวเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
พี่เม่ยพบว่า ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนของคุณกิจส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนปัญหา หาแนวทางแก้ไขปัญหา ระดมสมอง พูดคุยปรึกษาหารือ และลงมือทำงาน จะหนักจะเหนื่อยจะยากแค่ไหน ดูๆไปแล้วคุณกิจทั้งหลายก็ "ไม่ย่อท้อ" ค่ะ แต่พอถึงตอนที่จะต้อง "พูด" นี่สิคะ ทำเอากังวลจนถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับกันไปหลายคนทีเดียว....
พี่เลี้ยงก็ต้องพยายามหาเทคนิควิธีการต่างๆมาช่วยให้สามารถปฏิบัติภารกิจอันยากยิ่งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ หลายทีมหลายคนก็หลากหลายแบบค่ะ....
พี่เม่ยเริ่มด้วยการ ปลอบใจ ให้กำลังใจ ก่อนค่ะ
- "ไม่เป็นไรหรอก ใครๆก็ตื่นเต้นกันทั้งน้าน....แหล่ะ! ดูพี่เม่ยซิ ติ่นเต้นทุกครั้งเหมือนกัน...."
- "โหย!... คิดเสียว่าโอกาสอย่างนี้หาได้ที่ไหน มีอาจารย์ผู้รู้ตั้งหลายๆท่านมาฟังเราพูด..."
- "พูดเรื่องที่เราทำ ใครจะไปรู้ได้ละเอียดดีเท่าเราล่ะ พูดไปเล้ย....."
ยังไม่หายกังวล เอ้า...อย่างนี้ต้องเชียร์ด้วย....
- "เอางี้ ออกไปนั่งช่วยกันพูดทั้งทีมเลยก็ได้ แบ่งกันพูด ช่วยกันคลิ๊ก จะได้มีเพื่อน...."
- "ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว พี่เม่ยเข้าฟังทุกรอบ ทุกทีม....นั่นแหล่ะ เดี๋ยวถ้ามีคำถามที่ตอบไม่ได้ก็มองมาทางพี่เลี้ยงก็แล้วกันนะ จะช่วยตอบให้...."
พอจะคลายกังวลไปได้บ้างค่ะ และเพื่อให้มีความมั่นใจมากขึ้น "เรามาซ้อมกันก่อนนะ..."
ก็ให้จัดเตรียม powerpoint มาให้เรียบร้อยก่อน แล้วนัดมาซ้อมพูดกันที่หน้าคอมพ์นี่แหละ
- พูดรอบแรก พี่เลี้ยงยังมองหน้าไม่ได้นะคะ มองปุ๊บหยุดพูดปั๊บเลยค่ะ "พูดไม่ออก" ไม่เป็นไรค่ะ เราก็นั่งมองไปทางอื่นบ้าง มองแต่หน้าจอมอนิเตอร์บ้าง เงี่ยหูฟังได้อย่างเดียว ไม่ถามไม่แทรก ไม่ทำอะไรทั้งนั้น
- รอบสอง เอ๊ะ เริ่มพูดได้คล่องขึ้น พี่เลี้ยงเริ่มมองหน้าคนพูดได้บ้าง แต่อย่าทำหน้าสงสัยหรือแทรกคำถามนะคะ เดี๋ยวพูดต่อไม่ติดเลย ก็รอให้พูดจบก่อนแล้วแนะนำว่าน่าจะเพิ่มตรงนั้น แก้ไขตรงนี้นะ....
- รอบสาม คราวนี้เริ่มมั่นใจค่ะ พูดได้ต่อเนื่องราบรื่น พี่เลี้ยงนั่งมองหน้าก็ไม่หวั่น...
- รอบสี่ อ๊ะ!...เริ่มเชี่ยวชาญกันมากขึ้น ถามแทรกได้ค่ะ ถามปุ๊บตอบปั๊บ... พี่เลี้ยงฟังไปสงสัยไปก็ได้ด้วย.....
- รอบห้า รอบหก.... ไปซ้อมกันที่ห้องประชุมดูบ้างซิ....อืมม์ พอไหวค่ะ
ในที่สุด ทุกทีมก็สามารถผ่านพ้นการนำเสนอผลการดำเนินงานไปได้ด้วยดี และด้วยประสบการณ์ที่ต้องอาศัยกำลังใจและผ่านการฝึกซ้อมจนมั่นใจ ทำให้ทักษะในการนำเสนอผลงานเหล่านี้ ติดตัวคุณกิจนักพูดไปได้อย่างแนบเนียน จนแม้แต่เจ้าตัวเองก็แทบไม่รู้ตัวเลยค่ะ
มาเห็นผลได้ก็เมื่อก้าวเข้าสู่โครงการ Patho-Otop2 นั่นแหล่ะค่ะ ที่พี่เม่ยพบว่าการพูดเสนอร่างโครงการที่เคยเป็นเรื่องยากๆก็กลับกลายเป็นง่ายๆ....เป็นมืออาชีพกันไปหมดทุกคนเลยค่ะ...
โห...พี่เลี้ยงคนนี้....ดีใจจังค่ะ!......
คำสำคัญ (Tags)#บันทึก#ประสบการณ์#พี่เลี้ยงโครงการ#patho-otop1
หมายเลขบันทึก: 52890, เขียน: 02 Oct 2006 @ 09:47 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 16:01 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก