ศาลากับโรงแรม: ความแตกต่างระหว่าง open-source software กับ commercial software


บันทึกที่แล้วผมได้เสนอแนวความคิดเรื่อง "แนวคิดเรื่องค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม " ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ผมนำเสนอแก่ทุกท่าน ซึ่งหลายท่านเข้าใจในแนวคิดแต่หลายท่านอาจจะยังสับสนกับแนวความคิดว่าผมหมายถึงอะไร ผมกำลังจะขายซอฟท์แวร์หรืออย่างไร หลายท่านอาจสงสัย

เพื่อให้ท่านเข้าใจถึงแนวความคิด เราคงต้องย้อนกลับไปหาปรัชญาของ open-source software กับ commercial software ก่อน

สำหรับ commercial software นั้น ทุกท่านก็คงคุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อท่านจะใช้ ท่านต้องจ่ายเงินซื้อให้แก่ผู้ผลิต ผู้ผลิตมี "รุ่น" ที่ต่างกันไปที่จะปิดหรือจะเปิดความสามารถตามจำนวนเงินที่จะจ่าย จ่ายมากใช้มาก จ่ายน้อยใช้น้อย เมื่อไม่จ่ายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ ผมขอเปรียบเทียบ commercial software กับ "โรงแรม" ครับ โรงแรมจะมีห้องพักหลายขนาดตามแต่ผู้ใช้บริการจะเลือกซื้อ และบริการเสริมต่างๆ ก็จะคิดราคาพิเศษออกไป

ส่วน open-source software นั้น หลายๆ ท่านเคยใช้ แต่ความเข้าใจของคนไทยโดยส่วนใหญ่ก็คือ open-source software เป็น "ของฟรี" ครับ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงประเด็นของปรัชญา open-source ผมจึงขออธิบายโดยเปรียบเทียบ open-source software กับ "ศาลา" ครับ

คนรุ่นใหม่ปัจจุบันอาจจะไม่เคยใช้ "ศาลา" แต่สำหรับผมยังทันที่จะนอน "ศาลาวัด" อยู่เวลาจับกลุ่มกันไปเที่ยวต่างจังหวัดสมัยวัยรุ่น สำหรับคนที่ไม่รู้จัก "ศาลา" อาจจะต้องถามผู้ที่รู้จักนะครับว่าเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบัน "ศาลา" อย่างที่ผมเคยใช้บริการนั้น ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

"ศาลา" นั้นมีขนาดเดียว คนผ่านทางทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนสามารถใช้ศาลาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่มีใครอ้างกรรมสิทธิ์ใน "ศาลา" เพื่อจะห้ามคนอื่นไม่ให้ใช้

แต่เมื่อเราใช้ "ศาลา" แล้ว เราก็มีหน้าที่ร่วมกันที่จะเก็บกวาดพื้นที่ที่เราใช้ ถือเป็นหน้าที่ร่วมกันของผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ถ้าเราใช้ห้องน้ำ เราก็ต้องหาบน้ำจากบ่อมาเติมให้เต็ม กวาดพื้นและเทขยะก่อนที่เราจะจากไป ถ้าหน้าศาลามีตู้รับบริจาค เราก็อาจบริจาคไปตามกำลังทรัพย์ เพื่อให้ศาลานี้ยังอยู่และมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ต่อไป และในโอกาสหน้าหากเราเดินทางมาในพื้นที่นี้อีก เราก็จะได้ใช้บริการพักผ่อนอีกเช่นกัน

open-source software เป็นเหมือน "ศาลา" ครับ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ได้เต็มที่ แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแล "ซอฟท์แวร์สาธารณะ" ตามกำลังที่มีเช่นเดียวกัน

ผมขอให้ทุกท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ไปอ่าน GNU.org และ FSF.org อย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะอ่านต่อไปครับ

(โปรดอ่าน GNU.org และ FSF.org ก่อน)

จาก GNU.org ท่านจะเห็นว่าใจความหลักจะอยู่ที่

“Free software” is a matter of liberty, not price. To understand the concept, you should think of “free” as in “free speech”, not as in “free ice cream”.

แต่เราคนไทยในประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เข้าถึง open-source software ในระดับชั้นของการค้นหา "liberty" ของ "software" ครับ เรายังอยู่ในกลุ่มเป้าหมายประเภท "ผู้ที่จะได้รับอิสรภาพ" (to be freed) ยังไม่ได้ไปเป็นกลุ่ม "ผู้ที่จะไปให้อิสรภาพผู้อื่น" (to free others) ดังนั้นแนวความคิดของ open-source software ที่มีหน่วยงานต่างๆ (อาทิเช่น SIPA) ที่บอกกับคนไทยคือ open-source software คือ "ของฟรี ใช้ได้เลย ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องซื้อ"

แนวความคิดนี้ดีในแง่ว่าช่วยให้ผู้คนหันมาใช้ open-source software ได้มากขึ้น แต่เมื่อถึงจุดที่เราจะก้าวไปสู่ "ผู้ให้อิสรภาพแก่ผู้อื่น" แล้ว เราจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการให้แนวความคิดของการเป็น "ผู้ให้" นอกจากการเป็น "ผู้รับ" อย่างเดียวด้วย (You shall give back what you take.)

ในบันทึก "แนวคิดเรื่องค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม" นั้น ผมเสนอแนวความคิดเรื่อง "ค่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม" ที่จริงแล้วคำว่า "ค่าสนับสนุน" น่าจะใช้คำว่า "ค่าบริจาค" น่าจะตรงแนวความคิดมากกว่า

ในอีกประเด็นคือเป็นเรื่องของ open-source software ที่ผมผลิตแล้วจะนำมาใช้ใน ม.สงขลานครินทร์ ที่ผมทำงานอยู่ ดังนั้นจึงมีประเด็นที่ "เฉพาะ" อยู่ที่จะชวนให้หลุดจากประเด็นหลักไปได้

ผมจึงขอชวนให้มามองข้ามประเด็น "เฉพาะ" เหล่านั้นแล้วมามองประเด็น "องค์รวม" ในลักษณะของ open-source software "x" ผลิตโดยหน่วยงาน "A" แล้วจะมีประโยชน์ต่อหน่วยงาน "B..Z" โดยที่ "B..Z" มีการนำไปใช้งานที่ต่างกัน โดยแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณที่แตกต่างกัน

ทำอย่างไรเราจะให้ open-souce software "x" มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อ "liberate" องค์กรเหล่านั้นและองค์กรอื่นๆ จากการใช้ commercial software "y" ครับ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจครับ เราลองมาช่วยคิด "ต้นแบบ" ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในโครงการพัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆ ในอนาคตกัน

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ยากครับ เพราะประเทศไทยเราอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมของ "การแบ่งปัน" มาก่อน "การซื้อขาย" ใช่แล้วครับ วัฒนธรรมเรามี "ศาลา" มาก่อนที่เราจะมี "โรงแรม" ครับ

หมายเลขบันทึก: 53381เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดิฉันขออนุญาตยก ตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ open-source หนึ่งตัวที่เป็นของ Australia แต่คนไทยนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และคิดไปว่าเป็นของคนไทย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ นั่นคือ ซอฟแวร์ Content Management System ที่ชื่อว่า Mambo (http://www.mambo-foundation.org/)

Mambo สามารถตั้งตัวเป็น foundation ได้โดยเงินบริจาคจากทั่วโลกเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนองค์กรไทยส่วนใหญ่ที่นำเอา Mambo มาใช้นี้ จะมีกี่องค์กรที่บริจาคเงินกลับคืนไปยัง Mambo foundation เพื่อสนับสนุนการพัฒนา

เขาอาจจะไม่เข้าใจ concept ของ Open-source ที่ถูกต้อง ก็เลยคิดว่าเป็นของฟรี ใช้กันอย่างสบาย เพราะคนทั่วโลกช่วยกันบริจาคอยู่แล้ว

 

ขอบพระคุณคะอาจารย์  หนูจะได้ตาสว่างเสียที

ผมลองขอแจกแจงดูนะครับ ว่าคนจะมีส่วน "ให้" ได้ เมื่อใดบ้าง

  1. เมื่อเขามีความสามารถที่จะสร้างเองได้ ข้อนี้สำคัญ อย่างเช่นอาจารย์ใช้ระบบที่ผมไม่รู้จัก การมีส่วนเกื้อโดยตรงก็ย่อมเป็นไปได้ยาก แต่อาจมีโดยอ้อมเช่นการเสนอแนะ แจ้ง bug ฯลฯ ซึ่งคุณภาพก็จะไม่เข้มข้น
  2. เมื่อเขาสนุกในการสร้าง คนที่สร้างอะไรก็แล้วแต่ มักมีสัญชาตญาณให้คนอื่นเห็นด้วย ชื่นชม การที่คนอื่นมาใช้สิ่งที่เขาสร้าง เป็นการชื่นชมแบบหนึ่งที่เหนือกว่าคำพูด ทำอย่างไรจะให้ใครต่อใครนึกสนุกมาเข้าร่วม ?
  3. เมื่อเขามีเวทีสาธารณะให้แสดงออก
  4. สิ่งที่เขาคิดจะไปต่อเติมให้นั้น มีช่องว่างให้ขยับขยายได้ เช่น ถ้าออกแบบตอนต้น ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมแบบเปิด ยืดหยุ่น เป็นระเบียบ
  5. การมีระบบรองรับการขยับขยาย

แต่ที่ว่ามานี่ ผมเองมองว่าทำยากทั้งนั้นครับ  แต่ถ้าระบบใดที่ตอบสนองต่อประเด็นเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า ช้าหรือเร็ว จะมีผู้มาต่อยอดให้ เพราะผมเชื่อว่า ทำอะไรให้ดี ต้องมีความสนุกเป็นตัวตั้ง

ผมอาจคิดไม่ถี่ถ้วน เชื่อว่าอาจมีประเด็นอื่นให้ต่อเติม..ขอเชิญครับ..

ขอบคุณค่ะอาจารย์วิบุล ใช่แล้วค่ะ การให้นั้นมีได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น financial support อย่างเดียวค่ะ

การช่วยการต่อยอดพัฒนาในส่วนเพิ่ม ยิ่งเป็นการดีใหญ่เลยค่ะ ระบบ KnowledgeVolution รองรับการพัฒนาต่อยอดได้อย่างดีค่ะ

แต่เนื่องจากเราใช้ Ruby on Rails ซึ่งยังใหม่มากสำหรับนักพัฒนาในประเทศเรา ดังนั้นคงต้องรอให้ Ruby on Rails เป็นที่แพร่หลายรู้จักในหมู่คนไทยมากกว่าค่ะ จึงจะหาคนมาช่วยพัฒนาได้ค่ะ

เราเคยคิดว่า องค์กรที่นำเอา KnowledgeVolution ไปลงฟรี น่าจะให้นักพัฒนาระบบของเขาใช้เวลาในวันศุกร์มาช่วยพัฒนา KnowledgeVolution เป็นการตอบแทน และช่วยกันทำให้ซอฟต์แวร์ open-source ของไทยก้าวหน้ามากกว่าปัจจุบันนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท