ให้โอวาทผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังการรักษา...


ฝึกจิตใจของเรา ฝึกปล่อยฝึกวางความโกรธทั้งหลายทั้งปวงที่เราสั่งสมมา พระพุทธเจ้าท่านเราปล่อยวางให้หมด เราอย่าได้ทำบาป เราอย่าได้แบกบาปแบกกรรมไว้เลยนะ ให้เราปล่อยเราวางได้แล้ว


คนเราที่เกิดมามีร่างกาย มีจิตใจ เรียกว่ามีกายกับใจเป็นของคู่กัน กายของเรา จะมีอายุขัยอยู่ได้ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกินร้อยปีนะ ใจของเรานี้มาอาศัยร่างกายอยู่ เมื่อร่างกายของเรายังเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวแข็งแรงดี เราก็มีความสุขสนุกสนานในการกินการเล่น   การเที่ยว เมื่อร่างกายของเราไม่แข็งแรงมีโรคมีภัยป่วยไข้ไม่สบายใจของเราก็เป็นทุกข์ไปด้วย 

เมื่อเรายังเด็ก ๆ ยังหนุ่ม ๆ เราก็อยู่กับการกินการเล่นการเที่ยว การเรียนการศึกษา การดูหนังฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เนท เฟซบุ๊ค ไปเล่นไปเที่ยวกับเพื่อนกับฝูง เมื่อถึงเวลาไปทำงานใจของเราก็มีเครื่องอยู่คือการทำงาน เขาเรียกว่าเราอยู่กับสิ่งภายนอก ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งภายนอก เพลิดเพลินไปเป็นวัน ๆ จนกาลเวลาผ่านไป ๆ เราแก่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าแก่ตอนเช้าตอนกลางวันตอนกลางคืน แต่เรามารู้ตัวก็รู้ว่าเราแก่แล้วนะ

เมื่อเราแก่แล้วเราทำอย่างไรเราถึงจะมีความสุข มีความดับทุกข์ได้...? 

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาบอกเราสั่งสอนเรา “ให้เราพากันมาหาธรรมะมาพึ่งธรรมะ” เพราะว่าร่างกายของเราเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่เป็นธรรมะเป็นธรรมชาตินะ ธรรมชาติก็ได้แก่ความเกิด ความแก่ ความชรา ความเจ็บไข้มีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา มีความตายทุก ๆ คน “ทุก ๆ คนนั้นจะหลีกหนีไปไม่พ้น มีการพลัดพราก จากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราไม่ต้องการเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครหลีกหนีไปพ้นนะ”

พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาพอใจในความแก่ ในความเจ็บ ในการพลัดพราก ต้องยอมรับความจริง เพราะนี่เป็นธรรมะ เป็นธรรมชาติ เป็นกฎตายตัว 

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราปฏิเสธความจริง ยินดี พอใจ ยอมรับสิ่งที่จะมีจะเป็นขึ้นในอนาคตหรือว่ากำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราจะไปแก้ธรรมะจะไปแก้ธรรมชาติไม่ได้ ต้องมาปรับที่จิตที่ใจของเรา มีความสุข มีความสงบ มีความเย็นเป็นพระนิพพาน ไม่ไปปรุง ไปแต่ง ไม่ไปต่อต้านสู้รบตบตีทางจิตทางใจ มันอยากแก่ก็ช่างหัวมัน มันอยากเจ็บไข้ไม่สบายก็ช่างหัวมัน มันอยากเป็นโรคโน้นโรคนี้ก็ช่างหัวมัน เราห้ามมันไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมะ เป็นธรรมชาติ ถ้าเราไปคิดไปปรุงแต่งมันเป็นทุกข์เปล่า ๆ “ทุกข์ทางกายมันก็มากอยู่แล้วเรายังมาทุกข์ทางใจอีก” 

พระพุทธเจ้าท่านให้เรายินดีในธรรมะ รักธรรมะ ชอบธรรมะ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกจิตฝึกใจไปพระนิพพาน “ที่พระพุทธเจ้าท่านเข้าถึงพระนิพพานนั้นคือเข้าถึงธรรมะ ไม่ไปแก้ไข ไม่ไปเพิ่มเติม ไม่ไปปรุงแต่ง” 

ให้ทุกท่านทุกคนเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ถือว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราทุก  ๆ คนที่จะมาฝึกปล่อยฝึกวาง ไม่ทำตามใจของเราไม่ทำตามทิฏฐิมานะของเรา เราไปทำไม่ได้ ไปแก้ไขไม่ได้ ความจริงมันก็เป็นความจริง อย่างเรามีสภาพเป็นอย่างไร เราก็ยินดีในอัตภาพของเรา เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างไรเราก็ยินดีพอใจ เราเดินไม่ได้                เราก็พอใจในการที่เราเดินไม่ได้ เราเป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาตก็ยินดีในความเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเราไม่ยินดีนี้ก็ชื่อว่า  “เราไม่รักธรรมะไม่ชอบธรรมะ”  ถ้าเราไม่รักธรรมะ ไม่ชอบธรรมะก็คือเราไม่ชอบพระนิพพาน เราไม่ชอบพระพุทธเจ้า เราจะถือตัวตนเป็นใหญ่ ถือตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ได้... 

พระพุทธเจ้าท่านก็ยังเคารพในพระธรรม ท่านไม่ได้ออกมาต่อต้านหรือว่าออกมาแก้ไข

อย่างเราเป็นคนแก่คนเฒ่าแล้วนี้เราจะไปเอาความสุขกับสิ่งภายนอกมันก็ไม่มีอารมณ์มันก็ไม่มีความสุขนะ เพราะร่างกายของเราไม่อำนวย 

เราไม่เคยฝึกใจให้ใจของเราสงบ ให้ใจของเราหยุด ให้ใจของเราเย็น ใจของเรามันเลยดิ้นเหมือนกับถูกน้ำร้อนลวก 

ทีนี้ล่ะนะพระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกใจของเราให้ใจของเราสงบ เพราะความสุข ความดับทุกข์ของเรามันอยู่ที่ใจสงบ ใจของเราจะสงบได้ก็ต้องมีเครื่องทำให้ใจมันสงบ มีการมีงานที่ทำให้ใจมันสงบ 

ลมหายใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะมันอยู่กับเรา มันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์... 

พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันมาฝึกหายใจให้มีความสุข มีความสบาย หายใจเข้าออก ให้มีความสุขมีความสงบมีความสบาย พักผ่อนอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออกให้มันสบาย เราไม่ต้องเอาสติไปรู้ที่ปลายจมูกหรอกนะ หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าสบาย หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออกสบาย ถ้าเราเอาสติไปรู้ที่จมูกเราอาจจะเครียดได้ 

ให้เอาความสบายกายความสบายใจเป็นหลักนะ...

เราฝึกบ่อย ๆ เราทำบ่อย ๆ ระลึกได้เมื่อไหร่ก็ทำไป ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด อิริยาบถนั่งก็ได้ อิริยาบถยืนก็ได้ อิริยาบถนอนก็ได้ ไม่ใช่จะอยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิอย่างเดียว ไม่ใช่นะ...! 

เราทำได้ทุกอิริยาบถ จิตใจของเราจะได้ที่พักจะได้ที่อยู่ เราพึ่งทางกายมันก็ไม่ค่อยได้แล้ว เราต้องมาพึ่งความสงบ พึ่งจิตใจที่สงบ มาทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงคือทำใจ ให้มันสงบ นี้ทุกคนต้องฝึกต้องปฏิบัตินะ เราจะว่า “เราปฏิบัติไม่ได้ ไม่ได้” ถ้าไม่ได้เราก็ต้องเป็นทุกข์ที่ใจของเราไม่สงบ เรามันจำเป็นต้องทำให้ใจของเราสงบ ทำให้ใจของเราไม่เป็นทุกข์ 

ฝึกจิตใจของเรา  ฝึกปล่อยฝึกวางความโกรธทั้งหลายทั้งปวงที่เราสั่งสมมา พระพุทธเจ้าท่านเราปล่อยวางให้หมด เราอย่าได้ทำบาป เราอย่าได้แบกบาปแบกกรรมไว้เลยนะ ให้เราปล่อยเราวางได้แล้ว 

ความรักความชอบอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราปล่อยเราวางให้หมด เดี๋ยวจะเป็นบาปเป็นกรรมติดตัวเราไป เราไม่ต้องไปห่วงลูกเราหลานเรา ทรัพย์สมบัติของเรา มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดเสียว่าเราเกิดมาเราก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อเราตายไปแล้วเราก็ไม่ได้เอาอะไรไปด้วย เราจะมาหวงมาห่วงมายึดมาถือไปทำไมนะ 

อดีตก็คืออดีต อดีตมันผ่านไปแล้วก็ให้มันแล้วไป จะมามัวฉายหนังม้วนเก่า ดูหนังม้วนเก่ามันคงไม่ได้แล้ว คำว่าติดนี้ก็คือไปต่อไม่ได้ นี้เราไปยึดไปถือไปติด มันก็ไปไม่ได้ เมื่อไปไม่ได้มันก็เป็นภพเป็นชาติมันก็เป็นการเวียนว่ายตายเกิด 

มันเป็นบุญเป็นกุศลของเรานะที่พระพุทธเจ้าท่านเมตตาเรา สั่งสอนเรา ให้เราฝึกปล่อยฝึกวาง เราจะมาถือตัวถือตนถือทิฏฐิมานะว่าเราเป็นผู้หญิงผู้ชาย ว่าเราเป็นคนร่ำคนรวย เป็นคนมียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้...! มันถึงคราวจำเป็นแล้วที่จะปล่อยจะวาง ที่จะละที่จะทิ้ง เราระลึกได้เมื่อไหร่ก็หายใจเข้าหายใจออกให้สบายเมื่อนั้น เราระลึกได้เมื่อไหร่เราก็ปล่อยวางทางจิตใจ 

ชีวิตของเราจากวันนี้จนถึงวันหมดลมหายใจคือชีวิตที่ปฏิบัติธรรมะ เราจะไม่ทำตามความอยากความต้องการของเราอีกแล้ว เพราะเราแก้ปัญหาภายนอกมันแก้ไปแล้วมันก็แก้ไม่ได้ แม้จะมีปริญญาเอกตั้งหลายใบมันก็แก้ไม่ได้  

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ไขที่จิตที่ใจเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านพาเราแก้ 

เรามันแบกโลกนะ แต่เราไม่รู้ว่าตัวเองแบกโลก ถ้าเรามาคิดดูดี ๆ เราถึงจะรู้ว่าเรานี้เป็นคนหลง เป็นคนแบกโลก เราก็จะมีความคิดว่ามันเหนือศักยภาพ มันเหนือวิสัยที่เรา จะทำได้ปฏิบัติได้ ความคิดอย่างนี้แหละเราก็อย่าไปคิด เรามันทำได้อยู่แล้ว อันนั้นมันเป็นความคิดของพญามารที่มันแทรกเข้ามาในจิตในใจของเรา เรานี้ไม่เป็นตัวของตัวเองนะ            ใจของเรามีแต่เปรต มีแต่ผี มีแต่ยักษ์ มีแต่พญามาร เสนามาร ลูกหลานของมารมันอยู่ในจิตในใจของเรา 

ทุกท่านทุกคนถึงต้องมาเดินตามรอยพระพุทธเจ้า มาเอาตัวอย่างพระพุทธเจ้า อย่าไปเชื่อตัวเอง อย่าไปหลงตัวเอง เมื่อเราไม่รู้เราอย่าไปดันทุรงทุรัง เราไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพียงแต่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าทุกอย่างมันก็จะดีหมดได้ดีหมด ที่มันไม่ได้ดีก็เพราะว่าเราไปตามใจเรา ตามความเห็นของเรา เรานี้มันใช้ไม่ได้ มันยังมีความเห็นผิด              มันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่มากๆ  

เรามาปรับจิตปรับใจเราใหม่ว่า เรายอมรับความจริงว่าเรายังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เป็นคนหลงอยู่ เราต้องทำตามพระพุทธเจ้าเพราะแบบอย่างมันมีอยู่ 

ทุกคนเค้าก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ ปฏิบัติให้เราไม่ได้ เราต้องพยายามอุตสาหะเพื่อสร้างความดีสร้างบารมีสร้างคุณธรรมของเราเอง ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เราต้องพึ่งความดี พึ่งการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม ที่ผ่าน ๆ มาใจของเรามันไปรับเอาแต่บาปเอาแต่กรรมรับแต่อกุศล มันไม่มีความถูกต้อง มันไม่มีคุณธรรม อยู่ด้วยการเบียดเบียน            อยู่ด้วยความโกรธ ไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตาสงสารผู้อื่น ไม่มีความเมตตาต่อตนเอง พาตัวเองคิดแต่สิ่งที่ไม่ดี พูดแต่สิ่งที่ไม่ดี ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็ยังว่าตัวเองถูกต้อง จริงมั๊ย...?   ถ้าเรามีความยุติธรรมในใจเราก็คิดว่ามันจริง ถ้าเรามีความเห็นแก่ตัวเราก็คิดว่าเราถูก “พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเรายังทำไม่ถูกนะ” 

ทุกท่านทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติให้ใจของเราสงบใจของเราเย็น ใจของเราไม่ให้มีทุกข์  เราอย่าไปคิดในใจว่าชีวิตนี้มีแต่ความทรมาน อยู่ไปก็มีแต่ความทรมาน คิดแล้วก็อยากตาย อยากตายอยู่นั่นแหละ เราคิดอย่างนี้เราคิดไม่ถูก เพราะว่าธรรมะมันเกิดแก่เรา                    

เราต้องมีความสุขในธรรม เราอย่าไปคิดว่ามันจะสุขอย่างไร มันเจ็บปวดขนาดนี้  มันทำอะไรก็ไม่สะดวกมันจะสุขได้อย่างไร ที่เราไม่มีความสุขก็เพราะว่าเราไม่ยอมรับความจริง เราปฏิเสธความจริง ปฏิเสธความจริงน่ะมันทุกข์มั๊ย มันทรมานมั๊ย มันดิ้นเหมือนกับถูกน้ำร้อนลวกนะที่ใจมันดิ้น

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ในความเจ็บไข้ไม่สบาย กายก็ให้มันเป็นกาย ใจก็ให้มันเป็นใจ ให้เรานอนให้มันมีความสุข นั่งให้มีความสุขnเดินให้มีความสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไรให้ใจของเราสงบ “นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง สุขอันใดก็สู้ความสงบไม่ได้” อย่าไปวุ่นวายมันเลยนะ... 

เราจะได้เป็นตัวอย่างของลูกของหลาน ว่าพ่อเราดีอย่างโน้นแม่เราดีอย่างนี้ อย่าเอาแต่เอะอะโวยวาย อารมณ์เกรี้ยวกราด ฉุนเฉียว อะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เราอย่าไปทำอย่างนั้น ไม่ได้นะ... มันไม่เรียบร้อยไม่สวยงาม มันไม่เหมาะสำหรับเราที่เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่

พระพุทธเจ้าท่านให้เราสงบให้เราเย็น เราอย่าไปคิดว่าลูกเรามันก็ไม่มาอุปัฏฐากเรา หลานเราก็ไม่มาอุปัฏฐากเรา มันเนรคุณ ลืมพ่อลืมแม่ ลูกเราหลานเราเค้าก็มีการมีงาน ทำมาหากินเพื่อจะเอาตัวรอด พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาปรับที่จิตที่ใจ เราก็แก้ที่จิตที่ใจไป เราก็สร้างความดีสร้างบารมีไป มันทุกข์กายยังไม่พอยังไปทุกข์ใจอีกว่าลูกหลาน                      เค้าก็ไม่เหลียวแล ไม่พาไปหาหมอ ไม่มาเฝ้า 

ความเห็นแก่ตัวนี้มันบดบังปัญญานะ ทำให้เราเป็นคนไม่รู้จักคิด เพราะเราเกิดมาไม่เคยฝึกปล่อยฝึกวาง ไม่เคยฝึกเป็นผู้ให้ผู้เสียสละ มีความเห็นแก่ตัว แต่งงานมีครอบครัวก็เพื่อที่จะมีลูกหลานให้มันมาเลี้ยงมาดูแล ไม่ใช่ว่ามีลูกมีหลานให้เค้าสร้างบารมี คิดแต่ว่าจะให้เค้ามาอุปัฏฐากเราอย่างเดียวดูแลเราอย่างเดียว ถ้าเราคิดอย่างนี้ใจของเราก็เกิดโรคเกิดภัย

เป็นโรคอะไรล่ะ...? เป็นโรคลูกหลานไม่ดูแล เป็นโรคลูกหลานไม่ถามหา เค้าจะดูแลเราหรือไม่ดูแลเราก็ช่างหัวเขา เราก็ฝึกจิตฝึกใจให้ใจเรามันมีธรรม มีความสงบ 

เราคิดไว้เลยว่า “ให้มันมีทุกข์มากกว่านี้ข้าพเจ้าก็จะไม่หวั่นไหว อย่างมากมันก็ตายเท่านั้น มันคงไม่เลยตาย” ให้เราคิดอย่างนั้น เราจะได้เห็นภัยในวัฏฏะสงสารว่าการเกิดขึ้นมามันเป็นทุกข์อย่างนี้แหละ มันมีความแก่อย่างนี้แหละ มันมีความพลัดพรากอย่างนี้แหละ อะไรมันเป็นเหตุให้ทุกข์อย่างนี้ก็คือความอยากของเรา อยากให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ความอยากของเรานี้แหละนำเราให้เราเกิดมา 

ที่นี้แหละเราจะไม่ทำตามความอยากแล้ว เราจะทำให้จิตใจของเราสงบแล้ว เราจะปล่อยเราจะวางเหมือนกับพระพุทธเจ้าท่านพาทำ เหมือนกับพระอรหันต์ท่านพาทำ

พระพุทธเจ้าท่านเป็นคน พระอรหันต์ท่านก็เป็นคน ท่านทำได้เราก็ทำได้ เพราะคนเรามันก็เหมือนกันนั่นแหละ ที่มันไม่เหมือนกันก็คือ “มันทำไม่เหมือนกันเฉย ๆ” 

เราไม่กลัวอุปสรรคไม่กลัวปัญหาอะไรที่มันเกิดขึ้น แล้วแต่อะไรมันจะเกิดขึ้น เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา เรามาทำใจให้มันสงบ เราจะไม่หนีความจริง ไม่หนีสัจธรรม ไม่ว่าความรัก ความชัง ความชอบ ความไม่ชอบ เราจะไม่หนี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราพร้อมที่จะเผชิญพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา เราจะไม่มีอัตตาตัวตน ไม่มีโลกส่วนตัว จะมาแก้ที่จิตที่ใจ ที่ความเห็นของเรา เพราะปัญหาต่าง ๆ มันต้องแก้ที่จิตที่ใจเรียกว่า “การเจริญปัญญา             ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะ” 

สำหรับผู้ที่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ ยังเป็นวัยทำงาน พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราทำแต่สิ่งที่ดี ๆ  คือการไม่ทำบาปทั้งปวงนะ มีความสุขกับการเรียนหนังสือ มีความสุขกับการงาน มีความสุขกับการทานข้าวทานอาหาร การพักผ่อน การพูด การเว้นจากอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง 

คำว่ามีความสุขนี้ก็หมายถึงให้เรายินดีเราพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ เรากำลังกระทำอยู่ เรียกว่าเราทำสมาธิ เรียกว่าเราปฏิบัติธรรม ให้ใจกับกายเรามันอยู่ด้วยกันกับการกระทำ อย่าให้กายกำลังทำงานใจไปเที่ยวอย่างนี้ กายกำลังทานอาหารใจไปเที่ยวอย่างนี้  ทำอย่างนี้มันไม่ได้ มันไม่ถูก พยายามให้ใจอยู่กับสิ่งนั้น ๆ 

พัฒนาตัวเองไปอย่างนี้แหละ อย่าเป็นคนขี้เกียจ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนั้น เขาเรียกว่าเป็นการทำบาป ต้องเป็นคนเสียสละมาก ๆ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ ทำดีที่สุดในการกระทำของเรา อนาคตของเราก็จะเป็นผู้มีทรัพย์มาก เป็นผู้ที่มียศมาก แล้วก็จะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ทุก ๆ คนก็เคารพนับถือยอมรับเราได้ แม้แต่ตัวเราเองก็ยอมรับนับถือในการกระทำของเรา ชื่อว่าเราเกิดมาเป็นผู้ประเสริฐ ทำแต่ความดี ไม่เสียชาติเกิดที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาเราแก่ขึ้นมาหน่อยเราก็ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้แล้ว 

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวันนี้ก็เห็นสมควรแก่เวลา

ขอความสุข ความเจริญ ความงอกงามไพบูลย์จงมีแก่สาธุชนทุกท่านทุกคนเทอญ...




พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยายให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง 

ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตจิตสังคมผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังการรักษา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

เช้าวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 521859เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2013 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2013 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณมากค่ะ คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง จะน้อมนำไปถ่ายทอดให้กับท่าน บันทึกนี้เป็นประโยชน์มากค่ะ ^ ____ ^

ขอบคุณครับผม   นอกจากการดูแลคนไข้ทางกายแล้วที่สำคัญที่สุดคือทางใจ   พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงคุณลักษณะของผู้พยาบาลผู้เจ็บไข้ที่ดี มีข้อหนึ่งคือ  ให้คนไข้ร่าเริงด้วยธรรมิกกถา  เคยเจอและพูดคุยกับคนใกล้ตายถือโอกาสแนะนำการตัดขันธ์ห้าปรารถนาการไม่เกิดคือพระนิพพาน แนะนำให้เขาตัดนิวรณ์ห้าคือละอารมณ์ที่ทำปัญญาให้ถอยหลังคือ ละความพอใจจากรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสระหว่างเพศ  ละความพยาบาทขัดเคือง  ละความฟุ้งว่านรำคาญใจ   ละความหดหู่ซึมเศร้าง่วงเหงาหาวนอน  ละจากความลังเลสงสัยในคุณพระพุทธพระธรรมพระอริยสงฆ์  ละความหวงห่วงวางภาระทางโลกทุกอย่างไม่ว่าสัตว์วัตถุสิ่งของบุคคล  เพราะเราตายไปเอาไปด้วยไม่ได้ ทุกคนเกิดมามือเปล่าต่างคนต่างมาคนเดียวเมื่อตายไปก็ต่างคนต่างไปคนเดียว พุดถึงความดีของพระพุทธพระธรรมและพระอริยสงฆ์ว่าน่าเคารพไหม ผู้แนะนำแจ้งคนไข้ให้น้อมจิตตั้งใจถวายสังฆทานที่มีอานิสงส์สูงมากคือตั้งใจถวายแด่พระอริยสงฆ์ทั้งหมดอันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขและชำระหนี้สงฆ์ด้วยตนเองคือทานภายนอกโดยวิธีการเฉพาะหน้าคือให้เงินใส่มือถือ  แจ้งนำปัจจัยถวายพระสงฆ์ภายหลังให้คนไข้ชุ่มชื่นใจ บอกกล่าวว่าบุญจากการให้ทานเกิดขึ้นทันทีที่ตั้งใจในขณะนี้   ต่อไปแนะนำให้ทานภายในเพื่อให้จิตใจเบาสบายเยือกเย็นมีความสุขด้วยการให้อภัยทาน กับทุกคนทุกเรื่อง รักคนอื่นเสมือนตัวเรา เคารพกฏของกรรมคือมองทุกอย่างทุกคนทุกเรื่องเป็นเรื่องธรรมดาสุขทุกข์ที่ได้รับเป็นผลของกรรม ละคลายจากโลกธรรมแปด  เว้นจากอารมณ์ที่ทำให้เกิดความทุกข์คืออารมณ์พอใจและไม่พอใจ ตัดขันธ์ห้าให้เห็นทุกข์จริงๆๆจากการเกิดแก่เจ็บตายและทุกข์เวทนาที่รบกวนกายในขณะนี้ เราจะไม่สนใจทุกขเวทนาภายนอกนี้ที่รบกวนกายคือเปลือกนอกแต่จะไม่ยอมให้รบกวนใจให้เกิดความเศร้าหมองเป็นอันขาด    ถ้าพอใจในการเกิดอีก ต้องเจอกับการเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด  เราปรารถนาและนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ปรารถนาในการเกิดเป็นคนเทวดาหรือพรหมเพราะไม่พ้นจากความทุกข์   มีพระนิพพานที่เดียวไม่ต้องเจอความทุกข์อีกต่อไปตลอดกาล มีแต่ความสุขล้วนๆๆ  เราน้อมจิตทรงอิทธิบาทสี่ พรหมวิหารสี่ บารมีสิบ และหิริโอตตัปปะ  ตั้งใจถือศีลห้ายอมตัวตายดีกว่าศีลขาด  อธิบายสั้นๆพอเข้าใจไล่เรียงทีละข้อ และจบด้วยการบอกว่าบุญเกิดขึ้นทันทีที่ตั้งใจทรงศีลทรงธรรม  ข้อผิดพลาดใดใดที่ผ่านมาแล้วช่างมัน ไม่ตามนึกถึงอดีตที่ผ่านมาเพราะแก้ไขไม่ได้แล้ว  ไม่นึกถึงอนาคตที่มาไม่ถึง น้อมจิตทรงอารมณ์สติสัมปชัญญะอยู่แต่ในปัจจุบันขณะนี้เดี๋ยวนี้  ชี้ให้เห็นความสำคัญของอารมณ์ปัจจุบัน นึกถึงความตายเราอาจจะตายเดี๋ยวนี้  ดังนั้นเราจะไม่ประมาทไม่คิดชั่วไม่พูดชั่วและไม่ทำชั่ว  จิตใจเราจะเกาะอยู่ในความดีคือพระพุทธพระธรรมและพระอริยสงฆ์ เกาะในสีล  เกาะในพระนิพพานเป็นอารมณ์จิตเราจะไม่คลาดจากการนึกถึงพระนิพพานตลอดเวลา  พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใดขอจิตหรือ อทิสสมานกายของข้าพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น  ตั้งใจขอขมาพระรัตนตรัย น้อมจิตเคารพพระพุทธพระธรรมและพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ เคารพคือ คือทำตามคำสั่งและคำสอน  คำสั่งคือศีลห้า บัดนี้เราทรงสีลห้าบริสุทธิ์แล้ว  คำสอนคือพระธรรม คือ หิริความละอายความชั่ว โอตตัปปะคือกลัวผลความชั่วตามให้ผล เราตั้งใจทรงแล้ว ทบทวนพรหมวิหารสี่ เราตั้งใจมั่นแล้ว  บารมีสิบไล่เรียงทีละข้อ  จบท้ายเราตั้งใจทรงกำลังใจเต็มสิบประการให้ครบถ้วน  จับภาพพระแก้วใสและภาวนาพุทโธ  ท่านผู้รู้กล่าวว่า ภาวนาพุทโธไม่ตกนรก ภาวนาพุทโธหนึ่งหน พระพุทธเจ้าท่านส่งฉัพพรรณรังสีวนรอบจิตหนึ่งครั้ง  นำให้คนไข้ภาวนาหายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ  เบาๆๆ สบายๆๆ  สอบถามอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้ขณะน้อมจิตภาวนาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง  แนะนำให้คนไข้ให้เกิดความชุ่มชื่นในจิต  นึกถึงอารมณ์ปัจจุบันขณะนี้ คือ เคารพพระรัตนตรัย ทรงสีลห้า นึกถึงความตายและตั้งใจจุดเดียวคือตายเมื่อไรน้อมจิตไปพระนิพพานจุดเดียว                                                                          ข้าพเจ้าเคยกระซิบข้างหูจับมือสัมผัสคุยฝ่ายเดียวแนะนำปู่อายุเก้าสิบกว่าปีของข้าพเจ้าก่อนท่านจะสิ้นอายุขัยสองถึงสามครั้ง   เมื่อคราวท่านนอนป่วยครั้งสุดท้ายอยู่ที่ไอซียู โรงพยาบาลจังหวัด ตั้งแต่ปู่นอนป่วยลืมตาแต่ไม่พุด ต่อมานอนนิ่งไม่ทำตามสั่ง  โดยเน้นเรื่องการทรงสีลห้า  ให้ตั้งใจทรงสีล ไล่เรียงทีละข้อจบท้ายทุกข้อให้กำลังใจบอกว่าบุญเกิดขึ้นทันทีที่ตั้งใจถือสีล ครั้งสุดท้ายที่แนะนำสังเกตุว่าก่อนฟังไม่มีน้ำตา กระซิบข้างหูท่านนอนฟังแล้วมีน้ำตาไหล  ไม่นานต่อมาปู่ตาย ได้เรียนถามอาจารย์ที่สอนมโนมยิทธิตามแนวหลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุงถึงปู่ที่ตายไปแล้ว ท่านเมตตาบอกว่า ปู่คุณก่อนตายเขาตั้งใจถือสีลนะ ตอนใกล้ตายมีภาพจีวรพระลอยมา ตายแล้วเป็นเทวดาอยู่ชั้นจาตุมหาราช ให้ทำบุญให้ท่านด้วยนะ


การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง...

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท