KM-DMHT 2012 : ก่อนเปิดการประชุม (2)


เราต้องการสื่อสารไปว่า “ภูมิปัญญาดีมีอยู่แล้วในทุกท้องถิ่น” สามารถช่วยกันรื้อฟื้นและนำมาใช้ในวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพได้

ตอนที่ 1 

  • VDO เปิดงาน

จุดประกายมาจากตลาดนัดความรู้ฯ เช่นกัน เราต้องการสื่อสารไปว่า “ภูมิปัญญาดีมีอยู่แล้วในทุกท้องถิ่น” สามารถช่วยกันรื้อฟื้นและนำมาใช้ในวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพได้ ตัวอย่างดีที่มาตลาดนัดความรู้ฯ ของเราคือที่บ้านคำกลาง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และบ้านบุ่งเข้ อ.ปากพลี จ.นครนายก

ทีมงานของบริษัทจินตนาการมาประชุมกับพวกเราในวันสรุปงานตลาดนัดความรู้ฯ เพื่อจะได้รู้ว่าเราต้องการอะไร หลังจากนั้นบริษัทก็ไปดำเนินการเก็บเรื่องราวและถ่ายทำในพื้นที่ คุณอัมพรของจินตนาการเล่าว่าพื้นที่ 2 แห่งมีจุดเด่นในบทบาทของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่แตกต่างกัน แต่เรื่องราวเป็นของจริงและดีมากๆ (ปกติถ้าไม่ใช่ของแท้ จินตนาการจะไม่เอาเป็น case) 

การตัดต่อแล้วเสร็จใกล้กลางเดือนธันวาคม ดิฉันได้รับ VDO มาดูเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มีส่วนที่อยากให้ปรับแก้บางช่วงบางตอน วันที่ 21 จึงนัดหมายพูดคุยกับคุณวิฑิตและคุณอัมพร เพื่อสื่อสารเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน วันที่ 24 เช้าคุณอัมพรเอา VDO ไปให้ดูที่บ้านอีกครั้งเป็นรอบสุดท้าย ก่อนนำไปผลิตให้สมบูรณ์ ดิฉันให้ทำ DVD เพิ่ม 15 แผ่นเพื่อแจกจ่ายทีมงานและอีก 50 แผ่น ตั้งใจจะขายในงาน แต่ในที่สุดไม่ได้ขายสักแผ่น เราใช้แทนของรางวัลสำหรับผู้เข้าประชุมในกิจกรรม AAR ทุกช่วง ปก DVD ก็ใช้ artwork ของปกหนังสือ

  • กระเป๋าใส่เอกสาร

ดิฉันถูกใจวัสดุและแบบกระเป๋าจากงานมหกรรม KM พย.สสส ปีที่แล้ว  เลยขออนุญาตใช้กระเป๋าแบบเดิม เมื่อติดต่อร้านที่ทำ พบว่าราคาไม่แพงอย่างที่คิด รบกวนคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เครือข่ายของเราช่วยติดต่อร้านและเลือกสีผ้า พร้อมออกแบบโลโก้ติดกระเป๋าให้ มัวเลือกสีสันกันอยู่กว่าจะสั่งทำเลยช้า ได้ของมาทันในเย็นวันที่ 24 ธันวาคมเช่นกัน ร้านปรับการใช้วัสดุบางส่วนให้ ราคาจึงสูงกว่าเมื่อปีที่แล้ว



กระเป๋า


ปีนี้ทีมที่มาจัดเอกสารคือทีม รพ.พุทธชินราช รพ.แพร่ รพ.วังวิเศษ ทีมอื่นยังเดินทางมาไม่ถึง จัดเสร็จก็ผูกเป็นชุดๆ ละ 10 ใบเหมือนทุกครั้งเพื่อให้สะดวกในการ check ยอด คุณเกษตรศักดิ์ ล่วนเส้ง จาก รพ.วังวิเศษ เอาไปโพสใน Facebook ว่าเป็นโรงงานสวรรค์ คุณเอนกตามไปเติมว่าโรงงานความสุข

คุณชนิสสา จันทาพูน หนึ่งเดียวที่มาจาก รพ.แพร่ เอาข้าวเหนียวนึ่ง น้ำพริกหนุม แคบหมู และแกงฮังเล (ทำเอง) มาให้เรากินเป็นอาหารมื้อเย็น ดิฉันมีข้าวปั้นติดมือไปด้วย ประหยัดค่าอาหารไปหนึ่งมื้อ

  • เสื้อทีมทำงาน

เราตกลงเรื่องสีเสื้อกันไปตั้งแต่งานตลาดนัดฯ เลือกสีส้ม (โดยไม่มีเหตุผลอะไร) แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องร้านที่ทำ ตอนแรกดิฉันติดต่อร้านตัดเสื้อเจ้าประจำของตนเอง เพราะคิดว่าเขาคงมี connection ได้มาแต่ catalog สีและคำแนะนำให้ไปติดต่อร้านที่รับทำเสื้อใกล้ๆ ดิฉันไม่มีประสบการณ์ จึงต้องอาศัยคุณพรรณอีก เวลากระชั้นจึงได้แต่เสื้อแบบผู้ชายมาใส่ แต่เนื้อผ้าก็ดี มีโลโก้เหมือนกระเป๋า คุณพรรณเป็นคนออกแบบโลโก้นี้เอง เป็นตัวปลา ส่วนกลางลำตัวคือคำว่า DMHT

ร้านเอามาส่งไว้ที่ศูนย์ประชุมฯ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 ดิฉันใส่ตัวเดียวตลอดงาน แต่ซักทุกวัน น้องๆ ที่เป็นทีมทำงานมีเสื้อคนละ 2 ตัว วันที่สามจึงขอเป็นเสื้อหลากสี



ทีมงานในเสื้อสีสดใส ทำให้ดูแจ่มใสกันทุกคน


การใส่เสื้อสีเดียวกันแสดงว่าเป็นทีมเดียวกัน ประหยัดด้วย ไม่ต้องเอาเสื้อมาหลายตัว และใส่ซ้ำได้ทุกวัน เพราะมีแบบเดียว

  • Backdrop

เรารู้สึกว่าการมี Backdrop ทำให้บนเวทีมีสีสัน จึงเอาหน้าปกหนังสือให้ร้านทำไวนิลให้ ขอยืมโครงของร้านมาใช้อีกเช่นเคย เสียเงินแต่ค่าไวนิล งานชิ้นนี้เสร็จช้าเพราะเมื่อทำไวนิลแล้วต้องติดแผ่นแม่เหล็กอีก กว่าจะมาถึงมือพวกเราก็ใกล้ 21 น. วันที่ 24 



Backdrop


โชคดีที่ทีมงานของมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานมาจัดนิทรรศการช่วงเย็นถึงค่ำ จึงช่วยเราประกอบ Backdrop ให้ เสร็จในเวลาไม่กี่นาที เทียบกับเมื่อปีก่อนที่เราไปจัดเวทีที่ภาคอีสาน เราประกอบกันเองโดยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ต้องโทรศัพท์ถามทางร้านไปทำไป ผิดๆ ถูกๆ เหงื่อไหลใคลย้อยอยู่กว่า 2-3 ชั่วโมง จัดเวที 3 ภาค เราทำชิ้นส่วนของเข่าหักไป 3 ชิ้น ทีมมูลนิธิฯ มีชิ้นส่วนนี้ที่ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว เขาเลยเอามาให้เราฟรีๆ

  • การขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ ให้ผู้เข้าประชุม

สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่ขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ จากสภาการพยาบาลให้กับวิทยากรและผู้เข้าประชุมที่เป็นพยาบาลวิชาชีพ สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ ให้กับแพทย์และเภสัชกร จริงๆ ของนักกายภาพบำบัดก็ขอได้แล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่นี้ให้เรา การดำเนินการจะต้องทำล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน 

ในการขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ จากสภาวิชาชีพ 3 แห่งนี้ ของสภาการพยาบาลจะต้องเสียเงิน 2,000 บาท (สำหรับการประชุม 3 วัน) ส่วนของแพทย์และเภสัชกรไม่ต้องเสียเงิน เอกสารที่ต้องส่งก็คือโครงการประชุม ประวัติบุคคลของวิทยากร ดิฉันทำขอบเขตเนื้อหาของปาฐกถา การอภิปราย และกิจกรรมในฐานการเรียนรู้แนบไปด้วย

ใกล้ถึงวันงาน เรายังไม่ได้รับการตอบกลับจากสภาการพยาบาล โชคดีที่ดิฉันทำงานเป็นคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งของสภาการพยาบาล จึงรู้จักเจ้าหน้าที่ของสภาการพยาบาลที่ไหว้วานให้ไปติดตามเรื่องได้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลเรื่องการโอนเงินค่าธรรมเนียมที่ส่งไปให้แล้ว เมื่อได้สื่อสารกันใหม่ประกอบกับดิฉันติดต่อผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ โดยตรงได้ เราจึงได้รับข้อมูลหน่วยคะแนนฯ สำหรับการจัดพิมพ์ใบรับรองฯ ให้กับผู้เข้าประชุมได้ทันการ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 514348เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท