KM-DMHT 2012 : ก่อนเปิดการประชุม (1)


รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจเพราะได้ยิน AAR ของผู้เข้าประชุมเกือบ 20 คนที่พูดให้ฟังเมื่อวานนี้ ที่แสดงถึงความประทับใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ความสุขระหว่างการเข้าประชุม แรงบันดาลใจที่จะนำความรู้ไปใช้ต่อ

การจัดการประชุมมหกรรมการจัดงานความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ปี 2555 ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ เสร็จสิ้นลงแล้ว รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจเพราะได้ยิน AAR ของผู้เข้าประชุมเกือบ 20 คนที่พูดให้ฟังเมื่อวานนี้ ที่แสดงถึงความประทับใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ความสุขระหว่างการเข้าประชุม แรงบันดาลใจที่จะนำความรู้ไปใช้ต่อ วันนี้ดิฉันลาป่วย 1 วัน จึงมีเวลานั่งทบทวนการเตรียมงานที่ผ่านมาเพื่อบันทึกไว้สำหรับใช้ในปีต่อๆ ไป และเผยแพร่เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น แต่ต้องบอกก่อนว่ากว่าจะบันทึกเรื่องราวการประชุมครั้งนี้จบ คงจะยาวหลายตอน

การจัดการประชุมในปีนี้ กลายเป็นหนึ่งในหลายงานของชาวเครือข่ายเบาหวาน เพราะเรามีงานวิจัย DPP Thailand ที่มีงานต้องทำหลายเรื่องทั้งการประชุมวางแผนการทำงาน การจัดตลาดนัดความรู้เพื่อถอดบทเรียนจาก Best practices (อ่านที่นี่  )  การประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิ การจัดทำ Catalog หรือโปรแกรม Intervention สำหรับกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

ทีมทำงานทุกคนยังมีงานประจำของตนเอง ของหน่วยงาน ดังนั้นก็คงจะอ่อนล้าไปตามๆ กัน แต่ไม่จัดงานนี้ก็คงไม่ได้ เพราะเรามีไฟส่วนหนึ่งมาจากการเตรียมการงานวิจัย DPP Thailand และเรารู้สึกว่าการทำงานยิ่งทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้และการป้องกันโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงมากยิ่งขึ้น Theme ของการประชุมปีนี้จึงเป็นเรื่องของการหมุนเกลียวความรู้ทั้ง Tacit และ Explicit knowledge โดยมีชื่อว่า “หมุนเกลียวความรู้ สู่พฤติกรรมชีวิตใหม่ Moving Knowledge Spiral toward a New Lifestyle”

ตอนที่คิดตั้งชื่อ Theme และหัวข้อต่างๆ ในการประชุม ก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จินตนาการและกำหนดขอบเขตเนื้อหาของแต่ละหัวข้อให้สอดคล้องกับ Theme หวังว่าผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรแต่ละท่านที่ตอบรับมาช่วยงานของเรา คงจะช่วยทำให้มีความกระจ่างยิ่งขึ้น

งานที่ต้องทำให้เสร็จก่อนวันจัดประชุมมีหลายอย่าง

  • การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าประชุม 

เราส่งหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานด้านสุขภาพทุกระดับตั้งแต่ สสจ. โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สสอ. แต่ส่งให้ รพ.สต. ทุกแห่ง ไม่ไหวเพราะมีจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายด้านการถ่ายเอกสารและไปรษณีย์เป็นจำนวนสองหมื่นกว่าบาท ยังต้องอาศัยแรงงานคนในการนำเอกสารใส่ซอง 

ตั้งแต่ปี 2553 ดิฉันให้ซื้อซองเอกสารขนาดพับครึ่ง A4 มาใช้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาพับเอกสารเป็น 3 ท่อน พับครึ่งก็ใส่ได้แล้ว และให้ร้านถ่ายเอกสารจัดเอกสารเป็นชุดๆ แล้วพับครึ่งมาให้เลย เราแค่หยิบใส่ซองแล้วปิดซอง ไม่ได้จับเวลาดูว่าใช้เวลาลดลงไปเท่าไหร่

ปีนี้เราได้รับความช่วยเหลือจาก Gotoknow.org มีผู้เข้ามาอ่านบล็อกประชาสัมพันธ์ของเรา ถึงวันนี้มีจำนวนเกือบ 3,000 คน ต้องขอบคุณอาจารย์จันทวรรณ และอาจารย์ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ อย่างมาก การประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีคนเข้ามาอ่านไม่มากนัก เพียงสัปดาห์เดียวที่เราออกประชาสัมพันธ์ไปก็มีโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเข้ามาไม่ขาดสายการที่เราเอาเอกสารต่างๆ แขวนไว้ในเว็บด้วย ให้ความสะดวกสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับเอกสารที่ส่งไปทางไปรษณีย์ สามารถเข้าไป Download มาใช้ได้

อีกเรื่องคือการให้ส่งเอกสารลงทะเบียนและหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนทาง email ซึ่งมีผู้ใช้บริการทางนี้หลายคน ไม่ต้องเสียเงินค่า Fax หรือไปรษณีย์ อนาคตอาจจะใช้ระบบการลงทะเบียนระบบออนไลน์ดูบ้าง

  • เตรียมฐานกิจกรร

ชื่อและสาระสำคัญที่เราอยากให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้จากฐานต่างๆ มาจากการถอดบทเรียนในตลาดนัดความรู้ฯ ปีนี้เราจัดกิจกรรม 4 ฐาน ใช้เวลาฐานละ 2 ชั่วโมง วิทยากรประจำฐานต้องทำงานวันละ 2 รอบ 2 วันรวม 4 รอบ 

ฐานที่ 1 รู้เรา รู้เขา เท่าทันใจ หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล และ มด ภญ.ปราณี ลัคนาจันทโชติ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ฐานที่ 2 คุณค่าพลังทุนท้องถิ่น อาจารย์ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์เป็ผู้รับผิดชอบหลัก

ฐานที่ 3  กินดี อย่างมีสติ และพอเพียง ทีม รพ.พุทธชินราช และ รพ.แพร่ เป็นผู้รับผิดชอบ

ฐานที่ 4 ชีวิตกระฉับกระเฉง เบากาย ไร้พุง ทีม ภก.เอนก ทนงหาญ พญ.อารยา ทองผิว ภญ.นุชนาฏ ตัสโต รับผิดชอบหลัก

เราสื่อสารรายละเอียดของกิจกรรมผ่าน email ผู้รับผิดชอบแต่ละฐานต้องทำรายละเอียดกิจกรรม สื่อสารให้ทีมงานทั้งหมดได้รู้ ช่วยกันพิจารณา ช่วยกันแนะนำ ปรับเปลี่ยน เมื่อรายละเอียดกิจกรรมลงตัวก็ให้บอกว่าต้องการอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้อะไรบ้าง ทีมงานฝ่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้จัดหาเตรียมไปให้

  • หนังสือสำหรับแจกผู้เข้าประชุม

จากเวทีตลาดนัดความรู้เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ให้ข้อคิดว่าจุดสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต อยู่ที่การยอมรับ ความตระหนัก และใจตนเอง การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องรู้จักและเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และยังมีบทเรียนของการรื้อฟื้นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในบริบทใหม่ เราจึงขอให้ อาจารย์ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ ช่วยเรียบเรียงเนื้อหาจากตลาดนัดฯ ทำเป็นหนังสือให้เรา ซึ่งก็คงสร้างความยุ่งยากให้อาจารย์นุชพอควร เพราะการบันทึกข้อมูลของแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดครบบ้าง ไม่ครบบ้าง อาจารย์นุชเองก็ไม่สามารถ copy ตัวเองไปนั่งฟังทุกๆ กลุ่มได้ แต่ก็ได้ฟังในช่วงของการนำเสนอ และหมอฝนเป็นผู้สรุปและจัดกลุ่มความรู้ในแต่ละเรื่องให้

อาจารย์นุชเล่าว่าต้องคิดใคร่ครวญว่าจะ organize เนื้อหาในหนังสืออย่างไร กลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ แต่ถึงอย่างไรก็ได้ต้นฉบับพร้อมส่งทำ artwork เมื่อต้นเดือนธันวาคม แต่ก่อนทำ artwork ก็ต้องรู้ก่อนว่าหน้าปกมีหน้าตาอย่างไร จึงจะทำ layout ได้ โชคดีที่อาจารย์ดุลย์พิชัย โกมลวานิช คนข้างกายอาจารย์นุช และทีมงานทำงานศิลป์ เราจึงได้หน้าปกหนังสือที่สวยงามและมีความหมายลึกซึ้ง ร้านนำไปทำ layout ด้านในที่อาจารย์นุชพอใจว่า “ไม่ขาด ไม่เกิน”



ความหมายของภาพปกหนังสือ

ต้นกล้วย หมายถึงผู้คน ชุมชน การร่วมมือ ร่วมใจคิดทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ผลออกมารวมเป็นกล้วยหนึ่งเครือ ในภาพเป็นกล้วยที่แก่จัด ใกล้สุก ปลีหรือดอกกล้วยในขั้นแรกจึงร่วงหลุดไปแล้ว 

ต้นกล้วยดำรงอยู่ในธรรมชาติ มีผืนดิน ผืนน้ำ อากาศที่ดี เมื่อได้รับสิ่งเกื้อหนุนเหมาะสมก็จะเจริญเติบโต ต้นกล้วยหนึ่งต้นยังจะแทงหน่ออ่อนอีกมากมายให้ขยายไปได้ไม่รู้จบ

เทวดา แสดงถึงความเป็นทิพย์ เป็นสุนทรีที่หล่อเลี้ยงใจ ผู้คนทั้งป่วยและไม่ป่วยหากได้สัมผัสถึงสิ่งเหนือธรรมชาติก็ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังใจ สงบใจ

ทั้งหมดแสดงถึงการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะครบองค์รวมนั่นเอง


เวลามีน้อย วันหยุดในเดือนธันวาคมมีเยอะ ดิฉันจึงอ่านต้นฉบับทั้งเล่ม 1 รอบ แยกเนื้อหาแต่ละตอนเป็นไฟล์คนละไฟล์เพื่อสะดวกต่อการสื่อสารกับคนทำ artwork เพิ่มเติมข้อมูลที่ขาด ปรับสาระเรื่องโรคบางส่วน ดิฉันและร้าน artwork ติดต่อกันผ่าน email ได้ตรวจทานและแก้ไขต้นฉบับอยู่ 3 รอบ คราวนี้ไม่มีโอกาสตรวจรอบสุดท้ายที่ร้าน แต่การแก้ไขที่ผ่านมาไม่มาก จึงเบาใจ ได้หนังสือมาในวันที่ 24 ธันวาคม ช่วงบ่าย ทันการจัดกระเป๋าเอกสาร

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 514335เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท