Thanachart
นาย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

รวันดา ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตอนที่ 6


                 รวันดา ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การแสวงหาอำนาจทางการเมือง* ( 6 )

                                                                                             ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

                                                                                             นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง

                                                                                             เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข

 

ในปี 1988 จูเวอนัลฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่  3 ในคราวนี้รอยร้าวของนโยบายเริ่มมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเพราะปัญหาผู้ลี้ภัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องรอคอยให้ตัดสินปัญหา นอกจากนั้นภาวะเศรษฐกิจของรวันดาก็ตกต่ำอย่างรุนแรง ธุรกิจกาแฟและเหล็กซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรวันดาถึงคราวถดถอยล่มสลายลง ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรยิ่งหายาก การฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในรัฐบาลก็เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกที มีข้อมูลประจักษ์ชัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและของพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา(MRND)  รวมทั้งคนใกล้ชิดร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการส่งออกและเงินช่วยเหลือจากต่างชาติเก็บไว้เป็นของตนเองขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของรวันดากลับต้องหิวโหยอดอยากทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส สุดท้ายนโยบายของจูเวอนัล ฮาเบียริมานา ที่เลือกปฏิบัติโดยให้ประโยชน์แก่ชาวฮูตูทางเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนมากกว่า   ชนกลุ่มอื่นก็เริ่มจะสร้างความเคียดแค้นชิงชังให้แก่ชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูทางใต้ทั้งๆที่เป็นชาวฮูตูด้วยกันและด้วยเหตุเหล่านี้นอกเหนือจากมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศแล้ว มันยังได้สร้างความสั่นคลอนต่อตำแหน่งประธานาธิบดีตามมา

ท่ามกลางความวุ่นวายข่าวลือเริ่มกระพือไปทั่วว่ากลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) กำลังเตรียมการบุกโจมตีรวันดาเพื่อล้มล้างรัฐบาล สิ่งที่เพิ่มความตึงเครียดให้แก่ประชาชนรวันดาเข้าไปอีกคือจำนวนประชาชนที่เริ่มตาสว่างเพิ่มมากขึ้นเริ่มประณามการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล และเรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึงนักเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักข่าว ซึ่งหลายๆคนในจำนวนนี้ถูกจับและถูกเข่นฆ่าโดยกองทหาร นักเรียนนักศึกษาก็เริ่มออกมาคัดค้านทำการประท้วง เพื่อเป็นการตอบโต้ตำรวจได้เข้าทำการปราบปรามหวดตีนักเรียนนักศึกษาตามมา

รัฐบาล ฮาเบียริมานา ยังคงใกล้ชิดกับเบลเยียมซึ่งไม่เพียงแต่การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่รวันดาเท่านั้นแต่ยังควบคุมอุตสาหกรรมของรวันดาไว้ด้วยซึ่งรวมถึงการทำเหมือง ในปี 1990 เมื่อเบลเยียมและชาติอื่นที่ให้การช่วยเหลือกดดันให้ฮาเบียริมานา เปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ซึ่งเขาก็จำต้องยอมทำตามเนื่องจากความกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ฮาเบียริมานาประกาศในเดือนกรกฎาคมปี 1990ตกลงยินยอมให้ชาวตุ๊ดซี่ผู้ลี้ภัยได้กลับเข้าประเทศ และยอมให้พรรคการเมืองอื่นจัดตั้งขึ้นได้พร้อมทั้งเห็นด้วยให้จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่รวมคนต่างชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะรวมถึงสมาชิกจากหลายพรรคการเมืองนอกจากนั้นยังแถลงความตั้งใจที่จะยกเลิกบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุชาติพันธุ์ในบัตรให้หมดไปเพราะที่ผ่านมาหลายๆคนได้เลิกพกพาแล้วมิฉะนั้นอาจถูกคุกคามหรือถูกทำร้ายทั้งๆที่มีการประกาศเจตนารมณ์ออกมาดังกล่าว แต่ความจริงแล้ว ฮาเบียริมานา มีความตั้งใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดเท่านั้นเพราะสิ่งเหล่านี้อาจไปลดทอนอำนาจของตน

การโจมตีของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) 

ถึงแม้ว่าจะมีการออกมายืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงแต่ฮาเบียริมานาก็ไม่ได้กระทำการใดๆเพื่อปรับโครงสร้างรัฐบาลใหม่หรือยอมให้ชาวตุ๊ดซี่อพยพเข้ามาแต่อย่างใดดังนั้นนายพลรวิกเยอมา ได้นำกองกำลัง RPF จากอูกันดาเข้าไปในทางตอนเหนือของรวันดาเมื่อปี1990 กองกำลัง RPF ได้ฆ่าประชาชนไป 500คนและขับไล่ประชาชนมากกว่า 3 แสน 5 หมื่นคนออกจากบ้านของตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวฮูตูอย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือด้านทหาร อาวุธ และที่ปรึกษาด้านการทหารจากเบลเยียมฝรั่งเศส และแซร์ ฮาเบียริมานาสามารถต่อสู้หยุดยั้งการโจมตีของกลุ่ม RPF ไว้ได้ การต่อสู้ได้หยุดลงหลังจากต่อสู้กันหลายเดือนแต่กลุ่ม RPF        ยังคงล้อมโจมตีรวันดาจากฐานทัพที่อูกันดา ตลอดปี 1991 และ 1992 ในช่วงระยะเวลานี้ไม่มีฝ่ายใดที่ได้เปรียบกว่ากันข้อตกลงหยุดยิงหลายฉบับได้ทำขึ้นแต่ต่อมาก็ถูกละเมิดโดยทั้งสองฝ่าย

การโจมตีของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(Rwandan Patriotic Front)  หรือRPF สอดคล้องกับการคัดค้านการปกครองของฮาเบียริมานาและพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND) ที่มีมากขึ้นทุกทีพรรคการเมืองจำนวนมากตั้งขึ้นใหม่ในจำนวนนี้รวมไปถึงพรรคต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรวันดา (The Democratic Movement of Rwanda –
MDR ) พรรคสังคมประชาธิปไตย (The Democratic Socialist Party– PSD ) พรรคเสรีกาพ (The Liberal Party – PL ) และพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (The Christian Democratic Party –PDC )

ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะมีแนวคิดต่อเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการโจมตีของกลุ่มRPF แตกต่างกัน แต่พรรคการเมืองทั้งหลายต่างก็ต้องการยุติการปกครองโดยพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา(MRND) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวความกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านและนานาชาติบังคับให้รัฐบาลฮาเบียริมานาซึ่งยังไม่ได้ทำตามคำสัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลผสม  ต้องยินยอมตั้งรัฐบาลซึ่งมีสมาชิกมาจากฝ่ายค้านรัฐบาลนี้มีขึ้นเพื่อบริหารประเทศจนกว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศจะเกิดขึ้นในปี 1993

ถึงแม้ว่าจะยอมผ่อนปรนให้บางส่วนแต่ประธานาธิบดีฮาเบียริมานายังคงตั้งใจว่าจะขับไล่การโจมตีของกลุ่ม RPF และจะรักษาตำแหน่งในรัฐบาลไว้ รัฐบาลได้ขยายกองกำลัง FARจากที่มีทหารประมาณ 5 พันคนเป็น 3 หมื่น 5 พันคนนอกจากนั้นฮาเบียริมานายังตั้งผู้คุ้มกันภัยแก่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นกองกำลังทหารติดอาวุธรวบรวมจากบ้านเกิดของตนจากทางเหนือส่วนทางการเมืองฮาเบียริมานาพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ยอมรับฝ่ายค้านโดยอ้างว่าฝ่ายค้านบางส่วนมาจากผู้สมคบคิดกลุ่ม RPF หลังจากนั้นทหารได้จับกุมสมาชิกฝ่ายค้านหลายพันคน

ประธานาธิบดียังปล่อยปละละเลยให้มีการรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่อย่างไม่หยุดหย่อนกองกำลังติดอาวุธFARของรัฐบาลได้เข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่ประมาณ 2 พันคนระหว่างการทำร้ายจากการเฝ้าสังเกตการณ์ของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกสังหารนี้มีสาเหตุเพียงอย่างเดียวคือเพราะเขาเหล่านั้นเป็นชาวตุ๊ดซี่
นอกจากนั้นอีกประมาณ 8 พันคนถูกคุมขัง ถูกทรมาน ถูกข่มขืนและถูกโบยตี อย่างโหดร้าย

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของชาวฮูตูหัวรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นภายในพรรค MRND ซึ่งมีทั้งผู้นำทางทหาร และชาวฮูตูหัวรุนแรง  รวมตัวเพื่อป้องกันประเทศในนาม(The extremist Coalition for the Defense of the Republic) โดยได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากฮาเบียริมานาและพรรค MRNDในระยะเริ่มต้นได้เกณฑ์และฝึกฝนชายหนุ่มชาวฮูตูเพื่อสร้างกองกำลังทางทหารไว้ต่อสู้กับกลุ่ม RPF และศัตรูที่ยังไม่เปิดเผยตัวของรัฐบาล กองกำลังทางทหารนี้ช่วยกองทหารรวันดาต่อสู้กับชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงทั่วประเทศ รู้จักในนามของ “อินเทอราฮัมเว ”(Interahamwe) เป็นกองกำลังที่เอาไว้สังหารชาวตุ๊ดซี่  และสมาชิกของพรรคฝ่ายค้านชาวฮูตูผู้ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจฮาเบียริมานาและพวกหัวรุนแรงตั้งใจว่าจะทำลายการคุกคามของกลุ่ม RPF ให้หมดไป

ชาวฮูตูหัวรุนแรงใช้จุลสารหนังสือพิมพ์และวิทยุในการการยั่วยุให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ในหมู่ประชาชนชาวฮูตูคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อตอกย้ำซ้ำซากทำให้ชาวฮูตูระลึกถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของชาวตุ๊ดซี่ในอดีตที่มีต่อชาวฮูตูและยังย้ำเตือนว่ากลุ่ม RPF ได้วางแผนที่จะปกครองรวันดาโดยชาวตุ๊ดซี่จะมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งการโฆษณาชวนชื่อที่ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ในเขตปกครองและผู้นำชุมชนทั้งหมดเป็นสมาชิกของพรรค MRND จึงง่ายต่อการปั้นข่าวและการรวบรวมผู้อยู่อาศัยในเขตของตนเข้าอบรมตอกย้ำให้เกิดความเคียดแค้นชาวตุ๊ดซี่ และที่สำคัญการกระจายข่าวสารว่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้ร่วมมือกับกลุ่มRPF วางแผนเข้าโจมตีเข่นฆ่าชาวฮูตู ได้ทำให้เกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรงแผนการในการปั้นข่าวและการสร้างข่าวลือ ได้กลายเป็นวิกฤตทางสังคมจนไม่อาจแก้ไขได้อีก

การโฆษณาชวนเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัว  ความตึงเครียดและเคียดแค้นในหมู่ประชาชนชาวฮูตู
พร้อมทั้งได้สร้างความฮึกเหิมจนทำให้การโฆษณาชวนเชื่อ มีบทบาทสำคัญในการโจมตีชาวตุ๊ดซี่ เป็นต้นว่า ในเมือง บูเกเซอรามีใบปลิวเตือนว่าชาวตุ๊ดซี่ในเมืองวางแผนที่จะก่อจลาจลและทำร้ายเพื่อนบ้านชาวฮูตู หลังจากนั้นกองกำลังอินเทอราฮัมเว(
Interahamwe) และราษฎรชาวฮูตูได้เข้าเข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่กว่า 300คนในบูเกเซอรา นอกจากนั้นในอีกหลายช่วงเวลาเวลาที่ชาวฮูตูไปแย่งชิงอาหารฆ่าฝูงสัตว์ ทำลายบ้านเรือนและพืชผล รวมทั้งทำร้ายเพื่อนบ้านชาวตุ๊ดซี่ด้วยมีดยาวกระบอง และหอก ในช่วงเวลานี้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่หลายคนหวาดกลัวได้เริ่มอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ

ก้าวสู่ความสงบสุข

เกือบสองปีของการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม RPF กับรัฐบาลรวันดาจนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงการหยุดยิง  ขณะที่นัดพบกันที่อรูชา ของประเทศแทนเซเนียในเดือนกรกฎาคม 1992 ข้อตกลงหยุดยิงนำไปสู่การเจรจาเป็นเวลา 7เดือน เพื่อที่จะหาแนวทางที่ตกลงร่วมกันเพื่อตั้งรัฐบาลผสมแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี1993 กลุ่ม RPF ได้ฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงที่มีต่อกันโดยกลุ่ม RPF เข้าโจมตีทางตะวันออกเฉียงเหนือของรวันดามีการเข่นฆ่าประชาชนหลายร้อยคนโดยอ้างว่าที่ฝ่าฝืนข้อตกลงก็เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่มีการสังหารชาวตุ๊ดซี่ประมาณ 300 คน ในเดือนมกราคมโดยกองกำลังอินเทอราฮัมเวซึ่งในช่วงเวลาที่มีการต่อสู้ขึ้นมาใหม่นี้ประชาชนหลายร้อยคนถูกสังหาร และประมาณ 6 แสน 5 หมื่นคนต้องอพยพจากบ้านเกิด

ดังนั้นข้อตกลงหยุดยิงรอบที่สองจึงเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคมแต่จากรายงานของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เฝ้าสังเกตสถานการณ์ได้อ้างว่าทั้งกลุ่ม RPF และรัฐบาลรวันดาได้ละเมิดข้อตกลงอยู่เนืองๆ ขณะเดียวกันการเจรจาระหว่างสองฝ่ายก็ยังดำเนินต่อไป  เดือนสิงหาคม 1993 กลุ่ม RPF และรัฐบาลรวันดาได้ลงนามข้อตกลงสงบศึกในที่สุดเรียกว่าข้อตกลงความสงบ “อรูชา”

ข้อตกลง อรูชา นี้ได้กำหนดว่ารวันดาจะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่แบ่งสรรอำนาจจากทั้งสองฝ่ายซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านและสมาชิกกลุ่ม RPF ส่วนฝ่ายกองกำลังทหารนั้นจะประกอบไปด้วยทหารจาก FAR และ RPF ข้อตกลงนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลงอีกข้อคือรัฐบาลต้องอนุญาตให้ชาวตุ๊ดซี่ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ อพยพกลับเข้ามาในประเทศโดยเร็วและต้องช่วยเหลือให้ประชาชนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ได้ตั้งถิ่นฐานอีกครั้ง

สหประชาชาติซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการในระหว่างการเจรจาสงบศึกได้ตั้งองค์กรรักษาความสงบ
(The united Nations Assistance Mission to Rwanda - UNAMIR) เพื่อช่วยเหลือให้ข้อตกลงสงบศึกประสบความสำเร็จและเฝ้าสังเกตกระบวนการระหว่างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจซึ่งเป็นรัฐบาลที่ปกครองประเทศจนกว่าการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยจริงๆจะเกิดขึ้นฟอสติน ทวากิรามังกู (Faustin Twagiramungu) สมาชิกพรรค RPF
ชาวฮูตูได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลหลังจากสงครามกลางเมือง 3 ปีดูเหมือนว่ารวันดากำลังเดินหน้าเข้าสู่ทางแก้ปัญหาอย่างสงบสุข

ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงอรูชา แต่ฮาเบียริมานาก็ยังไม่เต็มใจที่จะยกอำนาจให้ตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนถัดมาประธานาธิบดีฮาเบียริมานาพยายามต่อไปที่จะทำให้ฝ่ายค้านแตกแยกกันเองโดยโน้มน้าวสมาชิกบางคนให้คัดค้านข้อตกลงอรูชา แผนการตามข้อตกลงได้ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยและภายในปลายปี 1993 ชาวรวันดาหลายหมื่นคนก็ยังคงพลัดพรากจากที่อยู่ของตนไปอยู่นอกประเทศความคืบหน้าของการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลหยุดชะงักลง เนื่องจากกองกำลังทหารรวันดาและผู้นำทางการเมืองยังตกลงกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆรัฐบาลและสถานีวิทยุ CDR เริ่มที่จะแพร่กระจายเสียงรายงานการประณามชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงเหตุเหล่านี้ได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย

ในขณะเดียวกันชาวฮูตูหัวรุนแรงภายในรวันดากองกำลังติดอาวุธ MRND และสถานีวิทยุ CDR และรัฐบาลของฮาเบียริมานาก็ยังคงมีความเห็นต่อต้านข้อตกลงพวกหัวรุนแรงได้ก่อตั้งกลุ่ม “พลังฮูตู”(Hutu Power)โดยมีเป้าหมายในการเอาชนะกลุ่ม RPFเพื่อคงรักษาอำนาจการปกครองโดยชาวฮูตูต่อไปขณะที่การก่อตั้งรัฐบาลใหม่ถูกเลื่อนออกไป กลุ่มชาวฮูตูคนหัวรุนแรงก็แอบสะสมอาวุธ เพื่อที่จะแจกจ่ายให้แก่กองกำลังอินเทอราฮัมเวหลังจากนั้นการโจมตีเข่นฆ่าราษฎรชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้เริ่มขึ้นพร้อมๆกับสมาชิกฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ถูกสังหาร

การเคลื่อนไหวของกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกับฮาเบียริมานาแต่กลุ่มนี้ก็ยังต่อต้านฮาเบียริมานาอีกด้วย เพราะเกรงว่าฮาเบียริมานาจะยอมจำนนต่อนานาชาติและยอมทำตามแผนการของข้อตกลง“อรูชา” ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มสร้างแผนการอย่างลับๆที่จะกำจัดศัตรูทางการเมืองและชาวตุ๊ดซี่ตัวปัญหาไปในพร้อมกัน

ในขณะที่การก่อตั้งรัฐบาลใหม่หยุดชะงักและพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ยังทำงานต่อไป สหประชาชาติและประชาคมโลกกดดันให้ฮาเบียริมานาจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสียทีผู้นำในภูมิภาคโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทำตามข้อตกลงอรูชา ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน1994 ฮาเบียริมานาเดินทางไป ดาร์ เอ ซาลาม ในแทนเซเนีย เพื่อพบกับผู้นำของแทนเซเนีย
เคนยา อูกันดา และเบอรันดี ซึ่งผู้นำทั้งหมดได้กระตุ้นและกดดันให้ประธานาธิบดีฮาเบียริมานาทำตามข้อตกลง และระหว่างการเดินทางกลับขณะที่กำลังบินกำลังบินไปที่กรุงคิกาลีเหตุร้ายที่ไม่มีใครคาดฝันได้เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินซึ่งมีประธานาธิบดีฮาเบียริมานาและประธานาธิบดีของเบอรันดีโดยสารมาด้วยกันถูกยิงตกด้วยมิสไซล์จากเครื่องบินรบ
ส่งผลให้เครื่องบินตกชนกับพื้นดินและผู้โดยสารทุกคนเสียชีวิตทั้งหมด และนั่นเป็นความขัดแย้งที่ได้เริ่มปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ความขัดแย้งระอุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

การเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮาเบียริมานาได้ก่อให้เกิดคลื่นของความตระหนกตกใจไปทั่วรวันดาชาวฮูตูหัวรุนแรงได้ฉวยโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ฝ่ายตน ทหาร FAR ทหารคุ้มกันประธานาธิบดีและกองกำลังอินเทอราฮัมเวได้ใช้สถานการณ์ความตระหนกตกใจกลัวสร้างความโกลาหลอลหม่านให้บานปลายขึ้น

ชาวฮูตูหัวรุนแรงบางคนกล่าวหาว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีเกิดจากเบลเยียมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพราะเป็นผู้ที่กดดันให้ฮาเบียริมานายอมรับข้อตกลง อรูชาทหารกองกำลังรักษาความสงบของเบลเยียมจำนวน 2 พัน 2 ร้อยคนอยู่ในรวันดาขณะที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตเพื่อที่จะช่วยให้ข้อตกลงอรูชา สำเร็จ ดังนั้นเพื่อตอบโต้ที่ประธานาธิบดีถูกสังหาร ทหารคุ้มกันประธานาธิบดี  ได้สังหาร อกาเธ อูวิลิงกิยามานา (AgatheUwilingiyamana)นายกรัฐมนตรีชาวฮูตู และทหารรักษาความสงบชาวเบลเยียมของสหประชาชาติ10 คนซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบ

ความรุนแรงที่เริ่มต้นเกิดขึ้นในกรุงคิกาลี  และค่อยๆแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ  โดยมีเป้าหมายที่ชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง  ผู้สนับสนุนข้อตกลง อรูชา  และชาวตุ๊ดซี่ นับแต่นั้นทั่วทั้งกรุงคิกาลี เริ่มมีกองกำลังของรัฐบาลกระจายไปทั่วมีการจัดวางที่กั้นถนนของกองกำลังตลอดทั่วทั้งกรุงคิกาลีเพื่อตรวจตราและป้องกันไม่ให้ประชาชนหลบหนี สมาชิกอินเทอราฮัมเว    ได้เดินตรวจตราไปทั่วทุกบ้านเพื่อสังหารบุคคลที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นศัตรูสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ผู้สนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน นักข่าวนักบวชผู้ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิของมนุษยชน ซึ่งความจริงเหยื่อที่ถูกฆ่าตายจำนวนมากในเมืองหลวงล้วนแต่เป็นชาวฮูตูทั้งนี้เพราะชาวตุ๊ดซี่ได้อพยพไปนานแล้ว

ขณะที่ความรุนแรงได้เกิดขึ้นทั่วคิกาลีและกระจายเข้าไปในชนบทของรวันดาการใช้ความรุนแรงได้มุ่งไปที่การต่อต้านชาวตุ๊ดซี่เป็นหลักชาวฮูตูหัวรุนแรงส่วนใหญ่กล่าวหาว่าทหารของกลุ่ม RPF เป็นผู้ยิงมิสไซล์ใส่เครื่องบินของประธานาธิบดีและใช้ข้อกล่าวหานี้ในการหาเหตุผลรองรับเพื่อแก้แค้นต่อประชาชนชาวตุ๊ดซี่กองกำลังอินเทอราฮัมเวพร้อมด้วยทหาร FAR สมาชิกของทหารคุ้มกันประธานาธิบดีและกองตำรวจชุมชนเริ่มการสังหารชาวตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่องเจ้าหน้าที่เขตการปกครองในแผ่นดินรวันดาและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชุมชนได้สั่งให้ชาวฮูตูช่วยเหลือกองกำลังทหารติดอาวุธนอกจากนั้นสถานีวิทยุได้กระจายเสียงสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกระตุ้นให้ชาวฮูตูใช้อาวุธทำร้ายชาวตุ๊ดซี่ตามมา

เป็นเวลา 2 วันความโกลาหลและความรุนแรงได้ครอบงำทั่วทุกพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผู้นำ FAR ได้ก่อตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์แห่งชาติเพื่อที่จะตั้งรัฐบาลรักษาการณ์คณะกรรมการตกลงให้แต่งตั้งรัฐบาลรักษาการประกอบไปด้วยกลุ่มคนหัวรุนแรงจากพรรค MRND และคนอื่นจากพรรคฝ่ายค้านชาวฮูตู เทโอดอร์ ซินดิคับวาโบ(Theodore
Sindikubwabo) สมาชิกพรรค MRND กลายเป็นประธานาธิบดีและชอง คามบานดา (Jean Kambanda)สมาชิกพรรค MDR หัวรุนแรงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แผนของพวกเขาคือการเดินหน้าทำร้ายชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงต่อไปช่วงเวลานี้การสังหารก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สาธารณชนต่างเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงเสียที

ถึงแม้ว่าทฤษฎีเกี่ยวกับการตายจากเครื่องบินตกจะมีมากมายแต่ไม่มีใครแน่ใจว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงมิสไซล์ที่ทำให้เครื่องบินซึ่งมีประธานาธิบดีจูเวินนอล ฮาเบียริมานา โดยสารอยู่ตก  ชาวฮูตูหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งกล่าวห้าว่าทหารเบลเยียมของUNAMIR เป็นผู้ยิงมิสไซล์  เพราะมีพยานได้อธิบายว่าเห็นชาวผิวขาวสามคนวิ่งมาจากสถานที่ที่มิสไซล์ถูกยิงออกไปแต่สมาชิกของรัฐบาลรวันดาส่วนใหญ่เชื่อว่าการโจมตีด้วยมิสไซล์น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มRPF ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือดินแดนที่ยิงมิสไซล์

กลุ่มทหารผู้คุ้มภัยประธานาธิบดีได้เข้าควบคุมสนามบินอย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องบินถูกยิงโดยไม่อนุญาตให้ผู้ตรวจการณ์ของสหประชาชาติหรือบุคคลใดเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่เครื่องบินตกเพื่อค้นหาสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนหลายคนเชื่อว่าการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนานี้มีเพื่อปกปิดหลักฐาน  นั่นแสดงว่าชาวฮูตูหัวรุนแรงรู้เห็นเป็นใจกับกองกำลังทหารรวันดาและทหารผู้คุ้มกันประธานาธิบดีได้ร่วมกันก่อการยิงเครื่องบินของประธานาธิบดีและโยนความผิดให้แก่กลุ่ม RPF เพื่อหาเหตุผลมารองรับการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ของชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงมูลเหตุจูงใจในการฆ่าประธานาธิบดีของชาวฮูตูหัวรุนแรงก็เพื่อหยุดยั้งการก่อตั้งรัฐบาลผสมและป้องกันไม่ให้มีการทำตามข้อตกลงอรูชา แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีทั้งหลายเกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินตกก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเรื่องไหนเป็นความจริง

สถานีวิทยุแห่งรวันดาบทเรียนของสื่อมวลชน

ก่อนและระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 1994 ชาวฮูตูหัวรุนแรงภายในพรรค MRND และพรรค CDR ใช้การสร้างข่าวโคมลอยเพื่อที่จะกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงซึ่งวิธีการที่ใช้ได้ผลที่สุดคือการใช้วิทยุกระจายเสียง เพราะในประเทศเกือบ 60%ของประชากรไม่สามารถอ่านหนังสือได้ การกระจายเสียงทางวิทยุจึงเป็นแหล่งเดียวสำหรับการฟังข่าวสารและข้อมูล

วิทยุกระจายเสียงแห่งรวันดาเป็นการสื่อสารหลักของประเทศดำเนินการและอุดหนุนโดยรัฐบาลนักข่าวของวิทยุแห่งรวันดาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลมาอย่างยาวนานเมื่อมีการโจมตีของกลุ่ม RPFเมื่อปี 1990 วิทยุรวันดาก็กระจายเสียงซ้ำแล้ซ้ำอีกโจมตีการกระทำของ RPF รวมทั้งกล่าวประณามมูลเหตุจูงใจของกลุ่ม RPF ตลอด ขณะเดียวกันได้กล่าวสรรเสริญเยินยอรัฐบาลเมื่อมีการลงนามข้อตกลงอรูชาและการคัดค้านรัฐบาลขยายตัวมากขึ้นสถานีวิทยุก็เป็นปากเสียงของรัฐบาลนำเสนอแต่ข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามส่วนสมาชิกพรรค CDR ก็ได้เริ่มสถานีวิทยุของตนเอง (Radio Television Libre Des Milles Collines - RTLMC) เพื่ออุทิศให้กับอำนาจของชาวฮูตู  แต่คัดค้านข้อตกลงอรูชา และที่สำคัญสถานีวิทยุ RTLMC เปิดเป็นสถานีที่ให้นักการเมืองหัวรุนแรงและนักข่าวได้มาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล  รวมทั้งประณามกลุ่ม RPF ไม่นานสถานีวิทยุ RTLMC กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเพราะการแพร่ข่าวลือเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในรวันดา

ในปี 1994 ชาวฮูตุหัวรุนแรงได้ใช้สถานีวิทยุทั้งสองสถานีสร้างสถานการณ์แห่งความสับสนอลหม่าน และความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนโดยนำเสนอบทเพลงและบทกลอนเชิดชูความรุนแรงที่ใช้ต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ นำเสนอสุนทรพจน์ที่นำไปสู่ความเกลียดชังนอกจากนั้นยังเสนอข่าวเตือนประชาชนเกี่ยวกับความโหดร้ายของกลุ่ม RPF การกระจายเสียงได้ช่วยเร่งปลุกระดมและกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาพกพาอาวุธและต่อสู้กับ RPFและเข่นฆ่ากันอย่างรุนแรง

ดังนั้นเป้าหมายของการกระจายข่าวก็เพื่อประโยชน์ทางการเมืองให้ชาวฮูตูระลึกถึงภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จตั้งแต่การปฏิรูปเมื่อปี1959 นั่นคือการปกครองรวันดาเพียงชาติพันธุ์เดียวและต้องกำจัดชาวตุ๊ดซี่ให้พ้นไปจากแผ่นดินรวันดา.......

  *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart .  Manufactured in the United States of America.  By Lerner Publications Company

 
………………………………………………………………………



 




หมายเลขบันทึก: 514330เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท