หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ยุวมัคคุเทศก์น้อยแห่งหุบเขาไดโนเสาร์


ผมมองว่ากระบวนการยุวมัคคุเทศก์น้อยในหุบเขาไดโนเสาร์ครั้งนี้ คงไม่ได้ส่งผลแต่เฉพาะองค์ความรู้ในเรื่องไดโนเสาร์แก่เด็กและเยาวชนกระมัง เพราะเรื่องราวจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นคือสิ่งที่เป็นหัวใจหลัก ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ท้องทุ่ง ประเพณีวัฒนธรรม ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวโยงที่จะต้องถูกสานสร้างขึ้นพร้อมกัน หรือควบคู่กันไป

ต้นเดือนธันวาคม 2555  ผมและคณะกรรมการอีก    3-4   คนมีโอกาสเดินทางไปประเมินผลการดำเนินงานโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา นั่นก็คือ โครงการ "ยุวมัคคุเทศก์น้อยแห่งหุบเขาไดโนเสาร์"

โครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “9 หลักสูตร 9 โครงการ 9 ชุมชนต้นแบบ” ซึ่งจะได้รับเกียรติขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหลักสูตรต่างๆ และเชิดชูเกียรติด้วยโล่รางวัลพร้อมเงินทุนจำนวนหนึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2555  อันเป็นห้วงเฉลิมฉลองวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหาสารคามวาระครอบรอบ 45 ปี




โครงการ "ยุวมัคคุเทศก์น้อยแห่งหุบเขาไดโนเสาร์  เป็นการรวมเอาเด็กแลเยาวชนในพื้นที่ละแวก “ภูน้อย” (ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์)  อันเป็นสถานที่ขุดพบซากได้โนเสาร์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นเครือข่ายหนึ่งของการดำเนินการร่วมกับภาคส่วนอีกหลายองค์กร  โดยอนาคตอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังเร่งตั้ง “สถานีฝึกปฏิบัติการทางด้านบรรพชีวินและวิวัฒนาการ”  ด้วยการสร้างเป็นอาคารป้องกันและจัดเก็บซากดึกดำบรรพ์ในบริเวณภูน้อย เพื่อเป็นแหล่งศึกษา วิจัย หรือเรียนรู้ของผู้คน

การไปประเมินโครงการในครั้งนี้  สิ่งที่ประทับใจเป็นอย่างมากเลยก็คือการนำเที่ยวชมของเหล่ายุวมัคคุเทศก์นั่นเอง  ซึ่งนำโดย “น้องแพม” (ชลลัดดา อรรถประจง)

น้องแพมเป็นแกนนำที่มีความฉะฉาน รอบรู้  กล้าคิด กล้าแสดงออก คล่องแคล่วว่องไว  กระฉับกระเฉง  และที่สำคัญคือมีอัธยาศัยที่ดี  ซึ่งตอนนี้กำลังเรียนชั้น ม.6 ในโรงเรียนประจำอำเภอของอำเภอคำม่วง




น้องแพมเล่าให้เราฟังว่า  “ซากไดโนเสาร์ที่ค้นพบนั้น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2551 โดยพี่ทองหล่อ นาคำจันทร์ ชาวบ้านในชุมชนบ้านท่านาเลา ซากที่ค้นพบเป็นสายพันธุ์กินพืช (ซอโรพอต) แต่มีความเก่าแก่กว่าซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบในภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ ถึง 20 ล้านปี จัดอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย หรือจูลาสสิคตอนปลาย อายุ 150 ล้านปี”

และนอกจากนั้นพวกเขายังเล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมว่า “..ปัจจุบันค้นพบซากกว่า 200  ชิ้น  ทำให้ร็ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด คอยาว หางยาว เดิน  4 ขา  กินพืชเป็นอาหาร  และน่าจะมีขนาดประมาณ  20 -25 เมตร...”





ครับ-ฟังดูแค่นี่ก็น่าตื่นตะลึงเป็นที่สุด  ไม่ได้ตื่นตะลึงแต่เฉพาะความเก่าแก่ที่ถูกค้นพบหรอกนะครับ หากแต่ตื่นตะลึ่งกับทักษะการสื่อสารของน้องแพมและเพื่อนๆ ต่างหาก  เนื่องเพราะการสื่อสารของเขา ไม่ใช่สื่อสารในชนิด “ท่องจำ”  หากแต่สื่อสารด้วยการบอกเล่าอย่างเป็นธรรมชาติ  ไม่มีติดขัด  ขวยเขิน  ซึ่งนั่นเชื่อว่าคงเป็นผลพวงหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้อันเป็นพรสวรรค์และผ่านการเพาะบ่มจากโครงการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยหนุนเสริม




ผมชื่นชมกระบวนการขับเคลื่อนโครงการ “ยุวมัคคุเทศก์น้อยแห่งหุบเขาไดโนเสาร์"  ไม่แพ้โครงการอื่นๆ เริ่มต้นจากการอ่านชื่อโครงการแล้วก็สะกิดตาสะกิดใจ  ยิ่งเห็นประเด็นของเด็กและเยาวชน  ผมยิ่งสนใจมากเป็นพิเศษ  เพราะสิ่งเหล่านี้หมายถึงการมองทะลุถึงการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ผ่านลมหายใจของอนาคต นั่นก็คือ “เด็กและเยาวชน”


หากไม่นับประเด็นเรื่องไดโนเสาร์  ผมถือว่าโครงการดังกล่าวจัดอยู่ในหมวดของการปลูกฝังให้เยาวชนรักษ์บ้านเกิด  เสริมสร้างกระบวนทัศน์ให้เยาวชนมีมุมมองที่ดีต่อการใช้ชีวิต  ทั้งในมิติของตนเองและสังคมไปพร้อมๆ กัน




โครงการดังกล่าว  ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นหันกลับมา “เบิ่งมองตัวเอง” มากขึ้น  ไม่ใช่แค่การตื่นตะลึงกับซากความเก่าแก่ของไดโนเสาร์ที่เพิ่งขุดค้นเจอ  หากแต่หมายถึงการเห็น “คลังความรู้” อันยิ่งใหญ่ในพื้นที่อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน  ที่พร้อมจะยกระดับควบคู่กันไปในมิติของ “คุณค่า-มูลค่า”  เพราะนั่นคือหนทางอีกหนทางหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่นของพวกเขาเอง

ผมมองเห็นกระบวนการทำงานที่เชื่อมร้อยมาจากปีที่แล้วด้วยการนำพาเหล่ามัคคุเทศก์รุ่นแรกจากโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาเข้ามาเกี่ยวโยง  ซึ่งกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มที่ดูแลการท่องเที่ยว ณ ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  ซึ่งเป็นการผนึกกำลังทั้งในมิติครูและรุ่นพี่เข้าสู่รุ่นน้อง เสมือนการสื่อให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการทำงานของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา  หรือแม้แต่เครือข่ายต่างๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง


  



เกี่ยวกับกระบวนการเช่นนั้น ยังสื่อให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานในสองลักษณะสำคัญคือ (1)  เพื่อนดูแลเพื่อน จากรุ่น 1 สู่รุ่น 2 พร้อมๆ กับการจับมือเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  (2) เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ทั้งในมิติห้องแล็บและภาคสนาม  ทุกกระบวนการไม่ได้มุ่งเพียงถ่ายทอดความรู้ในเรื่องไดโนเสาร์เท่านั้น  แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องราวอื่นๆ ควบคู่กันไป  เช่น  เสริมทักษะการเป็นมัคคุเทศก์  คุณธรรม จริยธรรมของการเป็นมัคคุเทศก์  การทำงานเป็นทีม และเรื่องราวอันเป็นวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น

ครับ-ผมมองว่ากระบวนการยุวมัคคุเทศก์น้อยในหุบเขาไดโนเสาร์ครั้งนี้  คงไม่ได้ส่งผลแต่เฉพาะองค์ความรู้ในเรื่องไดโนเสาร์แก่เด็กและเยาวชนกระมัง  เพราะเรื่องราวจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นคือสิ่งที่เป็นหัวใจหลัก  ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ท้องทุ่ง ประเพณีวัฒนธรรม ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวโยงที่จะต้องถูกสานสร้างขึ้นพร้อมกัน หรือควบคู่กันไป  รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อการเล่าเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นของพวกเขาเอง  มิใช่เรียนจบมัธยมแล้วก็ไกลบ่าเข้าไปขายแรงงานตามโรงงานต่างจังหวัดเหมือนรุ่นก่อนเก่า

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยก็เถอะ  อาจต้องมีวิธีการของการรับเยาวชนเหล่านี้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทั้งในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบรรพชีวิน  หรือสาขาอื่นๆ ด้วยก็น่าจะดี

ส่วนในภาคประชาชนนั้น ขอละไว้  เพราะถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ร่วมกันให้ได้เร็วที่สุด -


หมายเลขบันทึก: 512587เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เพิ่งเคยรู้จัก.....บรรพชีวินวิทยา 

ขอบคุณนะคะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก ๆ จ้ะ  กำลังคิดจะทำอยู่เหมือนกัน ในชุมชนของคุณมะเดื่อก็มีอะไรที่น่าดูน่าชมอยู่มากเหมือนกัน ขอบคุณจ้ะ

ขอบพระคุณพี่หมอ ธิรัมภา

ตอนนี้ศูนย์บรรพชีวินวิทยา  เสมือนสาขาหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์ครับ
เปิดทำการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา
ตอนนี้ก็ลงแรงเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเรื่องซากไดโนเสาร์ที่ภูน้อย -

หากมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ได้จริง  ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษาเท่านั้น  แต่น่าจะรวมความถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน  ชุมชนแถวนี้ยังถือว่ามีความเป็น "ชนบท" ที่งดงามครับ  -

สวัสดีครับ คุณคุณมะเดื่อ

ให้กำลังใจกับการขับเคลื่อนชุมชนนะครับ
ที่สุดแล้ว ชุมชนต้องดูแลตัวเอง บูรณาการศาสตร์ร่วมกับภาคีต่างๆ...
แต่ภาคีเองก็คงต้องระมัดระมัง เพื่อมิให้ชุมชนขาดหยุดยืน  หรือแม้แต่สูญเสีย, ถูกกลือนไปตามกระแสสังคม หรือแม้แต่กระแสการพัฒนาของภาคีอย่างรู้ไม่เท่าทันด้วยเหมือนกัน...

สู้ๆ นะครับ

น้องๆน่ารักจังเลยค่ะ...สำนึกรักบ้านเกิด....มีส่วนร่วมช่วยเหลือชุมชน...

ชื่นชมๆ ค่ะ

ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่แนวคิดดีๆนี้ค่ะ..

นายเกียรติศักดิ์ แสงณรงค์ไชย

ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านะครับ

ผมอยากทราบว่า ความหมายของ ยุวมัคคุเทศก์   มีใครทราบบ้างครับช่วยบอกผมหน่อยนะครับ

มาชมน่าสนใจไปเที่ยวชมของเก่าโบราณเฮา

สวัสดีครับ นุ้ยcsmsu

น่าชื่นชมกับทัศนคติของเด็กๆ กลุ่มนี้มาก  เขาเรียนรู้เรื่องราวตัวเองได้ในระดับที่น่ายินดี  สามารถสื่อสาร บอกเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ  และยังมีกระบวนการเสริมไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น  การดูแลปกป้องพื้นที่ป่าตามภูเขาในชุมชน  และยังมีแรงใจในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่น  ขึ้นอยู่กับว่า อบต.-โรงเรียน-ชุมชน  จะให้พื้นที่ในการทำงานร่วมเช่นนั้น แค่ไหน และอย่างไร  เท่านั้นเอง

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ



ดีใจที่ในอนาคตอันใกล้  จะมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์เพิ่มขึ้นอีกแห่ง  และปรากฏการณ์เช่นนี้ คงพอได้สร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้บ้าง --กระมังครับ

รู้สึกยินดี ที่โครงการนี้มีผู้สนใจจนได้รับรางวัล และยินดีกับคำกล่าวนี้ "

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยก็เถอะ  อาจต้องมีวิธีการของการรับเยาวชนเหล่านี้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

" เพราะน้องๆก็อยากเรียน มมส. กันทุกๆคน แต่ติดที่ การรับเข้า คะแนนต่างๆ ซึ่งบางคนอยากเรียนจริงๆแต่ต้องผิดหวังไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท