รูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปกับ....บทบาทของครู


รูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปกับ....บทบาทของครู


          ด้วยทุกวันนี้การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากขึ้น สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาตามศักยภาพและความสนใจของตนเอง โดยคำนึงถึงพื้นฐานความแตกต่างของผู้เรียน ผู้เรียนจะได้ค้นพบและแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีอิสระในการเรียนมากขึ้น ได้เรียนรู้จากหลายๆ สถานการณ์ ทั้งในและนอกห้องเรียน และที่สำคัญ ได้เรียนในสิ่งที่ "เขา" อยากเรียนรู้ อยากได้ อยากเป็น
         โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วย "สมองและสองมือ" ในลักษณะของการบูรณาการ การให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้ตัวกับชีวิตประจำวัน ย่อมทำให้ผู้เรียนมีความสุขและนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ได้ ไม่ใช่เรียนด้วยวิธีการท่อง จด หรือจำ ผู้เรียนสามารถท่องจำได้ แต่คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองไม่ได้ เพราะมีความรู้ในวงจำกัดกับสิ่งที่ครูบอกหรือเรียกว่าสอนเท่านั้น สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาในอดีตที่ส่งผลให้ประชากรของ ประเทศมีความรู้แค่ในตำราไม่สามารถที่จะคิดเอง ทำเอง และตัดสินใจแก้ปัญหาเองได้ เพราะไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่จะเก่งในทางลอกเลียนแบบ จากหลักการและแนวคิดดังกล่าว จึงได้เกิดมีแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่คาดว่าน่าจะเอื้อ ประโยชน์ให้เกิดกับผู้เรียนสูงสุด นั่นคือ "การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) ขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองแนวคิดดังกล่าว โดยมีครู - นักเรียนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน โดยอาศัยสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น หลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนโดยเน้นหลักสูตรท่องถิ่น สื่อการเรียนการสอน ตัวครู ตัวผู้เรียน รวมไปถึงเทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่มีความเหมาะสมกับเนื้อหาวิชา และสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และเพื่อการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
  ครูจึงพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนบทบาทในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะห้องเรียน และอุปกรณ์เสริมต่างๆ

1.  จัดสภาพการณ์หรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนการสอน ด้วยการใช้สื่อหรือเครื่องมือเพื่อเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกทางการศึกษาโดยเฉพาะห้องเรียนและอุปกรณ์

2.  วางแผนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนแต่ละคน โดยเน้นที่ความสนใจอยากรู้ อยากเรียนของผู้เรียน และควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ

3.  พัฒนาตนเอง (Self Development) เพื่อให้มีวิสัยทัศน์ (Vision) ทางการศึกษาที่กว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นด้วยการอ่านเพื่อการศึกษา เข้ารับการประชุมอบรมสัมมนา หรือพูดคุยสนทนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อร่วมงาน แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีบทบาทต่อการเรียน การสอนยุคใหม่ เช่น Computer ทั้งที่เป็น Hardware และ Software, CD-ROM, การเรียนการสอนทางไกล (Telecommunication), สถานการณ์จำลอง (Simulation), การสาธิตและการทดลอง (Demonstration and Laboratory) และอื่นๆ

4.  การเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นผู้จัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ โดยการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักการเรียนรู้วิธีที่จะเรียน (Learn How To Learn) โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้ เป็นผู้ชี้แนะแหล่งข้อมูล และประสานแหล่งวิทยาการในการเรียนรู้ (Learning Resources) และเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาเมื่อผู้เรียนพบกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ ในเวลาและโอกาสที่เหมาะสม

5.  ให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้  ทั้งด้านความคิด จิตใจ การแสดงออกในกรอบของความถูกต้อง และให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักการเก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจ สัมภาษณ์ และนำเสนอด้วยการรายงานอภิปราย อีกทั้งการฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนรู้เป็นเกณฑ์ นอกจากนั้นควรส่งเสริมกระบวนการคิด กระบวนการแก้ไขปัญหา และกระบวนการแสวงหาความรู้ให้กับผู้เรียนในรูปแบบต่างๆ

6.  ใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย  ไม่ ยึดติดอยู่กับวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะไม่มีวิธีสอนวิธีเดียววิธีใดที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้นควรพิจารณารูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเรื่องราว เนื้อหาสาระการเรียนรู้ และสถานการณ์ที่เหมาะสม

7.  เป็นผู้ประเมิน  (Evaluator)โดยครูและผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างกฎเกณฑ์การประเมิน ในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความก้าวหน้าของผู้เรียน (Formation Evaluation) และให้ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

  หาก บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะตัวครูผู้สอนเอง จะได้มีการทบทวนบทบาทของตนในอดีตและนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ทันยุค ทันสมัยกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก เชื่อได้ว่าผู้เรียนหรือ "ผลผลิตทางการศึกษา" ที่เกิดขึ้นย่อมจะเป็น "ทรัพยากรมนุษย์" ที่สมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของสังคมได้อย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล : สุทธิพร คล้ายเมืองปัก กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ,วารสารวิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543

คำสำคัญ (Tags): #บทบาทครู
หมายเลขบันทึก: 512580เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท