การเดินทางไกล“ครั้งแรก” ในชีวิตเด็กบ้านนอก


ถ้าเราไม่เดินทาง การเรียนรู้เราจะน้อยและช้า ทั้งการเดินทางในความคิดและการเดินทางจริงๆ ที่ผมเห็นด้วยมากเลย เพราะทุกครั้งที่ผมเดินทาง ผมจะได้ความรู้ใหม่ๆเสมอ

มีผู้กล่าวว่า ถ้าเราไม่เดินทาง
การเรียนรู้เราจะน้อยและช้า ทั้งการเดินทางในความคิดและการเดินทางจริงๆ
ที่ผมเห็นด้วยมากเลย เพราะทุกครั้งที่ผมเดินทาง ผมจะได้ความรู้ใหม่ๆเสมอ

ตัวอย่างง่ายๆ ผมรู้สึกว่าผมเข้าใจคนไทย
และเมืองไทยมากขึ้น เมื่อผมเดินทางไปต่างประเทศ

 

ดังนั้น ในช่วงของการทำงาน
ผมจึงหาโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ
ที่หลากหลายและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่มีหลายวัตถุประสงค์ปนๆกันอยู่
แต่สาระสำคัญที่ผมได้รับ และใช้ประโยชน์ยาวนานที่สุดคือ


ความเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี
และวิธีคิดของคนไทยมากขึ้น กว่าเดิม ตั้งแต่การเดินทางครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน

แม้แต่ช่วงที่ผมเน้นการศึกษาเรื่องพระกรุ
พระเครื่อง ผมก็พยายามจัดหาเวลา ที่จะเดินทางไปเยี่ยม สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
สภาพพื้นที่ ลักษณะดิน แหล่งน้ำ ลักษณะและขนาดของชุมชน
ที่จะทำให้เข้าใจสภาพทางสังคม ทรัพยากร ที่สามารถนำมาตีความทางมานุษยวิทยา
และการสร้างโบราณวัตถุดังกล่าว ได้ชัดเจนขึ้น สามารถเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหา
และพัฒนาการของพระกรุต่างๆได้รวดเร็วขึ้น

 

และเมื่อครั้งไปศึกษางานกลุ่มฮักเมืองน่าน
ขากลับก็ยังถือโอกาสแวะชมพื้นที่ของ “บ่อสวก” และ “นาน้อย”
เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และข้อมูลที่มีอยู่เดิม

 

ดังนั้น เมื่อมาคิดในมิตินี้
ผมจึงลองทบทวนว่าการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิตของผมเมื่อผมมีอายุประมาณ 5 ขวบ
หรือประมาณหลังสงกรานต์ ต้นปี พ. ศ. 2498 ไปอยู่กับพี่สาวที่นาโคก
ที่บริเวณป่าโกรกสะเดา ห่างจากบ้านไปประมาณ 7 กม. นั้น ผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ต่างจากที่เคยรู้มาแต่เดิมเมื่ออยู่ที่บ้านเกิดอย่างไร

 

การเดินทางเป็นช่วงต้นฝนที่เริ่มมีน้ำขังตามไร่นาแล้ว
จึงไม่สามารถที่จะเดินทางโดยเกวียนผ่านทุ่งนาดังเช่นในหน้าแล้ง

 

พี่เขยผมจึงต้องนำเกวียนไปฝากญาติที่บ้านโคก
คือ บ้านกุดปลาเข็ง และต้องเดินเท้าจากบ้านขอนไทรที่ผมอยู่ ไปบ้านกุดปลาเข็ง
ต้องหาบข้าวขนของทอยไปใส่เกวียนก่อนการเดินทางจริง

 

ผมจำได้ว่าพี่สาวคนโตของผมคงจะทดสอบผม
ว่าผมจะเดินทางไหวไหม และอยู่กับพี่สาวแทนอยู่กับแม่ได้หรือไม่ จึงได้มีการทดสอบ
โดยการพาเดินทางไปนอนบ้านพี่เขย ที่อยู่ห่างไปประมาณสอง กม. กว่าๆ
แต่สมัยที่เป็นเด็กนั้น รู้สึกว่าเดินไกลพอสมควรทีเดียว กว่าจะถึง “บ้านตะคองแล้ง”
ที่เป็นบ้านเกิดของพี่เขย ผมจำได้ว่า มีแต่คนโตๆ ผมเป็นเด็กที่เล็กที่สุดคนเดียว
ผมไม่มีเพื่อนเล่นเหมือนอยู่บ้าน ที่นอนก็แปลกๆไม่คุ้นเคย
ตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนเหมือนฝันร้าย เพราะ โครงสร้างของหลังคาที่ผมมองเห็นนั้น
ไม่คุ้นตาเลย ไม่รู้สึกว่าเป็น “บ้าน” ที่เคยชินเลย

 

จำได้ว่านอนหลับไม่สนิท เพราะไม่ชินกับสถานที่
แต่ก็อยู่แค่สองสามวันก็กลับบ้าน

 

พอกลับมาไม่นาน พี่สาวและพี่เขยผมก็เตรียมของ
สีข้าว ตำข้าวซ้อมมือไปเป็นเสบียง รู้สึกจะมีเกลือ และน้ำมันก๊าดจุดตะเกียงไปด้วย
กับข้าวอื่นๆ ไปหาเอาข้างหน้า เพราะพี่ชายคนกลางผมก็ออกจากโรงเรียน
จบชั้นประถมปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2493 มาช่วยเลี้ยงวัวฝูงของพ่อ และมีความรู้แหล่งอาหาร
อยู่อาศัยและหาอาหารในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว ทั้งผักธรรมชาติ เห็ด
พืชเครื่องปรุงอาหาร สัตว์บก สัตว์น้ำ ต่างๆ อุดมสมบูรณ์มาก
และพี่ชายคนกลางของผมเป็นนักหาอาหารธรรมชาติ ที่เก่งพอๆกับพ่อ จึงเป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว
และญาติพี่น้องได้เป็นอย่างดี ตลอดปี กลับบ้านทีไร
จะมีอาหารป่ามาฝากญาติพี่น้องอย่างทั่วถึงทุกครั้ง

 

ความสามารถของพี่ชายคนกลาง
ที่ไปเลี้ยงวัวที่ป่าโคกคนเดียวได้
ทำให้การเตรียมตัวในการเดินทางของพี่สาวและพี่เขยไปทำนาโคกไกลบ้าน เป็นเรื่องง่ายๆไปเลย
เตรียมแค่ อาหารสุกที่ทานได้ทันทีหนึ่งมื้อ อาหารแห้ง เนื้อแห้ง
ปลาแห้งเล็กน้อยเผื่อฉุกเฉิน ข้าวสาร กับเกลือก็พอแล้ว และถ้าตั้งใจจะย้ายไปจริงๆ
ก็ยังไปทำนาปลูกข้าวไว้ล่วงหน้าได้อีก จึงเหลือแต่เกลืออย่างเดียวในการอพยพ
เพราะพื้นที่บ้านผมนั้น ไม่มีแหล่งเกลือที่จะผลิตเกลือได้เอง ถ้ามีเกลืออีกสักอย่าง
แทบอพยพไปแบบเสื่อผืนหมอนใบได้อย่างที่เขาว่าจริงๆ

 

ก่อนจะเดินทางออกจากบ้านประมาณ 1-2 วัน
พี่สาวจะพาผมไปบอกลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และ ในวันเดินทางก็ค่อยๆบอกลาตามเส้นทางการเดินผ่าน
ที่จะมีการให้พร อวยพรให้เดินทางปลอดภัย กันเป็นธรรมเนียมบ้านนอก

 

ในการเดินทางนั้น ผมจำได้ว่าต้องเดินทางออกจากบ้าน
ไต่สะพานแผ่นเดียวที่ไม่สูงนัก สะพานสามแผ่นข้ามคลอง ผ่านวัดเหมืองลี่ ผ่านทุ่งนาข้างวัด
แล้วลัดเลาะไปไต่สะพานข้ามคลองแผ่นเดียว และสะพานสองแผ่นที่สูงและอันตรายมาก

ผมยังเดินไม่ค่อยเก่ง ว่ายน้ำยังไม่เป็น
พี่สาวผมเลยให้ผมรอ ถ่ายของลงกระบุงที่หาบไว้ด้านหนึ่ง
และให้ผมนั่งในกระบุงอีกด้านหนึ่ง และหาบผมข้ามน้ำไป
ที่เป็นเหตุการณ์ที่ผมตื่นเต้นยิ่งกว่านั่งชิงช้าสวรรค์
เพราะพลาดนิดเดียวผมได้ลงไปจมอยู่ในน้ำแน่นอน

หลังการข้ามสะพานที่ผ่านมาอย่างใจหายใจคว่ำ
ผมก็เดินต่อไปพักที่บ้านญาติ รอให้พี่เขยเตรียมของใส่เกวียน
เสร็จแล้วก็เอาวัวมาเทียมเกวียน ผมได้นั่งข้างหน้าบนตักพี่เขย
เห็นการเดินของวัวและการควบคุมเกวียนของพี่เขยอย่างใกล้ชิด จนคิดว่าตัวเองจำได้
และกล้าอาสาขับเกวียนขนข้าวในวันกลับบ้านอีกหลายเดือนต่อมา

ผมจำไม่ได้ว่าการนั่งเกวียนใช้เวลานานเท่าไหร่
แต่ดูเหมือนจะไม่พักทานอาหารกลางวันระหว่างทาง จนถึงที่หมาย ได้เข้าพักอาศัย ในกระท่อมน้อยในป่าใหญ่
ที่เข้าใจว่าพี่เขยคงไปเตรียมการกับพี่ชายคนกลางไว้แล้ว

 

ตั้งแต่คืนแรกที่ย้ายไปอยู่ที่กระท่อม
สิ่งหนึ่งที่คุ้นหูมากก็คือ เสียงหอนของหมาจิ้งจอก ที่น่ากลัวมาก
ทำให้ผมทั้งไม่กล้าที่จะลงจากกระท่อม และไม่ค่อยกล้าเดินเข้าป่าคนเดียว

ไม่นานหลังจากนั้น
พี่ชายคนกลางก็ย้ายกระท่อมที่อาศัยมาพักเดิม ที่ “โคกหินโงม” อยู่ใกล้ๆกัน
เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเลี้ยงสัตว์ที่สามารถฝากช่วยเหลือดูแลได้ดีกว่าเดิม
และผมก็มีโอกาสได้ไปพบญาติๆของพี่เขย ในบริเวณใกล้เคียง
จึงเริ่มเข้าใจสภาพของสังคมของหมู่บ้านในป่า ที่มีการกระจายตัวอยู่กันห่างๆ
ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอยู่เดิม และพยายามสร้างขึ้นมาเสริมให้สามารถอยู่อาศัยได้ทั้งปี

 

จากนั้นไม่นาน ก็เป็นการเตรียมการทำนา
พี่เขยผมเริ่มไปซ่อมคันดินดักน้ำ ซ่อมคันนา รอจังหวะฝนที่จะมีน้ำพร้อมทำนาโคก
ที่ต้องรอจังหวะฝนตกหนักจริงๆเท่านั้น ที่จะช้ากว่านาทุ่ง

 

ในระหว่างการเตรียมพื้นที่นาโคกนั้น พ่อ แม่
และพี่สาวคนเล็ก ก็เร่งช่วยกันทำนาทุ่งให้เสร็จ
เพื่อจะได้ขึ้นไปทำนาโคกอีกแปลงหนึ่งของพ่อที่ซื้อไว้ ที่เรียกว่า “นาห้วย”
ที่อยู่ห่างจากนาโกรกสะเดาประมาณ 2 กม.

 

ในการเตรียมการทำนาโคก
พ่อผมได้นำควายมาช่วยพี่สาวและพี่เขย และเลี้ยงไว้ที่โคกโกรกสะเดา ทำให้ดูเหมือนว่าคนในบ้านผมย้ายขึ้นไปอยู่ในป่า
เกือบหมด เหลือแต่แม่กับพี่สาวคนเล็ก
และพี่ชายคนเล็กกำลังเรียนหนังสือชั้นประถมอยู่ที่บ้านขอนไทร แต่พอช่วงปิดเรียนก็จะไปเที่ยวเล่นกับพ่อและพี่ชายคนกลางที่โคกโกรกสะเดา

 

การอพยพไปอยู่กระท่อมกับพี่สาว มีพ่อ
พี่ชายไปอยู่อีก สองคน ทำให้ผมได้เห็นการทำมาหากินในป่า
มีการส่งเสบียงแลกอาหารกันระหว่าง “บ้านทุ่ง” (บ้านขอนไทร) และ “บ้านโคก”
ที่โกรกสะเดา ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าโกรกสะเดาเป็นอีกบ้านหนึ่งที่อาศัยอยู่ได้จริง
เมื่อมีคนแถวบ้านทุ่งไปเยี่ยมเยือน ไปแลกของ ซื้อผลผลิตที่สวนโกรกสะเดาเป็นตามฤดูกาล
ทั้งน้อยหน่า สับปะรด  ส่วนฝรั่งนั้น
เป็นผลไม้ประจำวันผมเลยครับ มีมากกินได้ทุกวัน
ที่ยังไม่รวมผลไม้ป่าตามฤดูกาลอีกมากมาย

 

ในระหว่างเตรียมการปลูกข้าว ก็จะมีฝนประปราย
มีน้ำเก็บได้บ้าง ในช่วงที่มีฝนตกครั้งแรกๆ จะมีน้ำขังในนาไม่มาก
ที่จะมีปลาว่ายขึ้นมาตามน้ำ มาติดตามแอ่งเล็กๆ
กลายเป็นแหล่งอาหารสำรองได้อีกทางหนึ่ง แต่พี่สาวผมจะพาผมไปจับวันละแค่พอทำกับข้าว
ที่เหลือปล่อยไว้ในน้ำอย่างนั้น ทั้งที่เห็นก็ไม่จับ
พี่สาวผมบอกว่าเก็บไว้จับวันหลังให้มันอยู่อย่างนั้นดีกว่า ไม่บูดไม่เน่า แต่วันหนึ่งแดดร้อนจัดมาก
ปลาที่อยู่ในหนองน้ำลอยตายเต็มไปหมด พี่สาวผมเลยจำเป็นต้องจับไปทำปลาแห้ง


ที่นาโคกนั้น มีบ่อน้ำสองบ่อ
บ่อหนึ่งไว้ดักน้ำไว้ทำนา อยู่สูงกว่านา เดิมเป็นร่องน้ำธรรมดา แต่ทำคันดินกั้น
จึงเกิดเป็นที่เก็บน้ำฝนที่ไหลมาจากป่าโคกด้านหลังกระท่อม และอีกบ่อหนึ่งไว้ดักน้ำที่ไหลออกจากนา
เป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงแล้งจัดๆ ถ้าปีปกติใช้ทำเป็นบ่อดักปลา
ที่จะมีการวิดปลาหลังจากเกี่ยวข้าว

 

พอมีน้ำขังบ่อบนพอประมาณ พี่สาวผมจึงปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน
ขยายการปลูกสับปะรด ที่ใช้จุกเก่าและหน่อใหม่ และปลูกพืชถั่วเขียวไว้ขายด้วย
ที่ผมเดินไปดูเกือบทุกวัน เห็นตั้งแต่การเตรียมแปลงจนถึงตอนเก็บเกี่ยว

 

ในช่วงที่อยู่เฉพาะครอบครัวเล็กๆ
มีกระท่อมสองสามหลังนั้น เมื่อมีญาติพี่น้องมาเยี่ยม
ผมจะรู้สึกว่าญาติเหล่านั้นเป็นคนต่างถิ่นไปเลย ผมยังรู้สึกว่าแปลกๆ ไปเลย ประมาณนั้นเลย

 

บางวันที่พ่อไปเลี้ยงควาย ผมจะไปด้วย
ที่พ่อผมจะสอนวิธีขุดตัวอ่อนของกุดจี่ และประมาณการอายุของตัวอ่อนที่ควรจะขุดได้พอดี
พ่อผมลองขุดให้ดูและผ่าก้อนขี้ควายกลมๆ ใหญ่กว่าลูกปิงปองเล็กน้อย
ที่เป็นก้อนบ่มเพาะตัวอ่อนของกุดจี่ขี้ควายขนาดใหญ่ ที่พอโตเกือบเต็มที่จะยังมีสีขาว
ตัวนิ่มๆ เนื้อข้างในมีมันเหมือนมันปู ถ้าได้มากๆ นำมาคั่ว ผัดหรือต้มแกงได้เลย
ถ้าเราไปขุดเร็วไปตัวจะยังเล็กๆ ถ้าขุดช้าไป ตัวจะเริ่มออกสีน้ำตาล มีความแข็ง
และไม่ค่อยอร่อยแล้ว ดังนั้นการกะจังหวะขุด และการอ่านอายุจากลักษณะของดินขุยเก่าจึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก
ทีถ้าผมอยู่บ้านนอกต่อไปคงจะรู้และเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมยังทึ่งและไม่เข้าใจมาจนถึงวันนี้ว่า
แค่ก้อนขี้ควาย
ที่ด้วงปั้นแล้วกลิ้งจนเป็นก้อนกลมๆขนาดเท่าลูกปิงปองนั้นจะมีคุณค่าอาหารมากมายพอที่ด้วงกุดจี่ขนาดใหญ่จะอาศัยจนโตมาเป็นตัวใหญ่ๆได้โดยใช้อาหารจากก้อนขี้ควายก้อนเดียวเท่านั้น
เพราะ มันจะโตจนเต็มที่อยู่ในก้อนขี้ควายก้อนเดียวเท่านั้น ไม่มีอาหารจากแหล่งอื่น
จนกว่าจะออกเป็นตัวเต็มวัย และเมื่อผมเห็นด้วงที่โตเกือบเต็มที่ในก้อนขี้ควาย
เป็นภาพที่ประทับใจผมมา และพยายามถามคนที่เรียนด้านแมลง
ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่มันก็เป็นไปแล้วในธรรมชาติจริงๆ

 

และที่ทึ่งพอๆกัน
ก็คือด้วงขี้ควายขนาดใหญ่เหล่านี้ จะมีพลังมหาศาลในการขุดดินแข็งๆ เป็นรู เป็นโพรง
เพื่อนำก้อนขี้ควายที่มีไข่ด้วงที่ผสมแล้วไปเก็บรวมกัน
ให้ฟักออกเป็นตัวเต็มวัยในรอบฤดูต่อไป อย่างทันเวลา และลงตัวพอดี


ความเข้าใจธรรมชาติเหล่านี้
จะทำให้เราอยู่กับธรรมชาติอย่างมีรสชาติ และพึ่งพาอาศัยธรรมชาติได้อีกนาน
โดยเฉพาะการหาอาหารและการล่าสัตว์ในป่าแบบต่างๆ

 

ตัวอย่างเช่น พ่อผมเคยสอนวิธีการดักกระต่ายแบบง่ายๆ
ที่พี่ชายคนกลางของผมนำไปใช้ก็คือ ทำแบบไล่ช้างเข้าเพนียด โดยไปหาพื้นที่ที่กระต่ายป่าออกมาหากินประจำ
โดยสังเกตจากขี้กระต่ายใหม่ๆ ดูเส้นทางการเดินทางของกระต่าย แล้วนำกิ่งไม้ไปอุดช่องทางทุกช่องที่ดูโล่งๆ
เหลือไว้เส้นทางเดียว นำตาข่ายดักกระต่ายไปวางขวางไว้ พอถึงเวลาที่กระต่ายออกหากินแล้ว
ให้วิ่งไล่กระต่าย กระต่ายจะไม่มุดพุ่มไม้ แต่จะวิ่งไปตามทางโล่งๆเท่านั้น
ที่จะไปติดกับตาข่ายที่ดักไว้พอดี เทคนิคนี้ใช้ได้ดีทั่วไป
ยกเว้นกระต่ายป่าหญ้าเพ็ก ที่จะมุดป่าหนี แทนการวิ่งไปตามที่โล่ง
จึงต้องใช้วิธีซุ่มยิงแทน ที่พี่ชายผมก็ถนัดในเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้อาหารมาบ่อยๆ
ไม่ขาดแคลน

 

ในช่วงปิดภาคการศึกษา บางครั้งจะมีพี่ชายคนเล็ก
ที่อายุมากกว่าผม 5 ปี ไปเที่ยวเล่นที่กระท่อมที่ผมอยู่กับพี่สาว
และพักอยู่หลายวัน ช่วงนั้นพี่ชายผมจะพาผมไปเก็บผลไม้ในป่า พาไปล่าสัตว์เล็กๆ โดยใช้หนังสติก เครื่องมือการล่าประจำตัวแบบเด็กๆ
และพี่ชายคนเล็กคนนี้เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจและสอนผมในการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ
ทั้งการเรียน การอยู่ในสังคม และการเป็นผู้ใหญ่ที่ดี โดยอาศัยความรู้
และความเข้าใจที่ตัวเองมี จริงบ้างไม่จริงบ้าง ก็สอนกันแบบเด็กๆ ที่จะเล่าในโอกาสต่อไป


การมีชีวิตแบบเด็กๆในป่า
โดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องนั้น ทำให้เกิดชุดความรู้ที่เข้าใจผิดได้โดยง่าย เช่น ที่ใกล้ๆกับกระท่อม
จะมีต้น “ตะคร้อหนาม” ที่ลูกเหมือนตะคร้อแต่มีขนคล้ายเงาะ
พี่ชายผมบอกว่าเป็นต้นเงาะ ผมก็จำแบบนั้นมานาน จนเข้าไปเรียนที่กรุงเทพจึงทราบว่า ตะคร้อหนาม
กับ เงาะ นั้นเป็นไม้คนละตระกูลเลย เป็นต้น แต่มีไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง
ที่พ่อผมสอนให้เรียกว่า “ส้มป่อย” เป็นพืชมีหัวใต้ดิน มีต้นขึ้นมาเป็นรายปีเป็นเครือ
มีลูกเป็นพวงสีม่วงเหมือนองุ่น ผมเพิ่งรู้จักองุ่นทีหลัง ผมจึงกลับไปเรียก “ส้มป่อย”
ว่า องุ่นป่า แต่ผมก็ไม่ทราบว่าใช่หรือเปล่า เพราะตำราเกี่ยวกับองุ่น
ไม่ได้อธิบายในเรื่องนี้ ที่ผมคิดว่า เราน่าจะมี พืชที่อยู่ในตระกูล “องุ่นป่า”
ที่น่าสนใจในเมืองไทย และมีคนเคยลองนำมาทำไวน์ได้ผลดีเหมือนกัน

ในระหว่างที่ผมอยู่ที่กระท่อมโกรกสะเดา
ผมได้เรียนรู้ระบบสังคมในป่าอีกแบบหนึ่งก็คือ อยู่แบบทีใครทีมัน
พ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าวัวเราไปหลงฝูงอื่น เรามักจะไม่เห็นมันอีกเลย เขาเรียกกันว่า
“วัวติดฝูง” ที่มีวันหนึ่งมีวัวตัวผู้ติดฝูงมาหนึ่งตัว พี่ชายกับพี่เขย
จึงได้จัดการตาม “กฎป่า” กลายเป็นแหล่งอาหารของครอบครัวผมไปได้เป็นเดือน
โดยการชำเหละ ใส่เกลือ หมักไว้ในไห ไปฝัง และซ่อนไปตามป่าหญ้าริมหนองน้ำ แล้วค่อยๆทยอยนำออกมาทำกับข้าว
ที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะบอกผมว่า ถ้ามีใครมาถาม ว่ากินข้าวกับอะไร ให้บอกว่า “กินข้าวกับปลา”  ที่กลายเป็นคำพูดติดปากไว้เลย
ไม่ว่าจะกินกับอะไร ก็ต้องบอกว่ากินข้าวกับปลา

 

ในระหว่างที่ผมอยู่กับพี่สาวนั้น
ในชุมชนป่าโคกแถวนั้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นบ้าน “กุดหัวช้าง” มีการจัดพิธีแต่งงาน พี่สาวของผมได้พาผมไปร่วมด้วย
และเป็นครั้งแรก ในรอบหลายๆเดือนที่ผมได้เจอเด็กรุ่นเดียวกัน เลยไปชวนกันเล่นแบบสนิทสนมมากอย่างรวดเร็ว
และผมจำได้ว่าวันนั้นมีลูกวัวตายตัวหนึ่งอยู่ในคอกวัวใต้ถุนบ้านที่ผมไปเล่น
เราได้พยายามช่วยกันชำแหละ โดยไม่มีมีด มีแต่แก้วแตกๆ
เราได้ช่วยกันทำงานอย่างทุลักทุเล ผู้ใหญ่ที่เห็นก็เลยจับเราสองคนผูกเป็นเกลอกัน
และทำให้สองครอบครัวเป็นญาติและพึ่งพาอาศัยกันอีกหลายเรื่องในระยะต่อมา
เท่าที่จำได้ ตอนพ่อผมจะย้ายคอกวัวมาอยู่ที่บ้านกุดปลาเข็งในปีต่อมา (พ.ศ. 2499) นั้น
พ่อของเกลอผมได้ขนเสาไม้อย่างดี ผมจำได้ว่าขนมาให้เปล่าๆ แต่จะจ่ายเงินตอบแทนอย่างอื่นหรือไม่นั้นผมไม่ทราบรายละเอียด
มาทำกระท่อมพร้อมไม้เครื่องครบ
และการเดินทางไปมาหาสู่กันทำให้ญาติของผมได้แต่งงานกับญาติของคนบ้านนั้นอีกคู่หนึ่ง
นี่คือผลพวงของการผูกเกลอของผมในครั้งนั้น

ในช่วงปลายฤดูฝน ผมจำได้ว่ามีญาติพี่น้องจาก “บ้านตะคอง”
ไปช่วยเกี่ยวข้าว เก็บผลไม้ไปขาย และจับปลาในบ่อด้านล่างที่มีมะม่วงสองต้นริมฝั่งบ่อ
(ปัจจุบันเป็นที่พักของผู้ปฏิบัติธรรม ของวัดโกรกสะเดา
ที่เพิ่งสร้างเมื่อไม่นานมานี้)


ช่วงที่ผมตื่นเต้นมากก็คือ
ผมจะได้มีโอกาสขับเกวียนด้วยตนเอง ในการขนข้าวกลับบ้าน ผมจึงต้องหัดขับเกวียน ที่พี่เขยผมหัดให้
พอถึงวันจริง ผมก็ได้ขับเกวียนจนมาถึงบ้านกุดปลาเข็ง แต่ขับต่อไม่ได้
เพราะมีทางแยกหลายทาง ผมไม่สามารถบังคับให้วัวเลี้ยงให้ถูกทางได้ เลยต้องมาอาศัยญาติที่บ้านกุดปลาเข็งขับต่อไปจนถึงบ้านขอนไทร

หลังจากการกลับมาบ้าน
ก็ครบรอบการเดินทางในปีนั้น รู้สึกว่าอยากอยู่ในกระท่อมบ้านป่าต่อไป แต่แม่ผมบอกว่า
ต้องกลับมาเข้าโรงเรียน และนำผมไปฝากเรียนกับครูพรหม หวยสูงเนิน ที่โรงเรียนวัดเหมืองลี่
ผมเรียนจนครบปี ครูไม่ให้ผมสอบ เพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ ผมจึงต้องเรียนชั้นประถมปีที่
1 สองปีซ้อน โดยปีที่ 2 ผมย้ายไปเรียนกับ ครูณรงค์ ภักดี ที่เพิ่งแยกโรงเรียนมาใหม่จาก
โรงเรียนวัดเหมืองลี่ ไปที่โรงเรียนวัดกุดปลาเข็ง ที่สมัยโน้นเข้าเรียกว่า ประถม 1
ก และ ขึ้นไปเรียน ประถม 1 ข แล้วจึงจะขึ้นชั้น ประถมปีที่ 2 ได้ แต่ผมเรียน ป 1 ก
สองครั้ง ครูก็เลยใจดี ให้ผม “โดดข้ามชั้น” ไปเรียนกับรุ่นพี่ ที่ผ่านชั้น ป 1 ข
มาแล้ว

พอมาทบทวนจึงรู้ว่าผมไม่ได้ “ข้ามชั้น”
แต่จริงๆ ระบบบ้านนอกสมัยก่อนเขาให้เรียน 5 ปี อนุบาล 1 ปี เรียกว่า ป 1 ก และ
ประถม 1 เรียกว่า ป 1 ข ผมอุตส่าห์ดีใจ ได้เปรียบคนอื่น 1 ปี ที่ไหนได้ ก็ “ตามเกณฑ์”
เท่ากับเด็กในเมืองเท่านั้นเอง

 

นี่ก็เป็นการทบทวนการเดินทางไกลของผมครั้งแรก
และมาจบที่การ “เข้าโรงเรียน” และเป็นเด็กวัดครับ

หมายเลขบันทึก: 512089เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 สวัสดีค่ะ อาจารย์แสวง

- การเดินทาง ไปในที่ต่างๆ ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ มากมายเหลือเกิน ... 

- หนู ชอบเขียนโน๊ต เขียนบันทึก สิ่งต่างๆ รอบตัว ทุกครั้งที่เดินทาง ทั้งในและต่างประเทศ ...

- อ่านบันทึก ของอาจารย์แล้ว  หนู กำลังพยาม นึกให้ได้ว่า " หนูเดินทางคนเดียวเพียงลำพัง" ครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อไหร่ ..... ... .....

ขอบพระคุณ การเดินทางที่มีคุณค่ายิ่งนัก ค่ะ


นึกๆไว้บ่อยๆ ฝึกสมองไม่ให้เสื่อมเร็วครับ

ของใดๆไม่ใช้จะเสื่อมและหายไปครับ อิอิอิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท