Good day Toronto 19


ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในที่ของมันอย่างเหมาะสม การมาพบกัน ก็เป็นการแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจ และเคารพในความต่างและที่มาของความต่างนั้น

East meets west

ในช่วงท้ายๆ ของการดูงาน มีความรู้สึกหนึ่งแว๊บเข้ามาในความคิด คือ Eastern way and western way ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการสังเกตอย่างต่อเนื่อง การพูดคุย และการได้มีโอกาสช่วย Marg ในการวิเคราะห์ข้อมูล ฉันเริ่มเห็นความต่างของคนทั้งสองฝั่งของโลกในเรื่องวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติที่ทั้งหมดถูกหล่อหลอมจากสังคมและวัฒนธรรมที่บุคคลนั้นๆ เติบโตขึ้นมา

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการดูงานคือเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย Margให้ฉันเข้าร่วมสังเกตการประชุมกับทีมวิจัย 2 ทีมในวันที่ 4 ของการดูงาน ฉันก็ยังมึนๆ กับการเดินทางอยู่ แต่ก็ได้เห็นบรรยากาศการทำงานเป็นทีม ในงานวิจัยเหมือนกัน ทีมแรกที่เข้าไปสังเกต เป็นการประชุมเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล โดยทุกคนในทีมจะได้รับมอบหมายให้อ่านข้อมูลที่ไปสัมภาษณ์มา เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน แล้วเมื่อถึงวันประชุม แต่ละคนก็นำเสนอสิ่งที่ตัวเองได้จากการอ่าน Marg จะให้ข้อคิดเห็นเป็นระยะๆ ทีมนี้ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่เพิ่งทำวิจัย Marg จะเป็นพี่เลี้ยงคอยตะล่อมให้กลับเข้ามาใน track หรือจุดประกายความคิด  ส่วนอีกทีมที่เข้าไปสังเกต เป็นเรื่องของการแบ่งสัดส่วนการตีพิมพ์ ก็จะมีการคุยกับว่างานที่เราทำจะเอาไปตีพิมพ์ที่ไหนบ้าง และใครจะเป็นชื่อแรก มีประชุมที่ไหนที่ผู้ประชุมสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และเราก็ได้เรียนรู้จากคนอื่นด้วย เป็นการคุยที่ชัดเจนมาก Margบอกว่างานวิจัยที่เธอเป็นหลักหรือที่ปรึกษา ก็จะประชุมแบบนี้ บางกลุ่มก็ยังไม่มีประสบการณ์ จึงเป็นหน้าที่ของเธอที่จะประคับประคอง และสนับสนุนให้เขาได้ทำวิจัย และที่สำคัญที่สุดคือ let them grow

เมื่อมองย้อนถึงสิ่งที่ตัวเองทำ ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไร ส่วนใหญ่ก็ช่วยๆ กันทำ ถ้าเป็นวิเคราะห์ข้อมูลก็คนชื่อแรกเป็นหลักจะวิเคราะห์และเขียน ทำแบบเหมาๆ ช่วยๆ กัน ต่อไปคงต้องคิดถึงเรื่องนี้เมื่อกลับไป โดยเฉพาะเรื่องของ authorshipเขียนบทความ จะได้ไม่มีการกินใจหรือหมางใจกันทีหลัง อีกเรื่องที่ let them grow พอทำงานมากๆ ประสบการณ์มากๆ ฉันต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ ให้เหยียบเบรคตัวเองไว้ ไม่ให้วิ่งเร็วเกิน เดี๋ยวน้องๆ ตามไม่ทัน โตไม่ทัน

พูดถึงเรื่อง east meets west อีกที หลังจากการร่วมประชุมทีมวิจัยกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเขาก็นัดวันวิเคราะห์ครั้งต่อไปเป็นวันที่ 4 มิถุนา Marg หันมาถามว่าฉันยังอยู่ที่แคนาดาใช่ไหม แล้ว Margก็ให้ฉันลองอ่านข้อมูลเชิงคุณภาพที่ไปสัมภาษณ์มาภายใต้โครงการวิจัยเรื่องประสบการณ์ของครอบครัวผู้ป่วยระยะสุดท้าย จากการอ่านข้อมูลทั้งหมด (200 แผ่น) ฉันเริ่มเห็นความต่างในเรื่องที่ครอบครัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายเล่าให้ฟัง ตัวฉันเองทำวิจัยและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เรื่องแบบเดียวกันนี้ทั้งในกลุ่มครอบครัวผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคมะเร็งไทยพุทธ และไทยมุสลิม

เรื่องเล่าของครอบครัวของคนไทย ในช่วงสุดท้ายของชีวิต จะเน้นที่ความเชื่อ ความศรัทธา ได้แก่เรื่องกฏแห่งกรรม และแบบทดสอบของพระเจ้า รวมทั้งการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ทางจิตวิญญาณหรือพ้นกรรมหรือการกลับคืนสู่อ้อมกอดของพระเจ้า ข้อมูลจากเรื่องเล่าของครอบครัวของคนแคนาดาจะเน้นเรื่องของการพึ่งพิงระบบสุขภาพเพื่อช่วยการจัดการอาการ เรื่องความขัดแย้ง ไม่พอใจและโกรธเคืองกับการไม่สามารถเข้าถึงระบบได้อย่างรวดเร็ว และการได้กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ภาพในครอบครัว

ตรงนี้คือความต่างกระมัง ณ ตอนนี้เมืองไทยของเรา สายใยครอบครัว ความผูกพันภายในครอบครัวเรายังมีอยู่ เราเติบโตท่ามกลางญาติมิตรเยอะแยะไปหมด และของเขาดูเหมือนจะแยกครอบครัวเร็วและต่างคนต่างอยู่กัน ไม่รู้นะ จะบอกว่าของใครดีกว่าคงไม่ใช่ เพราะว่า เขาก็เป็นของเขาแบบนั้น เราก็เป็นของเราแบบนี้ เราก็ชอบแบบเรามากกว่าอบอุ่นกว่า เคยไปเยี่ยมคนไข้ระยะสุดท้ายที่บ้านคนหนึ่ง นับจำนวนรองเท้าไม่ถ้วน เยอะมาก ญาติคนไข้บอกว่าก็มานอนเฝ้าให้กำลังใจกันทุกเสาร์อาทิตย์ อยู่กันตรงนั้นแหละช่วยกัน

ส่วนเรื่องเล่าของครอบครัวอีกเรื่องที่ต่าง ก็ช่วงสุดท้าย ของไทยเราพูดถึงมิติจิตวิญญาณมากกว่า ส่วนของเขาเล่าเรื่องทุกข์กายมากกว่า เรื่องนี้ฉันได้สะท้อนความคิดของฉันให้ Marg ฟัง และได้นำเสนอผลการวิจัยของฉันทั้ง 3 เรื่องให้ทุกคนฟังกัน ฟังจบ Marg ก็หันไปถามทีมว่าเท่าที่ทบทวนข้อมูลมา มีผู้ให้ข้อมูลพูดเรื่องด้านจิตวิญญาณหรือเปล่า ทุกคนก็บอกว่าไม่เจอเลย และไม่ได้ถามถึงประเด้นนี้ด้วย ฉันก็บอกว่างานของฉัน ฉันก็ไม่ได้ตั้งใจถามเขา เพียงให้เขาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แล้วมันออกมาเอง เขาเล่ามาเอง Marg เลยว่าน่าสนใจ ที่ประเด็นศึกษาและคำถามการวิจัยใกล้กัน แต่คำตอบออกมาต่างกัน

การมาดูงานครั้งนี้ มันเลยเหมือน ฉันซึ่งเป็นคนตะวันออก มาพบกับวิถีของคนตะวันตก ฉันว่าไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในที่ของมันอย่างเหมาะสม การมาพบกัน ก็เป็นการแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจ และเคารพในความต่างและที่มาของความต่างนั้น ส่วนการจะเอาอะไรไปใช้อย่างไร ก็คงต้องผ่านการคิด ไตร่ตรองก่อนจะตัดสินใจเอามาใช้เพื่อพัฒนาวิถีของเรา

วันสุดท้ายของการดูงาน ขอดูงานครึ่งวัน (จริงๆ เขาจัดให้จนถึงวันขึ้นเครื่อง) บอกว่าจะจัดกระเป๋า

ไหนๆ ก็สิ้นสุดการดูงานแล้ว เลยเดินเรื่อยเปื่อยเข้าไปในมหาวิทยาลัย Toronto ซึ่งหอพักก็อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย เลยได้พบว่า วันนี้เป็นวันรับปริญญาของเขา ...เอา เข้ากันจังเลย เราก็สิ้นสุดดูงานวันนี้ ก็เหมือนจบ course ได้เห็นบรรยากาศแห่งความภูมิใจไปอีกแบบ



หมายเลขบันทึก: 512086เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท