กินอร่อย คอยเสื้อครุย (หลักการสอนที่ดี ตอน ๒)


การเรียนรู้วิชาการ ก็เปรียบกับการกินอาหารจานเด็ด ถ้าผมเอาอาหารอร่อยมาป้อนใส่ปากคุณ แถมเคี้ยวให้เละ สำรอกออกมา ก่อนเอาไปป้อน คุณจะยังว่าอร่อยอยู่ไหม (แหวะ อ้วก) ...

กินอร่อย..คอยเสื้อครุย  (หลักการสอนที่ดีที่สุด ตอน ๒)

วิชาหลายวิชาในศาสตร์หลายศาสตร์จะมีความยากเป็นพิเศษ ผมจะมีทริกในการสอนวิชาเหล่านี้ เช่น


1)  สร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อเด็ก....ผมจะบอกเด็ก (วิดวะ) เสมอว่า เรียนวิชายากนี้ดี  เพราะ  1.1) ทำให้ได้เงินเดือนสูง  เพราะนายจ้างเขาจ้างวิดวะด้วยเงินเดือนที่สูงก็เพราะเขาเห็นว่ามันเรียนยากนี่แหละ  ถ้าเรียนง่ายๆ เขาจะให้เงินเดือนคุณสูงไหม  1.2) ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ..เพราะสังคมเขานับถือวิดวะก็เพราะเขาเห็นว่าเรียนวิชายากนี่แหละ  ถ้าเรียนง่ายๆ เขาจะนับถือไหม  ไปไหนก็มีแต่คนเรียก นายช่าง  อยากยกลูกสาวให้ทั้งนั้นแหละ


2)  ทำของยากให้เป็นของง่าย  (ซึ่งเป็นการทำที่ยากที่สุด)  กล่าวคือ ไม่สอนตามตำรา แต่โมเสียใหม่  แต่บางทีผมทำของง่ายให้เป็นของยากก็มี เพื่อกระตุกให้เด็กคิดว่า ในโลกนี้จริงๆ แล้วไม่มีอะไรง่าย  ของตื้นๆที่คุณคิดว่าคุณรู้ดีนั้น ลองคิดดูใหม่สิว่า มันคืออะไรแน่  เช่น แรง คืออะไร  มวล คือ อะไร (และค้านกับอนัตตาอย่างไร) เวลาคืออะไร  (ผมท้าด้วยว่า ใครตอบปัญหาง่ายๆ นี้ได้ถูกใจผม  ผมจะให้เอวิชานี้โดยไม่ต้องเรียนเลย) 


3)  ทำการสอนให้สนุก... สนุกในที่นี้คือสนุกในเนื้อหาวิชา  ไม่ใช่สนุกเพราะตลกโปกฮา ซึ่งการจะสนุกได้ก่อนอื่นเด็กต้องเข้าใจเนื้อหาที่สอนเป็นลำดับมาเสียก่อน ....ผมมักบอกเด็กว่าเรียนวิชายากนี้มันน่าสนุกกว่าเรียนวิชาง่าย เพราะมันท้าทาย  เช่น คุณเล่นเกมส์คอมพ์ ให้คุณเล่นเกมส์ง่ายๆ สนุกไหม ก็ไม่  แต่เกมส์ยากๆ มันสนุกเพราะมันท้าทายไม่ใช่หรือ 


4)  สอนหลักการ โดยไม่สอนวิธีการ  (เดี๋ยวหมดสนุก) ...การใช้เวลาสอนเพียงหลักการสำคัญ ทำให้เรามีเวลาสอนได้อย่างช้าๆ  ปูพื้นสำคัญๆ (ทั้งที่เป็นความรู้ก่อนที่เคยเรียนมาแล้วก็ตาม)  ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจหลักการสำคัญ  ...ส่วนการทำตัวอย่าง (วิธีการ)  จะไม่มีเวลาสอน  ซึ่งผมว่ามันจะเป็นผลดีด้วยซ้ำไป  เพราะการไปสอนตัวอย่างด้วยทำให้เสียเวลามาก   ทำให้ต้องรีบยัดความรู้ แล้วเด็กไม่มีเวลาเคี้ยว ย่อย  ก็ไม่เข้าใจ ทั้งระบบ   ..การสอนแบบหลักการนี้ อย่างน้อยเขาก็ได้ความรู้หลักๆ ไปแล้ว แม้เขาขี้เกียจไม่ไปอ่านตัวอย่างในหนังสือ หรือไม่ไปทำการบ้านที่มอบให้   เขาก็ยังได้หลักการสำคัญติดตัวไป ...การสอนแบบนี้คือวิธีของพพจ. ที่ว่า   “ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนท่านต้องเดินทางด้วยตัวเองเพื่อไปสู่จุดหมาย” 


5)  ว่าไปแล้ว ทัศนคติของเด็ก (การรักการเรียนรู้)  สำคัญที่สุด  ..... เรียนแล้วต้อง”อร่อย”ในความรู้  ถ้าอร่อยก็จะขยันหากินเองแหละ  จะตั้งใจเรียน   ผมมักอุปมาให้เด็กฟังว่า การเรียนรู้วิชาการ ก็เปรียบกับการกินอาหารจานเด็ด ถ้าผมเอาอาหารอร่อยมาป้อนใส่ปากคุณ แถมเคี้ยวให้เละ สำรอกออกมา ก่อนเอาไปป้อน   คุณจะยังว่าอร่อยอยู่ไหม  (แหวะ อ้วก) ....  ฉันใดฉันนั้น การจะเรียนให้สนุกนั้นคุณต้องตักกินเอง เคี้ยวเอง  ผมควรมีหน้าที่เพียงแต่ชี้อาหารจานอร่อยให้คุณเท่านั้นเอง  ถ้าจะให้ดี คุณต้องทำอาหารเองด้วยซ้ำ  จะได้ปรุงรสได้ถูกปากคุณเอง  โดยผมเพียงบอกสูตรอาหารคร่าวๆ (หลักการ)  


...คนถางทาง (๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 509848เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สอนหลักการไม่ใช่วิธีการ ใช่เลยค่ะ ครอบคลุม ตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท