ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

การเตรียมพูดและการฝึกซ้อมการพูด


การพูดที่ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ส่วนใหญ่เกิดจากการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมที่ไม่ดีพอ

 

การเตรียมพูดและการฝึกซ้อมการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

“ ในโลกนี้ยังไม่เคยปรากฏว่านักพูดคนใดที่สามารถพูดโดยไม่เตรียมตัวได้ดีกว่าเตรียมตัวนอกเสียจากเหตุบังเอิญ เท่านั้น”  เป็นคำพูดที่ให้แง่คิดมากสำหรับคำพูดของ ดร.ราล์ฟ ซี.สเม็ดเล่ย์ ผู้ก่อตั้ง Toast Masters International

  สำหรับการเตรียมตัว เราต้องมีการคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้

1.วัตถุประสงค์ในการพูด ว่าการพูดครั้งนั้น เราพูดเพื่ออะไร (พูดให้ความรู้ พูดเพื่อให้ความบันเทิง หรือพูดเพื่อชักชวน)

2.เรื่องที่จะพูด ไม่ควรกว้างเกินไป จนหาประเด็นสำคัญๆไม่ได้ ทั้งนี้ผู้พูดควรพูดเรื่องที่ตนเองมีความถนัด มีประสบการณ์ เพราะหากผู้พูดไม่มีความถนัดหรือมีประสบการณ์ ผู้พูดก็ควรตอบปฏิเสธการพูดในครั้งนั้น

3.รวบรวมเนื้อหาที่จะพูด ผู้พูดควรทำการรวบรวมเนื้อหาที่จะพูดทั้งหมดเสียก่อนไม่ต้องคำนึงถึงว่าเนื้อหาจะใช้ได้หรือไม่ได้ เพราะเราสามารถนำมาตัดต่อหรือเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

4.การวางโครงเรื่อง จะขึ้นต้นอย่างไร ตอนกลางอย่างไร และจบอย่างไร

5.การวิเคราะห์ผู้ฟัง เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมตัว  เพราะหากว่าเรารู้ว่าผู้ฟังเป็นใครเราสามารถยกตัวอย่างต่างๆหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

6.การฝึกซ้อม การฝึกซ้อมการพูดมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ในการพูดแต่ละครั้ง ยิ่งเป็นนักพูดหน้าใหม่หรือกำลังฝึกฝนการพูดใหม่ๆ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อม แต่สำหรับนักพูดหน้าเก่า เขามักมีเวทีแสดงการพูดมากดังนั้น เขาจึงใช้เวทีต่างๆในการพูดเพื่อฝึกซ้อมการพูดไปในตัว

  การฝึกซ้อมการพูดมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ฟัง สถานที่ที่จะไปพูด ฐานะของผู้พูด เช่น การพูดในงานโต้วาที การพูดในฐานะวิทยากรบรรยายให้ความรู้ การพูดในงานปาฐกถา ฯลฯ ซึ่งแต่ละงานมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าผู้พูดจะเตรียมสื่อหรือมีทัศนะอุปกรณ์ช่วยในการพูดมากน้อยเพียงใด

  อีกทั้งจริตในการฝึกซ้อมการพูดของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ท่านผู้อ่านก็ไม่ควรเลียนแบบ แต่ควรค้นหาแนวทางของตนเอง เช่น บางคนฝึกซ้อมต่อหน้ากระจกแล้วทำให้การพูดออกมาดี , บางคนฝึกซ้อมในรถยนต์ , บางคนฝึกซ้อมต่อหน้าเพื่อน , บางคนฝึกซ้อมโดยเปิดสไลด์การนำเสนอไปด้วยเสมือนกับกำลังพูดกับผู้ฟังจริงๆ ฯลฯ ทั้งนี้การฝึกซ้อมจะได้ผลดีเพียงใด คงขึ้นอยู่กับนิสัย จริต ความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งเราต้องค้นหาจากตัวของเราเอง

  การวางแผนการพูดมีความสำคัญไม่น้อยต่อความสำเร็จ ตัวอย่าง เราจะขึ้นต้นอย่างไรในการนำเสนอ นักพูดหลายท่านในยุคปัจจุบันมักมีการขึ้นต้นด้วยเพลงบ้าง ด้วยคลิป VCD บ้าง ขึ้นต้นด้วยสไลด์สำคัญๆบ้าง แล้วจะมีการเชื่อมโยงเนื้อหาอย่างไรเพื่อให้เกิดความกลมกลืน และตอนจบจะจบอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ สิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการพูดแต่ละครั้ง การฝึกซ้อมการพูดเราจึงควรให้ความสำคัญต่อการวางแผนการพูด

  การซ้อมพูดที่ดีไม่ควรท่องจำคำต่อคำ เพราะจะทำให้ผู้ฝึกซ้อมเกิดความเบื่อหน่าย หากจำไม่ได้ก็จะเสียเวลา อีกทั้งการท่องจำแล้วนำไปพูดจะทำให้ผู้ฟังสัมผัสได้ เนื่องจากไม่เป็นธรรมชาติ ไร้ชีวิตชีวา ทั้งนี้ควรซ้อมพูดมาจากใจ ซ้อมพูดด้วยความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เสมือนการพูดบนเวทีจริงๆ

  สำหรับประโยชน์ของการฝึกซ้อมการพูด นักพูดที่ประสบความสำเร็จทั้งในยุคอดีต ยุคปัจจุบัน จะขาดการฝึกซ้อมไปไม่ได้เลย เพราะการฝึกซ้อมจะทำให้ท่านเกิดความมั่นใจในการพูด การฝึกซ้อมจะทำให้ท่านจำเนื้อหาในการพูดได้ดีกว่าการไม่มีการฝึกซ้อม และการฝึกซ้อมการพูดจะทำให้ท่านได้มีการแก้ไขสำนวน เนื้อหาของการพูดเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

การพูดที่ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป  ส่วนใหญ่เกิดจากการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมที่ไม่ดีพอ

หมายเลขบันทึก: 509844เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นวิทยากร ทีดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท