25 พฤศจิกายน วันมหาธีรราชเจ้า


วันนี้เล่าเรื่องที่โรงเรียนว่า......เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา   โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย(กระจ่าง สิงหเสนี)  จัดกิจกรรมถวายราชสดุดี  วันมหาธีรราชเจ้า

ความจริง  ต้องเป็น 25 พฤศจิกายน แต่ตรงกับวันหยุด เลยต้องมาจัดในวันนี้

25 พฤศจิกายน ของทุกปี หรือที่เราเรียกว่า วันมหาธีรราชเจ้า เป็น วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทย ที่จะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นดำรงสิริราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เมื่อพระชนมายุ 30 พรรษา ตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทย และต่อประเทศชาติมากมาย ด้วยน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา ปรารถนาให้มีความสงบสุขร่มเย็น อีกทั้งสานต่อพระราชกรณียกิจ ของพระบรมชนกนาถที่ยังไม่สำเร็จลงได้อย่างดียิ่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก เท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันมีถึง 1,236 เรื่อง นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติศัพท์ และทรงตั้งนามสกุลพระราชทาน ซึ่งได้รวบรวมไว้ขณะนี้เป็นจำนวนประมาณ 6,432 นามสกุล ในโอกาสนี้ จึงขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์พอสังเขป ดังนี้

ด้านการปกครอง ทรงวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยสร้าง เมืองจำลองดุสิตธานี เพื่อเป็นเมืองทดลองปฏิบัติตามแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และ ส่วนภูมิภาค จัดระเบียบบริหารราชการและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเหมาะสมทันสมัย อาทิ ตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ซึ่งต่อมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ ปรับปรุงกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคม ตั้งกรมศิลปากร เปลี่ยนคำเรียกชื่อ “เมือง” มาเป็น “จังหวัด”

ด้านการศึกษา ทรงวางรากฐานการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา ได้ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โปรดให้ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัย (อย่างเป็นทางการ) แห่งแรกของไทย โปรดให้ตั้งโรงเรียนพาณิชยการ โรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนเบญจมราชาลัย และได้พระราชทานพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 เป็นฉบับแรก สาระสำคัญคือให้เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 7 – 14 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน

ด้านกองเสือป่ารักษาดินแดน - มีพระราชดำริจัดตั้งกองเสือป่ารักษาดินแดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับการฝึกอย่างทหาร มีคุณภาพ มีวินัย เคารพกฎหมายบ้านเมือง และเพื่อปลุกใจให้มีความรักใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อส่งเสริมความสามัคคี มานะ อดทน เสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นผู้ช่วยรบได้ในยามคับขัน ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

ด้านเศรษฐกิจ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคลังออมสินขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อฝึกให้ประชาชนรู้จักประหยัด สะสมทรัพย์ และนำเงินไปฝากไว้อย่างปลอดภัย ปัจจุบันคือ ธนาคารออมสิน ทรงตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงการคลัง เพื่อทำหน้าที่ดูแลการค้าขายของประเทศ ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นกระทรวงพาณิชย์

ด้านคมนาคม ปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟ พร้อมทั้งออกพระราชบัญญัติควบคุมการรถไฟ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 และสนามบินดอนเมืองก็สร้างเสร็จและใช้การได้ในรัชกาลนี้

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงโปรดให้เกล้าฯ ให้จัดตั้ง วชิรพยาบาล และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทรงเปิด สถานเสาวภา เพื่อช่วยชีวิตผู้ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดและทำเชื้อป้องกันโรคระบาด

โดยเฉพาะ ด้านศิลปวัฒนธรรม และขนบประเพณี ที่ได้ทรงปรับปรุงหลายประการเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย และมีความเป็นสากลทัดเทียมอารยประเทศยิ่งขึ้น อาทิ ตราพระราชบัญญัตินามสกุล ด้วยมีพระราชประสงค์ให้นามสกุลเป็นสิ่งแสดงเชื้อสายต่อเนื่องกันทางบิดาผู้ให้กำเนิด เป็นศักดิ์ศรีและแสดงสายสัมพันธ์ในทางร่วมสายโลหิตของบุคคล ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างเครือญาติ และเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าของสกุลปฏิบัติดี เพื่อรักษาเกียรติของสกุลตนไว้ อีกทั้งยังทรงพระราชทานนามสกุลแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการที่มาขอรับพระมหากรุณาธิคุณด้วย

ด้านวรรณกรรมและนาฏศิลป์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในด้านการประพันธ์ทุกประเภท ได้แก่ นวนิยาย สารคดี บทความ พระราชดำรัส พระบรมราชโชวาท เทศนา และบทละคร โดยเฉพาะทรงพระราชนิพนธ์บทละครไว้จำนวนมากเพื่อจัดแสดง และยังทรงแสดงละครด้วยพระองค์เองหลายครั้ง นอกจากนี้ยังโปรดให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อฟื้นฟูวิชาการด้านนาฏศิลป์และดนตรี อีกทั้งทรงจัดตั้งโรงเรียนพรานหลวง เพื่อสอนเยาวชนให้มีความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และสร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชฐานทุกแห่ง พระนามแฝงในงานพระราชนิพนธ์ ได้แก่ อัศวพาหุ รามจิตติ พันแหลม และนายแก้ว นายขวัญ เป็นต้น

ทรงให้กำเนิดธงชาติ ในปี พ.ศ.2460 และพระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์ เป็นธงสามสี มีห้าริ้วประกอบด้วย สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ซึ่งแต่ละสีมีความหมายแสดงถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ตามลำดับ

ทรงตรากฎมณเฑียรบาล ในปี พ.ศ.2467 อันเป็นข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อป้องกันการวุ่นวายในการสืบราชสันตติวงศ์ และใช้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาจนปัจจุบัน

เปลี่ยนแปลงการนับเวลา – เวลามาตรฐาน ให้ถือเวลาเที่ยงคืนเป็นเวลาวันใหม่ตามแบบสากล และระยะทุ่มโมงให้เปลี่ยนเป็นนาฬิกา กำหนดเวลาในประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับเวลาสากลที่เขาใช้กัน โดยเทียบจากเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐานในการนับเทียบเวลา

จากพระราชกรณียกิจบางส่วนที่ยกตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศในทุกๆ ด้าน ดั่งพระราชปณิธานแน่วแน่ที่ทรงมีพระราชดำรัส ณ สถานทูตไทย กรุงลอนดอน เมื่อครั้งสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ว่า “ข้าพเจ้ากลับไปยังประเทศสยามเมื่อใด ข้าพเจ้าจะเป็นไทยให้ยิ่งกว่าวันที่ออกเดินทางมา”

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการมุ่งนำวิชาความรู้มาพัฒนาจิตใจตนเอง และพัฒนาประเทศชาติให้เข้มแข็ง เพื่อพร้อมเผชิญ และนำพาประเทศไทยผ่านสภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้

กิจกรรมนี้  ทำให้ครูและนักเรียนเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ  ของผู้ปกครอง  ชุมชน  ทุกฝ่ายอย่างชัดเจน  นักเรียนของเราทุกคน  แต่งกายเป็นลูกเสือ เนตรนารี  ครบถ้วน  ร้อยละ ร้อย  เลย

เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มองเห็นความสามัคคี  และการประชาสัมพันธ์ที่ดี

รอชมกิจกรรม วันคริสต์มาส อีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณข้อมูล: เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์ เรียบเรียง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

และ  http://hic.arts.chula.ac.th/index.php/news/todayyesterday/409-25-nov

หมายเลขบันทึก: 509847เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท