ลองเกี่ยวข้าวด้วยแรงมือแบบเมืองเหนือ


เมื่อก่อนนี้ ก่อนที่ชาวนาจะนิยมใช้รถเกี่ยวข้าว การเกี่ยวข้าวจะเกี่ยวด้วยแรงคนและเกี่ยวด้วยมือ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีเครื่องมือและวิธีเกี่ยวแตกต่างกันไป ชาวนาแถวบ้านผมที่อำเภอหนองบัวนครสวรรค์และภาคกลางนั้น จะเหมือนกับภาคอีสาน กล่าวคือ เมื่อข้าวออกรวงและเริ่มแก่จนออกสีทองแล้ว ก็จะใช้ไม้ไผ่ลำยาวๆนาบให้ต้นข้าวลู่เอนไปในทิศทางเดียวกัน จากนั้นก็จะใช้เคียวเกี่ยว ลักษณะเคียวจะโค้งเป็นวงเดือน ใช้มือซ้ายกำรวงข้าวและถือเคียวด้วยมือขวา ตัดต้นข้าวต่ำกว่าคอรวงข้าวเพียงประมาณ ๑-๒ ปล้องต้นข้าวเท่านั้น 

หลังจากเกี่ยวแล้วก็จะวางผึ่งแดดบนซังข้าวซึ่งเอนและเหมาะจะวางรวงข้าวให้แห้ง ๒-๓ วัน รวงข้าวที่วางผึ่งแดดไว้บนซังข้าวนี้จะเรียกว่าฟ่อนข้าว เกี่ยวรวงข้าว ๓-๔ กำแล้วนำมาวางเรียงกันก็จะได้ ๑ ฟ่อนข้าว เมื่อตากแห้งแล้ว ก็รวมฟ่อนข้าว ๔-๕ ฟ่อนข้าวเข้าด้วยกันแล้วมัดด้วยตอกก็จะได้มัดรวงข้าว ๑ มัด หาบไปวางเรียงกันเป็นลอมข้าว การเกี่ยวแต่จำเพาะรวงข้าวและมีปล้องข้าวเพียง ๑-๒ ปล้องเท่านั้น ก็จะทำให้มัดข้าวและลอมข้าวของแถวภาคกลางและภาคอีสานแลดูเหมือนกองเมล็ดข้าวเหลืองอร่าม


ทางท้องถิ่นภาคใต้กับทางเหนือนั้น จะมีวิธีเกี่ยวข้าวโดยยืนเกี่ยวต้นข้าวในขณะตั้งตรงเหมือนกัน ไม่ต้องนาบต้นข้าวให้เอนลงเหมือนทางภาคกลางและภาคอีสาน แต่เครื่องมือที่ใช้นั้นจะต่างกัน โดยทางใต้จะใช้แกระ ลักษณะเหมือนกรรไกรตัดหมาก ใช้ตัดรวงข้าวทีละรวง ตัดสั้นแต่เฉพาะรวงข้าว 

ส่วนทางเหนือนั้น จะใช้เคียวซึ่งโค้งเพียงเล็กน้อยและจะตัดต้นข้าวยาวมาก เกี่ยว ๑ กำมือก็จะได้ ๑ ฟ่อนข้าว วางไว้บนตอซังข้าวที่ยังตั้งตรงอยู่ ซึ่งก่อนที่จะได้ลองลงมือเกี่ยวข้าวเองนั้นก็รู้สึกเหมือนกับว่าจะวางฟ่อนข้าวยาก ฟ่อนข้าวของชาวนาทางเหนือจะรวมกำข้าวเพียง ๑-๒ กำเท่านั้น และเนื่องจากเกี่ยวปล้องข้าวแต่ละรวงข้าวยาวมาก ลอมข้าวจึงดูเหมือนกองฟาง มองไม่ค่อยเห็นเมล็ดข้าวเหลืองอร่ามเหมือนทางอีสานและบ้านเกิดผมที่หนองบัวนครสวรรค์



บ้านผมที่สันป่าตอง มีที่สำหรับทำนาข้าวอยู่เกือบ ๑ งาน เมื่อปีที่ผ่านมาก็ทำนาข้าวเหนียว เมื่อข้าวแก่พร้อมเกี่ยวแล้ว เดิมทีนั้นผมก็ตั้งใจว่าจะเกี่ยวข้าวร่วมกับญาติๆ ของทางภรรยาซึ่งมาลงแขกช่วยกันเกี่ยว แต่พอเห็นเคียวและวิธียืนเกี่ยวของชาวบ้านซึ่งผมไม่เคยเกี่ยววิธีนี้เลยแล้วก็ต้องชงักและหยุดความคิดที่จะผลีผลามไปเกี่ยวกับเขาไว้ก่อน เคียวเกี่ยวข้าวนั้นคมและจะมีริ้วฟันเล็กๆเหมือนเลื่อยหยักตื้นๆ ใครที่เคยเกี่ยวข้าวและเคยโดนคมเคียวบาดมือมาแล้วละก็ย่อมซาบซึ้งถึงแผลจากเคียวบาดเป็นอย่างดีว่าเหวอะหวะและเจ็บปวดนัก  


เมื่อเห็นวิธีเกี่ยวข้าวที่ไม่เหมือนกันเลยนั้น ผมก็ได้เรียนรู้ไปด้วยหลายอย่าง ประการแรก ก็ทำให้ได้ตระหนักว่า ชุมชนเกษตรกรที่ทำนาเหมือนกันในภูมิภาคต่างๆของประเทศนั้น แท้จริงแล้ววิถีวัฒนธรรมในรายละเอียดไม่เหมือนกันไปทุกอย่างเลยทีเดียว ประการที่สอง เครื่องมือการเกี่ยวข้าวและวิธีที่แตกต่างกัน นำไปสู่กระบวนการต่างๆอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนกันเอาเสียเลย ทุกอย่างมีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกลมกลืนกัน โดยมีวิถีชีวิตและการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็นพลังกล่อมเกลา ทำให้ได้การเรียนรู้ทางสังคมวัฒนธรรมไปด้วยหลายอย่าง 

ความแตกต่างในรายละเอียดเหล่านี้ ทำให้วิธีคิด วิธีมอง แบบแผนการดำเนินชีวิต ตลอดจนการจัดระบบสังคมและสิ่งแวดล้อมในการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากไม่เหมือนกันเลย หากมองไปในภาพรวมในสังคม ก็ทำให้ได้ความตระหนักไว้อยู่เสมอมากยิ่งๆขึ้นว่า หลายสิ่งที่ชาวนากล่าวถึงเหมือนกันนั้น ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นคนละสิ่ง และบางครั้งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเลยทีเดียว จึงเป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวนาที่มักปรากฏประเด็นปัญหาเป็นวงจรแบบเดิมอยู่เสมอนั้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากลดทอนความเข้าใจต่อความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้เห็นภาพโดยรวมแบบเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็จะสามารถครอบคลุมกลุ่มคนได้เพียงส่วนน้อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 


แต่ปีนี้ หลังจากไปกรุงเทพฯและเป็นวิทยากรให้กับการสัมมนาและถอดบทเรียนพัฒนาเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์เมื่อ ๑๕-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นี้แล้ว ผมก็ต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปเกี่ยวข้าว หลังจากทำงานขุดดิน ตัดหญ้า ทำสวน ไปปีหนึ่งแล้ว ร่างกายและทักษะใช้แรงงานผมดีขึ้นมาก เลยคิดว่าปีนี้ผมควรจะเกี่ยวข้าวเองได้ 

เมื่อครั้งที่เคยเกี่ยวข้าวตอนที่อยู่บ้านหนองบัวนครสวรรค์นั้น ผมยังจำได้เป็นอย่างดีว่าการเกี่ยวข้าวนั้นปวดเมื่อยมากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจะเกิดอาการปวดหลัง ปวดชนิดที่ปวดร้าวไปทั้งตัว เมื่อการเกี่ยวข้าวมีปัจจัยธรรมชาติและมีวิถีวัฒนธรรมชุมชนมาเกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น ต้องเกี่ยวให้เสร็จก่อนที่ข้าวจะแห้งกรอบซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวร่วง อีกทั้งหากฝนตกหรือน้ำค้างลงมากก็จะทำให้เมล็ดข้าวขึ้นรา หรือการลงแขกเอาแรงกันจะมัวรอคอยแต่ตนเองไม่ได้ หากช้าผิดจังหวะคนอื่นก็จะไม่มีคนช่วยเกี่ยวข้าว เหล่านี้ ทำให้การต้องเกี่ยวข้าวรอคอยไม่ได้  แม้จะปวดเมื่อยทรมานและเหนื่อยยาก ก็ต้องอดทนตรากตรำทำให้เสร็จ ยาแก้ปวดจึงขายดิบขายดีสำหรับชาวนา 

หากเราได้ศึกษาและเรียนรู้ด้วยวิธีที่สามารถเข้าถึงความเป็นชีวิต ความทุกข์สุข ความเหนื่อยยาก เราก็จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นจากจุดยืนในชีวิตของชาวบ้าน เช่น ทางด้านกระบวนการเชิงพฤติกรรมสุขภาพของชาวบ้าน ก็จะเข้าใจถึงแบบแผนการแสวงหาระบบสุขภาพและการบริโภคยาของชาวบ้านในลักษณะนี้ได้มากขึ้นว่า อาจไม่ใช้มิติการขาดการแสวงหาความรู้และขาดความตระหนักต่อผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างที่สังคมทั่วไปมองอย่างผิวเผิน ซึ่งนำไปสู่การเน้นให้ความรู้ทางสุขภาพแต่ขาดการสร้างระบบสังคมและขาดการสร้างศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนให้เหมาะสมกับองค์รวมของปัญหา เท่านั้น ดังนี้เป็นต้น


ข้าวที่ปลูกเมื่อ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมานี้ผมยังไม่ได้ปลูกเอง ต้องอาศัยต้นกล้าและขอแรงชาวบ้านที่ทำนาติดกันให้แบ่งกล้ามาดำให้แล้วก็ให้ค่าตอบแทนซึ่งเล็กน้อยจนเหมือนทำให้แก่ผมอย่างเป็นน้ำใจให้กันเสียมากกว่า ผมคอยดูแลน้ำ ไขน้ำเข้านา แล้วก็คอยตัดหญ้าตามคันนา ตัดให้ทั้งบนคันนาของผมและของชาวบ้านที่นาติดกัน ชาวบ้าน ๓-๔ คนพากันมาโยนกล้าลงในนาแล้วก็ดำช่วยกันแผล็บเดียว ดูเหมือนจะไม่ถึง ๒ ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว 



นาของชาวนาทางเหนือจะมีระบบฝายทดน้ำ ปล่อยน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในนาอยู่ตลอดเวลานับแต่ดำนา นาแต่ละแปลงจะมีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน นาผืนที่สูงกว่าจะทดน้ำเข้าไปก่อน จากนั้นจึงจะทดน้ำลดหลั่นไปสู่นาแปลงที่อยู่ต่ำลงไป กระทั่งข้าวออกรวงและแก่พร้อมเกี่ยวแล้วจึงจะเริ่มหยุดทดน้ำเข้านา 


นาข้าวเพียง ๑ งานนั้นนับว่าน้อยมาก แต่เมื่อทางแม่และพ่อของภรรยาผมรู้ว่าผมจะเกี่ยวข้าวเองก็พากันแอบมาเกี่ยวไปก่อนกว่าครึ่งหนึ่ง คงเกรงว่าผมจะสลบแดดอยู่กลางนาระหว่างเกี่ยวข้าว เลยเหลือสำหรับที่ผมจะเกี่ยวเองสักไม่ถึง ๒๐ ตารางวา ผมไม่เคยเกี่ยวข้าวแบบวิธีของคนทางเหนือเลย ได้แต่หมั่นเดินไปดูชาวนาที่ทำนาแปลงหน้าบ้านของผมอยู่เป็นประจำ ลองจดจำแล้วก็ซ้อมในใจดูจนพอจะมองภาพออกและคิดว่าไม่น่าจะยาก 


พอเริ่มเกี่ยวดูจริงๆแล้วก็พบว่านอกจากไม่ยากแล้ว ก็ได้รู้ว่าเป็นวิธีเกี่ยวข้าวที่ง่ายมาก ง่ายกว่าวิธีแบบภาคกลางและแถวบ้านผมเสียอีก ผมเกี่ยวไปก็รู้สึกประหลาดใจ แต่เดิมนั้น ผมยืนมองดูชาวบ้านเกี่ยวก็ให้รู้สึกยุ่งยากแทน เพราะจินตนาการไปว่าต้นข้าวที่ไม่ได้นาบให้เอนและลู่ไปในแนวเดียวกันนั้นน่าจะทำให้เกี่ยวลำบาก ต่อเมื่อได้เกี่ยวเองจึงได้ประจักษ์แจ้งว่าวิธีเกี่ยวข้าวแบบปล่อยให้ต้นตั้งตรงโดยไม่ต้องนาบนั้นทำให้เกี่ยวง่ายกว่าวิธีนาบให้เอนลงหลายอย่าง ข้าวที่นาบให้เอนลงนั้น เมื่อเกี่ยวจะต้องเดินเกี่ยวไปทางเดียวกับที่ข้าวเอนลงไป จะเดินย้อนไม่ได้ แต่วิธียืนเกี่ยวโดยไม่ต้องนาบต้นข้าวให้เอนลงนั้น จะเดินเข้าไปเกี่ยวข้าวจากด้านไหนก็ได้ หมุนรอบตัวได้หมดเลย 


ระหว่างที่เกี่ยวข้าวอยู่นั้น เมฆฝนก็ก่อตัว ขณะเดียวกัน ก็ได้รับโทรศัพท์จากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ว่าจะนำเอาวิทยานิพนธ์ซึ่งได้แก้ไขหลังผมไปเป็นประธานสอบป้องกันให้แล้ว ไปส่งให้ผมที่บ้านเพื่อตรวจและเซ็นเอกสารเพื่อดำเนินการในขั้นต่อๆไปอีก ผมเดินขึ้นจากนาออกไปหน้าบ้าน นักศึกษาขับมอเตอร์ไซค์ผ่านหน้าผมกลับไปมาอยู่ไหวๆ ในมือก็ถือโทรศัพท์ถามทางผมอยู่นั่นแล้วแต่ไม่มองจ้องมาที่ผมซึ่งกำลังอยู่ในชุดเกี่ยวข้าวเลย 


เมื่อเขาขับรถย้อนกลับมาและจอดอยู่ตรงหน้าผมอีกครั้งเพื่อถามทางจึงได้บอกให้หันมาดูแล้วก็ต้องรีบบอกว่านี่แหละๆที่กำลังเห็นกันนี่แหละผมเอง เลยได้บรรยากาศชวนให้ครึกครื้นกันไปอีกแบบ 


ครอบครัวของผมยังเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนบ้านห้วยส้มจึงยังไม่คุ้นเคยพอที่จะเดินไปเอาแรงกับชาวบ้านรอบข้าง อีกทั้งยังไม่มีทักษะดีนัก หากไปขอแรงชาวบ้านมาช่วย เมื่อต้องใช้แรงคืนเห็นทีชาวบ้านที่มาเอาแรงคงจะต้องขาดทุนไปหลายเท่า เลยต้องเดินเกี่ยวคนเดียว แต่ก็ไม่หนักหนามากนัก เดินเกี่ยวสบายๆ  เพียงชั่วโมงกว่าก็เสร็จ ระหว่างที่เกี่ยวไปก็เหมือนได้ทำสมาธิ เจริญสติภาวนากำหนดรู้ไปกับอาการของการเกี่ยวข้าว บางครั้งก็เพลิดเพลินเลยทำงานความคิดในเรื่องต่างๆไปด้วย จึงเหมือนได้พักผ่อนและได้ตกผลึกความคิด ได้ความรื่นรมย์ใจและทำให้เกิดความคิดดีๆไปด้วยหลายอย่าง.  

หมายเลขบันทึก: 509322เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

เรียนอาจารย์วิรัตน์ กลับไปพังงา ลองหาแกระมาให้อาจารย์ลงภาพไว้ในบันทึกนี้ คนใต้เองก็ไม่รู้จักแกระแล้ว

 

น่าสนุกจังค่ะ เก่งจังเลย คนเรานี่แปลกนะคะชอบทำตัวเหมือนกราฟระฆังคว่ำเลย สูงสุดสู่สามัญ เพราะสามัญ คือรากเหง้าของเราเอง. . แล้วเกี่ยวเองเสร็จยังคะ :)

อ้าว ไม่ได้อ่านท่อนสุดท้าย เกี่ยวข้าวด้วยสมาธิอ่ะ ว้าว. . มิน่าหล่ะ ดูท่านช่างเบิกบานจังค่ะ

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
นั่นน่ะสิครับ เอารูปมาลงให้ดูกันหน่อยบ้างนะครับ แล้วก็สงสัยมากเลยครับ ทางใต้ในยุคที่เกี่ยวข้าวด้วยแกระนี่ หลังจากเกี่ยวแล้วเขาจะเอารวงข้าวหรือฟ่อนข้าวไปรวมกันไว้อย่างไร ทำอย่างไรมันถึงไม่ร่วงเสียหายไปหมด ผมเคยเห็นแต่ไกลๆ ไม่เคยเห็นขั้นตอนในรายละเอียดเลยครับ

สวัสดีครับคุณ chut-cha-nee ครับ
ตอนนี้เกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้วละครับ ให้ฟ่อนข้าวผึ่งแดดไว้สักวันสองวันก็จะมัดกอง นำมาตีแล้วก็ใช้พัดโบกแยกเมล็ดลีบกับเศษฟางออก 

เรียนอาจารย์

เก็บข้าวกับแกระนี้สนุก ยืนเก็บเรียงหน้า ยิ่งเป็นนาออกปาก "ซอมือ"บางคน บางคู่ คุยกันเพลิน เดินเลยคันนาไปเก็บนาเจ้าอื่นก็เคยมี เล่ากันสนุกๆ

 

แล้วข้าวที่ได้ก็ทำเป็นเรียง(หนึ่งเรียงก็หนึ่งกำมืออ้าของคนที่เก็บรวบคอต้นข้าวไว้แล้ว )ใช้ ซังมัด วางไว้บนคันนา พวกผู้ชายก็จะใช้ กะเฌอ มาใส่คนที่ชำนาญกะเฌอหนึ่งใส่ยี่สิบสามสิบกิโล ใช้สาแหรกใช้ไม้คานหาบขึ้นลอม

ทางใต้เรียกว่าลอมข้าวว่า เรือนข้าว มีนิทานเล่ายาวมากๆ เรื่องข้าว วันหลังจะเล่าในบันทึกให้ฟัง การเตรียมพร้อมของทำนาตอนข้าวไกล้สุก

ผู้หญิงก็จะชวนกันเข้าป่าไปใบเตย เพื่อมาสานกะเฌอ ไว้ใส่ข้าว เป็นภูมิปัญญาในการเลือกเตยแล้วนำใบเตยมาทำเป็นกรรมวิธีหลายขั้นตอน เป็นทั้งศิลปและศาสตร์ที่สุขในการทำ

ส่วนพวกผู้ชายก็เข้าไปหาหวาย ทำสาแหรก หาไม้ทำไม้คาน พวกเกียจคร้านไม่เอาไหนใช้ไม้ใผ่ทำไม้คาน ส่วนพวกที่มีฝีมือเขาจะเลือกไม้ หรือปลีกไม้ที่หลงเหลือจากการเลื่อย ซีกโตๆ เอามาถากยิ่งได้ไม้นากบุตร ยิ่งโดนใจ พิถีพิถันในการทำไม้คานมาก ตรงปลายไม้คานจะเจาะรู เหลาไม้กลมๆใส่ไว้ทั้งสองข้าง ใส่ปลายปลาย ซาแหรกไม่ให้ขยับเวลาหาบข้าว

แล้วเวลาเอาข้าวไปเก็บบนลอมนี้ ก่อนเอาขึ้นลอม ต้องนวดแล้วสีข้าวใหม่ทำบุญก่อน หากเป็นชาวพุทธก็เอาข้าวใหม่ใส่บาตรก่อน เป็นการแบ่งปันที่สุขยิ่ง

 มีปริศนาคำทายว่า  อะไรเอ่ย  สุกแดง กินไม่ได้  สุกไหม้กิน แต่สุกสองที กินอร่อยกว่า (สุกสองทีคือข้าวสุกในนาแล้วมาสุกในหม้อ 

อะไรเอ่ย "หนุ่มสาวแต่งงานเดือนเก้า  ลูกเข้า (ข้าว)ท้องเดือนไหน ลูกข้าวคือข้าวที่ตกหล่นในนาแตกหน่อแตกกอถ้าวัวควายไม่ทำลายก็จะได้เก็บอีกรอบ แต่จะเก็บไว้ให้เป็ดไก่ เพราะเป็นข้าวไม่เต็มเม็ด

ด้วยความขอบคุณที่ได้แลกเปลี่ยนความเป็นพื้นถิ่น

อาจารย์ครับ....บอกไม่ถูก...ภาพที่นักศึกษา...เอางานไปให้ดู...ท่ามกลางการเกี่ยวข้าวฝีมือของอาจารย์...คือ ความน่าประทับใจและน่าจดจำสำหรับลูกศิษย์ตลอดไปครับ

  • สุดยอดจริงๆ
  • เห็นแล้วอยากทำบ้าง
  • กำลังอยากทำนาเหมือนกันครับ
  • แต่เวลาไม่มี
  • ขอเชียร์อาจารย์ก่อนก็แล้วกันครับ

โห..อาจารย์ใส่ชุดเกี่ยวข้าวแล้วเท่เชียว

อยากไปช่วยเกี่ยวข้าวบ้างจัง ไม่ได้จับเคียวมาเป็นสิบปีแล้ว..

สมัยก่อนเคยไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวแถวยโสธร จำได้ว่ามีดอกไม้สีออกม่วงน้ำเงินขึ้นแซมอยู่บนนาข้าว เกี่ยวข้าวไป ก็เหยียบดอกนี้ไปบ้าง กลิ่นหอมจากดอกไม้นี้เย็นชื่นใจ ชาวบ้านบอกว่าดอกนี้ใช้กินกับส้มตำก็ได้ เสียดาย..ความจำไม่ดี จำชื่อไม่ได้

เมื่อคราวนั้น..แม่ในบ้านเอาผ้าขาวม้าที่ทอเองยกให้ใช้ด้วย เป็นผ้าขาวม้าผืนโปรดที่ใช้อยู่หลายปี เดินทางไปหลายแห่ง ก่อนจะทำหายไป เคียวก็เอาอันที่ไม่คมให้เพราะกลัวเราจะโดนบาด เป็นความทรงจำที่อบอุ่นยิ่ง

สงสัยเข้าสู่วัยซะแระ..เริ่มเล่าความหลัง ฮา...

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ที่บ้านอาจารย์มีครบวงจรเลยนะครับ
  • สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว สู่ชุมชนจนกระทั่งสังคมวงกว้างเลย
  • ท่านอาจารย์สบายดีนะครับ
  • เห็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยในแนวนี้ก็แปลกตาดีเหมือนกันครับ
  • ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพี่นักศึกษาคนนั้น ไม่คิดว่าเป็นอาจารย์ครับ

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
การเกี่ยวข้าวกับชีวิตเกษตรกรชาวนาของพื้นถิ่นภาคใต้ก็ดูสนุกและมีวิถีวัฒนธรรมของชุมชนอีกหลายอย่างมากเลยนะครับที่ผู้คนในสังคมเดียวกันยังไม่เคยได้สัมผัสอย่างลึกซึ้งเหมือนอย่างที่บังวอญ่าเล่าถ่ายทอดมาพอเป็นกระสาย

สวัสดีครับคุณหมอทิมดาบครับ
ได้ทำอย่างนี้บ้างก็ดีเหมือนกันนะครับทิมดาบครับ คนรุ่นใหม่ๆจะได้มีแรงบันดาลใจต่อการมุ่งทำงานกับดำเนินชีวิตในแนวทางที่จะมีโอกาสร่วมทุกข์สุขกับวิถีชาวบ้านในกลุ่มที่ไม่ค่อยมีโอกาสมากในสังคมแต่เป็นกลุ่มฐานรากของส่วนรวมที่สำคัญ รวมทั้งเห็นอีกหลายด้านที่เป็นความรื่นรมย์ของชีวิต การให้ความหมายต่อความสุขและคุณภาพแห่งชีวิตบนวิธีการผลิต การใช้แรงงาน ให้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการมุ่งแต่ด้านความสมบูรณ์มั่งคั่งของการบริโภค ซึ่งเป็นกระแสส่วนใหญ่ของสังคม สังคมจะได้มีคนทำงานด้วยความรู้ที่ไม่ห่างเหินจากวิถีชาวบ้านจำนวนหนึ่งอยู่เสมอๆ เลยเป็นการได้ทำงานให้เป็นสื่อการสอนและสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านใน โดยไม่ต้องได้สอน แต่ทำให้ได้อยู่กับสถานการณ์ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตอย่างมีความหมายไปเลย ขอบคุณทิมดาบมากเลยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
สอนหนังสือกับทำงานหนักๆอย่างอาจารย์นั่นแหละดีแล้วครับอาจารย์ ไม่ต้องได้ออกไปทำจริงๆหรอกนะครับ เสียดายคน อยากเกี่ยวและอยากเหนื่อยเมื่อไหร่ละก็วางมือจากงานแล้วแวะไปหาผมนะครับ ไปช่วยผมเกี่ยวดีกว่า การสร้างคนก็เหมือนกับการทำนาไถหว่านและปลูกข้าว เมื่อออกรวงและแก่พร้อมเกี่ยวแล้วก็ยิ่งงดงามและทำให้ผู้คนยิ่งได้มีชีวิตที่ดี อาจารย์ก็กำลังทำนาและเกี่ยวข้าวอย่างหนักและจริงจังเหมือนกัน มีกำลังใจและมีความสุขครับ

สวัสดีครับใบไม้ย้อนแสงครับ

งั้นต้องอวดฝีมือทำชุดเท่สักหน่อยละครับ เบื้องหลังชุดเท่นี่ เป็นกางเกงเก่าซื้อมาจากร้านเสื้อผ้ามือสองตัวละ ๑๐ บาทน่ะครับ ต้องใช้กับงานที่เลอะดินโคลนอยู่ตลอดเลยซื้อผ้าเก่าๆมา แต่ความที่มันเป็นเสื้อผ้าเก่า ก็เลยขาดแล้วขาดอีก ขาดจนไม่มีเนื้อที่ตะเข็บให้เย็บแล้ว ต้องหาวิธีปะเป็นพื้นที่กว้างๆ เลยได้เรียนรู้วิธีปะกางเกงแบบเนื้อที่เยอะๆ ก่อนจะได้ทำนี่ก็เลยได้นั่งซ่อมเสื้อกางเกง กระทั่งได้ชุดเท่อย่างที่เห็นนี่แหละครับ ก่อนหน้านี่ บางทีพอเหนื่อยๆก็นั่งลงเพื่อพักขา ก็ปรากฏว่ากางเกงตูดขาดแคว่กกกก  

                          Large_trouser_repairment_1

 

                          Large_trouser_repairment_2

ฝีมือครั้งแรกๆนี่ก็พอถูๆไถๆไปได้ละครับ พอเย็บเสร็จและกางดู ก็ให้รู้สึกจิตใจแสนจะห่อเหี่ยวกับฝีมือปะเย็บเสื้อผ้าแบบช่างจำเป็นเพราะมันย่นอย่างกับอะไรดี แต่จะเลาะออกก็กลับยิ่งยากกว่า เลยก็ต้องนุ่งกันไปตามสภาพอย่างนี้แหละครับ ตอนนี้เลยได้ทักษะอย่างใหม่เพิ่มอีกอย่างหนึ่งไปด้วยครับ ... ปะกางเกง  

สวัสดีครับวศิน
สบายดีครับ ขอบคุณครับ ที่บ้านผมนั้น ตระเตรียมสักปีสองปีก็คงพอจะใช้ทำกิจกรรมหลายอย่างสำหรับการทำงานทางด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ชุมชน และคนทำงานวิชาการในแนวที่เชื่อมโยงและมุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชน วศินผ่านขึ้นไปก็แวะไปหากันนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ

หนูละนึกหน้าน้อง ป.โทนคนนั้นไม่ออก อิ อิ คงงงเป็นไ่ก่ตาแตก

อาจารย์ช่างขวนขวายมีเรื่องให้ขยันทำไม่หยุดหย่อน

จนถึงมัธยมที่พ่อพาเกี่ยวข้าว บ้านหนูเกี่ยวแบบตั้งตรงนะคะ

ข้าวในนาของอาจารย์ พอสีออกมา คงเป็นข้าวที่ต้องกินอร่อยที่สุดเลยนะคะอาจารย์

หยาดเหงื่อแรงงานชัด ๆ

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอธิรัมภาครับ

ข้าวจากหยาดเหงื่อของเราเองอย่างนี้นี่ เอาไว้ทำอาหารสำหรับกรณีพิเศษก็คงจะดีเหมือนกันนะครับ เป็นต้นว่าทำบุญหรือทำรับประทานกับแขกและหมู่มิตรที่นานๆจะได้เจอกันและได้รับประทานอาหารด้วยกัน เป็นการให้ความพิเศษเฉพาะกันดี ขอบคุณมากเลยครับที่คลิ๊กให้เกิดไอเดียดีๆครับ

การได้เจอกันอย่างผิดคาดหรือเกินที่จะคาดหมายได้ก่อนนี่ มักทำให้ได้ความประหลาดใจ ให้ความสนุก และเป็นการทำหมายเหตุชีวิตด้วยกันอย่างจำเพาะเจาะจงที่ดีมากเหมือนกันนะครับ อย่างกรณีนี้นี่ผมเองก็ประทับใจนักศึกษาด้วยเช่นกันครับที่เขามีความบากบั่นมุ่งมั่น ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อไปหาผมและให้ผมตรวจสอบการแก้ไขวิทยานิพนธ์ของเขา ไปกลับ รวมทั้งการสุ่มหาทางไปแบบลองผิดลองถูก รวมแล้วก็คงกว่า ๕๐ กิโลเมตร ผมเองนี่ก็เคยอยู่เป็นระยะๆครับ ต้องขอเล่าแบ่งปันบ้างสักเรื่อง เป็นเรื่องที่ผมประทับใจและจำได้ไม่ลืม

เมื่อปี ๒๕๒๙ ผมเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงานได้เพียง ๓-๔ ปี ยังเพิ่งจะซี ๔ อยู่เท่านั้น ปีนั้น ที่ทำงานผมสร้างสำนักงานเสร็จ ซึ่งการก่อตั้งหน่วยงานที่ผมเริ่มทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนั้น เป็นผลจากความร่วมมือระดับรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงจะมีการเปิดและส่งมอบให้รัฐบาลของราชอาณาจักรไทยโดยหน่วยงานและผู้แทนที่ทำในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น จึงได้รับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดเป็นพระราชพิธี มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด มหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆเตรียมการให้มีความงดงามเหมาะสมทุกด้านเป็นอย่างดี 

ผมได้ร่วมเป็นกรรมการดูแลและเตรียมการด้านสถานที่ด้วย และส่วนหนึ่งก็จะต้องทำแผ่นป้ายและติดตั้งในปรัมพิธีที่จะจัดเป็นแหล่งประกอบพระราชพิธีในครั้งที่ว่านี้ด้วย แต่ช่วงที่ติดตั้งนั้น ต้องทำหลังจากฝ่ายอื่นๆจัดวางสิ่งต่างๆอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว พอถึงช่วงที่ผมทำเลยไม่มีคนอยู่คอยช่วยกันเยอะแยะเหมือนช่วงเวลาอื่น แต่ก็ไม่ลำบากอะไรเพราะงานที่เหลือเป็นงานที่เล็กน้อยมาก เหลือคนอยู่ไม่ถึง ๑๐ คนก็พอช่วยกันทำได้

ระหว่างที่ผมปีนบันไดติดป้ายและตัวหนังสือที่ต้องใช้ในงานพระราชพิธีนั้น ก็จะต้องมีคนคอยช่วยส่งของและช่วยยืนเล็งให้ผมอยู่ข้างล่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในที่ทำงานของผมและคนที่ผมรู้จักทั้งหมด แต่ระหว่างที่ทำอยู่นั้น ก็มีพี่คนหนึ่ง ท่าทางสุภาพและใส่เสื้อซาฟารีสีเทาเหมือนชุดวิศวกร เดินมายืนอยู่ข้างบันไดผมและชวนผมคุย สักพักหนึ่ง แกคงสังเกตเห็นว่าผมเองต้องไต่ขึ้นลงบันไดกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ เลยมีน้ำใจช่วยผมหยิบของส่งให้โดยที่ผมไม่ต้องไต่ลงอยู่เรื่อยๆ ผมประทับใจและซาบซึ้งใจมาก แต่ก็ไม่ได้ถามว่าแกเป็นใครเพราะคะเนดูแล้วน่าจะเป็นคนทำงานที่มีความอาวุโสจากสำนักงานอธิการบดี จึงดูเป็นการไม่สมควรที่เป็นเด็กเป็นเล็กแล้วจะเที่ยวไปถามเหมือนให้ผู้หลักผู้ใหญ่มาแนะนำตนเองให้ผมซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กมาก ได้รู้จัก

ในงานอย่างนั้นและช่วงเวลาเตรียมการต่างๆอย่างนั้น ผมเลยเดาเอาเองว่าแกน่าจะเป็นวิศวกรที่มหาวิทยาลัยส่งมาดูแลความเรียบร้อย ทั้งงานของผมและของแก ทางคณะทำงานชุดใหญ่ของมหาวิทยาลัยและจากสำนักพระราชวังจะมาดูแลอีกรอบหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนถึงหมายกำหนดการของพระราชพิธีหลายชั่วโมง แกอยู่ช่วยผมจนเสร็จ หลังจากนั้นแล้ว ด้วยความประทับใจมาก ทั้งเห็นว่าแกยังเหมือนยังไม่อยากกลับ ผมเลยพาแกเดินคุยไปรอบๆบริเวณ ด้วยความที่เป็นเจ้าของการเตรียมสถานที่หลายอย่างด้วย ผมเลยคิดว่าผมจะได้ถือโอกาสดูความเรียบร้อย ก็เลยจำแกได้เป็นอย่างดี พอเย็นมากแล้วแกก็ขอตัวกลับไป ก็ไม่ได้เกิดอะไรที่สนุกมากหรอกครับ ถ้าหากว่าวันรุ่งขึ้นในพระราชพิธีที่สำคัญที่กำลังจัดขึ้นนั้นผมไม่ได้เจอแกอีก  !!!!!

วันรุ่งขึ้น ก่อนถึงงาน ผู้หลักผู้ใหญ่ คณะผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะส่งมอบให้คณะกรรมการตรวจและสรุปงานด้วยความพร้อมอย่างสมบูรณ์ ก็มาครับ คราวนี้มาด้วยชุดปรกติขาวระรานตา บนไหล่มีช่อราชพฤกษ์หนาเป็นบั้งๆ เครื่องราชและสายสะพายเป็นแผง ในจำนวนนั้น ก็มีท่านหนึ่ง เดินตรวจสถานที่ ระบบไฟ ระบบเสียง การตบแต่งประดับประดา รวมทั้งแผ่นป้ายและตัวหนังสือต่างๆ รวมทั้งปลีกมาทักทายผมด้วย ผมเห็นแล้วก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเหมือนกับพี่คนเมื่อวานนี้เหลือเกิน พอท่านคุยเรื่องราวต่างๆต่อเนื่องจากเมื่อวานที่ผ่านมาที่ได้คุยกับผม ผมเลยแน่ใจว่าท่านเป็นคนเดียวกันกับพี่ที่ผมคิดว่าแกเป็นวิศวกรมาเตรียมงานต่างๆของตนเองด้วยเมื่อวานนี้ และคราวนี้ เมื่อถึงพิธีการสำคัญๆ ผมก็เห็นท่านอยู่แถวหน้าร่วมกับอธิการบดีและคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยตลอด ผมเลยอดไม่ได้ที่จะต้องแอบถามพี่ๆที่เขาอยู่มาก่อนว่าท่านผู้นี้เป็นใคร 

ข้อมูลที่ผมได้ทราบเกี่ยวกับพี่ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิศวกรมาร่วมเตรียมงานกับผมก็คือ ท่านไม่ใช่วิศวกรมาเตรียมงานครับ แต่ท่านคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ครับ เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงนั้นของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ !!!! เป็นผู้บังคับบัญชาของผมและของทุกคนในงานเว้นเพียงท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยคนเดียวเท่านั้น จ๊ากกกก ....

ที่ผมได้เห็นท่านและบังอาจยินยอมให้ท่านเดินหยิบและคอยส่งของช่วยผมก่อนถึงวันงานนั้น ก็เนื่องจากท่านได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดีให้เป็นแม่งาน เป็นเบอร์ ๒ ของงานนี้ของมหาวิทยาลัยมหิดลของเราว่างั้นเถอะ ท่านจึงไปเดินตรวจงาน ตอนนั้นผมเพิ่งเข้าสู่ชีวิตการทำงานและยังหูตาแคบมาก เลยแทบจะไม่รู้จักใครเลยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย ผมนำเอากรณีที่ท่านปฏิบัติอย่างนี้มาคิดถึงอยู่เสมอๆว่าหลักคุณธรรมไหนบ้างที่ทำให้ผู้บริหารขององค์กรและผู้ใหญ่ขนาดนั้น วางตัวอย่างนั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกับงานของเด็กๆอย่างนั้นและในห้วงนั้นของผม ผมมีโอกาสอยู่บ้างที่ได้คุยเรื่องนี้ให้น้องๆและเพื่อนร่วมงานผมฟังในภายหลัง เป็นความประทับใจอย่างหนึ่งที่รำลึกถึงทีไรก็มีกำลังใจที่มีสิ่งดีๆให้คิดถึงอีกอย่างหนึ่งครับ 

สวัสดีค่ะ

  •    อ่านแล้วทำให้หัวเราะไปด้วยค่ะ  ใครจะไปคิดว่าอาจารย์จะลงไปเกี่ยวข้าวเอง
  •   แอบดูฝีมือปะกางเกงอีกด้วย 
  •   ครูดาหลาอยู่ภาคเหนือยังสงสัยว่าเคียวเกี่ยวข้าวทางภาคกลางทำไมถึงโค้งน่ากลัว จะเกี่ยว  ข้าวถนัดหรือ   เพราะเคยเห็นเคียวทางภาคเหนือลักษณะไม่เหมือนอย่างนี้
  •  นาข้าวแถวสันป่าตอง...คุ้นๆอยู่ค่ะ

สวัสดีครับ KRUDALA ครับ

คุณครูดาหลาเห็นเคียวแบบโค้งน่ากลัวของแถวภาคกลางแล้วคิดว่าจะเกี่ยวข้าวถนัดได้อย่างไรนี่ ก็คิดเหมือนผมเมื่อแรกที่ได้เห็นเคียวของทางเหนือซึ่งเล็กกระจิริด แถมไม่โง้งอีกต่างหากว่า ชาวบ้านจะใช้เคียวอย่างนั้นเกี่ยวข้าวได้อย่างไร หากไม่ได้ลองสัมผัสและเรียนรู้จากกระบวนการปฏิบัติแล้วละก็ จะไม่รู้เลยว่าทุกเรื่องที่มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆต่างกันนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆถึงจะเหมาะ 

อย่างตอนแรกที่เห็นทางเหนือยืนเกี่ยวข้าวโดยไม่ได้นาบข้าวให้เอนนั้น ผมยังนึกอยู่เลยว่าทำไมไม่ยอมเหนื่อยโดยนาบข้าวให้ลู่ไปทางเดียวให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเกี่ยวสบายๆ พอไปดูรายละเอียดในกระบวนการทำนาถึงได้เห็นเหตุผลและภูมิปัญญาที่ผูกติดอยู่กับระบบนิเวศในถิ่นฐานต่างๆ คือทางเหนือทำนาที่ดอน ใช้ฝายทดน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวพอให้มีน้ำท่วมดินไม่ให้หญ้าขึ้นมาแข่งกับต้นข้าว ต้นข้าวเลยไม่สูงมาก ใบก็ไม่มาก

ส่วนนาทางภาคกลางนั้น มักเป็นนาในที่ลุ่ม เมื่อถึงหน้าน้ำหลากก็จะมีน้ำเจิ่งนอง ท่วมเป็นระยะเวลาหนึ่ง ข้าวที่ใช้จึงเป็นชนิดปลูกดำในน้ำที่ลึกได้มากกว่าทางเหนือ ลำต้นและกอข้าวเลยสูง เมื่อออกรวงและแก่ พร้อมกับน้ำลด หากไม่นาบให้ลำต้นเอนราบไปกับผืนดิน น้ำหนักรวงซึ่งโน้มลง ในขณะที่ลำต้นเล็กๆก็ยาวและกำลังจะเริ่มแห้งกรอบ ก็จะหักเสียหาย วิธีนาบข้าวจึงไม่ใช่เหตุผลสำหรับการเกี่ยวในแนวราบ แต่เป็นเหตุผลสำหรับป้องกันความเสียหายจากคอข้าวหัก วิธีเกี่ยวและลักษณะของเคียว เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตามมาทีหลังอีกทีหนึ่ง 

ความมีเหตุผลเฉพาะตนของวิถีชีวิตบนถิ่นฐานที่แตกต่างกันดังกล่าวนี้ หากมองดูเพียงภายนอก เมื่อก่อนนั้น ผมก็มักจะคิดว่าวิธีของชาวนาภาคกลางก้าวหน้าและดูเป็นผู้มีความพิถีพิถัน ละเอียดอ่อนกับการทำนามากกว่า ในขณะที่แอบมีอคติอยู่ลึกๆว่าความไม่รู้จักวิธีนาบข้าวแบบทางภาคใต้และภาคเหนือนั้น ออกจะเป็นวิธีที่มักง่ายและขี้เกียจเอาด้วยซ้ำ พอได้รู้จักและลองทำดูแล้ว ถึงได้ซาบซึ้งมากขึ้นว่าภูมิปัญญาเฉพาะตนอย่างที่เห็นของชาวบ้านนั้นลึกซึ้ง และวิธีอย่างอื่นที่ต่างบริบทกันจะนำมาใช้ทดแทนอย่างไรก็ได้ไม่ดีเท่าเลยทีเดียว ได้ทำแล้วก็ได้ความคิดดีๆไปด้วยครับ เหมือนกำลังได้จัดการศึกษาอบรมให้ตนเองไปในตัวอีกแบบหนึ่งเลยละครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท