สามัคคีกฐิน ณ วัดป่า


ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวไทย.. วันก่อน "แม่สำราญ" ไปร่วมทอดกฐินสามัคคีที่วัดป่ามงคลธรรม ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นวัดเล็กๆติดเขา มีพระภิกษุจำวัด ๒ รูป โบสถ์เพิ่งก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พวกเราต่างคน-ต่างบ้าน-ต่างถิ่น มาทำบุญร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย แต่ใจตรงกัน.. มาทอดกฐินสามัคคีที่นี่


วันนี้มีหลายพิธีกรรมค่ะ เริ่มด้วยพิธี

"เบิกเนตรพระประธานในอุโบสถ" ประเพณีการเบิกเนตรพระพุทธรูป มีพื้นฐานจากคติความเชื่อ ที่ต้องการแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปที่จัดสร้างเสร็จแล้วว่า เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ควรแก่การสักการบูชา ห้ามกระทำใดๆ ที่ไม่สมควรต่อพระพุทธรูปนั้นอีก (ขณะยังไม่เบิกเนตร ก็คือรูปปั้นธรรมดาที่จะตกแต่งได้ ไม่ถือว่าเป็นการไม่บังควร แต่พอทำเสร็จแล้วผ่านการเบิกเนตรก็เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ที่สมบูรณ์ ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่สมควรแก่พระพุทธรูปอีกต่อไป นอกจากสักการบูชาเท่านั้น)

"ยกช่อฟ้าขึ้นสู่ยอดอุโบสถ" มีพราหมเป็นผู้ประกอบพิธี พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา คนที่อยู่หลังจะจับตัวต่อกันเพื่อร่วมพิธี เสมือนได้ส่งต่อช่อฟ้าด้วยตนเอง ผู้รับช่อฟ้า ๗ คนรอรับอยู่ด้านบน และช่วยกันจัดตั้งช่อฟ้าบนยอดอย่างสวยงาม


หลังจากนั้น.. ร่วมแห่กฐินรอบโบสถ์ ๓ รอบและขึ้นมากล่าวคำถวายผ้ากฐิน ฟังพระเทศน์ รับพรเสร็จสรรพ.. ความสุขก่อเกิด หลายคนพูดถึงความตื้นตันเกิดปิติที่ได้มาร่วมทำบุญ บางคนบอกขนลุก รู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย น้ำตาซึม ยินดีปรีดาที่วัดเล็กๆจะเริ่มต้นพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากร้อย-เป็นพัน-เป็นหมื่น-เป็นแสนจากผู้คนนับพันคน รอยยิ้มที่มอบให้กันและกัน เป็นความสุขเล็กๆที่ได้จากแบ่งปัน บริจาคเป็นทานบริสุทธิ์

ถ้าพูดถึงยอดรวมที่ได้ในวันนั้นเพียงแค่ครึ่งล้าน แต่สิ่งที่ได้รับยืนยันเลยว่าไม่สามารถหาได้จากที่ไหนๆ เพียงแค่มีความตั้งใจที่จะทำบุญ.. มอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ตนมี.. มอบแค่พระภิกษุสงฆ์ที่ตนเองเคารพบูชา

การทอดกฐิน คือการนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป (เจ้าอาวาสวัดได้นิมนต์พระมาจากวัดใกล้เคียงจำนวน ๑๑ รูปรวมเป็น ๑๓ รูป) แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น


เราร่วมกันทำหนึ่งในสิบโรงทาน ขนมจีนน้ำยาหมู-ปลา-น้ำพริก, ข้าว+ไข่พะโล้, ผัดหมี่, ส้มตำหลากหลายชนิด, ก๋วยเตี๋ยว, ลูกชิ้นทอด+น้ำจิ้มซาดิส, บัวลอยไข่หวาน, ขนมใส่ไส้, น้ำกระเจี๊ยบ, ไอศครีม, น้ำเปล่าขวดเล็ก (เล่าไม่หมดค่ะ) อิ่มบุญ อิ่มท้องกันถ้วนหน้าค่ะ

เสร็จงานต่างช่วยกันเก็บของให้คงสภาพเดิม จากวัดที่ครึกครื้นกลับสู่ปัจจุบันที่เงียบสงบ ลมพัดเย็บสบาย กลายเป็นวัดป่าที่คุ้มชินสายตาของพวกเราพุทธศาสนิกชนชาวไทย



ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจบุญบารมีของทุกท่าน

ที่มีส่วนในการสร้างมหากุศลในครั้งนี้

จงอภิบาลปกป้องคุ้มภัย ให้ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย อันตรายทั้งปวง

เจริญด้วยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ

หมายเลขบันทึก: 508540เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าภูมิใจ นะคะ ... คนไทย ....ยังคง...รักษาประเพณีไทยดีดี ... ต่อพุทธศาสนา นะคะ

 

ขอบคุณ บทความดีดีนี้ค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ P'Ple ไม่เคยลืมที่จะแวะเวียนมาทักทายกัน..

บุญจากการทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ ที่ทำยากกว่าบุญอื่นด้วยเหตหลายประการคือ

จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน ๑ เดือนนักจากวันออกพรรษา

จำกัดชนิดทาน คือต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้

จำกัดคราว คือแต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

จำกัดงาน คือเมื่อภิกษุรับกฐินแล้ว จะต้องกราบกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น

จำกัดผู้รับ คือพระภิกษารับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้งครบไตรมาส (๓ เดือน) จะต้องมีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป

จำกัดของถวาย คือไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฎิ ไทยธรรมจัดเป็นบริวารกฐิน

ขอร่วมอนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

ยินดีค่ะคุณอักขณิช

กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน ไม่จำเป็นว่าใครบริจาคมากน้อย แต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้ง บริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้ ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท