เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : 2. Universities Australia


นี่คือวิธีการรวมตัวกันของ university sector ของออสเตรเลีย เพื่อการดำรงอยู่ทั้งในออสเตรเลีย และในโลก เขาบอกว่า Universities Australia เป็น champion of change

เราไปถึง นครแคนเบอร์รา ตอนบ่ายวันที่ ๓ ก.ย. ๕๕  หลังรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านจีนก็ตรงไปเยี่ยมเรียนรู้กิจการของหน่วยงานพิเศษ ชื่อ Universities Australia ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อเป็นองค์กรกลาง หรือองค์กรสูงสุด (เขาใช้คำว่า peak body) ของ university sector ของออสเตรเลีย  เทียบกับของไทยคือ ทปอ.  แต่ของเขาตั้งเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย  มหาวิทยาลัยของรัฐ ๓๗ แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ค้ากำไร ๒ แห่ง เป็นสมาชิก จ่ายค่าสมาชิกประจำปี  กิจกรรมของเขากว้างขวางและเป็นวิชาการกว่า ทปอ. ของเรามาก  อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของเขาเอาเองนะครับ 

ผมกลับมาบ้าน และไตร่ตรองอีกที คิดว่า Universities Australia คล้ายๆ เป็นลูกครึ่ง ระหว่าง ทปอ. กับ สกอ.

ผมเข้าใจว่า นี่คือวิธีการรวมตัวกันของ university sector ของออสเตรเลีย เพื่อการดำรงอยู่ทั้งในออสเตรเลีย และในโลก  เขาบอกว่า Universities Australia เป็น champion of change  ซึ่งเมื่อมีวิสัยทัศน์เช่นนั้น ก็ต้องตีความออกมาว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

ผมสังเกตว่าเขาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์หาความหมายของข้อมูลเกี่ยวกับอุดมศึกษา  เขาแจกเอกสาร University Links with Thailand, May 2012  ซึ่งบอกว่ามีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับออสเตรเลีย 161 MOU  และที่ยังมีกิจกรรมมี 133 MOU  ในจำนวน 161 MOU  มี 55 เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา  92 เพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์  142 เพื่อความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย  และ 15 เพื่อไปศึกษาต่างประเทศ  จากการค้นหาเอกสารนี้ใน อินเทอร์เน็ต (ซึ่งไม่พบ) ทำให้ผมพบข้อมูลเกี่ยวกับทุนศึกษาต่อในออสเตรเลีย ที่นี่  และพบ Study Overseas แนะนำคนออสเตรเลียเรื่องการไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยส่วนคำแนะนำไปศึกษาต่อในประเทศไทยอยู่ที่นี่ จะเห็นว่าทางการออสเตรเลียมีข้อมูลดีมากให้บริการแก่ประชาชน

ข้อมูลสถาบันอุดมศึกษา แสดงในสไลด์นี้

ออสเตรเลียมีประชากร ๒๒ ล้านคน  มีคนอยู่ในระบบอุดมศึกษา ๓ ล้าน  แบ่งเป็นในมหาวิทยาลัย ๑ ล้าน (๑ ใน ๔ มาจากต่างประเทศ)  และอีก ๒ ล้านอยู่ใน VET (Vocational Education)  เขาบอกว่ามีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยกับ VET จะเข้ามาชิดกันหรือเป็นเนื้อเดียวกัน

จะเห็นว่าเขามีมหาวิทยาลัยต่างประเทศมาประกอบกิจการที่ออสเตรเลีย  และมหาวิทยาลัยออสเตรเลียก็ไปเปิด แคมปัสในต่างประเทศด้วย  เขาบอกว่า สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ที่เป็นของเอกชน มีการเปิดมากมาย เชาใช้คำว่า เปิดเพิ่มทุกสัปดาห์ 

คำที่เขาย้ำคือมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ self-accrediting  คือรับรองคุณภาพของตนเอง  แต่เมื่อมี TEQSA เกิดขึ้นตามกฎหมาย  สภาพ self-accrediting ของมหาวิทยาลัยก็ถูกสั่นคลอน

ranking ของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ดูได้ที่นี่

ในการนำเสนอและพูดคุยกันที่ Universities Australia วันนี้ Professor Leo Goeegbuure ผู้อำนวยการของ LH Martin Institute ซึ่งอยู่ที่ U of Melbourne มาร่วมพูดคุยด้วย  ทำให้เราได้รู้จักสถาบันนี้  ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการและการกำกับดูแลอุดมศึกษา คล้ายกันกับสถาบันคลังสมองของชาติ  แต่ LHMI เป็นสถาบันที่จัดการศึกษา คือให้ปริญญาด้วย   ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นมี Graduate School of Education ด้วย 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๑๓ ก.ย. ๕๕ 

หมายเลขบันทึก: 508223เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท