LO Mindset กับวิธีเตรียมเอกสารเสนอสภามหาวิทยาลัย


LO Mindset เป็นวิธีคิดแบบหาลู่ทางพัฒนาตัวเอง หาทางเรียนรู้ หาทางปิดจุดอ่อน หาทางทำความเข้าใจคู่แข่ง หาทางทำความเข้าใจฉากอนาคต

LO Mindset กับวิธีเตรียมเอกสารเสนอสภามหาวิทยาลัย


 
          ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้จากการอ่านแฟ้มเอกสารการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๓๙๒     วาระแจ้งเพื่อทราบที่ ๒.๖  ระบุว่า ม. มหิดลได้รับรางวัล PM Award 2006 ประเภทธุรกิจบริการกลุ่มการศึกษานานาชาติที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมากที่สุด

          อ่านเอกสารนี้ด้วยความชื่นใจ     แล้วข้อสงสัยก็ตามมาว่า     นี่เป็นครั้งแรกที่มีการให้รางวัลนี้หรือ     เอแบคซึ่งเล่าลือกัยว่ามี นศ. ต่างชาติมาก โดยเฉพาะ นศ. ระดับ ป. ตรี เคยได้รับรางวัลนี้ไหม     มีมหาวิทยาลัยอะไรอีกบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น Top Ten ในด้าน ธุรกิจบริการกลุ่มการศึกษานานาชาติที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมากที่สุด    มีประเด็นเชิงยุทธศาสตร์อะไรบ้าง ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำรงความเป็นผู้นำด้านนี้ของประเทศไทยในอนาคต

         นึกขึ้นได้ทันทีว่า คนเรามักมี mindset ในการเตรียมเอกสารนำเสนอในที่ประชุม     ที่เป็น mindset แบบอวดความสำเร็จ    ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร  มีดีย่อมสมควรอวด     แต่มี mindset อีกแบบหนึ่งที่มีคุณในระยะยาวมากกว่า      ผมเรียกว่า LO Mindset

        LO Mindset เป็นวิธีคิดแบบหาลู่ทางพัฒนาตัวเอง  หาทางเรียนรู้  หาทางปิดจุดอ่อน  หาทางทำความเข้าใจคู่แข่ง  หาทางทำความเข้าใจฉากอนาคต     นี่ผมคิดเอาเองนะครับ ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด

        โดยยึด LO Mindset ผู้เตรียมเอกสาร วาระที่ ๒.๖ นี้จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมตามข้อสงสัยของผม     และตามวิธีคิดแบบหาลู่ทางในย่อหน้าบน 

         เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเอกสารการประชุมที่ทำงานภายใต้ mindset นี้ ก็จะเหนื่อยหน่อย     เพราะต้องค้นคว้ามาก    แต่อานิสงส์จะสูงมาก     จะมีความรู้ความเข้าใจกว้างขวาง    รู้วิธีค้นหาสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับ LO     รู้จักคิดตั้งคำถาม  ว่ากรรมการสภาเขาจะถามหาสารสนเทศอะไรเพิ่มเติม ถ้าเราหามาไม่ใส่ไว้     รู้จักคิดเชื่อมโยงออกไปจากเรื่องแคบๆ เล็กๆ  สู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเจริญให้แก่มหาวิทยาลัย      ตรงไหนที่สงสัยก็ไต่ถามหัวหน้า หรือผู้รู้    

        เอกสารการประชุมจะแสดงบุคลิกของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ    กรรมการสภาและผู้เกี่ยวข้องจะชื่นชมในตัวเอกสาร    และจะชื่นชมตัวเจ้าของผลงาน

       แต่ที่สำคัญคือตัวผู้ปฏิบัติงานนั้นเอง จะเป็นผู้เรียนรู้จากการทำงานอยู่ตลอดเวลา      คือเป็น Learning Person นั่นเอง      และถ้ามีวิธีทำงานเป็นทีม ลปรร. ร่วมกันในทีม  ว่าจะหาเอกสารมาตอบคำถามอะไรบ้างเพิ่มเติม     เอกสารอะไรที่จำเป็น เอกสารอะไร ที่ไม่จำเป็น     จะช่วยกันสรุปให้ได้เอกสารที่กระชับ ไม่ยาวเยิ่นเย้อ ได้อย่างไร     ช่วยกันคิดช่วยกันทำไประยะหนึ่ง จะเกิดทักษะหรือความชำนาญที่มีคุณค่าสูงมากต่อตัวเอง  ต่อทีมงาน  และต่อหน่วยงาน     สภาพเช่นนี้เราเรียกว่า Team Learning ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๕ องค์ประกอบหลักของ LO

       LO Mindset อยู่ในทุกอณูของการทำงาน     และถ้าทำงานแบบใช้ LO Mindset เป็นตัวนำพฤติกรรม     ผู้ปฏิบัติงานจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองเป็น Learning Person    และถ้ามีวิธีปฏิบัติภายใต้ mindset นี้เป็นทีม    ก็จะเกิด Team Learning     เมื่อประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ องค์กรก็จะค่อยๆ เคลื่อนสู่สภาพ "องค์กรเรียนรู้"

วิจารณ์ พานิช
๑๙ กย. ๔๙
ในห้องรอขึ้นเครื่องบิน ดอนเมือง

หมายเลขบันทึก: 50811เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท