โลกทัศน์ และ ระบบความคิด


โลกทัศน์ และ ระบบความคิด ของมนุษย์

การมองโลกมองชีวิต หรือโลกทัศน์ของมนุษย์เกิดจากอะไร ??
การมองโลกมองชีวิต เกิดจากการเรียนรู้ของสมองผ่านประสบการณ์ในชีวิต
ดังนั้นทุกคนจึงมีระบบความคิด  การที่เรียกระบบความคิดก็เพราะว่า
มันคือ ความคิดที่เป็นระบบ และมีความสลับซับซ้อนในด้านที่ตนเองสนใจ
ระบบความคิดจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ตามที่เรามองโลก
และมองชีวิตอย่างไร

วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต เป็นตัวกำหนดโลกทัศน์ชีวทัศน์
ในระบบวัฒนธรรม  มีระบบความสัมพันธ์สามอย่าง
ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  และความสัมพันธ์ระหว่าง
มนุษย์กับมนุษย์  หรือความสัมพันธ์ทางสังคม
เรียกง่าย ๆ ว่า สภาพแวดล้อมที่เรียนรู้อย่างไร ก็จะมีระบบความคิด
มีจิตสำนึกอย่างนั้น 

ระบบความคิดชุดที่หนึ่ง  คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ก็คือความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หรือ กรรม  เทวดา พระพรหม  ภูติ ผี ปีศาส  หรือ คนศักดิ์สิทธิ์ อันสะท้อนถึงนัยสิ่งที่มีอำนาจ
เหนือกว่ามนุษย์  ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้อยู่สองด้าน
คือพยายามปรับตัวต่ออำนาจ และพยายามที่จะต่อต้านหรืออยู่เหนืออำนาจเหล่านั้น
จิตสำนึกอยุ่สองประการต่อระบบความคิดชุดนี้  คือจิตสำนึกยอมจำนนต่ออำนาจ
ลี้ลับ ด้วยการควบคุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยการติดสินบน โดยการเซ่นสรวงบูชา 
และมีคนบางกลุ่มได้พยายามอยู่เหนืออำนาจการควบคุมจนสามารถควบคุม
สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ได้แก่ คนศักดิ์สิทธิ์ คนบุญ หมอผี  คนกลางที่สื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ตลอดจนเงินที่จ้างผีโม่แป้งได้  หรือทุนที่จ้างคนศักดิ์สิทธิ์ หมอผี ให้ทำงานได้
ระบบนี้เป็นความเชื่อโดยตรง ความเชื่อก็คือความมั่นใจในสิ่งเหนือธรรมชาติว่ามีจริง
ความรู้สึกกลัวต่อ ผี  ต่อ อำนาจเหนือธรรมชาติ  เกิดจากการเรียนรู้ที่เกิดจากการกลัวภัย
ความไม่มั่นคง ความไม่ปลอดภัย  สิ่งเหล่านี้ผลิตขึ้น และผลิตซ้ำโดยสถาบันครอบครัว
สื่อมวลชน  เรื่องเล่า (myth) แบบมีโครงสร้างความสัมพันธ์ต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ
 ก่อรูปการจิตสำนึก ให้ยอมจำนน หรือ พยายามใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าว
ดังนั้น โทรทัศน์จึงผลิตซ้ำ ระบบความคิดนี้อยู่ตลอดเวลา เช่น หนังบ้านผีปอป นางนาค
หรือไม่ก็ภาพยนตร์สากลต่าง ๆ ก็ล้วนแต่มีวัฒนธรรมสิ่งเหนือธรรมชาติ เหล่านี้ และ
รายการโทรทัศน์ขนหัวลุก นี้แหละ ที่ผลิตซ้ำความคิดเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมของเรา
ถ้าเป็นปรัชญาก็จะถามคำถามนี้เชิงอภิปรัชญาว่า สิ่งที่มีอำนาจนอกเหนือจากประสาทสัมผัส
มีหรือไม่  ถ้ามีแล้วมีตำแหน่งแห่งที่ในจักรวาลวิทยาอย่างไร

ระบบความคิดชุดที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ก็คือ การมองโลกที่เป็น
ธรรมชาติอย่างไร ? มีการจัดการทรัพยากรอย่างไร ??  ผลแห่งการจัดการทรัพยากรได้เอง
นั้นเรียกว่าภูมิปัญญา  ทรัพยากรต่าง ๆ ที่นำมาจัดการขั้นพื้นฐานได้แก่ ปัจจัยสี่ อาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  การผลิตของมนุษย์แบ่งได้เป็นสองอย่าง คือ ผลิต
แบบพอเพียงแบบพื้นบ้าน และการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้แรงงาน  ใช้เครื่องจักร
ในการผลิต  การขนส่ง โลจิสติกส์  การกระตุ้นการบริโภค นั่นคือแนวทางการจัดการทรัพยากร
แต่เดิมเรามองว่า เราอยู่พึ่งพาอาศัยระหว่างมนุษย์  กับธรรมชาติ  มีการผลิตเพื่อยังชีพ มีการ
ศึกษาระบบธรรมชาติและนำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์แต่พอดี  และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง
เมื่อมีวิทยาศาสตร์เข้ามา  มีการจัดการทรัพยากรเพื่อการค้า มีการทำลายธรรมชาติเพื่อแสวงหา
กำไร คุณค่าของทรัพยากรเป็นมูลค่า  แม้มนุษย์ในสายพานการผลิต เขาก็เรียกชื่อซะหรูว่า
เป็น การบริหารทรัพยากรมนุษย์  การผลิตซ้ำวิถีชีวิตแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำลาย
ทรัพยากร  ได้แก่การนำเสนอชีวิตที่หรูหรา และนักบริโภคอย่างไม่ยั้ง  ผ่านละคร ที่ผู้คนในละคร
ต่างก็ไม่ค่อยทำงาน  แต่มีเงินใช้ บริโภคสิ่งของหรู ๆ  การโฆษณาสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ
ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เงินซื้อ  คนในวงการศึกษามุ่งแต่แต่งตัวแบบตะวันกตก
ใช้แบรนด์เนม  เหน็บปากกาแพง ๆ  หรูหรา  บริโภคอย่างไม่ยั้ง  มีวิถีแห่งการบริโภคทั้งสินค้า
 และ ภาพลักษณ์  ยารักษาโรคที่แต่เดิมนั้นพึ่งพาจากธรรมชาติ ก็กลายเป็นสินค้าราคาแพง
ไว้ให้พ่อค้าบรรษัทข้ามชาติทำกำไร  รูปการจิตสำนึกต่อธรรมชาติจึงมีอยู่สองอย่างแบบแรก
คือ ยอมอ่อนน้อมต่อธรรมชาติใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น  และแบบหลังคือ ขูดรีดเอาทรัพยากร
มาเป็นสินค้าแสวงหากำไร

ระบบความคิดชุดที่สาม คือ ความสัมพันธ์ทางสังคม ก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างของ
สังคม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในโครงสร้าง ที่ให้ค่าความสูงต่ำตามโครงสร้างหน้าที่ของสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง  ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ  การยอมรับ
ระบบโครงสร้างต่ำสูงที่ไม่เท่ากัน ก็ผลิตซ้ำผ่าน ละคร  สื่อสารมวลชน เรื่องเล่า แต่เดิมระบบ
ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นเป็นแบบไม่เป็นทางการ  แต่พอเปลี่ยนมาเป็นระบบทุนนิยม
ก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแบบทางการ  ใช้เงินเป็นมาตรฐานในการวัดชนชั้น
ทางเศรษฐกิจ  ชนชั้นสูงคือนายทุน และกลุ่มที่เคยมีฐานะทางเศรษฐกิจดั้งเดิม  ชนชั้นกลาง
คือ ผู้ที่เป็นมือเป็นเท้าให้กับชนชั้นแรก  เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการผลิต
ภาครัฐและเอกชนได้แก่ข้าราชการ  เทคโนแครต  นักวิชาการ  และชนชั้นล่าง ที่เป็นกลไก
การผลิตขั้นพื้นฐานเช่นผลิตสินค้าเกษตร เพื่อป้อนสองชนชั้นแรก และเป็นแรงงานในระบบ
อุตสาหกรรม  การผลิตซ้ำตำแหน่งแห่งที่  นั้นปรากฏทั้งในการเลี้ยงดูในสถาบันครอบครัว
เรื่องเล่า นิทาน การปฏิบัติตนของครอบครัว  ผลิตซ้ำผ่านสื่อสารมวลชน ผ่านละครซึ่ง
มีตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างการเล่าเรื่อง  ผลิตซ้ำผ่านสถาบันการศึกษา ได้แก่ การแบ่งแยก
คนจากเกรดและคะแนนเพื่อแยกเป็นแรงงานชนชั้นกลาง หรือแรงงานไม่มีฝีมือ
ความสัมพันธ์ในระบบโรงเรียน ซึ่งผู้เรียนมีฐานะและตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในโครงสร้างนั้น
การเกิดประชาธิปไตยในวิถีชีวิต เป็นอย่างนี้   หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ก็เป็นเพียง
การควบคุมพฤติกรรมชั่วคราวของผู้เรียน 

จริง ๆ ในระบบวัฒนธรรมทั้งสามระบบนี้ไม่ได้แยกกัน แต่บูรณาการรวมกัน  และระบบความคิด
ปัจจุบันนี้ สิ่งเหนือธรรมชาติเพียงสิ่งเดียวที่ทุกคนต้องการคือเงิน  เงินจ้างผีโม่แป้งได้  และ
ธรรมชาติเป็นสินค้า  และความสัมพันธ์ทางสังคมที่สร้างสถาปนาให้เป็นนักบริโภคที่ดี
ดังนั้นวิถีชีวิตของคนกระแสหลัก จึงเป็นแบบก้าวหน้าและสะสมเงินให้มั่งคั่งไว้บริโภค
และรักษาตนเองจากโรคที่รุมเร้าเรื้อรัง อันมีผลผลิตมาจากงานแบบก้าวหน้า ไม่ว่าจะชนชั้น
ไหนถ้ามีวิถีชีวิตแบบชาวทุนนิยม  ก็จะมีลักษณะร่วมแบบนี้  คนกลุ่มนี้มักจะนับถือศาสนา
หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลเงินทองทรัพย์สิน  เนื่องจากการลงทุนมักประสบความเสี่ยง
เกิดความกลัวอยู่เสมอ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปลอบประโลมใจให้สู้ต่อไปย่อมเป็นที่นิยม
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีวิถีชีวิตอีกประการหนึ่ง ที่ไม่ต้องการทรัพยากรอะไรมากนัก  ชอบอยู่
อย่างสงบ เรียบง่าย รักการอ่านหนังสือ  ชอบถกเถียงแลกเปลี่ยนเป็นสาระของชีวิต
หรือไม่ก็ ผลิตงานทางสุนทรียะ ดนตรี ศิลปะ ไม่ค่อยสนใจใคร เป็นตัวของตัวเอง ที่เขามีชีวิตอยู่
แบบนั้นคือ เขาตอบคำถามในเรื่องของความสัมพันธ์ทั้งสาม คือ ศาสนาคือความสงบสุข ไม่ใช่
การบริโภค เขาบริโภคแต่พอดี  และอยู่ในเครือข่ายทางเลือกของคนกลุ่มเล็ก ๆ  นอกจากนั้น
แล้ววิถีชีวิตยังมีอีกหลากหลาย  เพราะระบบความคิดนั้นสามารถเปลี่ยนแปรไปได้หลายมิติ
แต่รูปแบบของคนปัจจุบัน มีแบบหลักอยู่สองรูปแบบนี้ 

แล้วคุณละมีโลกทัศน์ ชีวทัศน์ และ ระบบความคิด เป็นแบบไหน ???

หมายเลขบันทึก: 507303เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชีวิต คือ การเรียนรู้นะคะ ..... เรียนรู้คู่ ..... กับการทบทวน .... ข้อดี ข้อเสีย สิ่งที่ต้องแก้ไข สิ่งที่ดีและต้องคงไว้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

มองเห็นโลก และชีวิต ที่มีความสัมพันธ์ สมดุลย์ ในสิ่งที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต เป็นการบูรณาการงานกับชีวิต คือโลกทัศน์และชีวทัศน์ครับท่าน

ขอบคุณ ดร วอญ่า ผู้เฒ่า และ ผอ ชยันต์ครับ

ขอบคุณค่ะ สำหรับบันทึกดีๆและทรงคุณค่าบันทึกนี้.

โลกทัศนของชาวสกนคร คือ จะอธิบายยังไงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท