ก่อนอื่น ขอเรียนกัลยาณมิตรที่กรุณาเข้ามาอ่าน ว่า บันทึกเรื่อง "โบนัสหลังเกษียณ : เยือนสามชาติในยุโรป" จะแบ่งเป็น 4 ตอน ตามลำดับการเดินทาง ได้แก่ ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-ไคโร ตอนที่ 2 ท่องเที่ยวอิตาลี ตอนที่ 3 ท่องเที่ยวสวิทเซอร์แลนด์ และ ตอนที่ 4 ท่องเที่ยวฝรั่งเศส อนึ่ง เพื่อให้กัลยาณมิตรได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ผู้เขียนจึงได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศและสถานที่ที่ได้ไปเยือน และนำเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศและสถานที่นั้นๆ มากล่าวแทรกไว้ในบันทึกด้วย รวมทั้งได้เสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ของผู้เขียนเองและท่านผู้อ่าน โดยจะสรุปคำอธิบายบางตอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาท่องเที่ยวผ่าน Blog ขอรับรองว่าท่านจะไม่ถูกหลอกเหมือนที่กำลังเป็นข่าวอยู่ ณ ขณะนี้
วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555 ผู้เขียนบินจากสนามบินอุบลฯ ถึงสนามบินดอนเมืองประมาณ 12.30 น. ก่อนหน้านั้น สายการบินทั้งหมดได้ย้ายไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ในปี 2554 มีผู้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิถึง 47,910,744 คน และในเดือนมกราคมปี 2555 มีผู้ใช้บริการถึง 4,995,094 คน เกินขีดความสามารถของสนามบินที่รองรับได้ปีละ 45 ล้านคน สายการบินที่ให้บริการในประเทศ จึงตัดสินใจย้ายกลับไปให้บริการที่ดอนเมืองตามเดิม (วิกิพีเดีย. ออนไลน์ : 2555) ก่อนถึงที่พักลูกชายซึ่งอยู่ที่บางพลี (อำเภอที่ตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ) ผู้เขียนได้แวะตลาดนัดใกล้ที่พักลูก เพื่อซื้อกับข้าวให้ลูก ในส่วนของตัวเองได้ซื้อซุบขนุน น้ำพริก ผักและเห็ดต่างๆ เพื่อนำไปลวกจิ้มน้ำพริก และซื้อส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ไว้รับประทานเป็นอาหารกลางวันและอาหารเย็นเป็นการชดเชยล่วงหน้า เพราะคาดว่า ในช่วงที่ทัวร์ยุโรปน่าจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารในแบบที่ชอบ ในตอนเย็น ลูกชายได้มอบนาฬิกาให้ผู้เขียนเป็นของขวัญ ผู้เขียนมีความสุขมาก เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการได้รับนาฬิกาโดยตรง แต่เป็นเพราะเห็นความใส่ใจที่ลูกมีให้แม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้อ่านข้อความที่ลูกเขียน
วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2555 ตามแผนเดิมที่วางไว้นั้น ผู้เขียนจะให้ลูกชายพาไปซื้อของใช้ที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการเดินทาง เพราะที่อุบลฯ ไม่มีเวลาเลย จากนั้นก็จะรับประทานอาหารเย็นกับลูกๆ แล้วให้ลูกไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ลูกชายติดนัดแข่งฟุตบอลเวลา 17.00 น. ผู้เขียนจึงไม่ได้ออกไปซื้อของ และได้ให้ลูกชายจัดการซื้อกล้องถ่ายรูปให้ก่อนออกไปเตะฟุตบอล เพราะกล้องถ่ายรูปที่มีอยู่ใช้งานหนักในการเรียนการสอน การนิเทศ การอบรม ทั้งถ่ายภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว จนเสียใช้การไม่ได้ (ซ่อมหลายครั้งแล้ว) ลูกชายกลับไปรับผู้เขียนที่ห้องพัก เวลาประมาณ 2 ทุ่ม จากที่บอกไว้ว่าจะไปรับ 1 ทุ่ม ทำให้ไม่มีเวลารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน จึงให้ลูกไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตามที่บริษัททัวร์นัดลูกทัวร์ (คณาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ และผู้ติดตามรวม 50 คน) ณ อาคารผู้โดยสารขาออกชั้น 4 ประตูหมายเลข 7 เคาน์เตอร์ Q เวลา 22.00 น. (บริษัททัวร์คิดค่าบริการหัวละ 68,900 บาท...ขอบคุณคณะครุศาสตร์ที่ช่วยอนุเคราะห์ค่าจ่ายให้ส่วนหนึ่ง)
ในครั้งแรกที่เห็นชื่อภาษาอังกฤษของสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้เขียนสงสัยว่า ทำไมจึงไม่เขียนตามหลักการเขียนชื่อเฉพาะต่างๆ จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งกำหนดให้เขียนตามการออกเสียงไม่ใช่เขียนแบบถ่ายตัวอักษรตัวต่อตัว จากการสืบค้นได้ข้อมูลว่า "ชื่อสากลของสนามบินเขียนสะกดตามการถ่ายตัวสะกดภาษาอังกฤษ ว่า "Suvarnabhumi" ซึ่งใช้แทนการเขียนทับศัพท์ตามระบบราชบัณฑิตยสถานซึ่งสะกดว่า "Suwannaphum" (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4) (การเขียนตามที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดนั้น เป็นการเขียนตามการออกเสียงซึ่งถูกต้องตามหลักการเขียน) อนึ่ง ตัวอักษร "ว" ในภาษาไทย อาจารย์ที่สอนเคยบอกว่า ต้องใช้ "W" ในภาษาอังกฤษ เพราะ เสียง "V" ซึ่งจะต้องใช้ฟันบนกัดริมฝีปากล่างเวลาออกเสียง เป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิใช้ "V" แทนพยัญชนะ "ว" ก็เลยทำให้รู้สึกขัดๆ พิกล
หลังจากรับซองเอกสารจากหัวหน้าทัวร์ ซึ่งข้างในมีเอกสารสำคัญได้แก่ พาสปอร์ต (Passport) บัตรขาเข้า/ขาออก (ใช้ในการตรวจคนออกจากเมือง/เข้าเมือง) และ Boarding Pass ที่ใช้แสดงเวลาขึ้นเครื่อง ผู้เขียนได้ไปแลกเงินยูโร (EURO) ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) ณ วันเวลาที่แลก ยูโรละ 40 .29 บาท ผู้เขียนใช้เงิน 30,016 บาทไทย แลกได้ 745 ยูโร (ได้รับเป็นแบงค์ราคา 50, 20, 10, และ 5 ยูโร ส่วนเหรียญที่เห็นในภาพ เป็นเหรียญที่ได้รับทอนจากร้านขายของที่ระลึก ที่สนามบินนานาชาติไคโร) หลังจากนั้นก็เข้าสู่พิธีการ ตม. ตรวจคนออกจากเมือง แล้วเดินตามลูกศรเพื่อไปรอขึ้นเครื่องที่ G7
จากการสืบค้นข้อมูล (http://en.wikipedia.org/wiki/Cairo_International_Airport) พอจะสรุปได้ว่า สนามบินนานาชาติไคโร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงไคโร ห่างจากย่านธุรกิจประมาณ 15 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร มีความคับคั่งที่สุดในอียิปต์ และคับคั่งเป็นอันดับสองของทวีปอาฟริกา รองจากสนามบินในกรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศอาฟริกาใต้ เป็นสนามบินที่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางหลักเพราะตั้งอยู่ระหว่าง ทวีปอาฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป (Cairo International Airport is the busiest airport in Egypt. The airport is located to the north-east of the city around 15 kilometres from the business area of the city, it has an area of approximately 37 kilometers square. Cairo International is the second busiest airport in Africa after OR Tambo International Airport in Johannesburg, South Africa. The airport has the potential to be a major hub with its positioning between Africa, the Middle East and Europe.)
(ขอบคุณบางภาพที่ได้จากการสืบค้นใน Internet)
ในช่วงเวลาที่รอเปลี่ยนเครื่อง เพื่อเดินทางจากไคโรไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี ผู้เขียนได้หาซื้อของที่ระลึก (Souvenirs) จากร้าน Gift Shop และได้ Magnet ติดตู้เย็น (เป็นหนึ่งในของสะสมจากประเทศต่างๆ ของผู้เขียน) ไป 1 ชิ้น และภาพวาดที่ผู้เขียนชอบมากๆ 1 แผ่น ราคาไม่แพงเลยคือ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 260 บาท (จะนำกลับไปใส่กรอบที่เมืองไทย) ผู้เขียนตื่นเต้นมากเมื่อรู้ภายหลังว่า ภาพที่ซื้อมาวาดบนกระดาษปาปิรุส ซึ่งมีประวัติว่าเป็นกระดาษที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์เคยใช้) สำหรับหนุ่มๆ ทั้ง 4 คนที่เห็นในร้าน Gift Shop เป็นผู้ร่วมใน Group Tour ของผู้เขียน แต่ทุกคนได้แต่ถ่ายภาพและหยิบๆ จับๆ แต่ไม่มีใครซื้ออะไรติดไม้ติดมือมา สินค้าประเภทของที่ระลึกอาจไม่จูงใจผู้ชายให้ยอมควักเงินก็เป็นได้
สินค้าที่แพงเกินเหตุในไคโร น่าจะเป็นน้ำดื่มเกลือแร่ (ที่ไคโรติดราคาสินค้าเป็นดอลลาร์สหรัฐ แต่ให้ลูกค้าจ่ายเป็นเงินยูโรได้ ) ผู้เขียนหยิบน้ำดื่มเกลือแร่ 2 ขวด (ตั้งใจจะซื้อเผื่อน้องที่เดินด้วยกัน 1 ขวด) ไปถามคนขายว่า ถ้าจะจ่ายเป็น EURO จะคิดเท่าไหร่ คนขายพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ฟังเข้าใจเขาตอบโดยเขียนเลข 7 ในกระดาษ (7 ยูโรคิดเป็นเงินไทยประมาณ 280 บาท) ผู้เขียนเลยไม่ซื้อเพราะแพงเกินไป แต่น้องเดินกลับไปซื้อมา 1 ขวด พอถามถึงเงินที่จ่ายไป เธอบอกว่าประมาณ 200 บาทไทย ผู้เขียนตกใจ บ่นว่า "อ้าว! ทำไมล่ะ เขาบอกราคา 2 ขวด 7 ยูโร ขวดเดียวก็ต้อง 3.5 ยูโร ประมาณ 140 บาทไทยสิคะ" (ผู้เขียนแลกเงินมาในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรต่อ 40.29 บาทไทย) น้องบอกว่าไม่เป็นไร แต่หลังจากนั้นก็เห็นบ่นหลายครั้ง เรื่องจ่ายค่าน้ำแพง
ตามมาส่งอาจารย์ น้องไปทัวร์ คาดว่าที่เขียนบันทึกนี้ คงกลับจากทัวร์แล้ว
บันทึกอาจารย์ ชอบอ่าน ยามวิกาล เหมือนนั่งทานอาหารคนเดียว เคี้ยวเกินยี่สิบครั้งต่อคำ คือความหมาย
มีความสุขมากๆๆนะคะ ยินดีด้วยค่ะ เดินทางด้วยสวัสดิภาพ และมีเรื่องเล่าดีดี ภาพสวยๆมา ฝากพวกเราชาวบล็อก นะคะ
ดีใจกับอาจารย์แม่ที่มีลูกดีๆรัก พ่อ-แม่ ดูแลตัวเองและก็รักที่จะเล่นกีฬา.....อ่านบล็อกท่านแล้วก้มีจินตนาการเหมือนได้เดินทางไปด้วย...พนักงานมันทำไมไม่ขอโทษท่านละ กว่ากางเกงจะแห้งไม่แย่หรือ....ทุกสนามบินในโลกนี้คนขายของโกงทั้งนั้น 555......จะคิดตามต่อไปนะ......
เก็บหมวกหมายเลข ๑ ไว้ให้แล้วนะคะ "ป๋าเด"บอกแล้วว่าไม่ต้องจ่ายตังค์ เพราะอยากให้เป็นของฝาก ค่ะ ราคาหมวกนั้นก็สมเหตุสมผล ไม่แพงเกินคุณค่าเหมือนน้ำแร่กรุงไคโรหรอกค่ะ
สวัสดี อ.วิ -โอกาสหน้า อ.วิเดินทางไปต่างประเทศต้องพกน้ำเปล่า และ แจ่วบองไปด้วย 555 -ทำบุญก็ดีแล้ว...แต่ไม่น่าเคร่งจนเกินไป..น่าจะเดินสายกลาง เช่น ทำบุญในวันพระ หรือวันสำคัญ ๆ -ลูกชาย อ.วิ ดูท้วมไปหน่อย....ก็พอๆกับลูกชายป๋าเด...แต่ที่เหมือนกันคือชอบฟุตบอลเหมือนกัน...น่าจะแนะนำให้งดน้ำอัดลมนะ...ตูน ตอนเรียนอยู่ชัยภูมิเป็นนักกีฬาฟุตบอลเยาวชนของจังหวัด....พอมาสอนที่ ม.ราชภัฎเลย ก็เป็นโค้ชและครูผู้สอนวิชาฟุตบอล -ป๋าเดจะไปอุบลฯคงเป็นประมาณต้นเดือน
รออ่านเรื่องราวจากยุโรปอยู่ แต่ดูท่าทางจะยังอีกหลายวันนะครับ กว่าจะเดินทางไปถึง เพราะตอนนี้ป้าวิยังอยู่ที่อียิปต์อยู่เลย 555
* ตามมาอ่านบันทึกการเดินทางที่ละเอียดมีชีวิตชีวา.เหมือนได้ไปเอง..คงยังมีอีกหลายตอน..จะคอยติดตามต่อไปนะคะ
* หลังเกษียณ พี่ใหญ่เลิกเดินทางนอกประเทศแล้วค่ะ..เบื่อจัดกระเป๋าและเปลี่ยนที่ทาง..ติดบ้านมากๆชดเชยกับที่ทิ้งไปในช่วงทำงานแบบชีพจรลงเท้า..แต่ชอบอ่านเรื่องเล่าของคนเดินทางมากกว่า..
ที่ป้าวิได้ถามถึงการเดินทางไปศรีสะเกษของ "คุณอักขณิช" ก็ได้คำตอบแล้วเนาะ ตามที่คุณอักขณิชได้เขียนไว้ในอนุทินความว่า "จากเดิมที่ผมจะต้องเดินทางไปศรีสะเกษ ในเช้าวันพรุ่งนี้ (23-27ต.ค.2555) เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา หัวหน้าโทรมาบอกว่า หัวหน้าจะเดินทางไปเพียงคนเดียวก่อน ส่วนพวกผมยังไม่ต้องไป...เลยทำให้ผมต้องยกเลิกการเดินทางไปศรีสะเกษในวันพรุ่งนี้อย่างกระทันหัน
ใช่ค่ะ เรื่องราวจากยุโรป คงต้องรออ่านหลายวัน เพราะป้าวิมีปัญหากางเกงเปื้อนน้ำส้มคั้น ต้องอยู่ที่ไคโรต่อเพื่อซักรีดกางเกงให้เรียบร้อยก่อน...อิอิ...
ในช่วงที่รออ่าน ก็หวังว่าจะได้อ่านบันทึกดีๆ ของคุณอักขณิชสัก 2-3 เรื่อง นะคะ
ขอบคุณนะคะที่มาแวะแซวป้าวิ
ฝากความระลึกถึงน้องพิกุลและหลานทั้งสองด้วยนะคะ
สวัสดีงามๆ ค่ะ อาจารย์ ขอร่วมมุทิตาจิตให้ด้วยจิตคาระวะ และดีใจที่อาจารย์ไปเที่ยวหลายประเทศ มีลูกที่น่ารัก ช่างสุขใจไปด้วยจริงๆค่ะ มาขอบคุณที่ไปเยี่ยมบันทึกค่ะ และนมานำเสนอคำเมืองวันละคำนะค " สะป่๊ะ" หมายถึง มีมากหลายชนิด เลือกไม่ถูกว่าจะเอาอะไรดี หรือ ทานอะไรดีเพราะอร่อยไปหมด มีเยอะจนเลือกไม่ถูก แบบนี้แหละค่ะ แต่ถ้าอยากได้ยินสำเนียงมาแอ่วทางเหนือล้านนานะคะ อาจารย์ ...มีเวลาแล้วนิคะ.. ก"ำลังจะห่อขนมจ๊อกเจ้า"
ขอบคุณ สำหรับกำลังใจครับ.. และ ชอบ "โลก" ที่อาจารยเปิดให้เห็นจัง หน้าต่างนี้.. ทำให้เห็นกว้างกว่าเดิม มากครับ...
อ.วิเอง ก็ได้รับการขยายโลกทัศน์ทางการเมืองเป็นอย่างมากเลย จากการที่ได้อ่านบันทึกของคุณเติมฝันให้ฝน (นักวางแผนกลยุทธ์องค์กร กลุ่มพัฒนศาสตร์ ศิลป์ สื่อสาร) เรื่อง "กลยุทธ์สื่อสารในการเมือง ๑ และเรื่อง "ผู้ขับเคลื่อนสื่อสารการเมืองสำคัญ ซึ่งคุณเติมฝันให้ฝน ได้เขียนบทวิเคราะห์โดยนำภาพยนตร์ทีวีญี่ปุ่นเรื่อง "นายกมือใหม่ ขวัญใจประชาชน" ไปประกอบการวิเคราะห์ ได้อย่างน่าสนใจ (อ.วิเคยติดดตามดูและบันทึกตอนต้นๆ ของภาพยนตร์ทีวีเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสื่อการจัดการเรียนรู้วิชาจิตวิทยาสำหรับครู...นายกในเรื่องเคยเป็นครูมาก่อน...และบันทึกเพลงประกอบซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปเป็นสื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาในรายวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน
อ.วิได้แสดงความเห็นในทั้งสองบันทึก และในบันทึกเรื่องหลังส่วนหนึ่งของความเห็นมีว่า "อ.วิรู้สึกชื่่นชมคุณเติมฝันให้ฝน จริงๆ ค่ะ ที่มีความรู้ทั้งแนวกว้างและแนวลึกในเรื่องที่เขียน อีกทั้งยังมีความสามารถในการเขียนบทความในระดับดีเยี่ยม สามารถนำเสนอความรู้ความคิดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เป็นการเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีเยี่ยม อย่างเช่น ข้อความทิ้งท้ายในบันทึกนี้ที่ว่า...
"สื่อสารการเมือง ไม่ใช่เรื่องขึ้นเวที ร้องตะโกนตำหนิฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว ไม่ใช่เรืองประจานความล้มเหลวของอีกฝ่าย และโดยเฉพาะไม่ใช่เรืองข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ไม่เห็นด้วย... สื่อสารการเมืองเป็นเรื่องกลยุทธ์ที่ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่งั้น อีกไม่เกิน ๕ ปี อาเซียนก็คงมีประเทศไทย อยู่ลำดับท้ายสุด..."
อ.วิได้ Saved In บันทึกทั้งสองเรื่องไว้ใน Folder "เรื่องดีๆ ที่น่าอ่าน" และอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่านบันทึกที่ดีเยี่ยมสองเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกคนที่รักชาติ นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องในวงการการเมือง ครูอาจารย์ นักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้อง และลูกศิษย์ของอ.วิในภาคเรียนที่ผ่านมา จำนวนร้อยกว่าคน ซึ่งเป็นสมาชิก GotoKnow.org ซึ่งถ้าอ่านแล้วจะได้รับสิ่งดีๆ มากมายรวมทั้งตัวอย่างงานเขียนดีๆ เชิญคลิกเข้าไปอ่านได้ที่ Link ข้างล่าง นะคะ
"กลยุทธ์สื่อสารในการเมือง ๑ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494840)" และเรื่อง "ผู้ขับเคลื่อนสื่อสารการเมืองสำคัญ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494885)"
เรียน ผศ.วิไล ขอบคุณท่านที่ให้เกียรติป๋าเด ๒ พ.ย. เป็นวิทยากรที่ยโสธร ๓ พ.ย. นัดหมายประชุมคณะกรรมการประเมิน สมศ. ๔ พ.ย. จะเดินทางไปอุบลฯตอนเช้าครับ
หนูขอโทษคะอาจารย์ คือวันนี้หนูเรียนทั้งวันเลยคะ ไม่ทราบว่าหนูจะรับใบงานการพัฒนาตนได้เมื่อไรอีกคะ
ไม่เป็นไรคะอาจารย์ หนูจะพยายามติดตามอาจารย์อยู่เรื่อยๆคะ
อาจารย์แม่ไปเที่ยวไหนก็เล่าบรรยากาศได้เหมือนกะได้ไปด้วยเลย และได้นำเอาอะไรใหม่ๆที่ในประเทศเราไม่มีมาเล่าให้ฟังเสมอ (อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าประเทศเขาน่าไปเที่ยวศึกษามากๆ) โดยเฉพาะในอียิปต์
ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ เป็นการเขียนบันทึกที่น่าติดตามที่สุด
-สวัสดีครับ...
-แวะมาชวนไปนั่งรถหรู"โบนัสหลังเกษียณ"ครับ...55
-ขอบคุณครับ..
ไม่ได้มานานมาถึงคุณพี่ก็บินไปซะไกลแล้ว ตอนนี้น้องมัวยุ่งๆกับการหาครูที่จะสับเปลียนซึ่งก็หายากจั๊งไม่ค่อยมีใครอยากมาอยู่โรงเรียนเล็กจิ๋วครูน้อยแต่เรื่องมากและภาระงานเยอะ สงสัยต้องทนไปอีกเฮ้อ ดีใจด้วยนะคะคุณพี่ได้พักผ่อนได้มีไปท่องเที่ยวอ่านแล้วดูภาพเพลินไปด้วยเลยล่ะค่ะ