Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทประเทศไทยด้านการเมืองและความมั่นคง


ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนจนปัจจุบัน นอกจากไทยจะมีบทบาทนำในการอาศัยกรอบความร่วมมืออาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาในภูมิภาคและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความสงบสุขของภูมิภาคแล้ว ประเทศไทยยังได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการพยายามส่งเสริมและปรับปรุงทบทวนกลไกความร่วมมือของอาเซียนให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย เพื่อปรับแนวทางการดำเนินนโยบายของตนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก โดยประเทศไทยได้มีบทบาทความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงที่สำคัญของอาเซียนตลอดมา อาทิ

 

1. การประกาศให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality)

 

ประเทศไทยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมสนับสนุนให้มีการประกาศปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพเสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace,Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียน ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดการแทรกแซงจากภายนอก เพื่อเป็นหลักประกันต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและเสนอให้อาเซียน ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน อันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง ความเป็นปึกแผ่นและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก ได้ประกาศลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งในขณะนั้นประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

 

 

ภาพ: พิธีลงนามปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง

 

2. การลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC)

 

ประเทศไทยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation - TAC หรือ แท็ค) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519  ช่วยวางรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในภูมิภาค เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ และการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันของประเทศสมาชิก ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือและยอมรับในการปฏิบัติตาม โดยผู้นำอาเซียนลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ซึ่งหลักการสำคัญของสนธิสัญญา ได้แก่

          1. เคารพในเอกราช การมีอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียมกัน ความมั่นคงทางดินแดนและเอกลักษณ์แห่งชาติของทุกประเทศ

          2. ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกการโค่นล้มและการใช้กำลังบีบบังคับ

          3. การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน

          4. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี

          5. การยกเลิกการใช้การคุกคามและกองกำลัง

          6. การมีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน

 

จะเห็นได้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดให้ประเทศภาคีร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค ยึดมั่นในหลักสันติวิธี ไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในหรือทำสิ่งใดที่คุกคามประเทศอื่น สันติสุขในภูมิภาคจะนำมาซึ่งความมั่นคงที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคั่งที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนในภูมิภาคโดยรวม

 

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น สนธิสัญญามอบอำนาจให้คณะมนตรีของสภาสูงพิจารณาหาข้อยุติผ่านการเจรจาพร้อมกับเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง  ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2530 ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อเปิดทางให้ประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ซึ่งช่วยเสริมสร้างโครงสร้างความมั่นคงและสันติภาพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา TAC ได้แก่ สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และประเทศที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้แจ้งความจำนงอยากเข้าร่วมเป็นภาคี

 

ในปีพ.ศ. 2552 ไทยได้พยายามผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาคมอาเซียนเกิดความเข้มแข็งในเชิงรุกมากขึ้น  ความพยายามของไทยประสบผลสำเร็จ  โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามเอกสารว่าด้วยการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ 16 ที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา

 

   

 

 


 

ภาพ: พิธีลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน และนางฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ระหว่างการลงนามนั้น นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบาทที่เข้มแข็งในเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงให้การสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการเป็นประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกัน เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาที่จะเกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

 

3. การสนับสนุนการก่อตั้งสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly)

 

สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA) แต่เดิมใช้ชื่อว่าองค์การรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Organization: AIPO)  เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยการริเริ่มของรัฐสภาอินโดนีเซียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือของรัฐสภาแห่งชาติในอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนั้นความร่วมมือของอาเซียนนั้นมีอยู่ทุกกรอบแล้ว แต่ยังขาดความร่วมมือในกรอบของระดับรัฐสภาเท่านั้น ปรากฏว่าแนวความคิดของรัฐสภาอินโดนีเซีย ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์เป็นอย่างดี โดยต่างเห็นพ้องต้องกันถึงประโยชน์ของการสร้างความร่วมมือให้ใกล้ชิดในระหว่างรัฐสภาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือการจัดตั้งองค์การรัฐสภาอาเซียนขึ้นถึง 3 ครั้ง โดยในครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2520 ได้ลงนามเห็นชอบในธรรมนูญขององค์การรัฐสภาอาเซียนเพื่อจัดตั้ง องค์การรัฐสภาอาเซียนอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา

          ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 27 ณ เมืองเซบู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้ประกาศใช้ธรรมนูญขององค์กรฉบับใหม่ โดยได้เปลี่ยนชื่อจากองค์การรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Organization: AIPO) มาเป็นสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร และบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้มีรูปธรรม ตลอดจนยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐสภาในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานขององค์กร เพิ่มช่องทางการทำงาน

ร่วมกันกับ ASEAN โดยการแลกเปลี่ยนการเข้าร่วมประชุมระหว่างประธาน AIPA และประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน และให้อำนาจกับที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในการริเริ่มการจัดทำกฎหมายในประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสนใจร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)

          สมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียนประกอบด้วยรัฐสภาแห่งชาติของประเทศจากสมาชิกอาเซียน จำนวน 8 ชาติ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม  ส่วนบรูไนและพม่า มีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษของสมัชชารัฐสภาอาเซียนเนื่องจากทั้งสองประเทศยังไม่มีรัฐสภา จึงส่งตัวแทนที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติโดยอนุโลมอันได้แก่ สภานิติบัญญัติบรูไน (The Brunei Legislative Council) และสมัชชาแห่งชาติพม่า (The National Convention) ร่วมประชุม

 

 

ภาพ:  วันที่ 6 สิงหาคม 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข  วังไกลกังวล  ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกสมัชชารัฐสภาอาเซียน และคณะผู้แทนประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ จำนวน 9 คน เฝ้าฯ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 30  ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

3.การมีส่วนร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพในกัมพูชากลุ่มประเทศอินโดจีน  

 

ประเทศไทยมีผลงานสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเข้ามาบริหารประเทศได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอินโดจีน โดยการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า รวมทั้งดำเนินการประสานงานให้มีการเจรจาร่วมระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบและจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของกษัตริย์สีหนุขึ้น โดยมีแนวคิดที่สำคัญ คือ เรื่องการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นการทูตแนวใหม่ในสมัยนั้น ทำให้ประเทศที่มีอุดมการณ์และระบอบการปกครองต่างกัน สามารถหันมาร่วมมือกันในด้านที่ไม่มีความขัดแย้งกันได้นั่นก็คือ ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทุกประเทศในอินโดจีนหันมาเจรจาหารือกับไทยด้านการค้า การลงทุน

แนวคิดดังกล่าวยังนำไปสู่การสร้างสันติภาพในภูมิภาคโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เข้าไปช่วยเหลือในการเจรจา นำสันติภาพมาสู่กัมพูชาเป็นผลสำเร็จ เดิมนโยบายของไทยถูกผลักให้เผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอด เวลา เมื่อสถานการณ์โลกเริ่มผ่อนคลาย ได้กลายเป็นโอกาสให้ไทยประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เพื่อสร้างสันติภาพที่ถาวรให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมมือกันทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่ถูกปิด กั้นโดยอุดมการณ์ ทางการเมืองที่แตกต่างกันในขณะนั้น โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของเขมร 4 ฝ่าย เพื่อให้ปัญหาสงครามกลางเมืองในกัมพูชายุติลงให้ได้ โดยพลเอกชาติชายได้มีการเชิญฝ่ายของนายฮุนเซ็นเข้ามาเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุในเมืองไทยที่บ้านพิษณุโลก พลเอกชาติชาย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกร่วมกันของสมเด็จเจ้านโรดมและนายฮุน เซ็นเป็นครั้งแรกและได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในอินโดจีนด้วย ความพยายามดังกล่าวบรรลุความสำเร็จอย่างงดงาม โดยทุกฝ่ายหันมาเจรจากันและพัฒนาไปสู่ข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ในเดือนเมษายน พ.ศ.2534 ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพในกัมพูชา การตัดสินใจทางการทูตแนวใหม่นี้ เป็นการตัดสินใจที่หลายๆ ฝ่ายคาดไม่ถึง (อดิศร หมวกพิมาย, 2554: ออนไลน์)

 

 

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย

 

4.การจัดให้มีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF)  

 

ด้วยตระหนักถึงความเกี่ยวพันกันของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยได้เสนอให้มีการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรก ในปีพ.ศ.2537 โดย ARF มุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน(Confidence Building) การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน(Preventive Diplomacy) และการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution)

ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม  

การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นการหารือเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ การไม่แพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

 

5.การลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone หรือ SEANWFZ)   

 

ประเทศไทยมีบทบาทในการร่วมลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone หรือ SEANWFZ) ซึ่งดำเนินการในระหว่างการประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2538 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2540 หลังทุกประเทศให้สัตยาบัน แต่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันหลังสุด สนธิสัญญาจึงมามีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2544 หลังฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน

สนธิสัญญาดังกล่าวมุ่งระงับอาวุธนิวเคลียร์ระหว่าง 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ประเทศภาคีห้ามพัฒนา ผลิต หรือได้มาซึ่งการครอบครองหรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว ได้แก่ ดินแดนของรัฐภาคี ตลอดจนไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐภาคี ดินแดน ได้แก่ ดินแดนทางบก แหล่งน้ำภายในทะเล อาณาเขตน่านน้ำ หมู่เกาะ ก้นทะเล ตลอดจนใต้ดินและน่านฟ้าเหนือดินแดนด้วย 

เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว หมายถึง ดินแดนของรัฐภาคี ตลอดจนไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐภาคี ดินแดน หมายถึงดินแดนทางบก แหล่งน้ำภายในทะเล  อาณาเขตน่านน้ำหมู่เกาะ ก้นทะเล ตลอดจนใต้ดินและน่านฟ้าเหนือดินแดนด้วย

ความพยายามของอาเซียนในการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงของภูมิภาคเริ่มขึ้นตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เมื่อ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประชุมกันที่กัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย และลงนามแถลงการณ์ว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) อย่างไรก็ดี จากบรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้น รวมทั้งการแข่งขันระหว่างสมาชิกและความขัดแย้งในภูมิภาค อันมีผลมาจากสงครามเย็น ทำให้ ZOPFAN ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อีกทั้งยังทำให้ข้อเสนอจัดตั้งพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการเป็นไปด้วยความล่าช้า  กระทั่งพ.ศ. 2533 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดและความขัดแย้งในภูมิภาคได้รับการตกลงกันแล้ว  ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้เริ่มความพยายามจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังการเจรจาและการทำสนธิสัญญาให้แล้วเสร็จโดยคณะทำงานอาเซียน สนธิสัญญา SEANWFZ ได้ลงนามโดยหัวหน้ารัฐบาลของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สนธิสัญญามีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 หลังทุกประเทศให้สัตยาบัน ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะมามีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หลังฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน ซึ่งมีผลห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดในภูมิภาค   

อย่างไรก็ตามความกังวลใจสำคัญกลับอยู่ที่ความเป็นไปได้ที่ภูมิภาคนี้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่มาจากมหาอำนาจนอกภูมิภาค ดังนั้น จึงเป็นความพยายามสำคัญของผู้นำอาเซียนตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2538 ที่ต้องการให้มหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและจีน ร่วมให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา SEANWFZ นี้ โดยต้องให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นับตั้งแต่ที่สนธิสัญญานี้ได้รับการลงนามจนถึงปัจจุบัน มหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้ง 5 ยังปฏิเสธที่จะร่วมลงนามด้วย

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 17 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม  ที่ประชุมซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเป็นประธานได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเสริมสร้างบทบาทของ SEANWFZ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้เสนอต่อที่ประชุมให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือและความเชื่อมโยง SEANWFZ กับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ต่างๆ ทั่วโลก คือในภูมิภาคแอฟริกา เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา และแคริเบียน รวมถึงประเทศมองโกเลีย และไทยในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา SEANWFZ พร้อมที่จะช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยให้มีความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการเสริมสร้างศักยภาพ ซึ่งไทยได้ร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเรื่องประเด็นความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้านความปลอดภัยทางอาหารและยา ทั้งนี้ ไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศจะร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องนี้ โดยจะเชิญประเทศภาคีอื่นๆ เข้าร่วมด้วย

 

 

ภาพ : การประชุมคณะกรรมาธิการ SEANWFZ ทีเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2011

 

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/books/view/aseanstudies

 

เอกสารอ้างอิง :

 

แพรภัทร  ยอดแก้ว. 2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

 

หมายเลขบันทึก: 506074เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชม

เป็นข้อมูลศึกษาอาเซียนได้ดีมากครับ

ขอบคุณที่ชมค่ะ

เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนดีแท้ๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท