เด็กหอใน : (เรื่องเล่าเร้าพลัง) กระบวนการหนึ่งของการพัฒนานิสิตนักศึกษา


ผมมีความสุขใจกับการได้เห็นเจ้าหน้าที่หอพักได้ “สานต่อ” เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตหอในมีบรรยากาศของการเรียนรู้ชีวิตผ่านการ “ได้คิด ได้เขียน.. ได้อ่าน” และเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวอันเป็นชีวิตประจำวันของตนเอง (จดหมายเหตุชีวิต) แล้วยกระดับเป็นจดหมายเหตุองค์กร อันหมายถึง “งานบริการหอพัก” หรือแม้แต่ “มหาวิทยาลัย”

(1)

 

ห้วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยียน-ชื่นชมผลงานของนิสิตและบุคลากรหอพัก

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน  ผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่กำกับดูแลหอพักในห้วงระยะเวลาหนึ่ง 


กาลครั้งนั้น  สิ่งที่พยายามอย่างหนักก็คือการชวนให้เจ้าหน้าที่ได้มีกิจกรรมเชิงรุกเพื่อการพัฒนานิสิตในหอพัก พร้อมๆ กับการเปิดเวทีกิจกรรมชาวหอพักออกสู่ชุมชน  รวมถึงการกระตุ้นให้นิสิตได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง 

และนั่นยังรวมถึงการผลักดันให้นิสิตชาวหอพักได้รวมกลุ่มจดทะเบียนเป็น “ชมรม” ในสังกัด “องค์การนิสิต”   เพื่อให้มีเวทีในการฝึก "ทักษะชีวิต" ผ่านกิจกรรมนอกชั้นเรียนให้มากขึ้น  ผสมผสานกับการพยายามสร้างกลไกให้องค์กรนิสิตและชมรมต่างๆ ได้เข้ามาหนุนเสริมการจัดกิจกรรมในหอพักให้มากขึ้น

 

 

ในมุมมองของผมนั้น-การจดทะเบียนเป็นองค์กรนิสิต จะช่วยให้นิสิตในหอพักมีกระบวนการเรียนรู้ด้านกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือมีทักษะชีวิตที่เข้มข้นมากขึ้น , มีเครือข่ายการทำงานในระดับองค์กรมากขึ้น ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะสมาชิกในหอ  หรือจ่อมจมอยู่แต่เฉพาะกิจกรรมในหอพัก โดยไม่อาจเหลือบมองถึงปรากฏการณ์อื่นใดที่กรีดกรายอยู่นอกหอพัก

กรณีเช่นนี้  ชาวหอพักสามารถเรียนรู้หลากหลายจาก “เครือข่าย” ต่างๆ  สามารถชักชวนองค์กรภาคีอื่นๆ  มาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดกิจกรรมในหอพักให้คึกคักและมีชีวิตชีวามากขึ้น   ซึ่งจะช่วยให้ “หอพัก” หรือ “บ้านหลังที่สองของนิสิต”  มีความอบอุ่น และหลากหลายบทเรียนให้แตะต้องสัมผัส

ส่วนกรณีองค์กรที่เข้ามาร่วมกับชาวหอพักนั้น  ถือเป็นการเปิดตัวองค์กรไปในตัว  รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรและรับสมัครสมาชิกเข้าสังกัดไปอย่างเสร็จสรรพ  -  มิหนำซ้ำยังจะช่วยกระตุ้นให้นิสิตหอพัก  ก้าวข้ามห้องหับอันคุ้นชิน  ออกมาสู่การเรียนรู้มากกว่าการต้องกินๆ นอนๆ และทำการบ้านส่งครูไปวันๆ...

ครับ-นั่นคือมุมคิดเล็กๆ ที่ผมเพียรพยายามชวนให้เจ้าหน้าที่หอพักได้ร่วมคิด ร่วมสร้างในห้วงที่ผ่านมา

 

 

 

 

(2)

 

 

การกลับไปเยือนในครั้งนี้  นอกจากการเยี่ยมเยียนถามข่าว และให้กำลังใจกับน้องๆ  ผมเองก็ไม่อาจหลอกตัวเองได้ว่า “กลับไป- เพื่อดูการเติบโตของสิ่งที่เคยขายฝันและชักชวนทีมงานได้ริเริ่มสร้างสรรค์ไว้”

 


 

ครับ-สิ่งที่ว่านั้นก็คือ “เรื่องเล่าเร้าพลัง”
เรื่องเล่าที่มีชื่อว่า “เด็กหอใน”  อันเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิด “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส”

 

 

 

 

(3)

 

ผมมีความสุขใจกับการได้เห็นเจ้าหน้าที่หอพักได้ “สานต่อ” เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตหอในมีบรรยากาศของการเรียนรู้ชีวิตผ่านการ “ได้คิด ได้เขียน.. ได้อ่าน”  และเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวอันเป็นชีวิตประจำวันของตนเอง (จดหมายเหตุชีวิต)  แล้วยกระดับเป็นจดหมายเหตุองค์กร อันหมายถึง “งานบริการหอพัก”  หรือแม้แต่ “มหาวิทยาลัย”

 

โดยส่วนตัวผมแล้ว-  ผมไม่เคยลังเลที่จะหยิบจับเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling)  มาเป็นเครื่องมือในการ “พัฒนาทักษะชีวิตของนิสิต”  เพราะผมเชื่อมั่นเสมอว่า  การเขียนเรื่องราวเช่นนี้ เป็นกระบวนการของการ “ถอดบทเรียนชีวิต” ที่สำคัญไม่แพ้การ “ถอดบทเรียนของการงาน”

 

การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังในมิติของ “เด็กหอใน”  จะช่วยให้นิสิตได้ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาด้วยกลไกสำคัญๆ เฉกเช่นกับที่กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ  (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd)  ได้กำหนดไว้  นั่นคือ

  • คุณธรรมจริยธรรม (Ethics and Moral) 
  • ความรู้ (Knowledge)
  • ทักษะปัญญา (Cognitive Skills)
  • ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ  (Interpersonal Skills and Responsibility)
  • ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข  การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี (Numerical Analysis,Communication and Information Technology Skills)  

 

 

 

ครับ- ถึงอาจจะยังไม่ทะลุในทุกประเด็น แต่ก็ถือว่าการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังคือสนามที่ทำให้นิสิตได้ฝึกทักษะเหล่านั้น และที่สำคัญคือได้ฝึก “ทักษะการเรียนรู้”  ไปในตัว  ยิ่งเมื่อนำเรื่องราวมาผลิตเป็นหนังสืออ่านเล่น –จัดเวทีโสเหล่-ยิ่งก่อให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตต่อกันและกัน  ขณะที่มหาวิทยาลัยก็ได้ประโยชน์ด้วยการเก็บไปเป็น “จดหมายเหตุ” ของมหาวิทยาลัยในมิติของ “นิสิต” ...

 

 

 

(4)

 

สำหรับเรื่องราวที่ปรากฏการณ์ในหนังสือ “เด็กหอใน 3” นั้น  ในฐานะของคนอ่านและกรรมการตัดสิน  ยังคงเห็นรอยต่ออันเป็นภาพชีวิต หรืออาจจะเรียกในเชิงวัฒนธรรมของนิสิต (เด็กหอใน)  จากปีก่อนๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม  นั่นแสดงว่า  องค์กร/บ้านหลังนั้น  มีระบบของการถ่ายทอดและสืบทอดเรื่องราวอันดีงามมาเป็นระยะๆ...

 

แม้เรื่องราวในภาพรวมทั้งหมดจะไม่แปลกใหม่ หรือแตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา  แต่เรื่องราวเหล่านั้น  ก็ไม่เฉิ่มเชยและไร้ชีวิต  เพราะเรื่องทุกเรื่อง  เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่  ทั้งในมิติปัจจุบันและความทรงจำของใครต่อใคร  เมื่อ “เปิดใจ”  อ่าน  จึงเห็นความ “ร่วมสมัย”  ของชาวหอพัก (เด็กหอใน) อย่างชัดแจ้ง  เป็นต้นว่า

  • การเรียนรู้คุณค่าชีวิตผ่านการทำกิจกรรมในหอพัก
  • การเรียนรู้คุณค่าชีวิตผ่านการปรับตัวและอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ
  • การเรียนรู้คุณค่าชีวิตผ่านกฎกติกาของสังคมที่มีชื่อว่า “หอพัก”
  • การเรียนรู้คุณค่าชีวิตผ่านวีรกรรม “หวาน ซึ้ง โหด ฮา” ของชาวหอ-เด็กหอใน
  • การเรียนรู้คุณค่าชีวิตผ่าน “รากเหง้า” ของกันและกัน
  • ฯลฯ

 

 

 

 

(5)


ครับ-การกลับไปเยือนที่เดิมเฉกเช่นในเวทีครั้งนี้  เสมือนการกลับไปดูเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตเล็กๆ ที่เราเคยได้ (ร่วม) เป็นส่วนหนึ่งในการ “ไถ-คราด-หว่านเพาะ” ....

ในยามเห็นเมล็ดพันธุ์งอกงามแม้เพียงนิด  หัวใจของคนกลับไปเยือนก็แช่มชื่นราวกับต้นไม้ในทะเลทรายที่ได้สัมผัสกับละอองฝน-

ผมสุขใจกับเวทีดนตรีเล็กๆ ที่ยังมีการขับเคลื่อน  ไม่ใช่เปิดเวทีระห่ำ ตีกลองร้องเต้นจนไม่ลืมหูลืมตา

ผมสุขใจกับการ์ดทำมือเพื่อแม่ที่ถูกสานต่ออย่างมีพลังจากเจ้าหน้าที่และนิสิต

ผมสุขใจกับการได้เห็นวาทกรรมที่คุ้นชินปรากฏอยู่ในพื้นที่แห่งชีวิตนั้นอย่างองอาจ  ไม่ว่าจะเป็น “เด็กหอใน” หรือแม้แต่ “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส”

ผมสุขใจกับการได้เห็น “เจ้าหน้าที่”  กล้าที่เรียนรู้กิจกรรมเหล่านี้ด้วยตนเองอย่างสุดเหวี่ยง  โดยไม่ยึดติดกับเรื่องราว วิธีการ หรืออื่นใดที่ผมได้เพาะหว่านไว้  เพราะนั่นคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า  สิ่งที่เราได้ลงแรงไว้นั้น  บัดนี้ได้ก่อเกิดผลในเชิงสร้างสรรค์ กี่มากน้อยกันแล้วบ้าง-

และที่สำคัญคือการทำงานท่ามวิกฤต “ผู้นำ” ในระบบนั้น  มันก็ยืนยันได้ว่า...เราได้สร้าง “ผู้นำ” ไว้รองรับเช่นกัน  ขึ้นอยู่กับว่าโอกาสและการเปิดใจของระบบเท่านั้นว่า...จะหนุนเสริมและพัฒนาคนอย่างจริงจัง และมีทิศทางแค่ไหน

 

 

 

แต่สำหรับผมนั้น  - สารภาพตรงนี้เลยว่า  เสียดายเวลากับในบางเรื่องที่ผ่านมา, นั่นก็คือ การไม่ได้ ”สอนงาน”  ให้เจ้าหน้าที่ได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตหนังสือมากนัก  จนส่งผลกระทบให้พวกเขาทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพพอ  ซึ่งหากผมได้สอนงานอย่างต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว  ทั้งการเป็นบรรณาธิการ  การจัดทำรูปเล่ม  การเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง,ตัดสิน การเขียนคำนิยม,การเขียนสังเคราะห์ ฯลฯ....ผมเชื่อเหลือเกินว่า หนังสือ ”เด็กหอใน 3” จะมีพัฒนาการที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย–

 

ครับ-  กระนั้น ผมก็ยัง (แอบ)  ปลอบใจตัวเองเหมือนกันว่า  ..." การที่พวกเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในกระบวนการทำหนังสือเล่มนี้  จะทำให้พวกเขาทุกคนเกิดความเข้าใจและมองทะลุถึงกระบวนการของการทำหนังสือได้ดีกว่าการที่ผมต้องสอนด้วยตนเอง..."

 

แต่ทั้งปวงนั้น ขอยืนยันตรงนี้อย่างหนักแน่นว่า พวกเขาได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่งแล้ว...

และเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่เคยได้ร่วม "..หว่าน..เพาะ.." ไว้เมื่อหลายปีก่อน 

บัดนี้ได้เริ่มงอกงามโผล่พ้นผืนดินขึ้นมาบ้างแล้ว...

 

 

หมายเลขบันทึก: 503566เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ว่าไป ... น่าไปเยี่ยมเยือนการจัดกิจกรรมหอพักที่ มมส. เหมือนกันะครับเนี่ย ;)...

ครับ อ.วัส

Blank

ผมจะจัดเตรียม 'มอไซด์ไว้รับรอง
พาเที่ยวท่องเมืองสารคาม..
ให้หนำใจ

นะครับ

  • สวัสดีค่ะท่านBlank แผ่นดิน
  • หวังว่าท่านอาจารย์คงจะสบายดีนะคะ
  • เป็นกิจกรรมที่ ดีมาก ปลูกจิตสำนึกเด็กให้มีความกตัญญู
  • มาชื่นชมให้กำลังใจค่ะ
  • สุขใจที่ได้เห็นกิจกรรมดี ๆ
  • และผลผลิตที่งอกงาม ..
  • คิดถึงสารคามเหมือนกันนะเนี่ย
  • ขอให้มีความสุขกับทุกกิจกรรมที่ทำค่ะ..^_^
  • เห็นเด็กนิสิตทำแล้วมีความสุข
  • ขอชื่นชม
  • ติดต่อคุณแผ่นดินไม่ได้ครับ

การเขียนเรื่องเล่าเด็กหอใน เป็นการฝึกทักษะการเขียนของนิสิตระดับอุดมศึกษาเลยทีเดียวก็ว่าได้ หากที่ผ่านมานิสิตไม่มีพื้นฐานการเขียนหนังสือหรือไม่สามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆเป็นตัวอักษรได้เลย ซึ่งหนังสือเรื่องเล่าเด็กหอในเมื่อพิจารณาดูดีๆแล้ว นิสิตส่วนใหญ่ก็จะเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงโดยแท้ เขียนในเรื่องราวต่างๆที่พานพบเจอมาตั้งแต่ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยจนกระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่าเรื่องราวของแต่ละคนเป็นเช่นไร แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แต่สุดท้ายก็คือเรื่องราวที่ผ่านเจอมาด้วยกันทั้งสิ้น แต่ปัญหาการเขียนหนังสือของแต่ละคนนี่ละสิคือเรื่องใหญ่ของการเขียนเรื่องเล่าเด็กหอใน เพราะพื้นฐานการเขียนหนังสือ การอ่านหนังสือ และประสบการณ์ในการเล่าเรื่องของแต่ละคนแตกต่างกัน จนทำให้เรื่องเล่าที่เขียนออกมาบางคนแทนที่จะสละสลวย สวยงามน่าอ่านกลับทำให้วกวนในภาษา อ่านแล้วหัวเราะไม่ออกเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็ทำให้เรายิ้มได้ เพราะมันทำให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติในตัวบุคคล ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เราต้องสอดแทรกและปรับปรุงพัฒนาต่อไปในการจัดทำโครงการ หรือแม้แต่คำผิด ถูก ที่เห็นได้อย่างมากมาย ในเรื่องเล่าของแต่ละคน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะทำให้เสียอรรถรสในการอ่านได้ แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ก็แค่เพิ่มความรอบครอบในการเขียนรวมถึงการพิสูจน์อักษรเป็นอย่างดีให้มากขึ้นในระดับผู้รับผิดชอบหลัก ปัญหานั้นก็คงจะหายไป แต่สุดท้ายผลสัมฤทธิ์ในการจัดกิจกรรมโครงการสำหรับนิสิตหากตั้งเป้าไว้ที่ 100 % และถึงแม้จะได้แค่ 60-70% ก็น่าจะเป็นที่พึงพอใจ สำหรับการปรับปรุงแก้ไขและต่อยอดในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป...ได้กระมัง

นอกจากนี้ ยังอยากจะบอกว่าการเป็นหัวหน้าที่ดีไม่จำเป็นต้องสั่งให้ทำ และไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้องทำตามคำสั่งให้ได้ทุกอย่าง แต่หัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่สอนให้คิด คิดให้เป็นคิดอย่างมีระบบ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นของเรื่องเล่าเร้าพลังในวันนี้ และก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าเด็กหอใน 3 รวมถึงโปสการ์ดสื่อรัก สื่อสร้างสรรค์ นวตกรรม มมส. ที่น้องๆเจ้าหน้าที่หอพักได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดโครงการขึ้นในวันนั้น จดหมายเหตุองค์กรจะยังคงอยู่เมื่อเรามีการบันทึกเป็นเรื่องราวผ่านประสบการณ์จริงของแต่ละบุคคล การจดบันทึกจะช่วยให้เรื่องราวอยู่ได้ยาวนานตราบชั่วกาลนาน และนั่นก็คือสิ่งยืนยันได้ว่าสิ่งที่คนคนหนึ่งได้สั่งสม ถ่ายทอด และเพาะหว่านเอาไว้ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะสุดท้ายการที่เรามีจุดยืน บวกกับความตั้งใจจริง ที่อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อใครสักคนหรือแม้แต่เพื่อองค์กร มหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติ และหากจะมีอุปสรรคขวากหนามแม้เพียงเล็กน้อย เราก็จะยังคงสู้ต่อไป ไม่ท้อถอย เพราะในวันนี้เรายังเชื่อว่าเรื่องเล่าเด็กหอใน และโปสการ์ดสื่อรัก สื่อสร้างสรรค์ นวตกรรม มมส. จะเป็นตำนานหรือจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยต่อไป

  • สวัสดีค่ะ
  • มาชื่นชม และให้กำลังใจเด็กหอในค่ะ
  •  เคยเป็นเด็กหอใน ที่ ว.ค.เชียงใหม่ ๔ ปี่
  • ประทับใจมาก มาก

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

สำหรับผมแล้ว..
ชะตากรรม ครั้งนั้น
เป็นความทรงจำปัจจุบัน เสมอมาครับ
นับวัน...สนองคืน

สวัสดีครับ พี่หมวย สีตะวัน

Blank

ความสุขของผม คือการได้เห็นการสานต่อภารกิจครับ
ถึงแม้การสานต่ออาจจะไม่สะดวก สบาย ราบรื่นเหมือนอดีต
แต่ก็สุขใจ เพราะนั่นคือการสะท้อนให้เห็นการสอนงานของเราในตัว
และสะท้อนศักยภาพของคนทำงานไปในตัว
ที่สำคัญก็คือ...
สุขใจที่เห็นพวกเขาเรียนรู้ และศรัทธาต่อการทำงานหนักด้วยตนเอง

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

 Blank

  • ตอนนี้กลับมาใช้เบอร์เดิมแล้วครับ
  • mail ก็เปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว
  •  รอรับข่าวสารอยู่ทางนี้แล้วนะครับ

ครับ ปิ๋ม..

ขอบใจมากเลยนะครับที่แวะมาเติมเต็มช่วยให้บันทึกนี้ดูมีค่ามากขึ้น  อย่างน้อยก็เป็นจดหมายเหตุของคนทำงานและองค์กรหอพักนั่นแหละ

ว่าด้วยการเขียน เป็นเรื่องสาหัสน่าดู  แต่ที่พี่นิยมทำก็คือสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานได้เขียนเรื่องเล่าเป็นอันดับแรก  ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าตัวเองมีคลังความรู้ มีเรื่องราวที่มีค่าควรค่าต่อการบันทึก-สื่อสาร  ซึ่งไม่ต้องเขินอายว่าเรื่องที่ว่านั้น  จะดูเปิ่นเชย ด้อยค่า  นั่นคือหลักคิดของความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ  ขึ้นอยู่กับว่าจะเปิดใจรับการพัฒนา หรือการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน

ถัดจากนั้น  ค่อยใส่กระบวนการเขียนเล็กๆ น้อยๆ สร้างบรรยากาศให้เขาทะลายกำแพงความกลัวที่มีต่อการเขียนให้ได้มากที่สุด  ให้เขารู้สึกเห็นค่า หรือเป็นมิตรกับการเขียน  เขียนจากเรื่องใกล้ตัว....เขียนเหมือนเขียนบันทึกประจำวัน เพื่อบอกเล่ากับตัวเอง (เตือนความจำ) หรือเขียนเหมือนเล่าเรื่องให้คนอื่นได้ฟัง  ส่วนทักษะการเขียนนั้น  เราคงต้องให้เวลากับแต่ละคน  ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า  พวกเขาต้องรักการเขียน การอ่าน เขียนต่อเนื่อง  ไม่ทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ไม่เขียน...

นั่นแหละ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทักษะการเขียนการเล่าเรื่อง ก็จะดีขึ้นตามลำดับ...

ขอบคุณครับ

ครับปิ๋ม...

เรื่องเล่าหอพัก  ไม่เพียงสะท้อนให้เห็น "ภาพชีวิต" ของ "เด็กหอใน"  เท่านั้น  แต่ยังเชื่อมโยงทะลุไปถึงพื้นเพจิตใจของนิสิตไปในตัว  ผมเชื่อว่าหากนิสิตทักษะการเขียนที่ดี  เขียนให้เห็นภาพพจน์ และข้อมูลที่เป็นระบบ  จะช่วยให้เรื่องราวต่างๆ มีประเด็นต่อการต่อยอดเป็นอย่างดี  สามารถหยิบจับมาทำวิจัยได้  -วิจัยผ่านเรื่องเล่าเร้าพลังนี่แหละ  ทำเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ  ชี้ให้เห็นกระบวนการพัฒนาทักษะชีวิต TQF ผ่านการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง -...

 

สวัสดีครับ พี่เอื้องแซะ

Blank

ผมเป็นนิสิตที่ไม่เคยได้พักในหอในของมหาวิทยาลัย  เนื่องจากถูกเรียกมารายงานตัวในห้วงท้าย (ติดสำรอง)  หอพักจึงเต็มหมดเลย  ทำให้ต้องใช้ชีวิตหอนอกมาตั้งแต่คืนแรกของการมาเป็น "นิสิต"

การไม่ได้เป็นนิสิตหอใน  ทำให้กระบวนการเรียนรู้ชีวิตหลายเรื่องหล่นหลายไปมากพอสมควร  แต่ก็ดีหน่อย  การที่ผมสนใจเรื่องกิจกรรม  จึงพอจะชดเชยและทดแทนได้บ้าง  ทำให้ได้พบเจอผู้คน  ใช้ชีวิตกับผู้คน ทำกิจกรรมกับผู้คน

พอมาช่วยกำกับดูแลหอพักในระยะหนึ่ง  จึงจำต้องบูรณาการสิ่งต่างๆ แบบผสมผสานทั้งประสบการณ์ด้านการงาน ประสบการณ์ด้านกิจกรรมเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคน-พัฒนางาน...

ขอบพระคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท