กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๐๑) : เพื่อนร่วมเรียนรู้ (๖)


อีกสามสัปดาห์ถัดมา (๔  ก.ย. ๕๕) เพื่อนครูจากรุ่งอรุณ ๑๓ คนก็ยกขบวนกันมาร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนที่โรงเรียนเพลินพัฒนาบ้าง ห้องที่เปิดชั้นเรียนในวันนั้นมี

ระดับชั้น ๑ ห้องคณิตศาสตร์ของคุณครูโน้ต - สุมนา  แทนบุญช่วย

ระดับชั้น ๒ ห้องมานุษกับโลกของคุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์

ระดับชั้น ๓ ห้องมานุษกับโลกของคุณครูโอ่ง -นฤนาท สนลอย

ระดับชั้น ๔ ห้องคณิตศาสตร์ของคุณครูม่อน - สาวิณี จิรประเสริฐวงศ์

ระดับชั้น ๕ ห้องคณิตศาสตร์ของคุณครูจุ๋ม – ศรัญญา สุวันนะ และห้องภูมิปัญญาภาษาไทยของคุณครูปุ๊ก - จินตนา กฤตยากรนุพงศ์ 

ระดับชั้น ๖ ห้องคณิตศาสตร์ของคุณครูกิ๊บ - พุทธมาศ โรจน์หทัยกานต์  และห้องคณิตศาสตร์ของคุณครูวิ – วิสาขา ข่าทิพย์พาที

 

ดิฉันเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ห้องภูมิปัญญาภาษาไทยของครูปุ๊ก และได้เข้าร่วมสะท้อนผลในวงด้วย

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากรอบสะท้อนผล

  • ท่าทีของครูกำหนดห้องเรียนได้ ความที่ครูชัดเจน ค่อยๆ เดินการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทำให้ห้องดูราบรื่น  แต่ถ้าอยากให้ห้องเร็ว หรืออยากให้ห้องช้าลง ครูก็ต้องเป็นคนกระทำ
 
  • วันนี้ทำให้ได้รู้ว่าครูต้องไวในการฟังคำตอบของเด็กให้มากขึ้น “ทุกความคิดของเด็ก ครูต้องน้อมเข้ามาสู่ใจ” เป็นคำที่ อ.ไมตรีเคยฝากไว้ 
 
  • ครูปุ๊กเด่นเรื่องการชื่นชมเด็ก และแสดงให้เขาได้รับรู้ด้วย ปกติแล้วตัวเองจะคิดอยู่ในใจว่าเขาเก่ง  แต่ก็ไม่ได้ชมออกไป
 
  •  “ครูพอใจกับคำตอบ และชื่นชมมากขึ้นเมื่อได้ฟังคำอธิบาย”  เป็นคำชื่นชมของครูปุ๊กที่จดเอาไว้ เพราะชอบมาก
 
  • วันนี้ได้เห็นว่าเด็กต้องการขั้นตอนเขาจึงจะเข้าใจ  เห็นการเปิดโจทย์แบบซอยย่อยเพื่อให้เด็กค่อยๆ ไต่บันไดไปได้
 
  • ตอนที่อยู่ในชั้นเรียนไม่ได้รู้สึกว่านานเกินไปแล้ว เมื่อไหร่จะจบ หรือเร็วเกินไปแล้วชอบวิธีการและเนื้อหาของวันนี้
 
  • อยากให้เพิ่มเรื่องของการนำเอาประเด็นคำตอบของเด็กมาต่อยอด และเพิ่มพื้นที่ของการเล่นสดให้มากขึ้นกว่าการทำไปตามขั้นของแผนการเรียนรู้ที่วางไว้แต่เดิม

 

วันนี้ได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญ – ความรู้สึกในวันนี้

  • ปีการศึกษานี้ต้องไปอยู่กับเด็กเล็ก ต้องทำห้องเรียนที่มีสีสัน วันนี้ได้เห็นห้องเรียนที่สงบแต่มีชีวิตชีวา  รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นการเติบโตของเด็ก และของครูปุ๊ก
 
  • การเรียนสนุกด้วยแผน และกระบวนการที่เตรียมไว้อย่างดีจริงๆ แล้วทำได้ยากตอนนี้อยากดูตอนจบว่าแต่ละคนจะฉายอะไรออกมา (ในข้อเขียนของเขา)
 
  • ครูไม่ใช่จะรอฟังแต่คำตอบที่ครูต้องการ
 
  • ปกติชอบจมไปกับเด็กที่อยู่ในห้อง ทำให้มองไม่เห็นภาพรวมของเด็กทุกคน  ทำให้วันนี้รู้สึกสนุกเวลาได้เห็นคนอื่นสอน
 
  • มีความสุขที่เห็นเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ครูสอน
 
  • เห็นความตั้งใจของครู และความพยายามของเด็ก  อยากขอบคุณทุกคน

 

ก่อนจะจากกันไปคุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเพลินพัฒนา ได้มากล่าวถึงแนวคิดของรวมตัวกันเรียนรู้ของทั้ง ๒ โรงเรียนว่าเป็นไปเพื่อ “พัฒนาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวผู้เรียน” และปิดท้ายว่าทางรอดของโรงเรียนเป็นทางรอดของประเทศชาติด้วย

 

คุณครูจิ๋ว – สกุณี บุญญะบัญชา  ครูใหญ่ฝ่ายประถมโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้สะท้อนให้เห็นว่า

 

“จุดเหมือนที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองโรงเรียน คือการลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้เติบโตได้เร็ว สิ่งที่ที่สำคัญในการทำ Lesson Study คือทีมเวิร์ค ที่คนทำมาค้นหาความหมายของสิ่งที่เราทำจริงๆ ครูต้องรู้สึกเป็นเจ้าของงานจึงจะทำได้

 

วันนี้ได้เห็นความตั้งใจ และความยินดีที่จะทำงานหนักของครูเพลินพัฒนา ครูรุ่งอรุณก็มีความพยายามที่จะทำ คุณครูทุกคนมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองสูง อ.ไมตรีกำลังทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่การเติบโตยังไม่เร็วในโรงเรียนที่อาจารย์ลงไปทำงานด้วยยังเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะโรงเรียนไม่ได้เติบโตด้วยคนในโรงเรียน

 

เคยถามอาจารย์ไมตรีก่อนที่จะลงมือทำ LS ว่า “จะทำดีไหม” อาจารย์ตอบว่า “จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อย่างไรก็ดีกว่าตอนที่เราไม่ได้ทำอะไร”

 

การพัฒนาตัวนักเรียนจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับเรา  จึงหนีไม่พ้นที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง  และเราต้องทำตัวเองเป็นแบบอย่างของเด็กในทุกเรื่อง

 

 

หมายเลขบันทึก: 503563เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท