กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๐๐) : ไปเปิดชั้นเรียนที่รุ่งอรุณ (๑)


 

เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วดิฉันไปเริ่มต้นชีวิตความเป็นครูครั้งแรกกับนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนรุ่งอรุณ  งานชิ้นแรกที่ทำคือยกร่างหลักสูตรภาษาไทยของชั้นคละ (ป.๒ - ป.๓ – ป.๔)  หลักสูตรชุดนี้มีชื่อว่า “ภาษาพาสนุก”

 

กับนักเรียนชั้น ม.๑ ก็เอา “กลบท” ให้พวกเขาไปทดลองเรียนรู้ และค้นพบความมหัศจรรย์ของภาษาด้วยตัวเอง  ในครั้งนั้นดิฉันเขียนบันทึกการสังเกตการณ์การเรียนรู้ลงเผยแพร่ใน สื่อสารรุ่งอรุณ ว่า

 

“ในโลกแวดล้อมที่มีสภาพดังเช่นปัจจุบัน การเข้าถึงอรรถรสแห่งคำและภาษานั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ครูชั้น ม.๑ ของโรงเรียนรุ่งอรุณมีวิธีการอย่างไรในการตะล่อมกล่อมเกลาให้เด็กในวัย ๑๑-๑๒ ปี เกิดความสนใจและรู้สึกสนุกสนานในการเล่นคำไปพร้อมๆ กันได้ แม้ว่าเด็กจะมีพื้นฐานทางภาษาที่แตกต่างกันอย่างมากมาย

 

ครั้งหนึ่งโจทย์ข้อนี้เคยเป็นปัญหาสำหรับครู แต่เมื่อคุณครูท่านหนึ่งเริ่มคิดไปถึงกลบทซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของไทย แสงสว่างและวิธีการเรียนภาษาไทยให้สนุกก็ลุกวาบขึ้นทันที เพราะกลบทมีลักษณะของการเล่นคำ เรียงคำ ต่อคำ กลับคำ ซ้อนคำ เพื่อให้คำเป็นไปตามรูปแบบและฉันทลักษณ์ที่บังคับอยู่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความหมายตลอดจนสร้างวิธีใช้คำใหม่ขึ้นมา ซึ่งความสามารถนี้จะค่อยๆ ผุดขึ้นเมื่อผู้เล่นมีความคุ้นเคยกับกลบทเพียงพอ ที่สุดแล้วจะช่วยให้ประจักษ์ในความวิเศษของถ้อยคำอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

 

อานิสงส์ของการเล่นกลบทที่มีต่อเด็ก (และครู) นั้น ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล นักเรียนบางคนที่เคยใช้ภาษาไทยได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านทักษะภาษากลับแต่งกลบทได้ ใช้คำเป็น อีกทั้งยังกล้าที่จะรับฟังคำติติงในเรื่องการใช้คำจากเพื่อนและครูได้โดยไม่เสียความรู้สึกและความมั่นใจในตนเอง

 

ในทางกลับกันคนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่เรียนได้ดี มีความสามารถในการเรียนสูง กลับไม่สามารถเขียนกลบทให้ออกมาเลื่อนไหลได้อย่างที่คิด ต่างจากนักเรียนที่เรียนอย่างสบายๆ โดยไม่คิดว่าตัวเองจะต้องเก่งที่สุด หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่ดูคล้ายจะไม่สนใจการเรียนเลย ก็ยังพัฒนาความสามารถได้รวดเร็วเสียยิ่งกว่าคนที่ดูเหมือนเก่งอยู่แล้ว

 

เมื่อเวลาผ่านไปเด็กที่เคยเก่งและใช้ความคิดมาก เริ่มค้นพบสมดุลทางความคิด สมดุลของวิธีใช้คำ จนในที่สุดสามารถเขียนกลบทที่มีความลุ่มลึก มีคำที่สวยงาม มีสมดุล มีจังหวะได้ดี

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจพอสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้และการรับรู้ของคนนั้น เป็นปรากฏการณ์ของสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขหนึ่งๆ ที่พอเหมาะพอดีสำหรับคนๆ นั้น โดยมีกลบทเป็นเงื่อนไขวิเศษที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และการขับเคลื่อนภายในได้อย่างไม่รู้ตัว เพราะกลบทได้สร้างความสมดุลทางวิธีคิดทั้งภาพรวมและในรายละเอียดโดยมีความพลิ้วไหวในถ้อยคำทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมกลุ่มคำทั้งหมดให้สอดประสานเป็นหนึ่งเดียว

 

ในการที่เด็ก ม.๑ พอใจและสนุกกับการเล่นกลบท ก็เนื่องจากว่ากลบทนั้นเปรียบเสมือนรหัสลับที่สามารถแปลงออกมาเป็นถ้อยความได้เช่นเดียวกับการมีภาษาที่ใช้กันเฉพาะภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กวัยนี้แสนจะโปรดปราน”

 

.......................................

 

๑๕ ปีต่อมา ดิฉันได้รับเชิญจากทางโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ไปสอน “กลบท” นักเรียนชั้น ม.๕  เป็นเวลา ๑ ภาคเรียน (๑๐ สัปดาห์) เพื่อให้ชั้นเรียนนี้เป็นชั้นเรียนสาธิตให้คุณครูรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้กลวิธีการสอนให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับแง่งามของภาษา และเพื่อพัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องกลบทขึ้นมาใหม่

 

วันใหม่ ลูกศิษย์รุ่นแรกซึ่งบัดนี้เป็นคุณครูอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณด้วย  เดินเข้ามาถามดิฉันหลังจากจบชั่วโมงสอนว่า “ครูประดิษฐ์ (คุณครูเจ้าของวิชา) ไปชวนอย่างไรครับ ครูใหม่ถึงยอมมาสอน” ดิฉันตอบไปว่า “ก็ครูอยากให้รุ่นน้องๆ ของวันใหม่ได้มีโอกาสดีๆ อย่างวันใหม่ไง” วันใหม่ตอบมาว่า “จริงครับ...ก็เรียนภาษาไทยสนุกอย่างนี้นี่เอง”

 

.........................................

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 503556เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท