รายงานการศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทยเพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2


รายงานการศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทยเพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2
ผลงานวิจัยเรื่อง รายงานการศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจราชการใน ประเทศไทยเพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 ชื่อผู้วิจัย อนุชา เทวราชสมบูรณ์ หน่วยงานที่วิจัย สำนักผู้ตรวจราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 2 ปีที่วิจัย พ.ศ.2547 ------------------------------------------------------ การตรวจราชการเป็นกลไกสำคัญของฝ่ายบริหารในการติดตามกระตุ้นเร่งรัดให้หน่วยงานและสถานศึกษาปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนนโยบาย/โครงการเพื่อก่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ ตลอดจนช่วยประสานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทันที การตรวจราชการในปัจจุบัน มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ 1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา (มาตรา 31) 2. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 (มาตรา 20) ได้กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ตรวจราชการกระทรวง เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจราชการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตาม และประเมินผลระดับนโยบาย เพื่อนิเทศให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนา สำนักผู้ตรวจราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 9 ได้จัดทำโครงการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 ขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ในด้านรายงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย จึงได้ทำการศึกษาเอกสารรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย เพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 ดังกล่าว วัตถุประสงค์ศึกษา เพื่อรายงานผลรายงานการศึกษาเอกสารรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย เพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 นำผลจากการศึกษาเอกสารรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย ไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยและการตรวจราชการต่อไป ขอบเขตการศึกษา เป็นการรายงานการศึกษาเอกสารรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย เพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 เอกสารรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย ที่นำมาศึกษา ได้แก่ การพัฒนาระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการ ความตระหนักของข้าราชการต่อความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ การตรวจราชการในหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย การตรวจราชการและการบริหารงานในหน้าที่จเรตำรวจ กรมตำรวจ การตรวจราชการในระดับกระทรวงของระบบบริหารราชการไทย และรายงานการตรวจราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการศึกษา มีการศึกษาเอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้อง การกำหนดกรอบการวิจัย การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และรายงานผลการศึกษาเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวกับการตรวจราชการในประเทศไทย เพื่อรองรับการวิจัยการตรวจราชการ แบบ e-Inspection ในเขตตรวจราชการที่ 2 ผลการศึกษา ตอนที่ 1 การพัฒนาระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการ ทศพร ศิริสัมพันธ์ รายงานวิจัยการพัฒนาระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการ โดยมีวัตถุประสงค์รวมสองประการ คือ (1) อธิบายให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการของประเทศไทยในปัจจุบัน และ (2) แสวงหารูปแบบการตรวจราชการและบทบาทของผู้ตรวจราชการแนวใหม่ที่มีความเหมาะสมและรองรับต่อทิศทางและแนวทางการปฏิบัติรูประบบการบริหารงานภาครัฐ โดยอาศัยระเบียบวิธีต่าง ๆ เช่น การทบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การสำรวจความคิดเห็น การสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย การเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการต่างประเทศ ผลการวิจัย พบว่า ระบบการตรวจราชการและผู้ตรวจราชการของประเทศไทยยังไม่สามารถรองรับต่อทิศทางและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารงานภาครัฐในแนวใหม่ กล่าวคือ ยุทธศาสตร์การตรวจราชการยังคงมีลักษณะแบบประเพณีนิยมและเน้นการดำเนินงานในเชิงรับการใช้ประโยชน์ของการตรวจราชการมีค่อนข้างน้อย การจัดโครงสร้างองค์การในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจราชการยังมีลักษณะแบบแยกส่วนและไม่สามารถรองรับภารกิจงานได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ขาดการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการตรวจราชการให้มีความทันสมัย ผู้ตรวจราชการและเจ้าหน้าที่สนับสนุน การตรวจราชการในระดับกระทรวงและกรมยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งขาดการพัฒนาขีดความสามารถและการสร้างค่านิยมร่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะให้ (1) ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การตรวจราชการ โดยเน้นการทำงานในเชิงรุกและสร้างสรรค์ ให้การสนับสนุนและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้บริหาร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและลดความเสี่ยงของการดำเนินงาน รวมถึงการเสริมสร้างขีดสมรรถนะและศักยภาพของหน่วยงานผู้รับการตรวจ (2) ขยายขอบเขตของระบบงานเกี่ยวกับการตรวจราชการให้กว้างขวางและสมบูรณ์แบบมากขึ้น อันจะช่วยทำให้สามารถเสนอข้อมูลป้อนกลับอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารได้อย่างเต็มที่และทันต่อเหตุการณ์ (3) ปรับปรุงโครงสร้างองค์การที่เกี่ยวข้องกับการตรวจราชการในแต่ละระดับ โดยให้มีองค์กรกำกับดูแลการตรวจราชการและหน่วยปฏิบัติการเกี่ยวกับการตรวจราชการควบคู่กันไป และอาศํยวิธีการดำเนินงานในแบบเมตริกซ์ เพื่อให้สามารถบูรณาการและเชื่อมโยงระบบงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน (4) ทบทวนบทบาท ภารกิจและอำนาจหน้าที่ และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ การดูแลรักษาและการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ตรวจราชการ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับการปรับปรุงขีดสมรรถนะของเจ้าหน้าที่สนับสนุนผู้ตรวจราชการ (5) ปรับปรุงระบบสารสนเทศเกี่ยวกับการตรวจราชการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายภายในและการเชื่อมต่อกับภายนอก และ (6)ออกกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบการบริหารงานภาครัฐ อันจะเป็นรากฐานสำคัญของการเสริมสร้างภาระรับผิดชอบต่อผลงานและการตรวจราชการในแนวใหม่ ตอนที่ 2 ความตระหนักของข้าราชการต่อความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ ปิติ แก้วสลับสี วิจัยเรื่อง ความตระหนักของข้าราชการต่อความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ : ศึกษาเฉพาะกรณี สำนักงานปลักกระทรวงมหาดไทย = The offcials’ awareness of the importance of the official inspection of the inspectors : a case study of the Office of the Permanent Secretary , Minintry of Interior. กรุงเทพฯ : คณะพัฒนสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2542 . 117 หน้า. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2542 ( NRCT/RIC ) การศึกษาเรื่องความตระหนักของข้าราชการต่อความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการศึกษาเฉพาะกรณีสำนักงานปลักกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อการศึกษาระดับความตระหนักของข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อความสำคัญของการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (2) เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ กับระดับความตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับกอง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ใน 75 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 89 คน เก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่า T – test ผลการศึกษาพบว่า จากข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้กรอกข้อมูลส่งแบบสอบถามกลับคือจำนวน 76 คน พบว่าข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งในตำแหน่งหัวหน้า หน่วยงานระดับกอง และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด มีความตระหนังถึงความสำคัญในการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการการกระทรวงมหาดไทย ในภาพรวมอยู่ในระดับสูงทั้งในส่วนของความตระหนักในด้านกระบวนวิธีการตรวจราชการ ความจำเป็นของการตรวจราชการ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจราชการ จากผลการศึกษาวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมกับความตระหนักถึงถความสำคัญในการตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยจำนวนหนึ่งตัวแปร คือ ความคิดเห็นของข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อบทบาทของคณะกรรมการพัฒนาจังหวัด ( กพจ.) และคณะกรรมการพัฒนาอำเภอ (กพอ.) ข้อเสนอแนะ (1) การให้จังหวัดจัดเตรียมการสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากการแจ้งแผนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณแล้ว ควรจะต้องมีการแจ้งประเด็นเรื่องที่จะตรวจติดตาม และข้อมูลอื่น ๆ ให้จังหวัดทราบ เพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้าด้วย (2) ควรจะต้องมี การอบรม สัมมนา หรือเพิ่มเติมหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการเกี่ยวกับระบบการตรวจราชการให้กับข้าราชการสำนักงานปลักกระทรวงมหาดไทยมีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของระบบการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (3) ในระหว่างการตรวจราชการในพื้นที่เกี่ยวกับการสั่งการ หรือให้สอดคล้องกับการสั่งการ หรือให้ข้อเสนอแนะจังหวัดหรือหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้เป็นระบบหรือรูปแบบมาตรฐาน ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น (4) ควรต้องพัฒนาปรับปรุงระบบและรูปแบบการบริหารองค์กรประชาคมท้องถิ่นให้เป็นทางการยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยกับท้องถิ่น ในอนาคต (5) ควรจะต้องมีการปรับปรุงระบบการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แยกออกจากระบบบริหารให้ชัดเจน ตอนที่ 3 การตรวจราชการในหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ระดับปริญญาและรายละเอียดสาขาวิชา วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต รัฐประศาสนาศาสตร์ ปีที่จบการศึกษา 2509 ชื่อนิสิต จำนง บุญชู ชื่อวิทยานิพนธ์ การตรวจราชการในหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา Not Available กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการ จัดการปกครองท้องที่ การบำบัดทุกข์บำรุงสุข การป้องกัน สาธารณภัย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ นับว่า เป็นกระทรวงที่ปฏิบัติภารกิจสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ชีวิตประจำวันของชาวไทยทั่วประเทศ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ กระทรวงมหาดไทยจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติ ราชการของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น รวมทั้งการให้คำแนะนำชี้แจงแก่ผู้รับการตรวจด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้น จากผลการศึกษาค้นคว้าผู้เขียนเห็นว่ายังมีปัญหา บางอย่างเกี่ยวกับระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ควรจะได้รับ การแก้ไข ปรับปรุง ปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ (1) ปัญหาเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะแต่งตั้ง ให้เป็นผู้ตรวจราชการ ผู้ตรวจราชการควรจะเป็นผู้มี ประสบการณ์เกี่ยวกับงานในสาขาต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย และความต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น มีความรู้ไม่ต่ำกว่า ปริญญาตรีในสาขาวิชาปกครอง เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มาแล้วไม่น้อยกว่า 14 ปี และมีประวัติดีเด่นในราชการ ฯ (2) ปัญหาเกี่ยวกับการมอบหมายงานพิเศษให้ผู้ตรวจราชการ ฯ ไม่ควรให้มากเกินไป งานส่วนใหญ่ควรเป็นงานที่เกี่ยวข้อง กับงานในหน้าที่ของผู้ตรวจตามปกติ และควรมอบหมายงานที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ เพราะไม่มีคนอื่นสามารถปฏิบัติได้ดี เท่า (3) ปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มพูนสมรรถภาพของผู้ตรวจราชการ ฯ ควรจะจัดทำโดยจัดทำคู่มือผู้ตรวจราชการ จัดให้มี สัมมนาผู้ตรวจราชการ แจ้งแผนงานและโครงการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย ส่งสำเนารายงานผลการปฏิบัติงาน ของผู้ตรวจแต่ละคนให้ผู้ตรวจอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ และจัดทำ เอกสารวิชาการเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงาน ตามหลักวิชาการบริหารงานสมัยใหม่ (4) ปัญหาเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลงานที่รับการ ตรวจ ควรจะได้กำหนดแบบพิมพ์สำหรับใช้ในการติดตามและ ประเมินผลงานให้รัดกุม (5) ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการตรวจราชการ การตรวจ ราชการโดยเฉพาะการตรวจราชการตามโครงการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยตามส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ควรจะได้มี การวางแผนการตรวจไว้ล่วงหน้าเป็นขั้น ๆ ตอนที่ 4 การตรวจราชการและการบริหารงานในหน้าที่จเรตำรวจ กรมตำรวจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระดับปริญญาและรายละเอียดสาขาวิชา วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่จบการศึกษา 2511 ชื่อนิสิต สุวรรณ สุวรรณเวโช ชื่อวิทยานิพนธ์ การตรวจราชการและการบริหารงานในหน้าที่จเรตำรวจ กรมตำรวจ ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา อ. ถนอม ศุขสาตร เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของจเรตำรวจที่แสดงออกในการบริหารเป็นหลัก ลักษณะของงานประเภทใหญ่ ๆ ของจเรตำรวจ คือ การตรวจงาน ตรวจตัวบุคคล และตรวจสถานที่ราชการของกรมตำรวจ เพื่อให้ทราบว่าได้ดำเนินไปตามระเบียบแบบแผน กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนโครงการและแผนงาน ที่วางไว้หรือไม่ ประชาชนได้รับผลในการปฏิบัติราชการของ ตำรวจสมตามนโยบาย หรือความมุ่งหมายของทางราชการมากน้อย เพียงใด เป็นต้น (1) ในด้านการจัดองค์การ สำนักงานจเรตำรวจควรจัดแบ่ง ออกเป็น 2 กองกำกับการและมีแผนกลาง แผนการเงินและพัสดุ แผนกสถิติ และแผนภูมิขึ้นตรงต่อสำนักงานจเรตำรวจ (2) เกี่ยวกับสภาพสถานที่ทำงานและสิ่งแวดล้อม ให้ ปรับปรุงหรือก่อสร้างอาคารสำนักงานจเรตำรวจให้เหมาะสม (3) ให้จเรตำรวจมีอำนาจตรวจราชการทางด้านตัวบุคคล และอาคารสถานที่ในกองบังคับการตำรวจสันติบาล (4) พิจารณาแต่งตั้ง ผู้ที่เหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจ โดยเฉพาะควรจะพิจารณาแต่งตั้งจากผู้บัญชาการ อาวุโสเป็นอันดับแรก (5) ไม่แต่งตั้งผู้กระทำผิดหรือบุคคลที่กรมตำรวจไม่พึงปรารถนามาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ (6) ให้สำนักงานเลขานุการกรมทำหน้าที่บริหารงานบุคคล หรือตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจขึ้นต่างหาก เพื่อจะได้มีคณะกรรมการการบริหารงานบุคคลของกรมตำรวจโดยเฉพาะ (7) ส่งเสริมขวัญในการทำงานด้วย การพิจารณาให้ความดีความชอบด้วยความเป็นธรรม สนับสนุนให้เกิดสัมพันธภาพในหมู่ ข้าราชการในปีหนึ่ง ๆ บ่อยครั้งขึ้น (8) หาวิธีที่จะให้ทราบข้อเท็จจริงในการตรวจราชการ ได้แน่นอนยิ่งขึ้น (9) ให้มีการตรวจราชการในปีหนึ่ง ๆ บ่อยครั้งขึ้น (10) จัดให้มีการประเมินผลของการตรวจราชการ และผลที่ หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับจากการตรวจราชการ (11) หาลู่ทางให้เกิดความร่วมมือประสานงานกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ในกรมตำรวจ ตอนที่ 5 การตรวจราชการในระดับกระทรวงของระบบบริหารราชการไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระดับปริญญาและรายละเอียดสาขาวิชา วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่จบการศึกษา 2512 ชื่อนิสิต บุญสิน ชุ่นสั้น ชื่อวิทยานิพนธ์ การตรวจราชการในระดับกระทรวงของระบบบริหารราชการไทย ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา ดร. จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ การศึกษาแนวความคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจ ราชการ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะการตรวจราชการที่ดี เสนอวิวัฒนาการการตรวจราชการของประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 4 สมัย สมัยสุโขทัย ศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัย รัชการที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมัย พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2501 และสมัยของคณะ ปฏิวัติจาก พ.ศ. 2501 ถึงปัจจุบัน แล้วสรุปว่าทุกสมัย หากหัวหน้าหน่วยราชการไปตรวจราชการด้วยตนเองแล้ว จะได้ผลดีกว่า มอบหมายให้ผู้แทนไป ผู้เขียนยังได้นำเอาระบบการตรวจ ราชการมาเสนอ กล่าวถึงตำแหน่งของหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบในการตรวจราชการของ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รวมทั้งวิธีการในการตรวจ ปัญหาและ อุปสรรคในการตรวจราชการเป็นรายกระทรวงได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตร กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นกระทรวง กลาโหมอันเป็นเรื่องของฝ่ายทหาร กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม เพราะทั้งสามกระทรวงไม่มีตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง แล้ววิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค ในการตรวจราชการกระทรวงต่าง ๆ ดังกล่าว พร้อมกับสรุปและเสนอแนะในการตรวจราชการ ตอนที่ 6 รายงานประมวลผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2546 ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและคณะ ได้ประมวลผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2546 ( ตุลาคม 2545 - กันยายน 2546 ) สรุปสาระสำคัญ ได้ดังต่อไปนี้ 1. นโยบายการปฏิรูปการศึกษา 5 ประการ 1.1 การปฏิบัติรูประบบการศึกษา การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีโครงสร้างที่เปิดกว้างหลากหลายในรูปแบบและวิธีการจัดการเพื่อเอื้อให้ประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงทั้งในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนทุกกลุ่มอายุยังไม่สามารถจัดให้ได้ครบตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้น กลุ่มอายุ 6 - 11 ปี สามารถจัดได้ร้อยละ 100 แต่ในกลุ่มอายุ 12 - 14 ปี ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี จัดได้ร้อยละ 82.23 สามารถวิเคราะห์ได้ว่า นักเรียนที่จบ ป.6 ไม่สามารถเข้าเรียนต่อในชั้น ม.1 ได้ทุกคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดช่วงอายุ มีการบูรณาการการเรียนรู้ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเทียบโอนผลการเรียนกันได้และในภาพรวมพบว่าการจักการศึกษานอกโรงเรียน และการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่ดำเนินการในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะการตั้งรับและมีความจำกัดในรูปแบบการบริการยังไม่ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย สมควรส่งเสริมและขยายเครือข่ายให้กว้างขวางครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับนักเรียนที่จบ ป. 6 จำนวนหนึ่งซึ่งมีทุกจังหวัด ไม่ได้เข้าเรียน ม.1 เนื่องจากมีฐานะยากจนขัดสนและบ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนขยายโอกาสหรือโรงเรียนมัธยมศึกษาและไม่สามารถเข้าเรียนในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนได้เนื่องจากอายุยังไม่ถึง 15 ปี ขอเสนอแนะให้เขตพื้นที่การศึกษาสำรวจและดำเนินการให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าเรียนจนถึงชั้น ม.3 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี 1.2 การปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษามีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาทุกระดับให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน มีการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ และโรงเรียนแกนนำปฏิรูปการเรียนรู้สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่การพัฒนาบุคลากรแกนนำเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษายังไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วถึง จึงเห็นสมควรเร่งรัดสัดส่วนและพัฒนาสถานศึกษาให้มีการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) และพัฒนาครูต้นแบบ ครูแกนนำ ที่มีความรู้เรื่องหลักสูตรเพิ่มขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 1.3 การปฏิรูประบบบริหารและการจัดการศึกษา ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และกฏหมายกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการให้ชัดเจนเพื่อมิให้การปฏิบัติงานซ้ำซ้อนทับกันระหว่างส่วนราชการและเพื่อความมีเอกภาพในการดำเนินงานตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ผลการดำเนินงาน พบว่า การจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงานหลัก 5 หน่วยงาน และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษา 175 เขต และการเตรียมความพร้อมที่รองรับการกระจายอำนาจทางการศึกษา การบริหารบุคคล วิชาการและงบประมาณ การกำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลสมควรให้ผู้บริหารสถานศึกษาระดมทรัพยากรในท้องถิ่นสนับสนุนการศึกษาโดยมิต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ในเรื่องงบประมาณสถานศึกษาส่วนมาก ยังไม่เข้าใจแนวปฏิบัติการบริหารงบประมาณมุ่งเน้นผลงาน (Performance Based Budheting) ครูและผู้บริหารบางส่วนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอน และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ อีกทั้ง ขาดความมั่นใจในการบริหารงานของท้องถิ่น เห็นสมควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การถ่ายโอน และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา 1.4 การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิตครู การพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับ การเป็นวิชาชีพชั้นสูง ดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของคณะอนุกรรมการปฏิรูปและบุคลากรทางการศึกษาให้มีองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษามีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสถาบันวิชาชีพ ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ผลการดำเนินงานไม่ปรากฎชัดเจน ในส่วนที่ดำเนินการแล้วคือ มีการพัฒนาครูที่เน้นผลิตครูแนวใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาครูไม่มีวุฒิทางการศึกษาโดยสามารถเทียบโอนผลการเรียนและประสบการณ์การทำงานได้ และโครงการพัฒนาผู้บริหารประจำการให้ได้รับวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตการบริหารการศึกษาให้แก่ผู้บริหารที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษามีการยกระดับมาตรฐานและควบคุมการประกอบวิชาชีพครู และพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานสถานศึกษาให้มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่เหมาะสมกับวิชาชีพชั้นสูง มีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ วิธีการพัฒนาเน้นการฝึกอบรมในด้านคุณธรรม จริยธรรมของการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ 1.5 การปฏิบัติรูปทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา พบว่า ภารกิจสำคัญคือการปรับปรุงโครงสร้างแผนงบประมาณเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณและการประหยัดทรัพยากรการประมาณการค่าใช่จ่ายรายหัวการศึกษาควรจัดทำระบบฐานข้อมูลพื้นฐาน และมีปัญหาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก สถานศึกษาควรจัดทำระบบฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวได้อย่างเหมาะสมและให้ความเสมอภาคโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนและนักเรียนทุกคนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานใกล้เคียงกัน 2. นโยบายการเตรียมความพร้อมของเขตพื้นที่การศึกษา และการปฏิบัติตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษา ผลการตรวจราชการ พบว่า เขตพื้นที่การศึกษา 175 เขต ได้ดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการทุกด้าน คือ ด้านการบริหารงาน การบริหารบุคคล และการวางระบบงาน ซึ่งดำเนินการไปด้วยดีมีปัญหาบ้างในความแตกต่างความพร้อมของเขตพื้นที่การศึกษา และศักยภาพของผู้บริหาร อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในการบริหารเขตพื้นที่การศึกษาคือ มีข้อจำกัดในเรื่องระเบียบ ขั้นตอน และกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังไม่ประกาศใช้ ทำให้ขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน กระทรวงศึกษาธิการควรมียุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้าใจให้ผู้บริหารครู – อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ชุมชน และประชาชน เพื่อมองภาพรวมและจุดประสงค์การปฏิรูประบบบริหารและการจัดการศึกษา ผลการดำเนินงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาพรวมผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (Bench mark) ร้อยละ 70 ทุกด้าน คือด้านกายภาพร้อยละ 75.71 ด้านบุคลากรร้อยละ 73.4 ด้านการบริหารและการบริการร้อยละ 75.6 ด้านวิชาการร้อยละ 74.6 ในภาพรวมทุกด้านร้อยละ 74.8 และพบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความพึงพอใจในการดำเนินงานทุกด้านสำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาปกติของการบริหารจัดการในระยะการเปลี่ยนแปลงและเป็นปัญหาที่ท้าทายความรู้ความสามารถและศักยภาพของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จากการตรวจราชการในภาพรวมพบว่านโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลมีความชัดเจนมีการกำหนดยุทธศาสตร์การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ถือปฏิบัติได้ เป้าหมายตรงประเด็นและเน้นที่ผลลัพธ์จึงส่งผลให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ การแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ในภาพรวม พบว่า สถานศึกษาในระดับประถมศึกษาส่วนมากปลอดยาเสพติด ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษามีจำนวนน้อยมาก จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ผลการสำรวจสถานศึกษา จำนวน 30,815 โรงเรียน นักเรียน จำนวน 7,827,251 คน พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่บำบัดและรักษาหายแล้ว 60,599 คน คงเหลือผู้ที่ติดยาเสพติด จำนวน 495 คน และกลุ่มผู้ค้า 11 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะหมดไป ตามนโยบายประกาศชัยชนะสงครามยาเสพติดในเดือนธันวาคม 2546 นี้ 4. นโยบายพิเศษ คือโครงการอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) จากการตรวจราชการ พบว่าส่วนมากดำเนินการได้ดี มีการแก้ปัญหาวิธีการจัดการที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันครบทุกคน เช่น การจัดโครงการร่วมกับชุมชนและส่วนราชการต่าง ๆ การจัดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ฯลฯ เป็นการบูรณาการ การจัดอาหารกลางวันให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน สำหรับอาหารเสริม (นม) พบว่า สถานศึกษามีการจัดให้นักเรียนครบ แต่มีปัญหาไม่ได้รับนมตามกำหนดเวลา ซึ่งอยู่ในช่วงการถ่ายโอนงบประมาณไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินการเรื่องนี้ พบว่า มีผู้บริหารสถานศึกษาได้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จัดโครงการส่งเสริมโครงการอาหารกลางวันแบบบูรณาการทำให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารครบทุกวัน เช่น โครงการวันเกิดเพื่ออาหารกลางวัน 200 วัน กินฟรีโดยชุมชนมาช่วยจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน ทุกคนทุกวัน ตอนที่ 7 รายงานการประมวลการตรวจราชการ เขตตรวจราชการที่ 2 ปีงบประมาณ 2547 สำนักผู้ครวจราชการ ประจำเขขตตรวจราชการที่ 2 รายงานการประมวลผลการตรวจราชการ เขตตรวจราชการที่ 2 ปีงบประมาณ 2547 เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา นโยบายที่เป็นจุดเน้นพิเศษ และนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ ได้ปฏิบัติ ในรอบครึ่งปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 - 31 มีนาคม 2547 สรุปได้ดังต่อไปนี้ ผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา 1. เขตพื้นที่การศึกษา 1 ของทุกจังหวัดมีปัจจัยทางการบริหารพร้อมกว่าเขตพื้นที่การศึกษา 2 และ 3 แต่ทุกเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้ใช้ศักยภาพทางการบริหารผ่านช่วงวิกฤต ของการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ 2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยทุกรายวิชาร้อยละ 43.21 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยทุกรายวิชาร้อยละ 42.17 โดยส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่การศึกษา 14 ของทุกจังหวัด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา 2 และ 3 3. ประชากรในเขตตรวจราชการที่ 9 มีโอกาศเข้ารับการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ร้อย ละ 81 และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า ร้อยละ 86 แต่ต้องให้ความสำคัญกับอัตราการคงอยู่ของประชากรวัยเรียน ระดับดังกล่าวมากขึ้น โดยพบว่าประชากรกลุ่มอายุ 15 - 17 ปี ยังขาดโอกาสเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอีกเกือบร้อยละ 50 4.สถานศึกษาได้รับการประเมินภายนอก ร้อยละ 32.89 5. สถานศึกษามีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการใช้ยังน้อย โดยมีการใช้ Internet ร้อยละ 26.95 และมีการจัดทำ Website ของตนเองร้อยละ 10.55 6. วิทยาลัยชุมชนจังหวัดพิจิตรช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นแต่ควรลดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของผู้เรียน ผลการดำเนินงานตามนโยบายพิเศษ และเร่งด่วน 1. การมีรายได้ระหว่างเรียน สถานศึกษา ได้สนับสนุนให้นักเรียนมีการทำงานหารายได้ระหว่างเรียน
หมายเลขบันทึก: 50330เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ด่วน  อยากทราบว่า การถ่ายโอน บัญญัติไว้ในกฎหมายใดบ้าง แต่ละฉบับสาระสำคัญคืออะไร ปัจจุบัน ปัญหา อุปสรรค ในถ่ายโอน เป็นอย่างไรบ้าง เจริญพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท