งานบุญเข้าพรรษาบ้านปากท่า


การทำอาหารถวายพระ ๒๘ รูป ซึ่งฉันวันละมื้อเดียว ตอนเช้าเวลา ๐๗.๓๐ น.ติดต่อกัน ๗ วัน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้เขียนเลยค่ะ

เหมือนห่างหายกันไปนาน แต่ไม่ได้เงียบหายไปไหนไกลค่ะ หลังจากช่วยกันกับคุณศิลาในการส่งโครงการองค์กรสุขภาวะโดยการพัฒนาตนเองจากภายในและการสร้างพื้นที่ความสุข เข้ารับการพิจารณาทุนสนับสนุนกิจกรรมจากสสส. จนทราบผลที่น่ายินดีว่าได้รับทุนดังที่คุณศิลาได้เขียนถึงไว้แล้วที่บันทึกของเธอ เจ้าโครงการสองเราก็คุยกัน ปรึกษาหารือกันตลอดค่ะ แม้ว่าตัวผู้เขียนเองจะไม่ได้มาฝากร่องรอยว่าได้เข้ามาใน G2K เพื่อติดตามข่าวสารเป็นครั้งคราว

ผู้เขียนมีภารกิจงานบุญตามเทศกาลที่คำขอทำให้ได้มีโอกาสร่วมสร้างบุญกุศล ตั้งแต่กิจกรรมธรรมยาตราโอกาสฉลองพุทธชยันตีองค์ดำนาลันทา ของ เสถียรธรรมสถาน โดย ท่านแม่ชีศันสนีย์ มาจนถึง การได้ช่วยคนข้างกายจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่และความสะดวกของ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เกษม เขมรังสี ศูนย์ ๔ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พระจำนวน ๒๘ รูป จะต้องเข้าจำพรรษาที่นี่ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕

ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เกษม เขมรังสี ศูนย์ ๔ นี้กำเนิดมาจากการที่ท่านพระครู เกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี) แห่งวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบที่ดินมรดกกว่ายี่สิบไร่ที่ได้รับจากโยมมารดาให้แก่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างศูนย์วิปัสสนากรรมฐานเพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนาอย่างยั่งยืน

สถานที่แห่งนี้คนข้างกายผู้เขียนได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น ให้เป็นคนออกแบบและดำเนินการก่อสร้างให้กับ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ก่อสร้างกันมาร่วมปี หากน้ำไม่ท่วมหนักดังครั้งที่ผ่านมาก็คงเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว น้ำท่วมแค่เดือนกว่าก็จริงหากแต่ทำให้งานล่าช้าไปอีกสามสี่เดือนทีเดียว

ระหว่างที่การจัดการของคณะเจ้าหน้าที่ของยุวพุทธฯยังวุ่นกับการจัดอาคารสถานที่ให้พระเข้าจำพรรษาคนข้างกายก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำบุญถวายอาหารพระ โดยเราสามารถทำได้อย่างประณีต รสชาติดีตามความชำนาญและประสบการณ์ที่เราทำอาหารรับรองผู้มาเยือนบ่อยๆ

อย่างไรก็ดี การทำอาหารถวายพระ ๒๘ รูป ซึ่งฉันวันละมื้อเดียว ตอนเช้าเวลา ๐๗.๓๐ น. ติดต่อกัน ๗ วันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้เขียนเลยค่ะ

  • เริ่มกันตั้งแต่เตรียมรายการอาหารในแต่ละวัน อาหารต้องดีต่อสุขภาพ พระฉันแล้วอยู่ท้อง และท่านฉันแบบพระป่าคือ พิจารณาอาหารที่วางตั้งบนโต๊ะ หยิบอาหารทุกอย่างทั้งคาว หวาน ผลไม้ ใส่รวมกันลงในบาตรแล้วจึงไปนั่งฉันอย่างสำรวม มีสติ ดังคำสวดที่ผู้เขียนพอจำได้คร่าวๆว่าอาหารนั้นเพื่อการยังชีพ ไม่ใช่การขบฉันเอารสชาติอร่อย เราจึงควรจัดอาหารที่ไม่เป็นน้ำแกง แต่ก็ไม่แห้งแล้งจนท่านฝืดคอ ในฐานะแม่งานผู้เขียนต้องนั่งคิดรายการอาหารทั้ง ๗ วัน เพื่อสร้างสมดุลของประเภทอาหารและวิธีการปรุง เป็นต้นว่าไม่ใช่มีแต่ของทอด ของใช้น้ำมันบ่อยๆ เน้นอาหารไทยที่ใช้เครื่องสมุนไพร เครื่องเทศประกอบ 

แต่ละวันจะมีอาหารคาว ๓ อย่าง มีของทานประกอบที่ไม่จำเป็นต้องฉันร่วมกับข้าว ๑ อย่าง ของหวาน ๑ อย่าง ผลไม้ ๑ อย่าง และ จัดน้ำปานะไว้ให้สำหรับตอนเย็น ๑ อย่าง สรุปก็คือ วันละ ๗ รายการ

 

  • เราต้องระดมกำลังคนในบ้านซึ่งมีแค่ พี่น้อย หมู-ลูกสาวพี่น้อย ผู้เขียน ไปขอแรง(จ่ายค่าแรง) คนในละแวกบ้าน ได้ พิณ ซึ่งเก่งการทำผัดไทย คล่องแคล่ว แรงดี ในการทำอาหารไทย ได้ แจ๋ว เก่งการทำขนมไทยทั้งขนมหม้อ ขนมถาด การต้มน้ำสมุนไพร และได้ ป้าแกละ ซึ่งเต็มใจมาเป็นลูกมือ ในการ ล้าง ปอก หั่น สับ ซอย เครื่องปรุง

 

  • เมื่อได้กำลังคน ก็ต้องจัดระบบการจ่ายของสด ของแห้งที่จะใช้ ให้ไม่สับสน ให้พอใช้ ต้องรู้ว่าของคุณภาพดีจะได้มาอย่างไร

 

  • การประกอบอาหารแต่ละวันต้องให้ถวายของที่ปรุงสดใหม่ ทำเสร็จทันเวลาทีคนของยุวพุทธฯจะขับรถมารับเวลา ๖ โมงเช้า นี่หมายถึงทุกคนต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเป็นอย่างช้าตลอด ๗ วัน อะไรที่เตรียมไว้ได้บ้างตั้งแต่เย็นค่ำก็หั่นจัดเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ

 

  • ภาชนะที่จะใส่อาหารถวาย เราก็ไม่ได้มีมากมาย ส่วนใหญ่ยืมจาก พิณ ต้องเตรียมภาชนะที่ดูดี จัดวางอาหารให้สวยงามไปเลยจากทางเรา เมื่อขนไปถึงศูนย์วิปัสสนาฯ ไม่ต้องไปเท ไปถ่ายใส่อะไรอีก แค่เปิดพลาสติกคลุมอาหารออกก็ตั้งโต๊ะให้พระมาพิจารณาได้เลย

 

  • ดูแลให้ทีมแม่ครัวได้รับความสะดวก ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย เช่น ครัว ซึ่งปรุงอาหาร ตั้งหม้อ ตั้งกระทะ ต้ม เคี่ยว ผัด ใช้ที่บ้านพี่น้อย ซึ่งครัวก็เป็นครัวเล็กๆระดับทำอาหารเลี้ยงคนในบ้านไม่กี่คน ต้องจัดหาเตาฟู่ไฟแรงพอมาใช้กับการทำอาหารปริมาณมาก

       บางอย่างผู้เขียนก็เป็นคนลงมือทำเอง เช่น น้ำพริกอ่อง และ ไข่ยัดไส้ ซึ่งคิดวิธีการที่จะทำให้พระหยิบได้สะดวกโดยใช้ใบตองห่อแยกเป็นชิ้นๆ

ครัวบ้านผู้เขียนยังเป็นครัวชั่วคราวที่บนนอกชาน (ครัวที่ต่อเติมใหม่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ) ยิ่งไม่สะดวกเข้าไปใหญ่ ทีมแม่ครัวต้องได้บุญมากแน่ๆเพราะทำครัวไป บริจาคโลหิตแก่ยุงที่มากลุ้มรุมไป เนื่องจากครัวบ้านพี่น้อยเป็นครัวบ้านๆ เปิดโล่งสี่ด้าน แม้จะบ่นยุงบ้างแต่ก็ไม่มีใครหงุดหงิดอารมณ์เสีย เพราะตั้งจิตให้เป็นกุศลกับงานที่กำลังทำนี้

โอกาสที่ได้ทำบุญถวายอาหารพระติดต่อกัน ๗ วันนี้ ทำให้ผู้เขียนมีความสุข อิ่มใจไม่น้อย ถือเป็นการได้เจริญสติในกิจที่ทำไปในตัว ความติดขัด อุปสรรคบางประการเป็นบททดสอบที่ทำให้ไม่หลง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเข้าวัดปฏิบัติธรรม คิดว่าที่ทำนี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมจากการทำงานนั่นเอง ตั้งใจมอบเป็นกุศลแก่คุณแม่ในโอกาสวันแม่ด้วยเลย และขอให้ทุกท่านได้รับผลแห่งบุญนี้โดยทั่วเช่นกันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 498290เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2012 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดร.ยุวนุช

  • อาจารย์ใส่ใจในทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอนจริงๆ ค่ะ .. ขออนุโมทนาบุญแด่อาจารย์นุช และครอบครัว รวมทั้งผู้ร่วมปฏิบัติบูชาในครั้งนี้ด้วยค่ะ
  • ชอบจังค่ะ ไข่ยัดไส้ห่อด้วยใบตอง ครีเอทสุดๆ

สวัสดียามเย็ยค่ะอาจารย์

อนุโมทนา...สาธุ ชื่นชมกุศลผลบุญด้วยนะคะ....ทั้งทีมเลย

สวัสดีค่ะคุณพี่ยุวนุช

มาขออนุโมทนาบุญด้วยคนนะคะ

สุข สงบ ในวันหยุดค่ะพี่นุช

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะเจ้าค่ะ  :) 

 

พี่นุช อยู่เบื้องหลัง

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ อยู่เบื้องหน้า

ผม ... อยู่บนกระเบื้องเฟื่องฟูลอย ;)...

ขอให้พี่นุชและครอบครัวที่ความสุขมาก ๆ ครับ ;)...

ขอให้น้ำไม่ท่วมแหละ

พี่นุชคะ มาอ่าน ชื่นชมและขออนุโมทนาบุญด้วยคนหนึ่งค่ะ

หวังใจว่า เมื่อเสร็จภารกิจงานจะได้ร่วมช่วยงานบุญของพี่นุชบ้างค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมอนุโมทนาบุญครั้งนี้ด้วยกันค่ะ

ขอให้มีความสุขกาย สุขใจกันถ้วนหน้านะคะ

  • พี่นุชเจ้า..

ขออนุโมทนาบุญด้วยอีกครั้งและอีกครั้ง   (=^^=)   การทำอาหารติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 วัน  สำหรับพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย   และทุกสิ่งที่พี่นุชทำนั้นช่างดูประณีต..เรียบง่าย แต่ง่ายงาม   ชอบค่ะ  

 

กุฏิ..หรือเปล่าคะ?   เห็นแล้วนึกถึง "หลวงพี่พิทักษ์"    ไม่รู้ว่าไปจำพรรษาที่พัทลุงจะเป็นอย่างไรบ้าง

อิ่มบุญครับอาจารย์นุช ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่นุช
ยิ่งอ่านยิ่งพบว่าพีนุชมีความสุขสงบในทางบุญ ทั้งรู้สึกขอบพระคุณที่นำสุขมาฝากมอบให้ทุกครั้งที่ได้อ่าน ไม่ได้มานานในระบบนะคะ แต่ก็อ่านจากtablet เสมอค่ะ อนุโมทนาบุญ นะคะ ^^

อบคุณที่มาร่วมอนุโมทนาบุญนะคะน้องแป๊ดคุณแจ๋ว ,คุณแสงแห่งความดีและ

คุณต้อมเนปาลี เอาคุณต้อมไว้ท้ายเพราะจะได้ตอบคำถามว่าภาพอาคารเล็กๆนั้นคืออะไร เป็นกุฏิเวลาพระมาจำพรรษา เป็นเรือนพักเวลามีฆราวาสมาปฏิบัติธรรมค่ะ จะมีทั้งหมดราว ๕๐ หลัง กุฏิวิปัสสนาจารย์อยู่ต่างหาก เอาไว้เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดพี่คงได้ถ่ายภาพมาให้ชมกัน

  • กำลังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าพี่นุชหายไป
  • แต่ละเมนูน่ากินมาก
  • ชอบแนวคิดที่มีผักผลไม้
  • พระบ้านผมจะชอบผักน้ำพริก
  • ใครเอาไปถวายหมดประจำ
  • แต่ถ้าเป็นหมูย่าง ไม่มีรูปใดฉันเลย
  • ขอสาธุด้วยคนครับพี่
  • อนุโมทนาบุญกับกุศลผลบุญครั้งนี้ด้วยค่ะง
  • พี่นุชได้ทั้งบุญได้ทั้งปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งค่ะ
  • ตอนนี้ดีใจมากค่ะที่ Happy Ba ที่พี่นุชเคยนำเสนอในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เราไปทำกันมาหลายครั้ง ฮิตติดตลาดแล้วนะคะ หลาย ๆ ท่านนำเสนอ Happy Ba ในพื้นที่และมุมมองของตนเองได้สวยงามมากค่ะ อ่านไปแล้วหลายบันทึกมีทั้งความซาบซึ้งประทับใจและความสดใสเบิกบานก่อเกิด High Emotion และ Happy Community มากมายค่ะ
  • ว่าง ๆ จะรวบรวม link ให้พี่นุชอ่่านเพลิน ๆ ค่ะ เราจะได้ชื่นชมผลงานกัลยาณมิตรทุกท่านไปพร้อม ๆ กัน บางท่านพูดถึงพี่นุชบ่อย ๆ จะนำมาแปะไว้ให้นะคะ
  • ค่ำนี้ตั้งใจจะรวบรวมเอกสารประกอบคำบรรยายส่งให้คุณหมออ้อเตรียมการอบรมที่จะถึงนี้ค่ะ รอของพี่นุชด้วยนะคะ แล้วจะส่งไปพร้อมกันอีกวันสองวันนี้ก็คงท้นค่ะ
  • ขอบคุณพี่นุชมากค่ะที่จุดประกายทางปัญญาในหลายเรื่องทำให้ Human KM by Enneagram กับ Ba for Happy Workplace เดินทางไปด้วยกันอย่างมีความสุขค่ะ

ขอบคุณคุณSila Phu-Chaya นั่นแหละค่ะ ที่ทุ่มเททำงานทั้งเขียนทั้งตอบ ใส่พลังลงไปเช่นนี้ทำให้ได้รับผลตอบกลับมาที่น่าประทับใจ Happy Ba ของเราสนุกแน่ค่ะ

ร่วมอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ..หลวงพ่อเกษมฯได้เมตตาแสดงธรรมแก่ญาติโยมอย่างต่อเนื่อง..สถานปฏิบัติธรรมเป็นสัปปายะอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท