ถ้าจะยาก มันก็แค่ครั้งแรก


แค่ผ่านชิ้นแรกไปให้ได้ ชิ้นต่อไปมันก็ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเราอีกแล้ว

     เมื่อวานยังไปทำงานที่ภาควิชาพยาธิอยู่เลย แล้ววันนี้ก็มาปรากฏตัวที่โตเกียวเสียแล้ว แปลกนะที่มาญี่ปุ่นคราวนี้ มีความรู้สึกเหมือนไม่ได้มาเมืองนอกเมืองนา มันเหมือนกับเดินทางจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพยังไงยังงั้นเลย ตั้งแต่ก่อนมาก็มัวแต่ทำงาน ไม่ได้มีความรู้สึกตื่นเต้นเหมือนตอนมาครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะอะไรนะเหรอ ก็เพราะว่าตอนนี้กรุงโตเกียวไม่ใช่ดินแดนที่ผมไม่รู้จักอีกต่อไป

     ผมอดนึกไปถึงเมื่อก่อนไม่ได้ตอนที่เริ่มต้นทำงานวิจัยครั้งแรก ร่วมกับจินตนาและอาจารย์ขจรศักดิ์ ที่เปรียบเทียบการทดสอบ Weil Felix test กับ IFA สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคสครับไทฟัส ไอ้เรื่องทำแล็บนะไม่กลัวอยู่แล้ว เพราะมันอยู่ในสายเลือด แต่ที่ต้องมานั่งวิเคราะห์ มานั่งเขียนบทความนี่ซิ เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม อาจารย์ก็ช่างกะไร อยากทำอีท่าไหน ทำมาได้เลย อาจารย์คอยอ่าน คอยวิจารณ์ แล้วก็แก้ไขให้ ผมก็เริ่มเรียนรู้การทำงานวิจัยมาตั้งแต่ตรงนั้น ความใหม่ของมันที่เราไม่คุ้นเคย นี่แหละที่ทำให้เรากลัวไปเสียก่อน แต่เนื่องจากมีคุณอำนวยที่ดีอย่างอาจารย์ขจรศักดิ์ ทำให้ทั้งจินตนาและผมค่อยๆ ได้เรียนรู้และซึมซับกระบวนการทำงานวิจัย นี่ถ้าต้องเริ่มงานวิจัยครั้งแรกโดยไม่มีคุณอำนวยที่ทั้งเก่งทั้งดีช่วยล่ะก็ สงสัยป่านนี้คงเลิกทำงานวิจัยไปนานแล้ว

     การทำงานวิจัย ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราเข้าใจกระบวนการ และการออกแบบการทดลอง เพราะมันมีหลักที่ตายตัว เพียงแต่อาจจะพลิกแพลงไปได้พอสมควร ก่อนอื่นที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ คำถามวิจัย หรือ research questions อะไรที่เราอยากรู้ มันจะเป็น guideline บอกทิศทางเราอยู่แล้วว่าเราต้องทำอะไรต่อไปเพื่อให้สามารถตอบคำถามที่เราสงสัยได้ กระบวนการวิจัยเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาครอบ เพื่อให้เราสามารถตอบคำถามได้อย่างสมบูรณ์และน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องรอง และจะยิ่งรู้สึกง่ายขึ้น ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญมาคอยแนะนำ แต่ที่หลายๆคนไม่ค่อยอยากจะทำ ก็เพราะความไม่คุ้นเคย ทั้งการตั้งคำถามและแนวทางในการตอบคำถามที่ตั้งไว้ เรื่องนี้ไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ ลองเริ่มทำโปรเจ็กแรกดูสักครั้งก็จะเริ่มเข้าใจ หากตอกย้ำด้วยโปรแจ็คต่อไป ก็จะเริ่มคุ้นเคย ความยากของมันจึงอยู่ที่การทำใจให้ได้ลองกับครั้งแรก และหากสามารถสร้างให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับผลงานที่ออกมาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดกำลังใจในการสร้างสรรค์งานชิ้นต่อไป ลองดูซิครับ มองงานที่ทำประจำอยู่ทุกวันก่อนก็ได้ ว่ามีปัญหาอะไร ทำอย่างไรจึงจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำงานได้เร็วขึ้น ประหยัดขึ้น ผลถูกต้องแม่นยำสูงขึ้นเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากขึ้น ฯลฯ แค่ผ่านชิ้นแรกไปให้ได้ ชิ้นต่อไปมันก็ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเราอีกแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #r2r#วิจัย
หมายเลขบันทึก: 49736เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2006 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พบคห. ยินดีของคุณ mitocondria อดนึกและ คิดในใจไม่ได้ว่า คงอยู่ญี่ปุ่นแล้วแน่  ๆ และต่อไปเราจะได้ติดตามอ่านบันทึกแล้ว ไชโย !!!

เอ.. ญี่ปุ่นนี้ มีอะไรดีน๊า คุณ mitoฯ ถึงได้เขียนบันทึกได้ทันทีที่ไปถึง อยู่เมืองไทยหลายเดือนเขียนไม่ออก

ยินดีต้อนรับกลับบ้าน gotoknow ค่ะ
มาเร็วกว่าที่คิด..เนาะ

ความยากของมันจึงอยู่ที่การทำใจให้ได้ลองกับครั้งแรก

มันก็จริงนั่นแหละค่ะ   กว่าจะ build  อารมณ์ให้ทำได้มันยากๆๆ   อันนี้เพราะมันไม่ได้อยู่ในสายเลือด...คล้ายๆ ว่าไม่ได้ born to be    หรือไม่ได้มีความชอบเป็นทุนเดิม   

แต่ทุกอย่างมันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีแรงกระตุ้น   แรงเชียร์และการสนับสนุนที่เหมาะสม

อยากฟังพี่กานต์เล่าว่า   ทำไมถึงชอบทำวิจัย (และทำได้ดี)   

 

อ้าว! ไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วหรือนี่
  • เหงาก็เข้ามาเขียนบล็อกนะ
  • คิดถึงครอบครัวก็เข้ามาเขียนบล็อกนะ
  • คิดถึงใครๆก็เข้ามาเขียนบล็อกนะ
  • คิดถึงพี่เม่ยให้แหงนมองฟ้า เห็นเดือนเห็นดาวก็เอามาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้...(ไหมล่ะ พี่เม่ยจำแม่นเลยที่คุณไมโตเคยพูดไว้)
พี่เม่ยคอยอ่านค่ะ....
  • ยังไม่ทันเหงา ก็มาเขียนบล็อกได้
  • ยังไม่ทันคิดถึงใคร ก็มาเขียนบล็อกได้
  • แค่มีสักเรื่องที่อยากบอกให้รู้ แค่นั้นก็เขียนบล็อกได้แล้ว
  • แต่ใช้ไม่ได้กับที่หาดใหญ่
  • แปลกมากครับ
  • พออยู่ต่างประเทศเขียนแบบน้ำไหลเลยครับ
  • รออ่านอีกครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท