บ้านปันรัก


ก่อนนอนคืนหนึ่ง...แม่น้องดวงใจบอกว่า ได้เขียนประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยมะเร็ง ส่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขอให้ช่วยอ่านให้หน่อยว่าเป็นอย่างไร

โดยส่วนตัวแล้วอาจไม่ค่อยเข้าใจศัพท์ทางวิชาการแพทย์มากสักเท่าไหร่นัก แต่หลังจากได้อ่านเรื่อง “บ้านปันรัก” นี้แล้ว พบว่าเป็นข้อเขียนที่เขียนอ่านเข้าใจง่าย ได้ความรู้สึกร่วมไปด้วยขณะที่อ่าน ...จึงได้ขออนุญาติแม่น้องดวงใจ นำมาเผยแพร่ โดยบอกกับแม่น้องดวงใจว่า....สิ่งที่เขียนไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใด ๆ หรอกนะ หากเราเขียนมาจากใจ จากประสบการณ์และความรู้สึกของเราแล้ว ..นั่นแหละคือรางวัลชีวิตที่เราได้รับทันที

คุณงามความดีของบันทึกฉบับนี้... ขอมอบให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งทุกท่าน ขอให้ท่าน มีขวัญกำลังใจและ กำลังกาย ในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป…ขอให้คุณพระคุ้มครองในทุกย่างก้าวของชีวิต

..............

เล่าสู่กันฟัง....

อาสาสมัครศูนย์มิตรภาพบำบัดศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานี

เส้นทางสู่บ้านปันรัก ตำบลทุ่งรัง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น เราเริ่มต้นกันด้วยการมีความรัก ตั้งแต่ตัวเราเอง คนรอบข้าง หรือแม้กับการที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย ญาติ ความรู้สึกมันซับซ้อน ทุกคนไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง

เจ้าคำว่า มะเร็ง ก็แตกต่างกัน คุณเคยเห็นแววตาของผู้ป่วยมะเร็งบ้างไหม คุณอยากเป็นมะเร็งหรือไม่ คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องตอบ แต่ถ้าคุณได้สัมผัสกับผู้ป่วยหรือญาติ คุณจะรู้ว่าคุณต้องทำอะไรซักอย่าง...........ในศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานี มีกลุ่มคนเล็ก ๆกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยแพทย์/พยาบาล/ผู้ช่วยเหลือคนไข้/ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก/ญาติผู้ป่วยมะเร็ง ได้ร่วมกันในการที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งตามกำลังและศักยภาพที่มีอยู่ บางคนก็เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยมะเร็งข้าง ๆ บ้าน บางคนก็มาสอนเย็บเต้านมทั้งกับนักศึกษาที่ต้องการมาร่วมเป็นจิตอาสา กลุ่มนี้เราเรียกว่า “ อาสาสมัครมิตรภาพบำบัด ศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยดีเสมอมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผู้จุดประกายความรักให้กับเรา และเราในนามอาสาสมัครมิตรภาพก็จะทำการสานต่อความรักต่อๆไป

อะไรทำให้เราต้องไปสร้างบ้านปันรัก ในชุมชน คุณรู้ไหม? ผู้ป่วยและญาติหลังจากผ่านกระบวนการรักษาก็ต้องกลับไปอยู่ในชุมชน เรามีคำพูดจากผู้ป่วยและญาติมาเล่าให้คุณฟัง

จาการที่ได้ทำกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างกำลังใจให้กับเขา เราได้อะไรตั้งมากมาย คุณลองมาฟังดู

เสียงสะท้อนจากภรรยา..... ผู้ป่วยชายมีปัญหาต้องให้อุจจาระออกมาทางหน้าท้อง เป็นผู้นำครอบครัวมีภรรยาและลูกมาเฝ้า ภรรยาบอกว่าเดี๋ยวรอบนี้ต้องหาตังค์ซื้อถุงติดหน้าท้องให้สามีเพราะเขาให้เบิกจำกัด มาโรงพยาบาลทุกวันไหนจะกิน ไหนจะใช้ ลูกต้องเอาเงินไปโรงเรียนภรรยาพูดไปร้องไห้ไป

เสียงสะท้อนจากลูกชาย...... ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามรายนี้นอนที่บ้านไม่ได้รับการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง ลูกชายบอกว่าแม่ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะไปตั้งแต่เช้ากว่าจะได้พบแพทย์ก็ตอนเย็น มีปัญหาใส่สายสวนปัสสาวะตลอดเวลา วันนั้นหน้าท้องตึง ลูกชายที่เป็นคนเฝ้าโทรมาบอกไม่รู้แม่เป็นอะไร เราชาวอาสาสมัครมิตรภาพออกไปดูกัน(บ้านอยู่ใกล้ศูนย์มะเร็ง) พบว่าสายสวนปัสสาวะตัน เราพาอาสาสมัครลงไปให้กำลังใจเรียนรู้ของจริง ลูกชายบอกว่าผมไม่ได้นอนมาหลายคืน เพราะแม่นอนไม่หลับ เราสอบถามผู้ป่วยบอกว่าบางคืนก็อยากหลับแต่ถ้าหลับกลัวไม่ตื่นมาเห็นหน้าลูกหลาน แล้วอีกไม่นานผู้ป่วยก็ไม่ตื่นอีกเลย ลูกชายเล่าว่าแม่ไปอย่างสงบไม่ทรมานเลยขอขอบคุณทุกคน

เสียงสะท้อนจากผู้ป่วย......ขณะนั่งทำกลุ่มกันมีเสียงโทรศัพท์ผู้ป่วยรายหนึ่งดังขึ้น และปิดโทรศัพท์เล่าว่าลูกชายโทรมาบอกว่ากองทุนในชุมชนเขาไม่อนุมัติ เขาบอกว่าฉันเป็นมะเร็งแล้วใครอยากจะเป็นนะพี่

เสียงสะท้อนจากอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วย.....ผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งปากมดลูกเข้ามาเป็นอาสาสมัครกับเรา เล่าว่าพี่รู้ไหมตั้งแต่หนูป่วยต้องได้รับการใส่แร่ จะไปๆมาๆก็เปลืองเงินหนูตัดสินใจรักษายาว ผัวหนูไปมีเมียน้อย ลูกหนูก็ยังเล็ก อยู่กับแม่หนูตั้งใจจะรักษากลับไปอยู่กับลูก พูดแล้วน้ำตาคลอเบ้า..หนูคิดถึงลูก

เสียงสะท้อนจากพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในตึก.......ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยและญาติต้องใช้/การให้ผู้ป่วยคลายเครียดในกิจกรรมง่าย ๆ เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไรดี เริ่มต้นจากนักศึกษาปริญญาโทมาดูแลผู้ป่วยสอนการทำเหรียญโปรยทาน พอนักศึกษากลับผู้ป่วยและญาติยังนั่งทำ……

นี่เป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่เรารู้ จากการดูแลในโรงพยาบาล สุดท้ายผู้ป่วยต้องกลับไปอยู่ในชุมชนพร้อมกับมีเพื่อนที่ชื่อว่ามะเร็งไปด้วย .................

นอกจากนี้การที่ศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานีนำทีมวิจัยโดย คุณ อุไรวรรณ ศุภศิลป์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ขณะนั้นทำงานในตำแหน่ง หัวหน้างานสามัญหญิง และปวารณาตนเป็นอาสาสมัครมิตรภาพ ทำวิจัยเรื่องโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบประคับประคองแบบมีส่วนร่วมในชุมชนอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยผู้วิจัยได้ใช้ทฤษฎีการมีส่วนร่วมเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินงานและใช้การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบประคับประคองเป็นตัวกำหนดแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยในชุมชนโดยเลือกศึกษากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม/ผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้ใหญ่บ้าน/ตัวแทนเจ้าหน้าที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล/เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข โดยเก็บรวบรวมโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมรวมถึงการสนทนากลุ่มและ จากการสนทนาเรารับรู้ว่ายังมีคนที่ต้องการเป็นผู้ให้อีกมากแต่จะต้องทำอย่างไรเท่านั้น

จากผลการศึกษาพบว่า.. กระบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบประคับประคองประกอบด้วย 2 ระดับ คือการค้นพบปัญหาและการมีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหา ส่วนการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาและการติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ปัญหายังไม่สามารถดำเนินการเนื่องจากที่ผ่านมาชุมชนไม่ได้มองว่ามะเร็งเป็นโรคที่ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งจากการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราชาวอาสาสมัครมิตรภาพจะผลักดันให้มีการดำเนินการโดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนตามศักยภาพของชุมชนเราจึงดำเนินการจัดหาพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมความคิดที่ออกมาจากชุมชนอาสาสมัครมิตรภาพในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพื้นที่ตำบลทุ่งรัง อำเภอกาญจนดิษฐ์โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบ้านปันรักขึ้น โดยมีอาสาสมัครมิตรภาพศูนย์มะเร็งเป็นประธานซึ่งเป็นคนในพื้นที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

เราจะต่อยอดความคิดในการทำกิจกรรมง่าย ๆ ผู้ป่วยและญาติทำที่บ้านได้ซึ่งจะขยายไปในบ้านปันรักทุกแห่งที่ชุมชนพร้อมเช่น............

การทำกลุ่มเหรียญโปรยทาน.....ซึ่งทางแผนกสามัญหญิงดำเนินการของงบสนับสนุนเบื้องต้นในงานศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เราชาวมิตรภาพจึงมีแนวคิดว่ากิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมเด่นซึ่งต้องทำครบวงจร ตั้งแต่ให้ผู้ป่วยและญาติทำ/รับซื้อ/หาตลาดจำหน่าย รายได้หักเป็นทุนกำไรให้กับผู้ป่วยและญาติและจะต่อยอดไปในพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครมิตรภาพโดยจะเริ่มที่บ้านปันรักอำเภอกาญจนดิษฐ์

ต่อยอดกับการทำกลุ่มเย็บเต้านมเทียม.....เพราะเรามีอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญด้านนี้ทำงานสม่ำเสมอ

เราจะมีการพัฒนาต่อยอดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในการใช้เต้านมเทียม

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดไม่สามารถเขียนออกมาเชิงทฤษฎีได้ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราชาวมิตรภาพบำบัดทำด้วยใจ อาจจะไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนงานทุกอย่างที่สำเร็จจะไม่เอ่ยนามคงจะไม่ได้เราขอขอบพระคุณ ดร.วัชราภรณ์ สกุลพงศ์ ที่เป็นทั้งที่ปรึกษา พี่เลี้ยง เป็นกำลังใจให้กับเราชาวอาสาสมัครมิตรภาพศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานี มาโดยตลอด

การก่อเกิดบ้านปันรัก....เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการมอบความรักซึ่งกันและกันเราจะใช้ความรักเป็นเส้นทางในการพัฒนา เราจะใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมาเป็นวิธีการซึ่งมีความหวังว่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาและเราจะใช้กำลังใจ/กำลังทรัพย์ที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต11เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการต่อยอดกับพื้นที่ใน 7จังหวัดภาคใต้ตอนบน ต่อไป

อารยา แสงศรี

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

ศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี


หมายเลขบันทึก: 495935เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

แวะมาให้ดอกไม้ไว้ก่อนเป็นกำลังใจ

ค่อยตามมาอ่านทีหลังค่ะ  :)

อยากหลับแต่ถ้าหลับกลัวไม่ตื่นมาเห็นหน้าลูกหลาน - ใจสั่นเมื่ออ่านมาถึงประโยคนี้สัมผัสได้ถึงความกลัวกังวล ความเป็นห่วงเป็นใย ความรัก....

ขอให้กำลังใจทุกๆท่านผู้มีส่วนร่วมในการใช้ความรัก รักษาโรคมะเร็งค่ะ งานที่ท่านทำ มีความหมายมากมายเหลือเกิน...

...บางครั้งที่เหนื่อย ไม่สบาย นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ...ก็ยังดีกว่าหลับแล้วไม่ตื่นมาเห็นหน้าลูก.... เคยมีความคิดแบบนี้เหมือนกันครับ จนกระทั่งค้นพบว่า การภาวนา ช่วยให้หายกังวลได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนทุกท่านครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ทุกท่านนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ญาติ และอาสาสมัครมิตรภาพศูนย์มะเร็ง ทุกท่านค่ะ

มาอ่่านตามสัญญา

อ่านจบแล้ว และตระหนักถึงน้ำใจและความงดงามของผู้มีส่วนร่วมทุกคน

โลกงดงามด้วยน้ำใจที่มีต่อกัน

เป็นกำลังใจให้ค่ะ  :)

ขอบคุณดอกไม้ที่มอบให้เป็นกำลังใจ แก่ผู้ป่วยมะเร็ง ขอบคุณครับ

คุณปริมครับปัจจุบันบุคคลท่านนี้ ได้ลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว ห้วงสุดท้ายของชีวิตได้อยู่ท่าม กลางลูกหล่นและไต้มีพระธรรมเป็น ที่พื่งทางใจในลมหายใจสุดท้ายของ ชีวิต@แม่ดวงใจเล้าให้ฟังเช่นนั้น

ขอบคุณมากนะครับ

ขอบคุณคุณพ.แจ่มจำรัสมากนะครับ@กำลังใจของผู้ป่วยมะเร็งเป็นสิ่ง สำคัญแม้นจะทุกข์จะเจ็บแค่ไหน ชีวิตที่เหลืออยู่ก็มีค่าเสมอ@ ขอบคุณครับ

ถ้าคุณได้สัมผัสกับผู้ป่วยหรือญาติ คุณจะรู้ว่าคุณต้องทำอะไรซักอย่าง ใช่เลยค่ะ สำหรับประโยคนี้ เราต้องทำอะไรซักอย่างจริงๆ ขอบคุณค่ะที่ทำให้รู้สึกว่าต้องทำจริงๆ ขอบคุณที่ทำให้เห็นและเกิดแรงบันดาลใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท