“ทำไมคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ”


เดิมเรามองว่าการที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือ เป็นเพราะเขามองไม่เห็นความสำคัญ มองไม่เห็นประโยชน์ของการอ่าน ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด จริงๆ แล้วทุกคนรู้ถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือ เห็นได้จากพ่อแม่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกที่ยังเป็นนักเรียน ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่อ่านหนังสือ ท่องตำรับตำรา เพื่อที่จะสามารถสอบได้คะแนนดีๆ จบมาจะได้มีโอกาสหางานดีๆ ทำได้ ซึ่งหากวิเคราะห์ตรงนี้ให้ดี มันน่าจะหมายความว่า การอ่านสำหรับผู้ใหญ่ หรือคนที่เป็นพ่อแม่แล้ว มันมีความหมายเพียงแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งในการเรียนหนังสือให้ได้ดีเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสืออีกต่อไป เหตุผลที่ช่วยสนับสนุนตรงนี้ก็คือ เมื่อเรียนจบและได้ทำงานแล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่อ่านหนังสืออีก หรืออ่านก็เพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น

สภาพการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่สามารถทำให้ผลผลิตของการศึกษากลายเป็นผลผลิตที่มองเห็นความจำเป็นของการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอ่านและการเรียนรู้เป็นเพียงบันไดเพื่อการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา เพื่อเป็นใบเบิกทางในการก้าวเข้าไปสู่การมีงานทำเมื่อผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะไม่มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ปรากฏชัดแก่สายตาของเด็กรุ่นหลังๆ ก็คือการไม่อ่าน ซึ่งเด็กก็จะเกิดการซึมซับ และลอกเลียนเอาพฤติกรรมเหล่านี้ไปเป็นพฤติกรรมของตัวเอง แม้ผู้ใหญ่จะพร่ำบ่นถึงความสำคัญของการอ่านมากเพียงใด มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กหันมาให้ความสำคัญกับการอ่าน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่แสดงออกมานั้นมันสื่อเป็นนัยว่า “ไม่ต้องอ่านก็ได้ เพราะผู้ใหญ่ก็ยังไม่อ่านเลย” เรื่องนี้คือปมที่สำคัญที่สุดของการส่งเสริมการอ่านในบ้านเรา เราช่วยกันรณรงค์ให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังแบเบาะมาหลายปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น แถมงานวิจัยบางชิ้นยังพบว่า แม้เด็กจะชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็กเล็ก แต่พอโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น เด็กกลับอ่านหนังสือน้อยลง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ ของเรา

ดังนั้นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ  การส่งเสริมให้วัยรุ่นรักการอ่าน โดยการสร้างห้องสมุดที่ดึงดูดความสนใจหรือที่เราพยายามเรียกว่า “ห้องสมุดมีชีวิต” จึงไม่น่าจะพอเพียงสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านให้สัมฤทธิ์ผลได้ การโน้มน้าวผู้ใหญ่ทุกคนให้หันมาอ่านหนังสือ หันมาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับตนเองอยู่ตลอด ทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ ทำให้การเรียนรู้คือสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต อยู่อย่างมีความสุขของทุกคนในสังคม วัตรปฏิบัติเช่นนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เด็กได้ลอกเลียน และเมื่อรวมกับวิธีการอื่นๆ ที่ได้ลงมือทำไปแล้ว ก็น่าที่จะทำให้สถานการณ์ของการแก้ไขปัญหาดีขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #ดอกไม้
หมายเลขบันทึก: 495585เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท