ความปรกติของสังคม?


“ความปรกติ” เป็นคำที่พบเห็นบ่อยและทั่วไปในสังคมปัจจุบันจนถือเสมือนหนึ่งว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจนัยของคำนี้ได้ถูกต้องและตรงกัน ความปรกติที่ในอดีตมีดัชนีชี้วัดจากศีล แต่ในปัจจุบันได้กลายพันธุ์ไปสู่ดัชนีชี้วัดจากการยึดเอาความปรกติจากพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่เป็นมาตรวัด เช่น

           

              -  สังคมเห็นว่าการทำแท้งกลายเป็นเรื่องปรกติเห็นจนชินตามข่าวสาร (ผิดศีลข้อหนึ่ง)

              -  สังคมส่วนใหญ่เห็นว่านักการเมืองคอรัปชั่นเป็นเรื่องปรกติในสังคมที่ต้องยอมรับความจริงขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อยเท่านั้นเอง (ผิดศีลข้อสอง)

              -  สังคมวัยรุ่นเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การเปลี่ยนคู่นอน มั่วเพศ เป็นเรื่องปรกติในสังคมปัจจุบัน (ผิดศีลข้อสาม)

              -  คนส่วนใหญ่มองว่าการพูดโกหกกลายเป็นเรื่องปรกติในสังคม (ผิดศีลข้อสี่)

              -  สังคมส่วนใหญ่มองว่าการดื่มสุราและของมึนเมาเป็นเรื่องปรกติในสังคมคนที่ไม่ดื่มกลับถูกมองว่าแปลกและเข้าสังคมไม่ได้ (ผิดศีลข้อห้า)

เป็นต้น

 

           สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยอมรับว่าพฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปรกติในสังคมไปแล้ว ซึ่งหากมีใครที่ประพฤติปฏิบัติตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้สังคมกลับมองว่า แปลก เป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญจะถูกถามกลับว่า มีด้วยเหรอคนดี ๆ อย่างนี้ เป็นต้น การที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปรกติในสังคม อาจจะเกี่ยวเนื่องมาจาก การสะสมของพฤติกรรมเหล่านี้แพร่กระจายขยายกลายเป็นค่านิยม และการเลียนแบบจนได้สร้างให้เกิดความชาชินและเคยชินให้กับสังคมโดยรวม จนมองว่าสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นมาตรฐานของดัชนีชี้วัดความปรกติของสังคมเข้ามาแทนที่ศีลธรรม สังคมส่วนใหญ่เห็นว่าการที่จะมองหาคนประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีลนั้นหาได้ยากเต็มทีในสังคมปัจจุบัน อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งพระสงฆ์ที่อยู่ในสมณะเพศบางรูปที่นอกรีต ก็ยังมีพฤติกรรมที่ปฏิบัติผิดต่อศีลห้า ก็ยังมีให้เห็นตามข่าวสารทั่วไป ซึ่งถ้าหากมีบุคคลใดที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีลก็กลับกลายว่า บุคคลนั้นถูกมองจากคนส่วนใหญ่ว่าแปลกกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม และมักจะตามมาด้วยคำถามดังกล่าวที่ว่า มีด้วยเหรอคนแบบนี้ ?

 

        ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงพระองค์ท่านเองไว้ว่า

            “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกกล่าวขัดแย้งกับเรา ผู้กล่าวเป็นธรรมจะไม่กล่าวขัดแย้งกับใคร ๆ ในโลก สิ่งใดที่บัณฑิตรับรองว่าไม่มี เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี สิ่งใดที่บัณฑิตรับรองว่ามี เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามี”

         สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่กล่าวเป็นธรรม (ชาติ) ซึ่งก็คือปรกติตามธรรมชาติที่เป็นอยู่จริง ไม่ได้กล่าวขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลก (คนส่วนใหญ่ที่คิดว่าตัวเองปรกติ) กล่าวขัดแย้งกับพระองค์ ซึ่งก็ถือว่าขัดแย้งกับความเป็นธรรม (ชาติ) หรือขัดแย้งความปรกตินั่นเอง

 

         “ศีล” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของไตรสิกขา เป็นพื้นฐานของความปรกติในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

         ศีล (ซึ่งแปลว่าปรกติ) คือ สอนให้สงบกายและวาจาด้วยศีล เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบในตัวเอง อย่างน้อยให้ถือศีลห้าให้เป็นปรกติวิสัย

 

        พุทธโอวาทก่อนปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่เสด็จไปยังภัณฑุคามและโภคนคร ตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุ ทั้งหลายด้วยธรรมเทศนา อันเป็นไปเพื่อโลกุตตราริยธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า

            “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจ ย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อยปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน”

 

ศีลโดยแก่นแท้ คือ ความปรกติ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญสุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยอย่างน้อยที่สุดควรยึดถือศีลห้าเป็นวัตรปฏิบัติ การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยกเอาศีลมาเป็นเบื้องแรกพื้นฐานของไตรสิกขานั้น เกี่ยวเนื่องจากทรงเห็นความสำคัญยิ่งของ “ความปรกติ” ซึ่งถ้าหากว่าเราตั้งมั่นในความปรกติเป็นเบื้องแรกแล้วการประพฤติปฏิบัติสิ่งใด ๆ ก็จะถูกต้องทั้งต่อสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตบนโลกนี้เป็นเบื้องถัดไป

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ปรกติ#ศีล
หมายเลขบันทึก: 495580เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท