“ครูอาชีพ หรือ อาชีพครู”


ในสังคมปัจจุบันความผันผวนของสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ที่บังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะวิกฤตคุณธรรม วัตถุนิยม พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สวนทางกับจิตใจซึ่งลดต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ในระยะหลัง มักจะมีข่าวที่ไม่ดีนัก เกี่ยวกับบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข่าวเกี่ยวกับครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม  ได้ทำให้สถานะของครูกระทบกระเทือน จากการดูถูก ดูแคลนจากสังคม เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการจำแนกแยกแยะครูออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ “ครูอาชีพ” กับ “อาชีพครู” อันกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายจากการปฎิบัติตนของครูเป็นตัวแปรสำคัญ กล่าวคือ “ครูอาชีพ” หมายถึง ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก มีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่จะเป็นครู ประพฤติตัวดี วางตัวดี เอาใจใส่ และดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู

ส่วนคำว่า “อาชีพครู" คือครูที่ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยใจรัก หรือสมัครใจ ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาชีพครู แค่สอนจบไปวันๆ หนึ่งก็พอแล้ว โดยไม่สนใจว่าศิษย์จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม ขอให้มีเงินเดือนตามวิทยฐานะก็พอ อนึ่งเมื่อผู้เป็นครูมีเจตนารมณ์ประสมปณิธานตามนัยข้างต้น ก็ย่อมจักส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของศิษย์ไม่มากก็น้อย ทั้งยังแสดงให้ประจักษ์ถึงคุณภาพครูอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตรงกับนัยที่กล่าวกันว่า “คุณภาพของศิษย์คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของครูอย่างไม่ผิดเพี้ยน” และยิ่งผนวกกับความผันแปรในสภาวะวิกฤตอันขาดแคลนศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เฉกเช่นสังคมปัจจุบันแล้ว ทำให้เป็นแรงกระตุ้น ยั่วยุ และท้าทายเยาวชนผู้เป็นทรัพยากรมนุษย์ของชาติในอนาคต ให้บังเกิดความสงสัย สนใจ ใคร่จักทดลองปัจจัยแปลกใหม่ที่รุมล้อมอยู่รอบด้าน กระทั่งพลัดเข้าสู่กับดักแห่งอบายภูมิอย่างไม่รู้ตัวและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปล่อยกายใจให้โลดแล่นไปตามแรงคึกคะนองของตน จนสุดกู่เกินที่จะเยียวยาแก้ไขให้กลับคืนได้จุดเดิม ด้วยขาดการชักนำและชี้ชวนให้ดำเนินชีวิตตามครรลองของมรรคผลที่ถูกต้อง ไม่ต้องลองถูกลองผิดให้เสียเวลาและเสียใจ เพียงแต่ผู้เป็นครูจะช่วยกันประคับประคองให้ความสนใจและใส่ใจ สละเวลายอมเป็นทางคู่ขนานเคียงคู่ไปกับศิษย์บ้างในบางขณะ ก็ย่อมจักช่วยให้ศิษย์สามารถฝ่าด่านมฤตยูของชีวิตบรรลุสู่เป้าหมายได้อย่างสัมฤทธิผลเช่นกัน

 สุดท้าย ข้าพเจ้าขอน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริถึงครูทุกคน ความว่า

"...ครูจะต้องเป็นผู้ประพฤติตนดีทั้งด้านวิชาการ คือต้องฝึกฝนตนให้มีความชำนาญในด้านความรู้ และวิธีสอน ส่วนด้านความประพฤติ จะต้องเป็นคนที่พร้อมทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างแก่ผู้พบเห็น เพื่อลูกศิษย์ได้เห็น และประทับใจในความสามารถ และความดีของครู ก็จะปฏิบัติตนตามแบบอย่าง..."

คำสำคัญ (Tags): #ดอกไม้
หมายเลขบันทึก: 495584เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 06:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท