บันทึกถึงดวงดาว 15


เป็นงานเขียนใน"วิทยาจารย์"(คุรุสภา)นิตยสารที่ไม่ไ้ด้วางจำหน่ายในท้องตลาด ขอนำมาเผยแพร่ครับ อาจจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย-(ขอสละสิทธิ์ในการรับรางวัลใดๆ ครับเพราะเป็นงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว--ปณิธิ)

บันทึกถึงดวงดาว 15 

กระท่อมดาริกา

น้องดาวที่รัก

        บันทึกฉบับนี้ พี่ขอเล่าเรื่องการเรียนการสอน   ที่พี่จัดตามความสนใจและความต้องการของนักเรียน มิใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย แต่พี่คิดว่าหากลองนำไปประยุกต์ใช้    ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่   ช่วยให้น้องดาวจัดการเรียนการสอนที่ “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ได้ รูปแบบการเรียนการสอนที่พี่จัดนี้พี่ขอตั้งชื่อให้เรียกง่าย ๆ ว่า “เรียนดีด้วย 4-สำ”      ซึ่งพี่นำไปใช้สอนเกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์ ประกอบไปด้วยลำดับขั้นของการสอน ดังนี้

สำ - 1 คือสำรวจ     หมายถึงการสังเกต  การทดลองเพื่อค้นหาความสนใจ     ความถนัดและความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคล พูดง่าย ๆ ก็คือค้นหาพื้นฐานความรู้ของนักเรียนก่อนสอนนั่นเอง ในขั้นนี้    ผลการสำรวจและการสังเกตของพี่ ปรากฏว่านักเรียนสนใจการแต่งคำประพันธ์และวาดภาพประกอบ บางคนแต่งคำประพันธ์ได้ดี บางคนวาดรูปได้ บางคนทำไม่ได้แต่สนใจอยากเรียน อยากทำได้ เมื่อสรุปผลสำรวจแล้วพี่จึงนำนักเรียนเข้าสู่ ขั้นที่ 2 ต่อไป

สำ - 2 คือสำรอง หมายถึงการให้ความรู้และทักษะปฏิบัติเพื่อนำไปใช้พัฒนางานให้เหมาะสมตามความสนใจ   ความถนัด  ความสามารถและความต้องการของนักเรียน   ตามผลที่พี่ “สำรวจ” มี  4  ขั้นย่อย ดังนี้

ขั้นที่ 1 ทักษะการแสวงหาความรู้            เป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักเรียนรู้จักสืบค้นและค้นคว้าหาความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหารายวิชาที่เรียน โดยพี่กำหนดหัวข้อและแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนจะค้นหาได้แล้วนำมาส่ง ทั้งนี้พี่ต้องทราบว่าแหล่งเรียนรู้นั้นมีข้อมูลอยู่จริง 

ขั้นที่ 2 ทักษะทางเทคโนโลยี      เน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ต่อเนื่องจากขั้นที่ 1        เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและการถ่ายภาพ พี่ให้นักเรียนได้ปฏิบัติเป็นรายบุคคล       แต่หากโรงเรียนน้องดาว ยังมีสื่อเทคโนโลยีไม่พร้อมก็อาจให้ทำเป็นกลุ่มได้  งานที่ได้ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาสัมพันธ์  กับเรื่องที่เรียนเท่านั้น เพราะขั้นนี้มีจุดมุ่งหมายคือ   “นักเรียนใช้เทคโนโลยีได้และใช้เป็น”     

ขั้นที่ 3 ทักษะการแต่งคำประพันธ์    ขั้นนี้ พี่กำหนดให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติเพราะเป็น “หัวใจ”    ของเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับหลักสูตร นักเรียนทุกคนต้องได้ปฏิบัติและต้อง “ผ่าน”  พี่ต้องเตรียมแบบฝึกที่ผ่านการทดลองใช้   ผ่านการปรึกษาและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านเนื้อหาและวิธีการ  นอกจากนี้ผลของการใช้ต้องยืนยันได้ว่าแบบฝึกทักษะนี้มีคุณภาพสามารถพัฒนาการแต่งคำประพันธ์ได้เป็นอย่างดี  ข้อควรระวังประการหนึ่งในการใช้แบบฝึกที่น้องดาวควรรู้ก็คือ  ไม่ควรให้นักเรียนฝึกด้วยกิจกรรมซ้ำ ๆ  เช่น เมื่อถึงเวลาเรียนก็แจกแบบฝึก  แล้วให้นักเรียนปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันหลายคาบ    เพราะย่อมสร้างความเบื่อหน่ายและจะทำให้นักเรียนไม่ใส่ใจที่จะฝึก    ดังนั้นพี่จึงมีกิจกรรมแทรกระหว่างฝึกเป็นระยะ ๆ เช่น ให้นักเรียนแสดงผลการฝึกด้วยการอ่าน การนำผลงานมาติดแสดงหน้าห้อง  การแลกเปลี่ยนผลงานที่ฝึกให้เพื่อนได้ชม   หรือเลือกผลงานที่นักเรียนกำลังปฏิบัติมาชมเชย แนะนำเพิ่มเติม เป็นต้น

ขั้นที่ 4 ทักษะการวาดภาพระบายสี สำหรับขั้นนี้ พี่ฝึกทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการวาดภาพระบายสีเท่านั้นไม่เข้มข้นลึกซึ้ง เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การแต่งคำประพันธ์มิใช่การวาดภาพในรายวิชาศิลปะปฏิบัติ    ฝึกเพื่อพัฒนาการวาดภาพของนักเรียนให้สอดคล้องกับคำประพันธ์ของตนเอง

สำ - 3 คือสำราญ หมายถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถตามความต้องการ ก่อประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น มี 4 ขั้นย่อย ดังนี้

ขั้นที่ 1 เรียนตามความสามารถ ความสนใจ และความถนัด

ขั้นที่ 2 การบริหารจัดการ

ขั้นที่ 3 การร่วมมือกันทำงาน

ขั้นที่ 4 เรียนสนุก มีความสุข

ทั้ง 4 ขั้นนี้ นอกจากนักเรียนจะมีงานของตนเองแล้วยังต้องเข้าร่วม  “กระบวนการกลุ่ม” เพื่อสร้างงานร่วมกัน พี่จะยืนดูอยู่ห่าง ๆ คอยสังเกตการณ์และช่วยแก้ปัญหาทั้งนี้ย่อมต้องใช้กระบวนการสังเกตการทำงานของนักเรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินพฤติกรรมและคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน  ตามแบบประเมินด้วย

       น้องดาวลองดูภาพตัวอย่าง  ที่นักเรียนช่วยกันจัดนิทรรศการ   “ภาพประกอบคำประพันธ์”แล้วน้องดาวลองคาดเดาดูซิว่า นักเรียนของพี่มีความสุขและความภาคภูมิใจแค่ไหน

สำ - 4  คือสำเร็จ หมายถึงการประเมินผลงานของนักเรียนหลังสิ้นสุดการเรียนการสอนและความพึงพอใจของนักเรียนครูและผู้ปกครอง      สำหรับการประเมินผลงานนักเรียนพี่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ประเมินผลงานเป็นรายบุคคล และส่วนที่ 2 ประเมินทั้งชั้นเรียน

      น้องดาว อาจเห็นว่า บันทึกนี้เป็นวิชาการไปสักหน่อย    แต่พี่คิดว่า ในการจัดการเรียนการสอนนั้น   ความสนุกสนาน   ความบันเทิงใจก็เป็นอุบายหนึ่งที่นำไปสู่การให้สาระความรู้    กับนักเรียนได้ทุกขณะ ทุกวิชาการเรียนอย่างมีความสุข   นักเรียนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์  ความรู้สึก ความคิด       และจินตนาการออกมาเป็นรูปธรรมได้       นั่นแสดงว่าการเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์แล้ว    และที่สำคัญก็คือ ครูสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจริง ๆ   เพราะเป็นการเรียนการสอนที่ยอมรับในความแตกต่างของบุคคลและจัดได้เหมาะสมกับความถนัด  ความสามารถ   ความสนใจและความต้องการตามข้อมูลพื้นฐานที่ได้สำรวจมาแล้วก่อนเรียนนั่นเอง

            น้องดาวลองใช้รูปแบบการสอน “เรียนดีด้วย 4-สำ”ที่พี่เขียนเล่ามาสักครั้งนะ แล้วจะรู้ว่าการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น...ไม่ใช่เรื่องยากเลยจริง ๆ

 รักและคิดถึง

      พี่ดิน

............................

(วิทยาจารย์ พฤษภาคม 2554)

คำสำคัญ (Tags): #ดาวดวงที่ 15
หมายเลขบันทึก: 495578เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาชื่นชมกระบวนการ 4 สำ ที่น่าทึ่งมากค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะ ;)

การเรียนการสอนที่มีการเตรียมความพร้อมและมีการวางแผนก่อน 

ประกอบกับเน้นเด็กในการเรียนรู้  ย่อมนำมาซึ่งผลสำเร็จในที่สุดค่ะ

...อาจนำมาประยุกต์เข้ากับคนทำงานได้นะครับ อาจารย์ ขอบคุณบันทึกดีดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท