การยอมรับนวัตกรรม


จากการไปศึกษาดูงานเรื่องการยอมรับนวัตกรรม  ณ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  เมื่อวันที่ 6  มิถุนายน  2555  จึงขอสรุปผลการศึกษาดูงาน  โดยใช้หลักทฤษฎีการยอมรับนวัตกรรม  และการตัดสินใจในนวัตกรรม  ดังนี้

ทฤษฎีการยอมรับนวัตกรรม (Innovation Adoption Theory)

 1. ขั้นสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness)

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  จะสร้างความตระหนักให้ประชาชนให้ประชาชนได้รับรู้  โดยการให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเปิดเผย  ให้ความรู้โดยการจัดอบรมมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรในด้านนั้น ๆ   การสื่อ ข้อมูลจะมีรายการวิทยุขององค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยตรง  มีวารสารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด   และ   ที่สำคัญจะมีการใช้ความถี่โดยวิทยุสื่อสาร  ซึ่งจะทำให้การรับรู้ข้อมูลและการประสานงานต่าง ๆ   ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับประชาชนมีความคล่องตัวและรวดเร็วเป็นอย่างมาก

 2. ขั้นสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest)

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  สร้างความสนใจแก่ประชาชนโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม   ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและความต้องการได้   เช่น   การเข้ามาสู่แผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  มี  3  ทาง  คือ 1. ประชาชนทำหนังสือร้องเรียนทางหนังสือและทางเว็บไซต์  2. ประชาคมหมู่บ้าน  ประชาชนสามารถเสนอความต้องการเพื่อบำบัดความเดือนร้อนได้โดยตรง  3. สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนำเสนอเข้าสู่แผน  ทั้งนี้  เมื่อประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้วจะส่งผลให้เขามีความสนใจในสิ่งที่พวกเขากำลังดำเนินการ

 3. ขั้นให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate)

          ในการประเมินค่าหรือประเมินผล   องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่จะใช้เครือข่ายการมีส่วนร่วม คือ  เครือข่ายที่ไม่มีสายบังคับบัญชาแต่ให้ค่าความไว้วางใจ  เชื่อมโยงไว้เพื่อไมตรีจิต  ผูกมิตรเพื่อแลกเปลี่ยน   หมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ  ทุกฝ่ายทราบอุดมการณ์  แล้วมาทักสานรูปแบบ  มาตรฐานแนบขับเคลื่อน   สร้างเพื่อนร่วมต่อสู้  เรียนรู้เพื่อปกป้อง  มีอำนาจต่อรอง  นำไปสู่ความเป็นพี่น้องอย่างเท่าเทียม   นอกจากใช้เครือข่ายการมีส่วนร่วมแล้วองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ยังใช้อนุญาโตตุลาการหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการประเมินผล

 4. ขั้นทดลอง (Trial)

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่จะนำสิ่งที่ได้กำหนดไว้ไปปฏิบัติ  โดยการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาและการจัดตั้งสมาคมแม่บ้าน  เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจริง ๆ  โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่จะเป็นผู้แนะนำและให้ความรู้

 5. ชั้นยอมรับ (Adoption)

          ประชาชนจะให้การยอมรับเมื่อได้มีส่วนร่วม  เช่น  การเชิญชาวบ้านมาประชุมถ้าสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อพวกเขาต่ออาชีพของเขาเขาจะมาร่วม  โดยยอมรับกติกาต่าง ๆ  ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ได้วางไว้

 การตัดสินใจในนวัตกรรม (Innovation-Decision Procees) 5 ขั้นตอนคือ

1. ขั้นความรู้ (Knowledge Stage)

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในรูปแบบสภากาแฟ  ทุกวันพุธของสัปดาห์    จะมีการประชุมคณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนแบบไม่เป็นทางการ  ทุกอย่างยุติที่สภากาแฟโดยคำนึง ถึงความต้องการของประชาชนเป็นอันดับแรก  จดบันทึกรายงานการประชุมเฉพาะเรื่องสำคัญ   นอกจากนี้ยังมีการประชุมประจำเดือนทุกเดือน  ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องได้พูดทุกคนต้องร่วมแสดงความคิดเห็น 

 2. ขั้นโน้มน้าว (Persuasion Stage)

          การโน้มน้าวให้มีส่วนร่วม  โดยจัดอบรมให้ความรู้  เชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร  และกระตุ้นให้พูดแสดงความคิดเห็นเพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งนั้นที่เขาได้มีส่วนร่วม  ทำให้เกิดความรับผิดชอบและเห็นความสำคัญ

 3. ขั้นการตัดสินใจ (Decision-making Stage)

          เมื่อต้องการทำสิ่งใดจะศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจ  โดยมีองค์ประกอบ  4  ประการ  คือ  1. ผู้นำท้องถิ่น  จะต้องมีความชัดเจนและโปร่งใสจริง  รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปฏิบัติ  2. สภาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  จะต้องทำหน้าที่การเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนให้เต็มความสามารถ  3. ข้าราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัด   จะต้องทำงานตอบสนองนโยบายของคณะผู้บริหาร  4. ประชาชน  จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา  โดยการจัดตั้งกลุ่มและสมาคม

 4. ขั้นลงมือปฏิบัติ (Implementation Stage)

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  จะปฏิบัติโดยอาศัยเครื่องข่ายทำงานกันเป็นทีมซึ่งสามารถทำงานทดแทนกันได้  โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่หรือภาคประชาชนจะต้องร่วมมือกัน

5. ขั้นยืนยันการปฏิบัติ (Confirmation Stage)

          เมื่อสรุปได้ว่าจะดำเนินการจะจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งใดทำก่อนสิ่งใดทำภายหลัง  โดยหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และแนะนำการปฏิบัติ

 

1.3 สรุปผลการวิจัย

          การศึกษาดูงาน  เรื่อง  กระบวนการยอมรับนวัตกรรม  กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่   ผู้ศึกษาได้กำหนดวิธีดำเนินการตามวัตถุประสงค์   คือ  1. เพื่อศึกษาข้อมูลโครงสร้างของ  อบจ.กระบี่   2. เพื่อศึกษากระบวนการนำนวัตกรรมมาใช้ในหน่วยงาน  3. เพื่อศึกษาการยอมรับนวัตกรรมของบุคลากรในหน่วยงาน  4. เพื่อศึกษาแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่น  โดยใช้แบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์  แบบสังเกต  ซึ่งผลการศึกษาสรุปตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

          1. ศึกษาข้อมูลโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  สรุปผลการศึกษา

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  แบ่งออกเป็น  2  ฝ่าย  คือ  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด   ฝ่ายบริหารประกอบด้วย  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด   และรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่มีทั้งหมด   8  กอง  1  หน่วยงาน  คือ  สำนักปลัด  กองกิจการสภา  กองแผนงานและงบประมาณ   กองคลัง  กองช่าง  กองการศึกษา  กองพัสดุ  กองป้องกัน  และหน่วยตรวจสอบภายใน

          2. ศึกษากระบวนการนำนวัตกรรมมาใช้ในหน่วยงาน  สรุปผลการศึกษา 

          จากการศึกษา  พบว่า  องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ใช้หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม  คือจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  โดยสภากาแฟ  จะมีการประชุมในรูปแบบสภากาแฟของคณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนทุกวันพุธสัปดาห์ละ  1  ครั้ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  เมื่อมีปัญหาจะนำมาพูดคุยในสภากาแฟเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ  รายงานการประชุมจดบันทึกเฉพาะเรื่องที่สำคัญเท่านั้น  ข้อขัดแย้งจะยุติในสภากาแฟ  และภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่จะมีการประชุมประจำเดือนทุกเดือน  ประกอบด้วย  คณะผู้บริหาร  ข้าราชการประจำ  และพนักงานจ้าง  ในการประชุมจะกำหนดให้ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมได้พูดแสดงความคิดเห็น  และในการบริหารงานจะคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งแรก

          3. ศึกษาการยอมรับนวัตกรรมของบุคลากรในหน่วยงาน  สรุปผลการศึกษา

          จากการศึกษา  พบว่า  จุดเด่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  คือ  หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม  โดยมีองค์ประกอบ  4  ประการ  คือ  1.ผู้นำท้องถิ่น  จะต้องมีความชัดเจนและโปร่งใสจริง  รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปฏิบัติ  2. สภาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด   จะต้องทำหน้าที่การเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนให้เต็มความสามารถ  3. ข้าราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัด  จะต้องทำงานตอบสนองนโยบายของคณะผู้บริหาร  4. ประชาชน   จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา   โดยการจัดตั้งกลุ่มและสมาคม  วิธีการเข้าถึงประชาชนจะให้ข้อมูลโดยการจัดรายการวิทยุ  ลงวารสาร   ใช้ความถึ่วิทยุสื่อสารเป็นสื่อกลางประสานงานระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับประชาชน  และนำความต้องการของประชาชนเข้ามาสู่แผนพัฒนา  1. ประชาชนทำหนังสือร้องเรียน  2. การทำประชาคมหมู่บ้าน   3. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          4.ศึกษาแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่น  สรุปผลการศึกษา

          จากการศึกษา  พบว่า  ในการนำนวัตกรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่น  ในการบริหารงานจะต้องยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม  มีความกระตือรื้อร้นในการทำงาน  ที่สำคัญจะต้องมีองค์ประกอบ  4  ประการ  คือ  ผู้นำท้องถิ่น  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ข้าราชการและประชาชน

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 495577เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท