หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (สาขาเกาหลี) ...อีกหนึ่ง "ใจนำพา ศรัทธานำทาง"


การใช้ “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง” เช่นนั้น จึงย่อมก่อเกิดเป็นความสุขของการเรียนรู้ เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ รวมถึงการก่อเกิดเป็นพลังชีวิตที่พร้อมจะฝ่าข้ามกับอุปสรรคที่ยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้า พร้อมๆ กับการก่อเกิดเป็นพลังทางจิตสาธารณะ

การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นหัวใจหลักของการ “ผลิตบัณฑิต”  เพื่อเป็นพลเมืองของสังคม  และยิ่งหากสามารถบูรณาการการเรียนการสอนที่ใช้ชุมชน และกิจกรรมเป็นฐานของการเรียนรู้ (Activity-Based Learning)  ยิ่งมีแนวโน้มในการช่วยพัฒนาให้บัณฑิตมีทักษะชีวิตที่ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ “เก่ง ดี มีความสุข”




โครงการ “พัฒนาขีดความสามารถและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม กรณีองค์การบริหารส่วนตำบลเลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม”  เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ที่มุ่งเสริมสร้างกระบวนการ “พัฒนาระบบและกลไกของการเรียนการสอน”  ทั้งในมิติการพัฒนาขีดความสามารถของผู้สอนและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน

 

 

โครงการดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนของสาขาภาษาเกาหลี (ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  โดยมีอาจารย์กนกกุล มาเวียง  เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ประกอบด้วยวัตถุประสงค์สำคัญๆ คือ (1) พัฒนาขีดความสามารถและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมในด้านภาษา สังคม และวัฒนธรรมเกาหลี (2) วัดผลสัมฤทธิ์ของชุดการสอนความรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีกับผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม  (3) สร้างแหล่งทดลองด้านการสอนภาษาเกาหลีเบื้องต้นของนิสิตเอกภาษาเกาหลี กรณีผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม 

 

 

 

 

เรียนรู้และแบ่งปัน :
กระบวนการเรียนรู้จริงผ่านปากคำของคนบ้านเดียวกัน

จุดเด่นของโครงการดังกล่าวมีหลายประเด็น  เป็นต้นว่า การเลือกพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม สอดรับกับจุดเด่นทางวิชาชีพที่สาขามีอยู่  เนื่องจากชุมชนตำบลเลิงแฝก เป็นชุมชนที่ชาวบ้านนิยมเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  ขณะที่กิจกรรมต่างๆ ก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปแต่เฉพาะประเด็นของการเสริมสร้างความรู้และทักษะในการใช้ภาษาเกาหลีเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายผู้ใช้แรงงาน, การหนุนเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวเกาหลี ผ่านมิติของการถ่ายทอดที่หลากหลาย ทั้งจากอาจารย์ นิสิต และชาวเกาหลีโดยตรง  รวมถึงชาวบ้านที่เคยเดินทางไปทำงานที่เกาหลี  

 

 

กระบวนการเช่นนี้ เป็นเสมือนการเรียนรู้ข้อเท็จจริงผ่านปากคำของ “คนบ้านเดียวกัน”  อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ผ่านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) จากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer Assist-PA)  ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมการเรียนรู้สามารถสัมผัสแตะต้องเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติงาน (Human Capital)  มิหนำซ้ำยังถือเป็นการถ่ายทอดบนพื้นฐานความคิดแห่งแบ่งปัน (share) ให้กับญาติมิตร เสริมสร้างความรักและความผูกพันของคนในชุมชนไปในตัว

 


 


ใจนำพาศรัทธานำทาง :
การขับเคลื่อนที่ยึดผู้เรียนเป็นหัวใจหลัก


ในทางกระบวนการของการคัดเลือก “นิสิตและชาวบ้าน” เพื่อเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) ร่วมกันนั้นมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ  กล่าวคือถึงแม้จะดำเนินการภายใต้กลไกหลักของการเรียนการสอนก็จริง แต่อาจารย์กนกกุล มาเวียง กลับไม่บังคับให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมในแบบ “ยกชั้นเรียน”  หากแต่ใช้กระบวนการกระตุ้น ชักจูงและโน้มน้าวให้นิสิตเข้าร่วมด้วยความสมัครใจเป็นที่ตั้ง  เช่นเดียวกับชาวบ้านก็ดำเนินการในทำนองเดียวกัน  ไม่มีการปิดกั้น หรือแม้แต่จัดตั้งกลุ่มใดๆ มารองรับ  หากแต่เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่าน อบต. แกนนำชุมชน  ครู และชาวบ้านโดยตรง  เสร็จแล้วค่อยมาจัดกลุ่มการเรียนรู้ หรือบูรณาการในทางสถานะเข้าด้วยกัน  โดยก่อนการเรียนการสอนนั้น ก็มีกระบวนการประเมินความคาดหวังก่อนเสมอ (Before Action Review : BAR)

 

 

และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการนั้น  อาจารย์และนิสิตได้สร้างสรรค์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างมีพลัง โดยเริ่มต้นจากการเปิดเวที “โสเหล่” เรื่องราวอันเป็นบริบทของชุมชน ผ่านเครื่องมือต่างๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้สภาพการณ์จริงของชุมชนผ่านเรื่องราวสำคัญๆ เช่น อาชีพ รายได้  ประเพณีวัฒนธรรม อาณาเขตของแต่ละหมู่บ้าน ฯลฯ 


กระบวนการดังกล่าว ไม่เพียงช่วยจัดกระทำข้อมูลทางชุมชน  (เรียนรู้คู่การเก็บข้อมูล)  ให้เป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังช่วยก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนิสิตกับชาวบ้านไปในตัว  รวมถึงการช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้าน ได้หันกลับไปสำรวจ “ต้นทุนทางสังคม” ของตนเองในอีกมิติหนึ่ง

 

 

กระบวนการเช่นนี้ ถึงแม้นิสิตและอาจารย์จะยืนยันว่าไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการจัดกระทำกับข้อมูลชุมชนด้วยเครื่องมือต่างๆ เท่าใดนัก  แต่ด้วยความตระหนักว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญ จึงเปิดใจที่จะกล้าคิดกล้าทำ – ทำไปเรียนรู้ไป แล้วค่อยปรับแก้ให้สมบูรณ์เป็นระยะๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนิสิตและชาวบ้าน หรือแม้แต่การศึกษาเรียนรู้และจัดกระทำข้อมูลชุมชนนั้น ล้วนเป็นการขับเคลื่อนที่ใช้ “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง” ทั้งสิ้น

และการใช้ “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง” เช่นนั้น  จึงย่อมก่อเกิดเป็นความสุขของการเรียนรู้  เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ  รวมถึงการก่อเกิดเป็นพลังชีวิตที่พร้อมจะฝ่าข้ามกับอุปสรรคที่ยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้า  พร้อมๆ กับการก่อเกิดเป็นพลังทางจิตสาธารณะ (Public Mind) ที่พร้อมจะเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมไปพร้อมๆ กัน  

 

 

ด้วยเหตุนี้โครงการดังกล่าวจึงเริ่มต้นได้อย่างน่าทึ่ง  มองเห็นปลายทาง “เก่ง ดี มีสุข”  อยู่ไม่ไกล  เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เน้น “ผู้เรียน” (นิสิตและชาวบ้าน) เป็นศูนย์กลาง  ไม่บังคับกะเกณฑ์การเข้าร่วม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  นิสิตสามารถพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพผ่านกระบวนการถ่ายทอดที่ใช้  “ชุมชนและกิจกรรม” เป็นฐานของการเรียนรู้

ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนที่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีก็มีพื้นที่ในการสื่อสารแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านอย่างสมเกียรติ

 

เหนือสิ่งอื่นใด ถึงแม้โครงการฯ นี้จะยังไม่ใช่กระบวนการกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังให้ชาวบ้านหันกลับมาพลิกผืนแผ่นดินบ้านเกิดให้เป็นเงินเป็นทองเช่นอดีต  แต่กิจกรรมทั้งปวงก็ถือว่าเป็นกระบวนการอันสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันอันดีให้ชาวบ้านเดินทางสู่สังคมใหม่อย่างมีทักษะ และพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดอย่าง “มีความสุข”

 

 


หมายเหตุ
กิจกรรมวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2555
ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การเรียนรู้ศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น  ทิศทาง  อวัยวะของร่างกาย  เครื่องหมายจราจร  ตัวเลข  การบอกเวลา  สัญลักษณ์ในโรงงาน 

 

หมายเลขบันทึก: 494629เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรียนอาจารย์ แผ่นดิน

การเตรียมเยาวชนสู่อาเชี่ยน ด้วยการเรียนรู้

ที่ผมทำอยู่ก็ฝึกทักษะมัคคุเทศน้อย

เห็นทีต้องชวนครูคุยให้สอนเรื่องภาษาเพิ่มขึ้น

ใจนำพา ศรัทธานำทาง....

ไม่ว่าจะเรียน จะทำอะไร หากทำด้วยใจรัก ผลที่ออกมาก็มี ;) เป็นอย่างน้อย ใน AAR เป๋นที่แน่นอน นะคะ

ชื่นชมทุกๆ กิจกรรมสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยนี้จังค่ะ

"...กระบวนการเช่นนี้ ถึงแม้นิสิตและอาจารย์จะยืนยันว่าไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการจัดกระทำกับข้อมูลชุมชนด้วยเครื่องมือต่างๆ เท่าใดนัก  แต่ด้วยความตระหนักว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญ จึงเปิดใจที่จะกล้าคิดกล้าทำ – ทำไปเรียนรู้ไป แล้วค่อยปรับแก้ให้สมบูรณ์เป็นระยะๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนิสิตและชาวบ้าน หรือแม้แต่การศึกษาเรียนรู้และจัดกระทำข้อมูลชุมชนนั้น ล้วนเป็นการขับเคลื่อนที่ใช้ “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง” ทั้งสิ้น "

... ใจนำพา... ที่มาของการ... กล้าคิดกล้าทำ

"...และการใช้ “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง” เช่นนั้น  จึงย่อมก่อเกิดเป็นความสุขของการเรียนรู้  เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ  รวมถึงการก่อเกิดเป็นพลังชีวิตที่พร้อมจะฝ่าข้ามกับอุปสรรคที่ยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้า  พร้อมๆ กับการก่อเกิดเป็นพลังทางจิตสาธารณะ (Public Mind) ที่พร้อมจะเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมไปพร้อมๆ กัน  "

... ศรัทธานำทาง... สุขรายทางระหว่างการเรียนรู้ คือ"พลังชีวิต"

ที่พร้อมจะฝ่าข้ามอุปสรรค พร้อมเรียนรู้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม...ไปพร้อมๆกัน

 

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์ สำหรับข้อมูลการเรียนรู้...

ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ในทุกๆบันทึกค่ะ


...บันทึกนี้ ชวนให้นึกถึงภาพของเด็กชายแช่มภาพนี้ ที่นี่บ้านนาจังค่ะ

ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง...

 

ชื่นชมกิจกรรมนี้ค่ะ  และขอเป็นกำลังใจให้น้องทุกคนด้วยค่ะ

 

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

การงานของพี่ยังเข้มข้น หนักแน่นและมีทิศทางที่ชัดเจน ทรงพลังเสมอ  นั่นคือสิ่งที่ผมแตะต้องและสัมผัสได้เสมอมา

สำหรับโครงการนี้ฯ  อาจารย์ที่รับผิดชอบ  ยังไม่ได้ลงรากลึกไปกับกระบวนการสร้างมัคคุเทศก์  หาแต่เน้นไปยังกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มไปทำงานในเกาหลี  ขณะเดียวกันก็เปิดรับสมัครให้เด็ก เยาวชน หรืออื่นๆ เข้ามาเรียนรู้เสริมชีวิตและปัญญาไปพร้อมๆ กัน

ในอดีตชุมชนแถบนี้  มีโครงการจากต่างประเทศมากมายเข้ามาพัฒนาในชุมชน  เพราะเป็นพื้นที่ความเสี่ยง (ในบางเรื่อง)  และนั่นน่าจะเป็นรอยต่อหนึ่งที่เชื่อมโยงให้ชาวบ้านเดินทางไปเสี่ยงโชคที่เกาหลี  แต่ก็น่าเห็นใจครับ  พื้นที่/ชุมชน มีปัญหาเรื่องอาชีพมากๆ ดินฟ้าอากาศไม่เอื้อจริงๆ...เป็นที่กันดาน ขาดแคลนทรัพยากร ฯลฯ

ผมก็ยังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทชุมชนนี้อีกมาก  แต่จะไม่เพ่งมองไปถึงการทัดทานขบวนการทำงานในต่างแดน  เพราะเท่าที่เห็นก็พอเข้าใจและเห็นใจชุมชนเป็นอย่างมาก แต่ก็น่าชื่นใจว่าภาคท้องถิ่น และเครือข่ายอื่นๆ กลับมาให้ความสำคัญชุมชนตนเองมากขึ้น เริ่มวางระบบ ทางเลือกและทางออกสำหรับการสร้างชีวิต สร้างรายได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลบ้าน ไกลเมืองเหมือนที่ผ่านมา

...

 

สวัสดีครับ คุณ...ปริม pirimarj...

ตอนนี้ ม.มหาสารคาม  ปักธงเรื่องการบริการวิชาการแก่สังคมอย่างหนักแน่น  ปฏิรูปการเรียนการสอน  บูรณาการเข้ากับภารกิจหลักทั้งวิจัย-บริการ-ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  และมุ่งใช้ชุมชน ท้องถิ่นเป็นศูนย์/ฐานการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด "เรียนรู้คู่บริการ"   ไม่ใช่เน้น "ถ่ายทอด"  ด้านเดียว  หากแต่เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  เติบโตไปด้วยกัน

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ คุณTawandin

ผมชื่นชมอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักโครงการนี้มากเป็นพิเศษ ครับ
เนื่องเพราะท่านเปิดโอกาสให้นิสิตออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ส่งเสริมสนับสนุนให้นิสิตเข้ารับการอบรม แล้วนำมาถ่ายทอดสู่เพื่อนๆ พร้อมๆ กับการนำไปใช้จริงในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน

มิหนำซ้ำอาจารย์ฯ  ยังคอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ พาอาจารย์ท่านอื่นๆ ไปเรียนรู้ร่วมกัน เสมือน "ผู้นำ สร้างผู้นำ" ไปในตัว  รวมถึงท่านเองก็พยายามเรียนรู้ หรือทำตัวเป็นผู้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อันเป็น "ต้นแบบ" ที่ดีของนิสิต...

ขอบพระคุณครับ

 

ขอบคุณคุณแดนไท มากนะครับที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ
จะส่งต่อกำลังใจไปให้นิสิตรุ่นน้องนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท