รวมมิตรทีมเยือน KM กรมอนามัย (18) ... AAR


AAR เป็นวิธีการประเมินผลอย่างหนึ่ง ที่บอกว่า เป็นการทบทวนสิ่งที่ทำไปแล้ว ทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อประเมินผล ที่ลึกไปจากนั้น ก็คือ เราทำเพื่อลดข้อผิดพลาด หรือหากมีปัญหาที่เกิดซ้ำซาก ไม่ให้เกิดขึ้นอีก และอีกประเด็นคือ เราทำเพื่อรักษาสิ่งดีดีที่เราทำไปแล้วเอาไว้ และทำสิ่งดีดีเหล่านั้น ให้ดียิ่งขึ้น

 

KM Tool อันหนึ่งที่กรมอนามัยมีการใช้กันเป็นประจำในการทำงานนะคะ ก็คือ AAR ... วันนี้ พี่อู๊ด ... ยุพา พูนขำ เจ้าแม่ AAR แห่งกองอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งนำ AAR ไปใช้ และได้ประโยชน์ในการทำงานหลายๆ เรื่องแล้ว มาเป็นผู้ดำเนินการช่วง AAR นี้ให้ค่ะ

พี่อู๊ดได้ทบทวนเรื่อง AAR – After Action Review ให้ฟังเล็กน้อย เธอบอกไว้ว่า

วัตถุประสงค์หลักของ AAR เป็นวิธีการประเมินผลอย่างหนึ่ง ที่บอกว่า เป็นการทบทวนสิ่งที่ทำไปแล้ว ทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อประเมินผล ที่ลึกไปจากนั้น ก็คือ เราทำเพื่อลดข้อผิดพลาด หรือหากมีปัญหาที่เกิดซ้ำซาก ไม่ให้เกิดขึ้นอีก และอีกประเด็นคือ เราทำเพื่อรักษาสิ่งดีดีที่เราทำไปแล้วเอาไว้ และทำสิ่งดีดีเหล่านั้น ให้ดียิ่งขึ้น อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์เฉพาะของ AAR

โดย Format ของ AAR จะมีคำถามประเด็นหลักๆ อยู่ 4 ประเด็น คือ

  1. ก่อนที่จะมา ท่านมีความคาดหวังอะไร ในการมาดูงานในครั้งนี้
  2. ท่านได้ตามที่ท่านคาดหวังหรือไม่
  3. ส่วนต่างนั้นคืออะไร อาจเป็นไม่ได้ตามคาด หรือได้เกินคาด
  4. ท่านกลับไปแล้ว ท่านวางแผนจะทำอะไรต่อ จากการเรียนรู้ที่ได้ ณ วันนี้

มีผู้ AAR หลายๆ ท่านนะคะ ดิฉันขออนุญาติสรุปส่วนที่เป็นสาระมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบคร่าวๆ นะคะ

ในส่วนข้อที่ 1 เป้าหมาย หรือความคาดหวังในการมาดูงานในวันนี้

  • มาดูถึงเครื่องมือ วิธีการทำของกรมอนามัย เพราะเห็นว่ามีหน่วยงานต้นแบบหลายๆ หน่วยงานในกรมอนามัยทำ แล้วประสบสำเร็จ ก็อยากมาดูว่า ได้มีการขยายผล และผลสำเร็จตรงนั้นชัดเจนแค่ไหน
  • ก่อนมาไม่ทราบเรื่องเท่าไรว่า กรมอนามัยมีการทำ KM ยังไง
  • คาดหวังจะได้เห็น Model development ... สนใจในเครื่องมือที่กรมอนามัย รวมทั้ง รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ได้นำเสนอไว้ และสนใจการวิเคราะห์โมเดลการเรียนรู้
  • คาดหวังมาดูการใช้เครื่องมือของ KM
  • มาที่นี่ เพราะว่าได้รับเป็น leader team ของ รพ.เลิศสิน อ. จากเลิศสิน และ ผอ. มุ่งเป้าหมายให้ทำ KM กับหมอ คือ ต้องมีหมอมาร่วมกิจกรรมมากที่สุด
  • คาดหวังจะมาดูว่า ที่เขาศรัทธากันน่ะ ที่นี่เจ๋งจริงหรือเปล่า
  • อยากรู้ว่า ทำไมสามารถจัดการเรื่องทรัพยากรได้ทุกๆ เรื่อง

ในส่วนที่ 2 ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่

  • เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะได้เรียนรู้ในเครื่องมือใหม่ๆ หลายๆ อย่าง ได้เรียนรู้ถึงการที่เอา KM ไปใช้อย่างเนียนในเนื้องาน
  • จะมาเอาความรู้ และก็ได้ความรู้ไปเต็มๆ
  • มีกลไกในการจัดการความรู้ที่ practical นำไปปฏิบัติได้ ที่สำคัญที่สุดคือ การเคลื่อนไปทั้งระบบ ไม่ได้เคลื่อนไปเฉพาะคนทำงาน
  • ได้ดูทั้ง River diagram, Ladder diagram มาเจอว่า ฐาน 1 นำเครื่องมือนี้มาใช้อย่างมีประสิทธิผลทีเดียว และยังมาเจอโมเดลปลาตะเพียน ฐาน 2 ศูนย์อนามัยที่ 11 ทราบว่าท่านได้รับข้อมูลวันที่ 25 กย. แต่มานำเสนอได้ในวันที่ 29 กย. ได้ โดยปราศจากผู้นำ ความหมายคือ เขานำได้ด้วยตัวของเขาเอง ปลาตะเพียนนี้ เมื่อว่ายไปแล้ว มันจะหันหลังกลับ โดยตัวสุดท้ายนำทีมได้ ค่อนข้างชื่นชมมาก
  • ได้เห็นสำนักงานอัตโนมัติ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความคาดหมาย ที่พบว่า หน่วยงานเล็กๆ สามารถทำเป็นสำนักงานอัตโนมัติได้
  • พบว่า ที่หลายๆ ท่านบอกว่า ถ้าจะเอาทฤษฎีที่ไปเอาที่อื่นๆ ได้ แต่ถ้าจะทำภาคปฏิบัติ ให้มาที่กรมอนามัย และก็มีความเชื่อมั่น เพราะว่าที่ดู และเสนอมา มั่นใจได้เลย ถ้าเอาคนที่เคยทำแล้ว ก็เอากรมอนามัยมาเป็น guide คนที่เราจะพาเขาไป เขาก็จะมั่นใจได้

ข้อที่ 3 ส่วนต่างนั้นคืออะไร ทั้งที่เป็นตามคาด และได้เกินคาด

  • เห็นแน่ๆ คือ คนทำก็มีความสุขในการทำงาน มีความสุขที่จะพัฒนางาน
  • ทำให้เรารู้ว่า ต้องไปพัฒนาในหน่วยงานอีกเยอะ และจะไปเรียนให้ผู้นำที่เป็นคุณเอื้อให้มีความตื่นตัว จะได้มุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ได้แล้ว
  • ส่วนต่าง เนื่องจากกรมสนับสนุนฯ ทำงานในลักษณะของเชิงรุก ผสมผสานกับเชิงรับ ในขณะที่กรมอนามัย รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ทำงานเชิงรุกค่อนข้างเยอะ ดังนั้น คงต้องไปดูว่า gap analysis ในกรมสนับสนุนฯ เรื่อง ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่เดิมอยู่ที่ไหน และสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคตอยู่ที่ไหน รวมทั้งเอาเรื่องโมเดลปลาทูไปประยุกต์ใช้
  • ส่วนต่างคือ ตอบโจทย์ผมไม่ได้ว่า จะทำยังไงให้หมอมาร่วมมือได้
  • ได้เรื่อง positive ของความคิดสร้างสรรค์ของกรมอนามัย จึงเกิดความก้าวหน้า

ข้อที่ 4 วางแผนที่จะทำอะไรต่อ

  • ถ้ามีการประชุมแบบนี้ครั้งหน้า อยากให้เพิ่มเวลา จะได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นกว่านี้อีกนิดหนึ่ง
  • อยากให้เพิ่มเวลา เพราะอยากดูให้ครบ 6 ฐาน
  • ต้องไปพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยใช้ KM เป็นตัวขับเคลื่อนตัวหนึ่ง ตามบริบท และวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง
  • วางแผนจะร่วมกับหน่วยย่อยๆ ใน office ของเราก่อน และจะเรียนท่านหัวหน้าส่วนต่อๆ ไป เพื่อที่จะทำเป็นตัวอย่างก่อน และหวังว่า อนาคตใกล้ๆ คงจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในที่สุด
  • กลับไปจะไปวางแผน ทำ KM ในกลุ่มหมอ ในเดือน ตค. และก่อน 12-13 ตค. ก็จะทำอะไรสักอย่าง  เช่น จะทำ workshop ให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก่อน
  • วางแผน GotoKnow
  • อ.สุวรรณา แห่งจังหวัดสุโขทัย ให้ commitment ไว้แล้วนะคะว่า "สุโขทัยเมืองแห่งมรดกโลก ท่องเที่ยวประทับใจ" เธอจะให้ทีม KM ของดิฉันทำตามตรงนี้ให้ได้ตลอดไป ... และขอให้ทีมเย้า และทีมเยือนที่สนใจในวันนี้ พากันไปที่สุโขทัย ไปเยือนเมืองแห่งมรดกโลก เพื่อเพิ่มเศรษฐกิจให้กับจังหวัด "ท่องเที่ยวสักนิด แวะคิดสักหน่อยกับจังหวัดสุโขทัย ไม่ต้องพักค้างคืนก็ได้ แต่ค้างใจที่สุโขทัย" ...  ค่ะ อ.หมอสมศักดิ์ ชื่นชอบมาก และบอกไว้ว่า มี explicit และ tacit จำนวนมาก ที่ถ้าทางทีมสุโขทัยทำไปแล้วสำเร็จ จะเป็น access ที่ดีมากสำหรับการท่องเที่ยวสุโขทัย ด้วยจะมีความรู้อย่างท่านชัยวัฒน์ หัวหน้าส่วนพิพิธภัณฑ์ และชาวบ้านอีกเยอะแยะ และนักท่องเที่ยวก็จะเป็นโจทย์ที่สำคัญมากสำหรับจังหวัดสุโขทัยที่จะทำ KM สัญญาว่าจะไปนะครับ ... คุณศรีวิภาก็ร่วมเสริมว่า เราก็มีการคุยกันเล็กน้อย ว่าให้เวลา 6 เดือน แล้วเราจะหาโอกาสไปเยี่ยมท่าน และก็จะไป ลปรร. กันด้วยค่ะ ชาวกรมอนามัยเตรียมจับจ้องไว้นะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 49252เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2006 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท