บทเรียนจาก“เส้นทางของลูก”


คนเป็นพ่อแม่ ความปรารถนาสูงสุด น่าจะเป็นความสำเร็จของลูก ไม่เคยหวังไว้สูงส่ง ทุกครั้งจะบอก ขอให้เป็นคนดี ชีวิตเราเอาเงินทองเป็นตัวตั้งไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ยากจะมีความสุข หาเงินจนรวย แต่สุขภาพกายสุขภาพจิตแย่ ต้องอดตาหลับขับตานอน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือจนคุณภาพชีวิตที่ดีเราต้องต้องสูญเสีย อย่างนี้คงไม่ไหว

คิดดูก็แปลก ความสามารถของยีน(gene)โดยแท้ แม้จะเลี้ยงดูอบรมลูกทั้งสองมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน จนไปเรียนต่อก็ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน อยู่หอพักด้วยกัน แต่ทั้งคู่ต่างกันมากมาย โดยเฉพาะนิสัยและความยากง่ายของชีวิตที่ผ่านมา

(ภาพโดย : ครูกาญจนา สุวรรณเจริญ)

ลูกสาวดูจะราบรื่นไปหมด ตั้งแต่สอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ความขยันขันแข็งหรือความพยายามในการเรียนหรืออ่านหนังสือจะน้อย จนจวนเจียนจะถึงเวลาสอบก็ยังไม่เอาใจใส่ จากที่ไม่เคยเข้มงวดให้ลูกอ่านหนังสือเลย แต่ครั้งนั้นอดรนทนไม่ไหว “ลูกจะเอายังไงกับตัวเอง คิดว่าแค่นี้จะสู้เขาไหวหรือ ไอ้ที่อยากจะเรียน ถ้าไม่ลงมือทำ ก็คงได้แค่อยาก หรือแค่ฝันลมๆแล้งๆเท่านั้น” หลังจากนั้นก็จริงจังขึ้นบ้าง แต่พอผลสอบถูกประกาศ เหตุการณ์ก็คลี่คลาย ทุกคนพากันยิ้มออก โดยเฉพาะพ่อแม่(ฮา)

การเรียนในมหาวิทยาลัยก็ยังเช่นเดิม ดูไม่จริงจังอยู่นั่นเอง แต่ก็สวนทางกับผลการเรียนที่ดีมาตลอดจวบจนจบปริญญาตรี หรือวิชาที่ลูกเรียนเป็นการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งเน้นทักษะ หากได้ฝึกได้ใช้หรือตั้งใจเรียนในชั้นแล้ว ก็คงผ่านการประเมินได้ ทฤษฏี หลักการ หรือแนวคิดต่างๆ คงไม่ต้องศึกษาทำความเข้าใจมากเหมือนกับบางวิชากระมัง

สำหรับลูกชายถ้าเป็นเรื่องเรียนแทบตรงกันข้าม ทั้งที่ขยันอ่านและดูเรียนหนักกว่ามาก วันที่รู้ว่าผลการสอบโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยพลาด เนื่องจากอยู่คนละโรงเรียน เราจึงคุยกันทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงที่ห่อเหี่ยวทั้งสองฝ่าย กลับมาถึงบ้านพบลูกนอนซมในชุดนักเรียนอยู่คนเดียวบนม้ายาวรับแขก ภาพที่ปรากฏประกอบกับตาแดงช้ำบนหน้าเศร้าหมองของลูกซึ่งไม่ค่อยได้เห็น ทำให้หัวใจพ่อแม่เจ็บแปลบยิ่งขึ้น น้ำตาแห่งความสงสารเอ่อล้นออกมาไม่น้อยไปกว่า “เอาใหม่ลูก พยายามอีก โอกาสเรายังมี” วันนั้นเค้นคำปลอบโยนลูกทั้งเสียงสั่นเครือได้แค่นั้น

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ผลการเรียนต้องลุ้นกันทุกเทอม เฉียดฉิว คาบเส้น ได้แต่ให้กำลังใจ เพราะเชื่อมั่นศักยภาพบางอย่างที่ลูกมี “เราอาจเรียนไม่เก่งเท่าคนอื่น แต่พ่อเห็นลูกมีความพยายาม ต้องเอาข้อดีของเราเข้าสู้ ไม่มีอะไรเกินความพยายาม”

ตั้งแต่เด็กแล้ว ถ้าได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง เจ้าลูกชายไม่เคยถอดใจง่ายๆ ท้อแล้วเลิกแทบไม่เห็น มีแต่ไม่ได้ไม่เลิก ไม่เสร็จไม่หยุด ยิ่งเป็นงานที่ชอบหรือถนัดด้วยแล้ว ความพยายามจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ยังเคยเทียบกับตัวเอง “ความเป็นนักสู้” เราคงไม่ได้เสี้ยว

ใจหายใจคว่ำกับลูกชายอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เข้าเรียนปีแรก และต่อๆมาทุกภาคเรียน จะไหวหรือไม่ไหว ปีสามปีสี่เหตุการณ์ค่อยดีขึ้นบ้าง(ฮา) จนเมื่อซัมเมอร์ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง ก็ได้สิทธิ์ลุ้นระทึกครั้งสำคัญ จบหรือไม่จบ และแล้วความสำเร็จก็มาเยือนจนได้ ทุกคนพากันโล่งอก หลังจากหายใจไม่คล่องกันมา 3-4 ปีเต็มๆ(ฮา)

ความต่างของลูกทั้งสอง เป็นบทเรียนให้กับชีวิตครูตัวเองได้เป็นอย่างดี คนเราต่างกันจริงๆ ขนาดมาจากครอบครัวเดียวกัน เลี้ยงดูอบรมเหมือนกัน นิสัยใจคอหรือการดำเนินชีวิตกลับต่างกัน

สำหรับลูกศิษย์ซึ่งห้องหนึ่งมีร่วม 30-40 คน ครูเราต้องเรียนรู้ให้หนักในเรื่องเหล่านี้ แค่ลูกสองคนยังต้องสนองให้สอดคล้องด้วยคนละวิธี เมื่อลูกศิษย์มากถึง 30-40 คน ก็คงต้องอาศัยสัก 30-40 วิธีเป็นอย่างน้อย

หมายเลขบันทึก: 491615เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

เป็นตรรกะของทฤษฎีและบทสรุป
ที่กลั่นออกมาจากชีวิตจิตใจเลยนะครับ
อ่านไปก็พลายใจหวิวๆไปกับอารมณ์คนห่วงลูกในช่วงจังหวะต่างๆไปด้วยครับ
เล่าถ่ายทอดความรู้สึกได้ดีจังเลยครับ

I often wonder why sibblings don't do equally well. They have more or less the same genes. They look closely related. They have different starting points, but much the same experiences and activities. --all in the family!

I put it down to epigenetics -- different encounters with genetic switching catalysts. But truely, I don't know either.

อ่านรวดเดียวจบแบบไม่รู้ตัว ประทับใจภาพนี้ คุณครูเขียนเหมือนนักเขียนมืออาชีพเลยค่ะ ." กลับมาถึงบ้านพบลูกนอนซมในชุดนักเรียนอยู่คนเดียวบนม้ายาวรับแขก.."

มีพี่สองคนไล่เลี่ยกัน ก็นิสัยไม่เหมือนกันเลย เข้าใจว่าลำดับก่อนหลัง จุดตั้งต้นที่ต่างเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ชีวิตคนต่างไปคนละแนวได้เลยค่ะ

  • ลูกทั้งสองเรียนจบแล้ว พ่อแม่ก็เบาใจครับอาจารย์.. 
  • ขอบคุณท่านอ.วิรัตน์มากครับ
  • ตัวเองเข้าใจแค่ว่า สิ่งมีชีวิตจะเป็นเช่นไร มีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร ขึ้นอยู่กับยีนและประสบการณ์ เมื่อประสบการณ์เหมือน แต่นิสัยใจคอหรือการแสดงออกต่าง ดังนั้น ความต่างนั้นก็น่าจะมาจากความต่างของยีนเป็นส่วนใหญ่..รู้แค่นี้เอง อย่างอื่นไม่ค่อยรู้เลยครับ(ฮา)  
  • ขอบคุณที่ให้เกียรติครับท่านsr
  • "จุดตั้งต้นที่ต่างเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ชีวิตคนต่างไปคนละแนวได้เลยค่ะ" คงเป็นอย่างนั้นครับ เพราะลูกทั้งสองหลายเรื่องเลยครับ ที่ต่างกันชัดเจน.. 
  • ขอบคุณท่านอ.หมอป.ครับ

***ดีใจกับความสำเร็จของหลานทั้งสองด้วยนะคะ

***การมีทั้งลูกสาวลูกชายในครอบครัว ถือเป็นความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิต

*** ชื่นชมพ่อแม่ที่เป็นฐานที่มั่นคง จนทำให้ลูกมั่นใจในการเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง

*** อีกไม่นานจะมีรอยยิ้มของสุวรรณรัตน์ รุ่นใหม่ ให้ได้เชยชม

  • เป็นลูกช้างรุ่นน้องของพี่กิติยาทั้งสองคน พ่อก็เป็นตั้งแต่เด็กๆแล้ว..ทั้งสองหลายอย่างเหมือนกันครับ แต่อีกหลายอย่างก็ต่างกันมาก
  • เติลชื่นชมและบอก"พี่ฟางเรียนเก่ง เพราะเพื่อนและพี่ๆเล่าว่าที่การบินไทยฯข้อสอบยาก มิใช่จะได้กันง่ายๆ ตัวเองเกรดไม่ดี toicก็ยังไม่ได้ลองเลยด้วย.."
  • ขอบคุณพี่กิติยามากครับ

"หรือวิชาที่ลูกเรียนเป็นการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งเน้นทักษะ หากได้ฝึกได้ใช้หรือตั้งใจเรียนในชั้นแล้ว ก็คงผ่านการประเมินได้ ทฤษฏี หลักการ หรือแนวคิดต่างๆ คงไม่ต้องศึกษาทำความเข้าใจมากเหมือนกับบางวิชากระมัง"

เรียน  อาจารย์ธนิตย์

ที่ผมยกข้อความของอาจารย์ตรงนี้มา เพราะคิดว่า หากลูกสาวท่าน อ่านเจอ เขาจะไม่น้อยใจหรือครับ เขาจบปริญญามาได้ สุดยอดแล้วครับ ไม่มีใครเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่าย ๆ และจบได้ง่าย ๆหรอกครับ เพราะเขาเรียนทางภาษา ฟัง พูด อ่าน เขียน นี่ละครับ ที่เป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่น ๆ  ทักษะภาษานี่แหละครับ ที่ทำให้คนฉลาดทำให้เรียนวิชาอื่น ๆสำเร็จ ทำให้คิดวิเคราะห์เป็น

  • ปกติคุยกับทั้งลูกสาวลูกชาย ก็คุยเรื่องพวกนี้อยู่แล้วครับอาจารย์ และจริงอย่างอาจารย์ว่า ซึ่งปกติผมและภรรยาก็ชื่นชมลูกอยู่บ่อยๆถึงความสำเร็จที่เป็นผลมาจากทั้งสองมีความตั้งใจ มุ่งมั่น และรับผิดชอบกับชีวิตหรืออนาคตของตัวเอง ทำให้พ่อและแม่คลายความห่วงลูกลงไปได้เยอะด้วยครับ 
  • ขอบคุณท่านอาจารย์แว่นธรรมทองมากครับ

ชื่นชมและยินดี ค่ะ ไม่มีอะไรเกินความรักที่บริสุทธิ์และจิตที่แน่วแน่ของพ่อแม่ค่ะ

  • ไวนะเนี่ย
  • จบแล้วลุ้นตัวโก่งเลย
  • แต่อยากมีบ้าง
  • 555
  • เช่นกันครับ ไม่มีอะไรที่พ่อแม่จะมีความสุขเท่ากับการเห็นความสำเร็จของลูกเลยนะครับ..
  • ขอบคุณอาจารย์เพ็ญศรีครับ
  • ลุ้นตัวโก่งจริงๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปจนได้ครับ
  • เชียร์ครับ อยากให้มีเหมือนกันครับ..ฮาๆๆ
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตครับ
  • ยินดีกับความสำเร็จนี้ด้วยค่ะ..

  • ยังมีให้ลุ้นอีกหลายช่วงอายุนะคะ..ขอให้กำลังใจ..

  • "ยังมีให้ลุ้นอีกหลายช่วงอายุ" อารมณ์ดีใจตัวเองกับลูกๆ ทำให้เพิ่งจะนึกถึงเรื่องนี้ เมื่อพี่ใหญ่เอ่ยถึงนี่เองครับ
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทมากครับ 

ธุ อ.ธนิตย์ค่ะ..

 

อ่านจบแล้ว..รู้สึกเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อมากขึ้น (พ่อตัวเอง)    เมื่อก่อนตอนยังเด็ก..ต้อมก็จะเข้าใจ (เอาเอง)ว่า พ่อเรานี่แปลกคน   อยากให้เราเรียนซ้ำชั้น  ทั้งที่เราจะพาสชั้นขึ้นไปก็ได้   ทำไมนะ..ทำไม..   ไม่เข้าใจพ่อเลยจริงๆๆ

แต่พอโตขึ้นก็เข้าใจ   คงเพราะพ่อรู้จักเราดีเสียยิ่งกว่าใคร   พ่อไม่อยากให้เราลำพอง  ไม่อยากให้เราผยอง   พ่ออยากกำหลาบเราไว้   ให้เดินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ และงดงาม   

 

พ่อไม่เคยมานั่งสอนการบ้าน   วันไหนที่ไม่เข้าใจการบ้าน   พ่อโยนหนังสือ key ให้หาคำตอบในนั้นเอง    คนอื่นอาจจะคิดว่า "เฮ้ย! ทำไมครูทำแบบนี้?"    แต่วินาทีที่พ่อโยนให้   ต้อมก็เข้าใจนะว่าพ่ออยากให้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง   มันไม่ใช่แค่การเปิดดูคำตอบ   แต่หมายถึง..พ่ออยากให้คิดเอง - ทำเอง - เรียนรู้ด้วยตัวเอง      และแน่นอน..ว่า..ดูเหมือนพ่อไม่เคยสอนอะไร     แต่..นั่นคือวิธีสอนของพ่อ    ซึ่งต้อมเข้าใจในสิ่งที่พ่อทำ (แต่ก็แอบคิดอยู่ดีว่าพ่อเราไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเลยว่ะ 55)  

 

ในวันที่สอบโควต้า  สอบอะไรได้  พ่อไม่เคยทำหน้าดีใจให้เห็น  และเช่นกันในวันที่สอบตกสัมภาษณ์..พ่อก็ไม่เคยดุด่าว่าบ่น (ดูเหมือนจะเป็นน้อยคนที่ตกสัมภาษณ์  เพราะลูกของพ่อไม่ยอมคุยกับคนแปลกหน้า 55)     พ่อก็ยังเป็นพ่อที่ไม่ได้บังคับว่าลูกจะต้องไปเรียนโน่นนี่นั่น  พ่อก็แค่บอกว่า.. "ไปเรียนพยาบาลสิ  มีโควต้าอยู่    ไม่ก็ไปสมัครเรียนตำรวจเหมือนลูกศิษย์พ่อ"     แต่พับผ่า..ต้อมดันไปเรียนไฟฟ้า    ซึ่งพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร     ก็คงเหมือนตอนที่พ่อให้ไปเรียนต่อโรงเรียนดัง แต่ลูกดันแอบเก็บชุดนักเรียนใส่ถุงกระดาษมาเปลี่ยนเพื่อสมัครเรียนในโรงเรียนเดิม  ฮา...  

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว..  ณ ตอนนั้นพ่อของต้อมก็คงจะลุ้นเหมือนกันนะคะในแต่ละช่วงของลูก  เพียงแต่พ่อไม่พูด  555   คนเป็นครูนี่..งานหนักนะคะ   แถมยังต้องเป็น "พ่อ" อีก

 

(=^^=)  ยินดีกับน้องๆ ด้วยค่ะ ที่เรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย    

  • ฟังเรื่องราวของคุณพ่อแล้ว เห็นความผูกพันระหว่างน้องต้อมกับพ่อครับ อีกอย่างคงเป็นธรรมชาติด้วยนะครับ สำหรับพ่อกับลูกสาว
  • เรื่องเรียนท่านก็คงไม่โกรธอยู่ดี แม้ลูกสาวจะแอบนำชุดไปเปลี่ยน เพื่อไปสมัครเข้าเรียนเดิมอย่างที่ต้องการ นึกเทียบกับตัวเองครับ..ลูกอยากเรียนอะไร คงต้องเป็นเรื่องการตัดสินใจของลูกๆ เรื่องอื่นของลูกก็คงใช้หลักการนี้เหมือนกัน แต่พ่อที่เคยเห็นอะไรดี หรือน่าจะดี น่าจะเหมาะสม ก็คงอดจะบอกไม่ได้เหมือนกัน หรือต้องแนะนำกันบ้าง..แต่จริงๆหรือท้ายที่สุดแล้ว คนตัดสินใจต้องเป็นลูกอยู่วันยังค่ำ เพราะลูกจะต้องอยู่กับสิ่งนั้นต่อไป หรือตลอดไป มิใช่เราหรือพ่อแน่.. 
  • ขอบคุณน้องต้อม เนปาลีมากครับ
  • คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ลูก ๆ อยากได้ยินจากพ่อยามที่เขาล้มเหลวมากเลยค่ะ
  • “เอาใหม่ลูก พยายามอีก โอกาสเรายังมี” 
  • 4-5 ปีมาแล้วครับเหตุการณ์วันนั้น แต่พูดถึงครั้งใดน้ำตาก็ยังยังรื้นอยู่ทุกทีครับ.. 
  • ขอบคุณคุณSila Phu-chayaครับ

ขอแสดงความยินดี กับธนิตย์ ที่เลี้ยงลูก ด้วยการไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ สุดยอดของคนที่ขึ้นชื่อว่า ครู คนเราต่างมีวิถีชีวิตที่ต่าง ต่างกันในหลายๆเรื่อง สิ่งเดียวที่ดูไม่มีทางต่าง คือ ความรัก ที่ ธนิตย์ ภรรยา ลูกๆ มอบให้ ซึ่งกันและกัน ยินดีค่ะ

อ่านแล้วเห็นจังหวะ@โอกาส@แง่งามของการดำรงอยู่ของชีวิต ชอบอาจารย์มากนะคะับ

....อ่านแล้ว....เป็น....เรื่อง  "เล่าที่เร้าพลัง"... ของการเป็นพ่อ-แม่ เลยนะคะ .... เป็นการเรียนรู้ ...ความเป็นพ่อ-แม่ ตามบริบทของครอบครัว.... ขอบคุณมากค่ะกับบทความดีดีนี้นะคะ .... ส่งกำลังใจมาช่วยทุกๆ คนในครอบครัวของท่านอาจารย์นะคะ .... "ขอให้เป็นขอบครัวอุ่นรัก" ..... นะคะ

... "ครอบครัวอุ่นรัก".... (พิมพ์ผิดนะคะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท