ลูกเล่นของสื่อและแหล่งเรียนรู้บนผนังเรียบ


ท่านอาจารย์ดร.จันทวรรณได้กรุณาชวนผมไปร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่อง Open Education กับหลายท่านจากหลายหน่วยงาน ซึ่งสามารถคิดริเริ่มหาประเด็นความเชื่อมโยงอันจะนำไปสู่จุดหมายการสร้างสุขภาวะสังคมและการพัฒนาสังคมไทยในระดับต่างๆที่มีความร่วมกันรอบด้านมกาขึ้น พร้อมกับสามารถคิดออกจากสิ่งที่แต่ละเครือข่ายกำลังทำอยู่ ให้เห็นกันและกัน รวมทั้งเห็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความเป็นปัจจัยเกื้อหนุนและส่งเสริมกันได้มากขึ้นด้วยการหาวิธีพัฒนานวัตกรรมที่เป็น Open Education ด้วยกันจากต้นทุนเท่าที่พอจะเชื่อมต่อกันได้ของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมที่ค่อยๆเดินมาเจอกันและจัดการความรู้เพื่อบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์การคิดด้วยกันก่อนในครั้งนี้

ในเวทีประกอบด้วยผู้ประสานงานจากสำนักงานส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายเยาวชน  หรือ สสค ของ สสส ในฐานะองค์กรกำกับนโยบาย ติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนเสริมศักยภาพ จัดการความรู้ และให้การสนับสนุน, มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ในฐานะองค์กรที่ทำงานนโยบายบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านการศึกษาและดำเนินการพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์กับโครงการนำร่องเชิงพื้นที่จังหวัด ๑๕ จังหวัดของเครือข่ายครูสอนดี, GotoKnow จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ในฐานะหน่วยสนับสนุนของภาควิชาการและการพัฒนาระบบส่งเสริมปฏิบัติการจัดการความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ออนไลน์

นอกจากนี้ ก็มีครูตัวอย่างของครูสอนดี ๒-๓ ท่าน ที่ได้ร่วมเวทีอบรม Class Start กับทาง GotoKnow ซึ่งก็จะสามารถเป็นเครือข่ายดำเนินการและร่วมคิดไปด้วยกันได้อีกหลายอย่าง ทั้งแนวการประเมิน และจัดการพัฒนาเครือข่ายต่างๆที่มีอยู่ด้วยระบบ Open Education

คุณแผ่นดิน อาจารย์พนัส ปรีวาสนา ซึ่งมีบทเรียนเชื่อมโยงได้กับการพัฒนาเครือข่ายเรียนรู้แบบโครงงานแก่นิสิตในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้เปิดห้องเรียนมหาวิทยาลัยออกไปเชื่อมโยงกับชุมชนในภูมิภาค อาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง ซึ่งพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์แบบบูรณาการในหลายขอบเขตโดยมีสาระการเรียนรู้ทางด้านภาษาเป็นแกนกลาง

ส่วนผมเองนั้น ในส่วนที่จะเชื่อมโยงกันได้ในเรื่องนี้ก็คือการบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยมีพื้นที่กรณีศึกษา หลายลักษณะ กับเครื่องมือความรู้และวิธีทำงานต่างๆ ทั้งการวิจัยเชิงปฏิบัติการชุมชน ศิลปะสื่อ เทคโนโลยีการศึกษาเรียนรู้ผสมผสานสังคมออนไลน์กับชุมชนเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คิดว่าทำเป็นระบบ Open Education เข้าไปเชื่อมกันได้ตามความพร้อมหลายระดับอยู่บ้างเหมือนกัน

หลังประชุมกันแล้ว ผมกับอาจารย์ดร.ขจิตและคุณแผ่นดิน ก็เดินชมความน่าตื่นตาตื่นใจ

อาจารย์ อาจารย์  อาจารย์อยู่ไหน อาจารย์เข้ามาดูห้องน้ำอัตโนมัตินี่อาจารย์ ... !!!!  เสียงอาจารย์ดร.ขจิตตะโกนโหวกเหวกออกมาจากห้องน้ำชาย ในขณะที่ผมเดินแวะไปเข้าห้องน้ำกับท่านแต่หยุดยืนดูนิทรรศการตามผนังและถ่ายภาพอยู่ที่หน้าประตูเข้าห้องน้ำก่อนพักหนึ่ง ผม อาจารย์ดร.ขจิต และคุณแผ่นดิน เลยได้เดินวนดูห้องน้ำในตึก IBM อย่างกับเดินดูมอเตอร์โชว์

ผมเห็นวิธีง่ายๆในการจัดแสดงบนผนังและการทำนิทรรศการ แปลงผนังให้เป็นทั้งสื่อและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ กับการให้ความหมายผนังแบบไม่มีชีวิตและมิติความคิดสร้างสรรค์อย่างอื่นนอกจากผนังทึบๆ ของสำนักงาน สสส และ สสค บนชั้น ๑๓ ของตึก IBM นี้แล้ว ก็ชอบ เลยต้องเอามาแบ่งกันชมและชวนกันหาความคิดดีๆเอาไว้ใช้

ผนังราบเรียบ ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่มีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และสร้างรสนิยมชีวิตที่จะให้คนรับรู้เป็นอย่างอื่นอย่างไรได้นอกจากทำหน้าที่เป็นผนัง ซึ่งคนจะมองผ่านไปด้วยความเคยชิน แต่เมื่อออกแบบและสามารถจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะ รวมทั้งเชื่อมโยงความมีนัยยะต่อกระบวนการทางการศึกษา ผนังธรรมดาแบบทั่วไปก็กลายเป็นสภาพแวดล้อมและสื่อสำหรับสร้างการเรียนรู้จากข้างใน รวมทั้งเกิดเป็นงานศิลปะ ๓ มิติบนผนังเรียบ ซึ่งทำให้เกิดความบันดาลใจได้อย่างทันทีว่าเรื่องที่เห็นดาดๆนั้น เมื่อมอง คิด และสร้างสรรค์ความแตกต่างเสียใหม่ สิ่งเดิมๆก็กลายเป็นสิ่งใหม่และเกิดนวัตกรรมจากสิ่งพื้นๆที่บวกความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆลงไป

แทนที่จะเปลืองไฟแสงสว่างนำทางคนเดินไปใช้สอยสิ่งต่างๆ ด้วยวัตถุประสงค์อันจำกัดอยู่กับสิ่งเคยชินไม่กี่อย่าง อีกทั้งเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากร เวลา และพื้นที่ โดยไม่มีความหมายต่อการเรียนรู้ ก็กลับจัดวางแนวแสงสว่างบนความมืดให้เกิดเส้นนำทางทางการใช้แสงสว่างโดยตรง เป็นวิธีที่ฉลาดคิดครับ

ส่วนแสงสว่างกับพื้นที่ผนัง จากที่เคยติดบนเพดานให้แสงสว่างสาดกระจายทิ้งไปเฉยๆ ก็กลับสามารถออกแบบให้นำไปสนองตอบต่อวัตถุประสงค์อื่นให้ต่างออกไปจากเดิม โดยทำเป็นกล่องสว่างออกมาจากข้างในให้เป็นสื่อนิทรรศการ กุมความสนใจ และจัดวาระการใช้เวลาระหว่างเดินเข้าห้องน้ำและผ่านผนังไปอย่างไม่เคยมีความหมาย ให้กลายเป็นมีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างมีพลังทันที ทรัพยากรเท่ากัน หรืออาจจะลดน้อยมากกว่าเดิม แต่จัดการความรู้และให้ความสร้างสรรค์ต่างกัน ก็เกิดสิ่งใหม่ที่ได้คุณค่าและความหมาย สนองตอบต่อความจำเป็นในเงื่อนไขใหม่ๆได้มากกว่าที่เคยเป็น เพียงคลิกนิดเดียว

เป็นลูกเล่นของสื่อและแหล่งเรียนรู้บนผนังเรียบ ง่าย งาม แต่มีพลัง และให้ความคิดดีมากอย่างยิ่งครับ ก่อเกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและให้บรรยากาศที่เอื้อต่อลักษณะกิจกรรมสำหรับทำงานด้านการคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือ และประชุมอย่างมีพลัง.

หมายเลขบันทึก: 490770เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • สุดยอดไปเลยครับ
  • นับว่าแปลกตาแท้ๆ ครับ
  • เรียบง่ายและสมประโยชน์เลยนะครับเนี่ย

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ
และขอขอบคุณคุณกิติยา กับคุณวศินด้วยครับ
มีความสุข ได้ไอเดีย และเห็นความเคลื่อนไหวทางการศึกษาอีกมิติหนึ่ง
ให้เพลินๆและมีความสุขนะครับ

สวัสดีครับวศิน
แปลกแลกกล้าเล่นดีนะครับ ปรกตินั้น รูปแบบอย่างนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไปในการจัดดิสเพลย์แสดงสินค้าและแนะนำผลิตภัณฑ์ แต่งานด้านสุขภาพและงานพัฒนาทางการศึกษานั้น ไม่ค่อยได้เห็นนะครับ สร้างสรรค์ดี

Art ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมกับท่านพี่ ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat ครับ
เป็นงานที่มีความเป็น Creative Design เพื่อสื่อสารและทำให้เกิดคำถาม เกิดไอเดียที่จะมีต่อเรื่องการศึกษาเรียนรู้ในกรอบใหม่ๆได้ดีจริงๆ เป็นการทำสภาพแวดล้อมการประชุม เพื่อทำส่งเสริมพลังการคิดดีครับ เป็นลูกเล่นเล็กๆน้อยๆแต่ให้ Big Idea มากเลยนะครับเนี่ย

ความรู้ใกล้ ๆ ตัว ที่ไม่ค่อยได้คิดถึง จึงเป็นความรุ้ใหม่ของคนเก่าด้วยครับ ขอบคุณ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ชัดครับ
เป็นการนำสิ่งใกล้ตัวมาทำให้เกิดบทบาทหน้าที่อย่างใหม่ ได้เข้าท่าดีมากเลยนะครับ ได้ความสุนทรีย์บนการทำงานต่างๆไปด้วยขึ้นเยอะเลยนะครับ

กราบนมัสการขอพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล อายโย(ขำสุข)
และขอขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านและกดดอกไม้ให้กำลังใจไว้ให้ครับ
อาจารย์ Wasawat Deemarn, ท่านอาจารย์ชัด บุญญา, คุณวศิน ชูมณี,อาจารย์ณัฐพัชร์, คุณกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอบคุณอาจารย์ศิลา และต้องขอคารวะทักทายอย่างเป็นการเฉพาะเลยนะครับ

ผนังว่าแจ๋วแล้วแต่ก็ยังแพ้อาจารย์วิรัตน์ค่ะ นำมาเล่าให้เกิดปัญญากับผู้อ่านได้ไม่รู้จบ

สวัสดีครับกล้วยไข่

น่าสนใจดี เลยต้องเอามาเล่าและแบ่งปันกันดูน่ะครับกล้วยไข่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าให้ความสนใจมากเหมือนกันครับ

การสะท้อนประเด็นที่เป็นข้อจำกัดอยู่ในกระแสหลักของสังคม เหมือนกับผนังที่หมดความหมายและถูกมองข้ามไปจนไม่เห็นโอกาสสิ่งใหม่ๆในเงื่อนไขใหม่ๆได้อีกอยู่เสมอ ไปสู่การทำงานงานศิลปะ รวมทั้งเกิดความริเริ่ม และความสร้างสรรค์ กระทั่งเกิดมิติอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นผนัง เช่น กลายเป็นงานศิลปะจัดวาง กลายเป็นสื่อและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ กลายเป็นสื่อเพื่อให้ข่าวสารและอัตลักษณ์องค์กร กลายเป็นวิธีบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรให้เกิดอรรถประโยชน์เพื่อการใช้สอยได้มากกว่า ๑ อย่าง เหล่านี้ เป็นตัวบอกได้อย่างหนึ่งนะครับว่าศิลปะและโอกาสแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์นั้นมีอยู่รอบตัว ใกล้ตัว อยู่ในมือ และหัวใจของคนทั่วไปทุกคนเหมือนกัน ต้องชวนกันดูเพื่อพากันหาความซาบซึ้งและได้ความคิดดีๆจากสังคมและสิ่งรอบตัว เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ปัจเจกได้ความผูกพันและเชื่อมโยงตนเองกับการอยู่อาศัยในสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อย่างดีเสมอ

ในวิถีชีวิตและรอบตัว จึงมีเรื่องเล่าที่ชวนคิด ชวนคุย และแบ่งปันกันได้ไม่รู้จบ และมีงานศิลปะที่งดงามให้ได้ชมอยู่เสมอ สร้างความหมายได้บนความว่างเปล่า มีความสุขได้บนสิ่งที่เป็นความทุกข์ในคติของคนทั่วไป เป็นกำลังการได้สร้างสุขภาวะสังคมร่วมกันและทำให้การอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนแบ่งปันและและสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีศิลปะ เป็นปัจจัยให้เกิดความรื่นรมย์เบิกบานใจต่อกันของมนุษย์

มีความสุข ได้ความสำราญใจ และได้ความคิดดีๆ สั่งสมเป็นทุนประสบการณ์เอาไว้ใช้ทำงานนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท