GotoKnow

ข้อดีของระบบแป๊ะเจี๊ยะ รร. มัธยม

คนถางทาง
เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2555 19:54 น. ()
แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2555 19:00 น. ()
การให้ลูกคนรวยได้มีโอกาสเรียน รร. ดีๆ ด้วยการ “เอาเงินแป๊ะเจี๊ยะไปซื้อเอานี้” มันก็มีผลดีต่อชาติซ่อนอยู่ หาใช่ว่าจะมีแต่ความไม่ดี ตามที่ชอบคิดกัน

หมายเหตุ..บทความนี้มีคิวพิจารณาลง astv ผจก ออนไลน์ จันทร์ที่จะถึงนี้..แนวคิดเริ่มต้นมาจากบทความก่อนใน gtk 

 

ระบบแป๊ะเจี๊ยะเพื่อนำลูกเข้าโรงเรียน ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นระบบที่อยุติธรรมนั้น ถ้าจัดการระบบให้ดี มันอาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็เป็นได้  รวมถึงจะเป็นการช่วยลูกคนจนทางอ้อมให้มีการศึกษาดีขึ้นกว่าปกติ

งบประมาณในการสร้างและดำเนินการ รร. นั้นมาจากภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคลของคนรวยเสียมาก ส่วนคนจนไม่เสียภาษีส่วนนี้ (เพราะรายได้ไม่ถึง)  แต่ไปเสียโดยอ้อมผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม (ซึ่งคนรวยก็ต้องเสียด้วย) ดังนั้นคนรวยโดยเฉลี่ยน่าจะเสียภาษีมาบำรุงโรงเรียนมากกว่าคนจนโดยเฉลี่ย ประมาณ 10 เท่า ....เท่ากับว่าเขาเป็นเจ้าของ หรือมีหุ้นส่วนใน รร.มากกว่าคนจน 10 เท่า แต่ทำไมเวลาลูกจะเข้า รร. กลับให้มีสิทธิเท่ากัน

การให้ผู้ถือหุ้นส่วนบริษัททุกคน ไม่ว่าถือหุ้นมากหรือน้อย มีสิทธิโหวตเท่ากันนั้น ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ถ้าขืนทำก็เจ๊ง ดังนั้นถ้าว่ากันตามระบบถือหุ้นบริษัทแล้วไซร้ พวกลูกคนรวยควรได้สิทธิเข้า รร. มากกว่า  แต่นี่เขายังต้องเสีย “ภาษีแป๊ะเจี๊ยะ” เพิ่มเข้าไปอีกตลบ..แบบนี้สังคมกำลังอยุติธรรมต่อคนรวยเกินไปหรือไม่ 

พึงตระหนักความจริง(อันขมขื่น)ด้วยว่าอนาคตของชาติไทยเราวันนี้ถูกกุมกำหนดโดยลูกคนรวยมากกว่าลูกคนจน ทั้งในภาครัฐและเอกชน  ไม่เชื่อไปดูสัดส่วนสส. ว่ามีลูกคนรวยมากกว่าลูกคนจนกี่เท่า ทั้งที่ปริมาณลูกคนรวยมีน้อยกว่าลูกคนจนหลายเท่า ถามว่า...แล้วถ้าลูกคนรวยมันโง่และเลวล่ะ อนาคตชาติเราจะถูกกำหนดไปในทิศใด

แต่ถ้าลูกคนรวยได้เรียน รร. ดี ก็ทำให้ฉลาด มีความรู้ (หวังว่าจะคู่คุณธรรมด้วย)  พอขึ้นไปกุมกำหนดชะตาบ้านเมืองในอนาคต เดี๋ยวมันก็ทำให้บ้านเมืองดีขึ้นเอง เช่น ลดช่องว่างคนรวยคนจนลงมา และทำ รร. ไทยให้มีมาตรฐานดีเท่ากันทั่วประเทศในที่สุด แต่หากเด็กพวกนี้ไม่ได้มีโอกาสเรียน รร.ดี มันก็จะโง่กว่าปกติ ก็จะกำหนดชะตาอนาคตชาติออกมาได้ต่ำกว่าปกติ  (ซึ่ง “ปกติ” ก็แย่อยู่แล้วอีกด้วย) 

ดังนั้นการให้ลูกคนรวยได้มีโอกาสเรียน รร. ดีๆ ด้วยการ “เอาเงินแป๊ะเจี๊ยะไปซื้อเอานี้”  มันก็มีผลดีต่อชาติซ่อนอยู่ หาใช่ว่าจะมีแต่ความไม่ดี ตามที่ชอบคิดกัน

ส่วนพวก รร. ดังๆ ไม่ต้องทำเป็นคุยโวว่าบริหารงานเก่งจน รร. ดังเด่น จนคนแย่งกันเข้า ความจริง รร. ดังเหล่านี้ต้องขอบคุณ รร. ไม่ดังด้วยซ้ำไป ที่มารองฐานให้พวกคุณกลายเป็น”ยอด” ไปได้ เพราะถ้าพวกเขาพัฒนาเป็น รร.ดีดังเท่า รร. ของคุณกันหมด แล้วใครเขาจะมาแย่งกันเข้า รร. ของคุณให้เสียแป๊ะเจี๊ยะเปล่าๆเล่า

บุญคุณของรร. ฐานเหล่านั้นพวกรร. ยอดต้องทดแทนด้วยการสละเอาแป๊ะเจี๊ยะไปลงขันรวมกันทั้งชาติ เพื่อเอาไปตั้งเป็นกองทุนพัฒนา รร. ฐานให้ดีขึ้น

ฝากให้คิดว่า พวก รร. ดัง ไม่ต้องเสียดายเงินจิ๊บจ๊อยพวกนี้หรอก  เพราะท่านสามารถ “รีด” เงินจากพ่อแม่ของเด็กรวยๆ เหล่านี้ได้ไปอีกนาน จากการขอรับบริจาคในโอกาสต่างๆ (ซึ่งการรีดเงินนี้ ก็มาช่วย นร. ที่เป็นลูกคนจนได้อีกหลายต่อ ทั้งโดยตรงและอ้อม เช่น ทุนการศึกษา เรียนดีแต่ยากจน)

ขอเสนอว่า รร. ดัง ควรมีโควตาเก็บแป๊ะเจี๊ยะได้ 20%  อีก 80% เปิดสอบแข่งขันเสรี   ซึ่งในการสอบนี้พวกลูกคนรวยที่มีเงินพอเสียแป๊ะเจี๊ยะได้ก็จะสอบได้ที่นั่งไปเสียครึ่งหนึ่ง ดังนั้น รร. ดีดังเหล่านี้จะมีลูกคนรวย 60 คนจน 40  สัดส่วนก็พอทน (ดีกว่าสัดส่วนสส. มาก) ทำให้ลูกคนรวยคนจนเป็นเพื่อนกันและได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความรู้ด้านมนุษย์ศาสตร์ที่สำคัญมากต่ออนาคตชาติ เพราะคนรวยที่ไปบริหารประเทศแล้วไม่รู้จักวิถีชีวิตคนจนนั้น เป็นอันตรายยิ่งนัก (ส่วนไอ้พวกรู้แต่ขาดธรรมะก็ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ เพราะเอาความรู้ไปกดขี่คนจนได้ดียิ่งขึ้น)

สำหรับวิธีการเรียกแป๊ะเจี๊ยะนั้น ขอเสนอวิธีการอันโปร่งใส ไม่ต้องเขิน ใช้ระบบประมูลไปเลย จะได้รู้ว่าราคาเฉลี่ยอยู่ตรงไหน ใครสู้ไม่ไหว ก็ไปประมูลที่รร.อื่น อีกทั้งยังโปร่งใส ว่าเงินเข้าเท่าไร ต้องลงขันเท่าไร

วันนี้ลูกคนรวยที่เข้า รร. ดังไม่ได้ ถ้าไม่ไปเข้ารร.อินเตอร์ ก็ไปเข้ามัธยมที่ต่างประเทศ อเมริกา ยุโรป ออสซี่ กีวี่  ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละล้านห้าแสน  ขณะนี้น่าจะมีนร.มัธยมไทยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน ตกปีละ 1 หมื่นห้าพันล้านบาท ซึ่งทำให้เงินตรารั่วไหล ความเป็นไทยเจือจาง (เสียสองต่อ)  ถ้าเอาเงินก้อนนี้มาเป็นแป๊ะเจี๊ยะ แล้วเอามาลงขันพัฒนารร. ฐานของเราให้ดี ก็จะสร้างสรรค์การศึกษาไทยเราได้มาก ไม่ใช่เอาเงินประเทศจนๆอย่างเราไปช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศฝรั่งที่รวยแล้วเช่นนี้

 

ส่วนคนจนเองที่อยากส่งลูกไปเรียนรร.ดังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากให้ลูกมีเพื่อนเป็นลูกคนรวย (ไม่ต้องเขิน ยอมรับมาเสียดีๆ)  แบบนี้คนจนยิ่งต้องสนันสนุนระบบแป๊ะเจี๊ยสิ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าส่วนใหญ่มีแต่ลูกคนจนเรียน อีกหน่อยเงินบริจาคก็ไม่มี ทุนการศึกษาก็ไม่มี โรงเรียนก็ต้องยากจนลง และความดังก็จะลดลงเป็นลำดับ จนคนจนรุ่นต่อไปไม่อยากส่งลูกมารร.(เคย)ดังอีกต่อไป

สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน


ความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ผมมีความเห็นเชิงวิพากษ์หน่อยครับ ดังนี้ครับ

  1. การพิจารณาเพียงตัวเลขจำนวนเงิน อาจพบดังที่ท่านว่าคนรวยจ่ายภาษีมากกว่าคนจนหลายเท่า (ท่านบอกว่ากว่า 10 เท่า) แต่หากพิจารณาอย่างเป็นองค์รวม เช่น รวมมุมมองด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เสมอภาค ชาวบ้านที่ทำอาชีพในภาคการผลิตหรืออาชีพแท้ที่ทำงานหนัก แต่ได้ค่าแรงหรือผลตอบแทนนิดเดียว ต่างจากพวกซื้อมาขายไป ใช้ความด้านเปรียบด้านความรู้ศาสตร์วิชาหรือกลยุทธต่างๆ ทางการตลาด ที่ได้มาเพราะมีโอกาสดีที่ดีกว่า..... จึงไม่สามารถเปรียบเทียบหรือบอกได้ว่า คนรวยมีหุ้นส่วนในโรงเรียนมากกว่า คนรวยควรได้รับสิทธิมากกว่า......นอกจากนี้แล้วหากรวมเอาบริบทของคนไทยที่คนรวยส่วนมากเป็นคนค้าขายเชื้อสายจีน ส่วนคนจนเป็นชาวพื้นเมืองแต่เดิมที่ยึดอาชีพเกษตรกรรมค้าขายไม่เก่ง ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันอย่างรุนแรงได้.......หากมองในมุมเงินหรือวัตถุอย่างเดียว การมองแยกส่วน คือต้นตอของปัญหา ความจริงแล้วระบบการศึกษาที่เน้นตัววิชาและการแข่งขันนั่นและสาเหตุที่ควรแก้ไขโดยด่วน........... โปรดอย่ามองว่า ต้องมองในมุมของกฎแห่งกรรมด้วยนะครับ....ฮา
  2. .....ท่านคงจะแหย่เล่นๆ ให้คนอ่านคิดตามกระมังที่ว่า..... ให้ลูกคนรวยได้เรียนโรงเรียนดีๆ เพราะคนกุมชะตาประเทศตอนนี้มีแต่ลูกคนรวย ดังนั้นต้องทำให้ลูกคนรวยฉลาดและมีความรู้........เพราะปัญหาของประเทศตอนนี้ไม่ใช่ ผู้กุมชะตาบ้านเมืองฉลาดและมีความรู้ แต่เป็นเพราะคนเหล่านี้ ไม่ฉลาด และไม่มีความรู้ แต่เข้าใจว่า ตนเองฉลาดและมีความรู้ต่างหาก....... สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความดีต่างหาก..... 

พอเท่านี้ก่อนครับ

มีรู้ว่า ASTV จะพิจารณาแนวคิดของท่านในบทความนี้อย่างไร

ผิดถูกอย่างไรก็อภิปรายกันครับ

คนถางทาง
เขียนเมื่อ

ท่านฤทธิไกรครับ บทความนี้มีสองนัยยะ คือภาพจริง และ ภาพเสมือน

ภาพจริงก็ตามนั้น ภาพเสมือน คือ การเสียดสีสังคมครับ

สองสิ่งนี้ผมพยายามสร้างความสมดุลในบทความ มันเหยียบเรือสองแคม ประเมินยากอยู่ครับ

ผมหวังว่า ผจก. ท่านคงให้ลงอยู่หรอก แต่ผู้อ่านนี่สิ คงลำบากที่จะเข้าใจไ้ด้รอบ

ขอบคุณครับที่ช่วยวิพากษ์ ...จริงๆ แล้วมันเป็นดังที่ท่านว่าเสียด้วย (ผมถึงวงเล็บว่า "น่าขมขื่น" งัย)

ไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ครับ ผมกำลังนึกว่าจะเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยแค่ไหน แต่ในหลายประเทศเงิน "donations" ให้แก่โรงเรียนเป็นเรื่องปกติและต้องบริหารจัดการอย่างโปร่งใสด้วยครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย