Compass & Compassion


การช่วยเหลือ ที่อยู่บนพื้นฐาน ความเชื่อมั่นว่า แต่ละคนมี "เข็มทิศ" ประจำตัวอยู่แล้ว ขอเพียงลดความฟุ้งกระจายของอารมณ์และความคิด จนเห็นขอบเขตว่าปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน

* คำเตือน บันทึกนี้ยาววว..ชวนปวดตาค่ะ ใครมีวิธีทำให้ตัวหนังสือใหญ่ขึ้นบ้างค่ะ :)*

เรื่องเล่าจากสมัยพุทธกาล...

"ท่านเจ้าขา…โปรดช่วยชุบชีวิตลูกน้อยของดิฉันให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาด้วยเถิดพระเจ้าข้า…"

"กีสาโคตมี เธอจงไปหาเมล็ดพันธุ์ ผักกาดในบ้านที่ไม่มีคนเคยตายเลยมาสักหยิบมือ แล้วเราจะประกอบยาชุบชีวิตลูกของเธอให้" .

เรื่องเล่าจากแฟ้มเยี่ยมบ้าน พศ.2555...
ณ บ้านผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากรายหนึ่ง.. ก้อนเนื้อในปากทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ จึงพูดคุยกับภรรยาผู้ดูแลแทน

แพทย์ประจำบ้าน  "ห้องคุณลุงสว่างและโปร่งถ่ายเทดีจัง"   
  "ตอนยายผมป่วยต้องเจาะคอ เรายังทำห้องโล่งๆ ให้ท่านอยู่แบบนี้ไม่ได้เลย"      
"คุณลุงผอม ด้วยตัวโรค แต่ผิวหนังไม่หลุดลอก แสดงว่ารับอาหารได้ครบถ้วนดีครับ"   
"คุณป้า เป็นคนเสียสละมาก ที่ดูแลคุณลุงจนตัวเองลืมทานข้าว แต่สุขภาพตัวเองก็สำคัญ"     
"คุณป้าเครียดบ้างไหมครับ"

คุณป้า     " พูดตามตรงนะ ป้ารู้สึกเหนื่อยกับเขาเหมือนกัน หมดแต่ละวันแทบไม่มีแรง แต่ตื่นเช้าขึ้นมาก็เอาใหม่"    " ที่จริงแล้วป้าไม่เครียดนะ พยายามเป็นคนไม่เครียด"

ข้าพเจ้า    "แล้วตอนนี้ คุณป้าตั้งเป้าไว้อย่างไรค่ะ"

คุณป้า    "ป้าก็ตั้งเป้าไว้ว่าดูแลลุงสบายที่สุด วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรก็เป็นไป แต่ขอให้วันนี้ให้ลุงมีความสุขที่สุดก็พอ"      " แต่มันหลายเรื่อง ทิ้งเขาไปไหนไม่ได้ ออกไปไหนก็ต้องรีบๆๆ วันนั้นพอกลับมา เขานี่หน้าเขียวหายใจไม่ออก ต้องพาไปห้องฉุกเฉิน ขับรถไปก็กลัวไม่มีที่จอด ต้องเอาขึ้นรถแดงไปทุลักทุเล"

ข้าพเจ้า   "ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมค่ะ ว่าคุณลุงช่วยเหลือตัวเองได้แค่ไหน"

คุณป้า    "ลุงแกพลิกตัว ลุกนั่งได้ค่ะ แต่ไม่ให้เดินเองแล้ว เพราะเคยลุกจะเดินแล้วล้มหัวโขกพื้น ที่เห็นเป็นแผลติดผ้าก๊อซนั่นแหละค่ะ"

แพทย์ประจำบ้าน หยิบ PPS [1] ออกมาประเมิน ให้ 40%  และหยิบ ESAS [2] ออกมาประเมินต่อ   " คุณลุงมีอาการปวดไหมครับ.."

คุณป้า    " ไม่มีค่ะ มียาอยู่ แต่ลุงก็ไม่ค่อยขอ"

แพทย์ประจำบ้านไล่ถามอาการอื่นไปเรื่อยๆ (ยกเว้น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งญาติตอบแทนไม่ได้)  คุณป้าก็ปฎิเสธ

คุณป้า   "เดี๋ยวก็ต้องพาลุงไปรับยา เจาะเลือดตรวจ เรื่องเบาหวาน ไขมัน อีก รพ.นึง"

ข้าพเจ้าขออนุญาตดูยาที่คุณลุงรับอยู่ ก็พบยาไขมันหนึ่งชนิด และยาเบาหวานสามชนิด ที่ผู้ป่วยรับก่อนวินิจฉัยมะเร็งมาหลายปี   "
เมื่อกี้คุณป้าบอกว่า เป้าหมาย ณ ตอนนี้คือ ความสุขสบายของคุณลุง"   
" คุณป้าคิดอย่างไรกับยาเหล่านี้ค่ะ"

คุณป้านิ่งคิด ก่อนถาม "แล้วคุณหมอคิดว่ายังจำเป็นไหมค่ะ"

ข้าพเจ้า     "ยาเหล่านี้เป็นยาที่ดีค่ะ แต่เป้าหมายของยาเหล่านี้ ไม่ตรงกับเป้าหมายของเราตอนนี้แล้วค่ะ"  [3]    
"ตอนนี้คุณป้าให้อาหารเหลวแบบไม่มีน้ำตาล ไขมันต่ำอยู่แล้ว หากกังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อนก็ดูค่าน้ำตาลจากปลายนิ้ว (DTX) เป็นครั้งคราวแทนได้ ส่วนไขมันในเลือดนั้น เป็นการป้องกันระยะยาว -- แต่เรามุ่งอยู่กับวันนี้มากกว่าจริงไหมค่ะ"

คุณป้าพยักหน้า    " ก็เหลือแต่ต้องพาไปโรงพยาบาลเวลาเสมหะติดคอ  มันเป็นเมือกเหนียวข้นมากๆ เลยแล้วอยู่ลึก  ป้าก็พยายามใช้ลูกยางดูดแต่ไม่ถึง เขาก็แนะนำให้ซื้อเครื่องมาทำเองที่บ้าน แต่เรายุ่งๆ นะ กลัวทำไม่ถูก"

พยาบาล   " ฟังดู เหมือนเรื่องที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือเรื่องการดูดเสมหะ อย่างนั้นหรือเปล่าค่ะ"

คุณป้า    " อืมม์ ก็จริงค่ะ ถ้าได้เครื่องได้คนมาช่วยดูดเสมหะ ให้เขาช่วยเฝ้าลุง เวลาเราออกไปข้างนอก ก็เบาไปเยอะแล้ว"

    "แต่ก็ยังลังเลอยู่ เพราะจริงๆ ป้าก็ดูเองได้ มีคนก็เพิ่มค่าใช้จ่าย..เอ เห็นคุณหมอ (แพทย์ประจำบ้าน) บอกว่ามียายที่ป่วยแบบนี้ แล้วทำอย่างไรค่ะ"

แพทย์ประจำบ้าน นั่งเล่าประสบการณ์ตัวเองสักครู่หนึ่ง พวกเราก็ลาคุณป้ากลับ
พยาบาล "อันนี้เป็นเบอร์ บริษัทจัดหาคนช่วยดูแลผู้ป่วยค่ะ"
ข้าพเจ้า  และแพทย์ประจำบ้าน มองหาเศษกระดาษจะจดเบอร์โทรของเรา คุณป้าก็ยื่นหนังสือสวดมนต์ของคุณลุงให้
..เป็นอันว่า เบอร์โทรของเราอยู่ในหนังสือสวดมนต์ของคุณลุง ...

ในรถ แพทย์ประจำบ้าน กล่าวกับข้าพเจ้า
"ผมลืมพูดถึง living will จะได้รู้ว่าเขาตัดสินใจแบบไหน" "ผมดูๆ เหมือนเขาก็ยังไม่ตัดสินใจอะไรเลยครับ"

ข้าพเจ้า "อาจารย์เคยสอนพี่ว่า ให้พูดถึง 'เราจะทำอะไร' ก่อน 'จะไม่ทำอะไร' - focus on what we will help more than what we won't" "พี่เคยมีประสบการณ์ รีบยกเอา living will มาพูด ซึ่งญาติก็มีคำถาม ถ้าการใช้เครื่องยืดชีวิตที่ รพ. ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แล้วจะแน่ใจได้อย่างไร ว่า กลับมาบ้านจะได้การดูแลดีที่สุด ถ้าคนดูแลรู้สึกไม่ไหวแล้วจะทำอย่างไร?"
...
วันถัดมา คุณป้าที่โทรมาด้วยน้ำเสียงสดใสขึ้น ว่าได้ไปติดต่อซื้อและหาคนมาช่วยดูดเสมหะแล้ว

###

การเยี่ยมบ้านครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ไหม ?
ข้าพเจ้าคิดว่าบรรลุ เพราะเป้าหมายมีแค่สองประเด็น
1. ช่วยให้เขาพบทางออก ด้วย "เข็มทิศ และศรัทธา" ในตัวเอง
2. สร้างความไว้ใจต่อกันและกัน

สรุปปัจจัยที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ "Compass & Compassion"

 Compass:  เชื่อมั่นว่า แต่ละคนมี "เข็มทิศ" ที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรอยู่แล้ว  ที่บางครั้งเข็มทิศรวน ก็เพราะความฟุ้งกระจายทางอารมณ์ความคิดจนไม่รู้ว่า ขอบเขตปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน
"จิตที่สับสนจะปฎิเสธการแก้ไขเสมอ"
เราช่วยได้โดยทำสถานการณ์ให้นิ่งพอที่เขาจะเห็นเข้มทิศภายใน

      • ลดความอัดอั้นของอารมณ์ภายใน ด้วยการรับฟังอย่างไม่ตัดสินใดๆ

      • ค่อยๆ จำกัดขอบเขตปัญหา : ปัญหาอาจดูใหญ่เกินความจริง จากอาการรบกวนที่ควบคุมได้ หรือ ภาระจากการรักษาที่ไม่ตรงเป้าหมาย (futile mediciation) ที่ตัดออกไปได้

      • ให้ข้อมูลแบบ "พอดีคำ" ไม่ใส่รายละเอียดหากเขายังไม่ร้องขอ เช่น ให้เบอร์โทรติดต่อให้เขาสอบถามเองหากสนใจ

Compassion : ประเมินเพื่อทำความเข้าใจนำไปสู่การเยียวยา
ขณะถาม ไม่นำแบบฟอร์มมากาง แต่ถามไป ให้เขาเล่าไปตามธรรมชาติ
แทนที่จะรอให้มี score ออกมาแล้วค่อยหาทางเยียวยา
ความเป็นธรรมชาติ ความที่อยากจะเข้าใจเขา เมื่อถาม เจ็บไหม?  กินได้ไหม ก็เป็นการเยียวยาแบบ real time

###

"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต แม้ในยามที่ไม่เหลืออะไรเลย
สิ่งหนึ่งที่เราต้องมี คือ..ศรัทธาในตัวเอง ...
ศรัทธาในตัวเอง ไม่ได้เกิดจากความคิด
หรือจากการสร้างภาพลมๆ แล้งๆ
แต่เกิดจากการตรวจสอบการกระทำความคิด ของตัวเอง
กิดจากความนับถือในแก่นแท้ ในสิ่งที่เราเป็นได้จริงๆ
...

เข็มทิศชีวิต II ฐิตินาถ ณ พัทลุง

 

 

หมายเลขบันทึก: 487353เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

...

เมื่อเข็มทิศนั้นมีอายุขัย
ระยะนานเท่าใดย่อมเหี่ยวเฉา
อาจเรรวนซวนเซพอทำเนา
ปรับเปลี่ยนเข้าซ่อมแซมเติมแต่งใจ

ว่าแต่ว่าเข็มทิศมีเพียงหนึ่ง?
ความคำนึงมีสองได้หรือไม่
หรือมีสามมีสี่ดีเพียงใด
แต่มีหนึ่งอาจจะตายเพราะพังลง

...

ป.ล. "ตัวเอียง" อาจจะทำให้อ่านยากขึ้น เมื่อตัวอักษรเล็กครับ ;)...

ขออนุญาตบอกวิธีการขยายตัวอักษรค่ะ พี่หมอป.

สำหรับผู้อ่านสามารถใช้ตัวช่วยของ Browser ที่ใช้งานโดยกดปุ่ม Crtl พร้อมกับปุ่มเครื่องหมายบวก (+) เพื่อเพิ่มขนาดตัวอักษร และเมื่อต้องการลดขนาดก็สามารถกดปุ่ม Crtl พร้อมกับปุ่มเครื่องหมายลบ (-) ค่ะ

ฉompassion  เป็นการ "เยียวยา" .... Healing เป็นการ รักษาทาง จิตใจที่ดีค่ะ ดีใจค่ะ ที่อจหมอ ป. หา .... กลวิธี...ที่ดีสำหรับคนไข้ นะค่ะ




Thank you for sharing this insightful process (in palliative care).

I appreciate your view point and keeping in the back ground: "ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต แม้ในยามที่ไม่เหลืออะไรเลย สิ่งหนึ่งที่เราต้องมี คือ..ศรัทธาในตัวเอง ... ศรัทธาในตัวเอง ไม่ได้เกิดจากความคิด หรือจากการสร้างภาพลมๆ แล้งๆ แต่เกิดจากการตรวจสอบการกระทำความคิด ของตัวเอง เ กิดจากความนับถือในแก่นแท้ ในสิ่งที่เราเป็นได้จริงๆ ...

เข็มทิศชีวิต II ฐิตินาถ ณ พัทลุง

I think (non-medically) building patient's ศรัทธาในตัวเอง leads to hope, will to live and to live for other people or work that is much larger than just "own" life.

Wonderful to hear more from people who go where 'advanced' man would go.

เป็นบันทึกที่เยี่ยมบ้านที่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลยครับ...อาจารย์

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ แก้ไขตัวอักษรแล้วดูลายตาน้อยลงจริงด้วย

...
แต่มีหนึ่งอาจจะตายเพราะพังลง

มีเข็มทิศมากกว่าหนึ่งได้ไหม
น่าจะดีค่ะ แต่ทิศมันน่าจะไปทางเดียวกัน

ขอคัดจากหนังสือเข็มทิศชีวิต II มาอีกหน่อย
"เข็มทิศจะชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ
ที่ทิศเหนือมีดาวเหนือ ดาวนำทาง
กฎธรรมชาติ เตือนเราเสมอว่า
เราเกิดมาเพื่อมีชีวิตดีที่สุด
...
ดาวเหนือ ในคืนฟ้าสว่าง
เราอาจมีความสุข สนุกกับชีวิตจนลืมมองเห็น
แต่ในวันที่ฟ้ามืดมิด
ความทุกข์กลุ้มรุมไม่มีที่พึ่งยึดเหนี่ยว
เป็นโอกาสให้เรามองเห็ฯที่พึ่งที่แท้จริง
...ในตัวเราเอง..

ขอบคุณน้องมะปรางเปรี้ยวมากค่ะ ที่ช่วยแนะนำเทคนิคการอ่าน

ผมชอบ Compass ครับ  ขออนุญาตนำไปเสริมการทำงานของผมเลยนะครับ  มีลักษณะเดียวกับการสื่อสารในครอบครัว ในห้องเรียน  คล้ายกับหลัก การ Counselling นะครับ  คือ  มาจากความเชื่อที่ว่า  ทั้งลูก และ ลูกศิษย์  เขามีเข็มทิศที่จะทำอะไรอยู่แล้ว  เพียงแต่ฟุ้งซ่าน  กระจายอารมณ์และความคิดมากไป   ถ้าได้คน "ฟังเก่งๆ"  คือ ฟังอย่างลึกซึ้ง  ฟังโดยไม่ตัดสิน   ตรงนี้จะช่วยเด็กได้มากๆ เลยครับ  จากประสบการณ์ที่ผมสัมผัสจริงมาก็หลายครั้ง เด็กแก้ปัญหาตัวเองได้ จากการที่มีคนฟังอย่างเข้าใจโดยไม่ตัดสิน  โดยไม่สอน

        ปัญหา คือ  หาคนที่จะ "ฟังอย่างลึกซึ้ง" ได้ค่อนข้างยากครับ  เพราะ คุณครูก็ถนัดที่จะสอน  ยิ่งพ่อแม่นี่  ยิ่งถนัดในการสอนการสั่ง  ไม่ถนัดที่จะฟัง

          ขอบคุณสาระดีๆที่นำมาฝากครับ  ผมได้นำไปเสริมการทำงานของผมต่อไป

เป็นแบบอย่างการเยี่ยมไข้ที่มีคุณค่ามาก..อยากอยู่ใกล้ๆคุณหมอแบบนี้ค่ะ..

ขอบคุณค่ะ ดร.พี่เปิ้ล และยินดีที่กับความสำเร็จย้อนหลัง วันที่ 14 กุมภา ด้วยค่ะ :)

Thank you very much. I really impress definition of "Hope"

= will to live and to live for other people or work that is much larger than just "own" life

This would help me explain others why we should not label palliative patient
as "Hopeless" patient.

ขอบคุณค่ะคุณหมออดิเรก เดินทางไกล ปลอดภัยและจะคอยอ่านประสบการณ์ที่นี่นะค่ะ

....ขอบคุณบันทึกดีๆครับอ.หมอ

  • อ่านบันทึกนี้แล้ว เห็นภาพได้อย่างชัดเจนค่ะว่า การรักษาคนไข้แบบองค์รวมเป็นฉันใด และงานของแพทย์ที่ทำการรักษาทั้งโรคทั้งคนนั้น ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ขนาดไหน
  • ชื่นชมนะคะว่า คนที่เป็นแพทย์เป็นพยาบาลต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เจ็บป่วย และญาติซึ่งก็อยู่ในภาวะเครียดทั้งกายและใจ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่ารื่นรมย์ แต่ก็ยังดูแลสุขภาพจิตของตนให้ปกติได้ คนที่เป็นครูแม้งานจะหนักแต่ก็ยังมีสิ่งแวดล้อมเป็นคนที่ปกติเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นครูบางคนก็ยังลุแก่โทสะในบางขณะ จนมีการกระทำที่ไม่สมควรต่อนักเรียนของตน 

ได้ทำบุญประจำวัน ทั้งกับคนไข้และนักเรียนแพทย์นะคะ

ขอบคุณอาจารย์ small man ที่ช่วยมาสกัดบทเรียนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ

Listening ไม่ใช่แค่การไม่พูด ปล่อยให้เขาพูด
แต่ Active listening ฟังอย่างอยากเข้าใจ ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน
อย่างที่อาจารย์ปฎิบัติเสมอนั้น
เป็นเรื่องยาก ต้องฝึกที่จะชนะธรรมชาติ ตัวตน ของเราเองค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่ เป็นโอกาสที่ดีของชีวิตได้ทำหน้าที่นี้ค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณพิชัย ยินดีที่มาฝากรอยมิตรภาพอีกครั้ง (ยืมคำสวยๆ จากคุณหมอธิรัมภา)

ขอบคุณค่ะ

คนที่เป็นครูแม้งานจะหนักแต่ก็ยังมีสิ่งแวดล้อมเป็นคนที่ปกติเป็นส่วนใหญ่
กระนั้นครูบางคนก็ยังลุแก่โทสะในบางขณะ
จนมีการกระทำที่ไม่สมควรต่อนักเรียนของตน 

...

ขอแสดงมุมมองว่า
งานใดๆ ที่ต้องทำกับ "คน" มีความกดดันไปคนละแบบค่ะ
เมื่อพบคนที่ประสบทุกข์ การเกิดความเมตตาสงสาร 
อาจไม่ยากเท่าคนปกติ ที่ท้าทาย (ยียวน)

อ่านบทความนี้
อาจารย์เองก็เป็นต้นแบบ ครูที่ดูแลศิษย์แบบองค์รวมนะค่ะ :)

ฟังแล้วสดชื่นขึ้นมาทันทีเลยค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท