วรรณกรรม : หน้าที่ประโยชน์ของวรรณกรรมท้องถิ่น


ครั้งที่ผมเรียนนิทานพื้นบ้านกับ รศ.บุปผา บุญทิพย์ มีข้อสอบข้อหนึ่งที่ผมเจอคือ ให้นักศึกษาตั้งคำถามเองแล้วตอบเอง หากจะมองว่ายากก็ยาก หากจะมองว่าง่ายก็งาย ที่ง่ายเพราะ ถ้านักศึกษาอ่านหนังสือมากว้างพอก็ทำได้สบาย ๆ และแน่นอนว่าผมเลือกทำข้อสอบนี้ทันทีทันใด จำได้ว่าผมตั้งคำถามประมาณนี้

 

เมื่อท่านเรียนวิชานิทานพื้นบ้าน ท่านคิดว่าวิชานี้ให้ประโยชน์อย่างไร จงจำแนกและอธิบายให้ชัดเจน

 

วรรณกรรมท้องถ่านหมายถึง ผลผลิตทางภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ผู้รู้พื้นบ้าน สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม บันเทิง สาระความรู้ คติสอนใจ มีทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะ เช่น นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย ถ่ายทอดผ่านรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง เมื่อมีการจดบันทึก จึงกลายเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ คือการนำมุขปาฐะมาจดบันทึก เช่น ตำนาน นิทาน คำสอนต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นบทในการ ขับ อ่าน แสดง แพร่กระจายไปเรื่อย ๆ เรื่องก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ภูมิศาสตร์วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละภูมิภาค จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม วรรณกรรมท้องถิ่นย่อมสัมพันธ์กับฉันทลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ และส่งอิทธิพลให้กับสังคมต่อไป สามารถจำแนกประโยชน์ของวรรณกรรมท้องถิ่นได้ดังนี้

 

ให้ความบันเทิง

 

การละเล่น การแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ ย่อมสัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่น โดยมุ่งให้ความบันเทิงใจ ศิลปิน พ่อเพลง แม่เพลง นักขับลำนำแม้จะด้นกลอนสดได้เองแต่ก็ต้องนำบางส่วนของวรรณกรรมท้องถิ่นมาใช้สอดแทรกในการแสดงเช่น อิทธิพลต่อการแสดง

            - ในภาคอีสาน เช่น เรื่องสินไซ

            - ภาคเหนือ การซอ เล่าค่าว เช่น เรื่องหงส์หิน

            - ภาคกลาง กลอนสด บทละคร เพลงเกี่ยวข้าว เช่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย

            - ภาคใต้ เพลงบอก โนรา เช่น พระสุธนมโนรา สุทธิกรรมชาดก

 

อธิบายความเป็นมาของชุมชนและเผ่าพันธุ์

 

อธิบายความเป็นมาของกลุ่มชน ความเป็นพวกเดียวกัน มีบรรพบุรุษร่วมกัน มีสัญลักษณ์ร่วมกัน เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเช่น

           -   เรื่องท้าวแสนปม อธิบายความเป็นมาของภาคกลาง

           -   เรื่องขุนบรม อธิบายความเป็นมาของภาคอีสาน

           -   เรื่องตำนานจามเทวีวงศ์ อธิบายความเป็นมาของภาคเหนือ

 

เป็นสื่อกลางระหว่างบ้านกับวัด

 

วัดเป็นแหล่งความรู้และเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาโบราณ ชาวไทยนิยมไปวัดเพื่อการเรียนรู้วรรณกรรมท้องถิ่น โดยการอ่าน ฟัง ชาวบ้านเชื่อว่าการได้ฟังธรรมนิยาย นิทานคติธรรมจะได้รับอานิสงค์สูง ดังเช่นนิทานเรื่องศุภนิมิตรกลอนสวดได้กล่าวไว้ดังนี้

 

                  “ได้ฟังนิยาย              พ้นทุกข์ทุกคน

                บ้างได้ถึงมรรค              บ้างได้ถึงผล               พ้นทุกข์ทุกคน

                บ้างได้นิพพาน”

 

อิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน

 

วรรณกรรมท้องถิ่นจะสอดแทรกบทบัญญัติสังคม หลักธรรม จริยธรรมจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตเช่น

            -  ให้การศึกษา พระทำหน้าที่สอนหนังสือ ใช้วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นแบบเรียน

            -  รักษาพฤติกรรมของหมู่คณะให้เป็นไปตามแบบแผนที่ได้ปฏิบัติมา

            -  สร้างความสามัคคีในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

            -  ให้สำนึกผิดชอบชั่วดี เกรงกลัวต่อบาป ปลูกฝังจริยธรรม

            -  สะท้อนค่านิยมของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ ที่ร่วมสมัยกับการแต่งนิทาน

            - ให้คุณค่าทางอารมณ์ สุข ทุกข์ เศร้าแก่ชาวบ้าน

            -  สร้างเอกลักษณ์ร่วมกันในสังคม

 

อิทธิพลต่อศิลปกรรม

 

วรรณกรรมท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อศิลปกรรมและหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา จึงออกมาในรูปแบบของจิตกรรมตามอุโบสถ วิหาร สิมในภาคอีสาน ซึ่งนิยมเรื่องชาดก วรรณกรรมพื้นบ้านที่นิยมทำให้เป็นชาดก พุทธประวัติเช่น

              -  เรื่องหอยสังข์ (สังข์ทอง) จิตกรรมฝาผนังที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์  จ.เชียงใหม่

              -  เรื่องสินไซ จิตกรรมฝาผนังวัดฝังแดง จ.นครพนม

              -  เรื่องทศชาติชาดก จิตกรรมฝาผนังวัดบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช

 

อิทธิพลต่อ ความเชื่อ แนวทาการปฏิบัติตน

 

วรรณกรรมประเภทคำสอน มักมีเนื้อหาอิงอยู่กับหลักธรรมและความเชื่อพื้นบ้าน มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม จะชี้นำในเรื่องประเพณี ความเชื่อ คือ ฮีตบ้านคลองเมือง ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นอัปมงคลต่อชีวิต เช่น

               -  เรื่องพระลอสอนโลก ของภาคเหนือ

               -  เรื่องอินทิญานสอนลูก ของภาคกลาง

               -  เรื่องลุงสอนหลานคำกาพย์ ของภาคใต้

 

อิทธิพลต่อประเพณี

 

                -  ตำนานเรื่องเสาอินทขิล เกิดประเพณีบูชาเสาอินทขิล (บูชาเสาหลักเมือง) จ.เชียงใหม่

                - นิทานเรื่องผาแดงนางไอ่ เกิดประเพณีบุญบั่งไฟ ภาคอีสาน

 

สรุป วรรณกรรมท้องถิ่นถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมนั้น ๆ สร้างความรู้ ความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของสังคมในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

 

สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตกราบของพระคุณ รศ.บุปผา บุญทิพย์ อย่างสูงมา ณ ที่นี้  ที่ให้ความกรุณาถ่ายทอดวิชาคติชนวิทยา คอยตอบคำถาม พูดคุย ทักทายสารทุกข์สุขดิบอยู่เสมอ หากไม่มีอาจารย์ก็คงจะไม่มีผมในวันนี้

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒ เมษายน ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 486865เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียนท่านวาทิน ผมมองว่า มุขปาฐะ ที่สุดยอดคือหนังตลุง สามารถพูดคนเดียวได้ทั้งคืน

ตอนนี้หนังตลุง น้องเดียวตาบอด ฮอตอย่างแรง

เรียนท่านวาทิน เขียนถึงการก่อเกิดชมรมหนังตลุงภาคใต้ไว้ที่ กรุณาให้คำแนะนำด้วย น่ะครับ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/399567

คุ้นๆ ว่าก่อนหน้านี้มีหลายท่านที่นำนิทานพื้นบ้านมาเล่า มาเขียนเป็นหนังสือ พักหลังไม่ค่อยจะมีใครนำมาถ่ายทอด นิทานพื้นบ้าน (ของชาวบ้านๆ) คงจะหายๆ ไป

ผมไผเจอที่เป็นหนังสือบุด ใบลานตามวัดเยอะเลยครับ เอาแค่วัดที่ผมบวช มีหลายผูกที่ยังไม่มีคนศึกษา เป็นตำรายาบ้าง กลอนสวดบ้าง แต่อย่างว่า สมัยที่ผมบวชยังอ่านตัวขอมไม่เป็นเลย เคยปรึกษากับอาจารย์ที่สอนจารึกว่าน่าจะลองทำการวิจัยกันดู แต่ก็ผ่านพ้นไปจนผมจบก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้่นครับ

ผมเชื่อว่าวรรณกรรมชาวบ้านที่อยู้ในรูปบุด ใบลาน ยังมีอยู่ตามวัดอีกมาก แต่คนที่อ่านเป็นมีน้อย เสียดายที่จะปล่อยให้มดมอดกันเทะ

ผมกำลังสะสมรวบรวมนิทานและเรื่องเล่าของชาวบ้าน ที่สืบทอดเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนและสถานที่ต่างๆ ของหนองบัว นครสวรรค์ อยู่พอดีเลยครับ

หากใช้แนวการศึกษาอย่างที่คุณวาทินนำมาถ่ายทอดให้นี่ ก็คงจะอยู่ในช่วง แปรประสบการณ์ของชุมชนเป็นเรื่องเล่า แปรเรื่องเล่าและมุขปาฐะให้เป็นลายลักษณ์และการบันทึก แล้วก็มุ่งที่จะแปรบันทึกให้เป็นการสังเคราะห์ วิเคราะห์ วิจัย สร้างเป็นความรู้เผยแพร่ให้กว้างขวาง และปฏิบัติการเชิงสังคม ให้ประสบการณ์ของสังคมชุดใหม่ได้ริเริ่มและก่อเกิดต่อๆไปอีก

ชอบเพลงชีตาร์มากเลยครับ อารมณ์เพลงเหมือนงานของรวีชังการ์เลย แต่แบบมีออเคสตร้าเป็นแบคอัพนี้นึกไม่ออกเลยว่าเป็นงานชุดไหน

สวัสดีครับ คุณวิรัตน์ คำศรีจันทร์ #2632078 ผมขอแสดงความยินดีเป๋นอย่างยิ่งที่จะมีการรวมรวมวรรณชาวบ้านแล้วทำการปริวรรตเพื่อถ่ายทอดให้กับประชาชนทั่วไป หวังว่าจะเกิดประโยชน์อย่างสูงในระดับท้องถิ่นและในระดับวิชาการ ให้เด่าคงจะเป็นอักษรฝักขามใช่ไหมครับ คงจะอ่านกันสนุกกันเลยทีเดียว

ขอเป็นกำลังใจครับ

เพลงที่ผมเอามาลงนั้น เพลง Easy ประพันธ์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ Anoushka Shankar & Karsh Kale และมีนักร้องระดับโลกอย่าง Norah Jones มาฮัมเพลง ลองค้นหาใน youtube ก็ได้ครับ

ดิฉันอยากจะถาม คุณครูวาทิน ศานติ์ สันติหรือผู้รู้ วรรณกรรมออนไลน์มีข้อดีข้อเสียต่อการเขียนการอ่านต่อวรรณกรรมปัจจุบันอย่างไรบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท