บทเรียนของการดูแลคนพิการอย่างต่อเนื่องของชุมชน


คู่มือ 5 ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองหรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์

5 ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง.pdf

บทเรียนของการดูแลคนพิการอย่างต่อเนื่องโดย อพมก. ที่ทำงานในศูนย์เรียนรู้ในชุมชนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการในชุมชนตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นศูนย์ที่เกิดจากชุมชนร่วมคิดร่วมทำ และร่วมพัฒนา ความภาคภูมิใจที่นำเสนอนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นความภาคภูมิใจจากประสบการณ์ของการให้บริการสุขภาพของ อพมก. และส่วนที่สองเป็นบทเรียนที่เกิดจากการช่วยเหลือคนพิการจากภาวะหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า “เป็นอัมพฤกษ์” ที่ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนของการปฏิบัติตั้งแต่แรกที่กรณีศึกษาเริ่มมีอาการแรกเริ่มของการเป็นอัมพฤกษ์ที่ อพมก. ต้องจดจำเพื่อให้นำไปให้ความรู้กับประชาชน จากนั้นต้องรีบส่งคนป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า 180 นาทีทอง จากนั้นกลุ่ม อพมก.มีการติดตามเยี่ยมดูแลกัน ให้กำลังใจกันจนกระทั่งเพื่อนบ้านที่เป็นอัมพฤกษ์ กลับบ้าน และยังดูแลต่อเนื่องกันอีกที่บ้านจนกระทั่งกรณีศึกษาหายจากความพิการ จึงเป็นความภาคภูมิใจที่ชาว อพมก. นำเสนอดังนี้

ส่วนที่หนึ่ง  ความภูมิใจของ อพมก.

สะท้อนออกมาเป็นคำพูด ดังนี้

“ภูมิใจ” “ได้บุญจากการมีจิตอาสา” การมีจิตอาสาสร้างความภูมิใจ ดังที่ อพมก. คนหนึ่ง พูดว่า

“ที่ตัวหนูนี่นะคะเริ่มแรกเป็นคนต่างจังหวัดใช่ไหมคะ แล้วก็มานอนโรงบาลเนี่ยแล้วก็ไม่มีญาติมาดูน่ะ แล้วคนข้าง ๆ เตียงเนี่ยเขาจะมีญาติมา คือเราก็เออทำไมญาติเราไม่มีมา เราก็ น้อยใจว่าเออเราเป็นคนต่างจังหวัดคงไม่มีใครมารู้กับเราว่าเราเป็นอะไรยังไง ก็เลยว่ามีจิตอาสาเข้ามาเนี่ยก็เข้ามาแล้วก็มารู้จักคนนั้นคนนี้เออพอเราเป็นอะไรแล้วมีคนนู้นคนนี้มาเยี่ยมเรารู้สึกว่าภูมิใจมากเลยว่าคนนั้นก็รู้จักคนนี้ก็รู้จักแล้ว ณ ทุกวันนี้มีอะไรเนี่ยภูมิใจมากเลยในการเป็นจิตอาสา แบบมีคนมาเยี่ยมมาอะไรอย่างงี้รู้จักน่ะ ภูมิใจในตรงนี้มากเลย ภูมิใจมากจากที่ไม่ใครเคยมาเยี่ยมมาอะไรแล้วโห ณ วันนั้นไม่ขาดระยะทางเลยที่จะวนเข้ามาหาอะไรอย่างงี้”

"ได้กลวิธีการเข้าถึงครอบครัวคนพิการ และครอบครัว"

การเข้าถึงคอรบครัวคนพิการเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เพราะครอบครัวคนพิการยังไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ อพมก. เท่าใดนัก แต่จากการสรุปบทเรียน ได้เทคนิคของการเข้าถึงครอบครัวคนพิการได้ 3 กลวิธี คือ  

(1) “การใช้ความเป็นเครือญาติ”

(2) “ไม่ใช่ดูแต่คนพิการ ต้องดูแลผู้ดูแลด้วย”  

และ (3) “การทำงานให้เขาศรัทธา” 

ยกตัวอย่างคำพูดของ อพมก. พูดว่า

“หนูเป็นญาตินะ เขาจะยกให้หนูเลยค่ะว่า เออเอาไป หนูไปกับนักกายภาพ เขาก็บอกว่า ยกให้หนูเลยนะ ดูแลเอา หนูเป็นญาติหนูจะไปทำความเข้าใจเขา ก็จะไปจัดการ มีเรื่องส่วนตัวบางอย่างที่จะไปต่อว่าเขาบ้างอะไรอย่างงี้ คือ แต่พูดกับภรรยาเขาสองคนไม่ได้ เราก็จะไปทำความเข้าใจกับภรรยาเขา ก็มันก็ต้องคุยอ้อม ๆ อ้อมน้ำ เพราะว่าเราเข้าใจกับตัวภรรยาเขารู้ว่านิสัยใจคอเขาเป็นยังไง เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจเรา  ตอนหลังที่เข้าไปนี่รู้สึกว่าจะยิ้มแย้มแจ่มใสดี ดีขึ้น เราต้องไม่ว่าเขา พูดอ้อม ๆ เอา”

“คือไม่ใช่ว่าถึงเราเข้าไปดูแลคนพิการแล้วเขาจะต้องไว้ใจเรา เห็นเราเป็น อสม.เห็นเราเป็น อพมก.แล้วเขาจะต้องเชื่อใจเรา ก็ไม่ใช่ บางครั้งไปพูดให้เขาเชื่อเนี่ย มันไม่เพียงแค่เราไปพูด มันหลาย ๆ อย่างที่เขาจะเชื่อเรา มันอยู่ที่ความสัมพันธ์ความเป็นญาติ”

“ก็จริงนะคะ แต่ก่อนเวลาเราไปเยี่ยมทีไร เราไปดูแต่คนพิการ เราไม่สนใจผู้ดูแลเลยหลังจากที่อาจารย์พูดวันนั้นนะ เราก็เริ่มดูแลให้กำลังใจผู้ดูแลด้วยตอนหลังนะก็เลยดูแลทั้งครอบครัว”

"แบ่งประเภทของคนพิการที่ต้องดูแลได้"

        กลุ่ม อพมก. ได้แกบ่งประเภทของคนพิการเพื่อง่ายต่อการดูแล ดังนี้

1.      ประเภทติดเตียง ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางกาย มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ หรือถ้าเคลื่อนไหวตนเองได้ คือ สามารถทำได้เฉพาะบนเตียง

2.     ประเภทติดบ้าน ได้แก่ บุคคลที่เคลื่อนไหวไปมาได้เฉพาะในเขตบ้านของตนเอง ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนในชุมชนได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสติปัญญา ความสามารถในการเคลื่อนไหวทางกาย

3.     ประเภทพอไปไหนมาไหนได้ แต่เสี่ยงอันตราย เช่น คนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ ถ้าให้เดินทางไปไหนมาไหนในชุมชนมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่างๆ หรือคนพิการทางสติปัญญาผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ถูกหลอกลวง หรือคนพิการทางสติปัญญาอาจถูกหลอกลวงติดยาเสพติด หรือคนพิการทางการได้ยินการข้ามถนนอาจเสี่ยงต่ออันตราย เพราะไม่ได้ยินเสียงรถ เป็นต้น

 “ได้รูปแบบบริการการสร้างเสริมสุขภาพคนพิาร"

    (1) ดูแลตามลักษณะของความพิการ

     ความรู้ที่ได้จาก อพมก.สะท้อนให้เห็นว่า อพมก.สามารถสรุปรูปแบบบริการที่จัดให้กับคนพิการ ดังตัวอย่างคำพูดที่ว่า 

     “แขนขาอ่อนแรง กล้ามลีบเล็ก อาจเกิดปัญหาไหล่หลุด ดูแลด้วยการยกแขนใช้แขนข้างดีช่วย หรือดึงรอก หรือญาติช่วย ยก นวด อาจเกิดข้อยึดติด ต้องมีการเหยียดยืดข้อเช่น ข้อศอก ข้อนิ้ว ข้อเข่า ข้อเท้า”

      “ตาบอด อาจมีปัญหา อุบัติเหตุจากการชน พลัดตกหกล้ม แนะนำจัดสภาพแวดล้อม จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ ให้เป็นระเบียบ ป้องกันผู้พิการชน สะดุด เมื่อจัดวางสิ่งของไว้ตรงไหนให้ผู้พิการรู้ว่าอะไรวางตรงไหนด้วย และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนน  ให้แนะนำการใช้ไม้เท้าแนะนำให้ญาติคอยดูแลจัดสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในที่ผู้พิการเคยชินมากที่สุด”

       “หูหนวก อาจมีปัญหาการป้องกันตนเอง จากอุบัติเหตุจากท้องถนน แนะนำการใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง แนะนำปัญหาจากเครื่องช่วยฟัง จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบ แนะนำผู้ดูแลสื่อสารโดยการให้ผู้พิการหันมองปาก ท่าทางสื่อสาร และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนนด้วยการมองซ้าย ขวา หันหน้า หลังก่อนข้ามถนน แนะนำให้ญาติคอยดูแลเตือนการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”

       “ก็อย่างเช่นถ้าในหมู่บ้านเขาจะพิการทางกายก็คือเท้า...เราก็จะไปบอกเขาน่ะว่าเราต้องเรียนหนังสือนะ คือไม่ให้ไปยุ่งกับพวกยาเสพติด เพราะว่าเราร่างกายเราเป็นอย่างงี้แล้วถ้าเกิดเราไม่เรียนหนังสือเนี่ยเราจะไปประกอบอาชีพอะไรในวันข้างหน้า ในวันข้างหน้าเราก็จะต้องมีครอบครัว เราไม่ได้อยู่แค่ระดับแค่นี้ ไม่ได้อยู่แค่จะเป็นเด็กอยู่อย่างงี้ ในวันข้างหน้าต้องมีการพัฒนาที่ดีกว่านี้ ก็เขาก็ฟังนะเขาก็เชื่อค่ะ เขาบอกว่าอย่างเช่นแผลเนี่ย เขาเป็นแผลที่เท้าเนี่ยอย่าลงน้ำ เขาจะชอบไปลงหาปลาอย่างงี้ “

  “อย่างที่คนจิตเวชอย่างงี้เราก็จะต้องไปเน้นเรื่องให้กินยาประจำ อย่าขาดยา”

          (2) “ดูแลแบบเจ้าของไข้เป็นรายบุคคล (case manager)

ให้เหมาะสมกับความเป็นหญิง และความเป็นชาย

       “ทางสติปัญญา อาจเกิดปัญหาถูกหลอกลวง กรณี เพศหญิงอาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ  ดังนั้นต้องมีการฟื้นฟูสภาพโดยการฝึกการดูแลช่วยเหลือตนเอง เช่นกินข้าว อาบน้ำ ทำความสะอาดหลังขับถ่าย ใส่เสื้อผ้า ฝึกให้ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า ไม่รับของกิน ไม่ตามคำเชิญชวนให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ตัดสินใจพาไปคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์”

        "คือความแตกต่างของการให้บริการเนี่ยไม่ได้เฉพาะแยกชายแยกหญิง ก็น่าจะเหมือนกับว่าเราต้องทำความเข้าใจทีละคน คำแนะนำของชายของหญิงจะมาใช้กับหญิงกับชายคนนี้ก็ไม่ได้ ก็คือเหมือนกับว่าถ้าผู้พิการที่เราดูแลเนี่ย 10 คน 12 คนนะคะว่าคนนี้ก็ต้องอย่างงี้ คนนี้ก็ต้องอย่างงี้ คือแต่ละคนแต่ละประเภทแต่ละอย่างกันเลยนะคะไม่สามารถที่จะเอาใครมาใช้กับคนนี้ คนนี้ไปใช้กับคนนั้นได้ “

        “ถ้าคนพิการจิตเวชเราก็ต้องไปคุยกับเขาอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะไปพูดคุยก็ต้องคล้าย ๆ กับว่าต้องไปเรื่องอื่นก่อน แล้วถึงจะวกเข้ามาเรื่องยา จะไปดูยาอย่างเดียวไม่ได้บางครั้งเขาก็บอกว่าเขากินยาแล้วเขาจะมีความรู้สึกว่าเขาไม่อยากพูด ลิ้นแข็ง”

        “รายเก่าเยี่ยมให้ของ ให้กำลังใจ ให้อุปกรณ์และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน พาไปจดทะเบียนคนพิการ”

         “ก็พวกเราแบบว่าเราจะแบ่งกันเป็น case บางครั้งก็ไปกับหมอ อย่างเป็นพี่ป้อมหรือพี่แดง (นักวิชาการสาธารณสุข) อย่างงี้ค่ะ เข้าไปลง ลงไปดูผู้พิการว่าเขาเป็นระดับไหน คือเราไปพบเห็นแล้วเขาก็แจ้งอย่างพี่แดงว่าให้ไปเยี่ยมผู้พิการรายนั้นที่ว่าอย่างของหมู่ 9 นะ เป็นแบบของป้าช่วย ใช่ไหมล่ะ ที่นอนแกก็แบบเพิงเล็กๆ น่ะ แต่แกนอนอย่างเดียวเราก็กลัวแกจะเป็นแผลกดทับ แล้วคราวนี้ก็มาบอก อย่างพี่ป้อมกับพี่แดงเขาให้ลงไปดูว่าให้ช่วยดูตรวจให้หน่อย แล้วทีนี้เขาก็ลงไป เขาก็พยายามแกบอกให้เขาบำบัด ยกขาเขาเองเขาก็ยกได้ทั้ง 2 ขา แต่เขานั่งไม่ได้เขานอนอย่างเดียว แต่แกจะพลิกซ้ายพลิกขวาอย่างพี่ป้อมกับพี่แดงเขาก็บอกว่าต้องไปพลิกซ้ายพลิกขวาด้วยนะ เดี๋ยวจะเป็นแผลกดทับ”

 

“ได้เครือข่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพ”

      จากผลการดำเนินงานของ อพมก. ทำให้ได้เครือข่ายบริการสุขภาพจาก แผนกกายภาพบำบัดโรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเกิดการเรียนรู้ ดังคำพูดที่ว่า

       “เรียนรู้จากนักกายภาพบำบัด: ประเมินสุขภาพและให้การบ้านเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย”

        “นักกายภาพบำบัดเขามาให้การบ้านไว้ เราได้เรียนรู้ ก็มาช่วยดูแลให้กำลังใจมาทำให้ ช่วยให้เขาทำต่อ”

         “หมอโรงบาล เขาแนะนำที่กายภาพ เวลานั้นให้เดินตามแก แล้วก็จับตรงเนี่ย แล้วก็ถือไม้เท้าตามหลังแก แกปล่อยมือดูมั้ง อะไรงี้” “หมอเขาจะให้การบ้านไว้ ก็บอกให้ทำตามนั้นแหล่ะ ไว คือว่า ก็บอกอยู่เรื่อแหละเนอะ นี้เขาก็ทำงาน แล้วก็ช่วยให้ เพราะไม่มีใคร ตอนนั้นพ่อเค้าหากินไง ทำงาน เช้าก็พาเดิน แล้วก็ตาม ก็พาแกไปตรวจตามนัด”

        เครือข่ายบริการจาก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท จากที่อาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลได้สะท้อนปัญหาของผู้ดูแลที่ต้องรับภาระการดูแลคนพิการ ทำให้ อพมก. เปลี่ยนวิธีการดูแลคนพิการ ดังคำพูดที่ว่า

        “ได้เรียนรู้ว่าต้องสนใจผู้ดูแล รับรู้ปัญหาผู้ดูแล”

         “ก็คือทางวิทยาลัยพยาบาลเข้าไปได้สะท้อนเห็นพวกเราได้เยอะกว่านี้ เหมือนอย่างที่แต่ก่อนที่พวกเราเข้าไปโดยเข้าไปไม่ได้สนใจผู้ดูแล เราไม่เคยรับรู้ปัญหากันเลย อพมก.ทั้ง 12 คนเราไม่เคยรับรู้ปัญหาว่าผู้ดูแลเขาอยากให้เราดูเขาด้วย แต่พอทางอาจารย์ลงไปสามารถสะท้อน ซึ่ง ณ ทุกวันนี้เราก็เอาตรงนั้นมาปรับแก้มันก็ดีขึ้น”

          เครือข่ายให้กำลังใจคนพิการบริษัทปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด

          เครือข่ายบริการสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวางสนับสนุน

          งบประมาณจัดทำศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน และศูนย์

           การเรียนรู้ในชุมชนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาคนพิการโดยชุมชน

 

ได้ประโยชน์ และคุณค่าต่อชุมชน

           จากผลการดำเนินงานของ อพมก. ทำให้ชุมชนเป็นต้นแบบของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนที่การดำเนินงานเกิดจากภาคีเครือข่ายที่มาจากหลายกระทรวง มีผู้ตรวจจากกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินงานของเครือข่ายภาคีสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

           คุณอรจิตต์ บำรุงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เยี่ยม และให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วม

            จังหวัดสระบุรีส่งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต จากประเทศอินเดีย โดยความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(สถาบัน เอ ไอ ที) มาศึกษาดูงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน

 

ได้ประโยชน์ และคุณค่าต่อคนพิการ และผู้ดูแล

          ทั้งคนพิการ และผู้ดูแลเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ได้รับการดูแลทั้งครอบครัว ทั้งบริการสุขภาพ และสวัสดิการสังคม ดังคำพูดของ อพมก. ที่ว่า

       “คนพิการเพิ่มขึ้น ตำบลพุกร่างเนาะ ไม่ใช่ว่าเพราะว่า อพมก.เยอะทำไห้คนพิการเพิ่มขึ้น ก็คือได้ค้นหาผู้พิการมาเข้าจดทะเบียน แล้วก็ได้รับสิทธิ์เบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น แล้วก็ผู้พิการได้รับการดูแลครอบคลุมมากขึ้น จากเมื่อก่อนนี้เราเอ๊ะเราคิดว่าเราก็ดูดีแล้วนะ มีผู้พิการอยู่ในมือก่อนที่จะส่งต่อให้กับกลุ่ม อพมก.เนี่ยอยู่ประมาณ 70 กว่าคน หลังจากที่ อพมก.ดูตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบันร้อยกว่าคน เกือบ 120 แล้วเนาะ”

       “ถามความรู้สึกว่าของคนพิการทุกวันนี้เขาดีใจมากนะคะ ที่ว่ามีพวก อพมก.เข้าไปช่วยเหลือ อย่างทางจังหวัดเสนออะไรไปอย่างงี้ก็จะไปบอกเขา เขาขาดอะไรๆ อย่างงี้ก็จะเสนอๆ ขอมาให้เขาได้ทุกครั้ง”

 

ส่วนที่สอง

ได้ความรู้ 5 ขั้นตอนช่วยคนพิการจากโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลต่อเนื่อง      จนหายจากความพิการ

 

 ประสบการณ์ของ อพมก.ทำงานดูแลคนพิการที่เป็นอัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) สามารถสรุปขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ผู้ป่วย และญาติต้องตื่นตัวไปโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการ เมื่อพบอาการใดอาการหนึ่ง หรือมากกว่าใน 5 อาการ ดังนี้

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

(1)    แขนขา ชา อ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งทันที

(2)    พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือฟังไม่เข้าใจทันทีทันใด

(3)    เดินเซ เวียนศีรษะทันทีทันใด

(4)    ตามองเห็นภาพซ้อนหรือมืดมัวข้างใดข้างหนึ่ง

(5)    ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

ขั้นตอนที่ 2 โรงพยาบาลต้องคัดกรองได้อย่างแม่นยำ มีความไวต่ออาการของโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ปล่อยคนไข้กลับบ้าน เพราะโอกาสการหายฟื้นเป็นปกติมีได้เพียง 180 นาที หากล่าช้าคนไข้จะกลายเป็นอัมพาต

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อนอนอยู่โรงพยาบาล "คนไข้ ต้องรู้จักจัดการตนเอง (self managment) คนในครอบครัว และเพื่อนบ้าน ภาคีเครือข่ายบริการต้องร่วมให้กำลังใจและให้ความหวัง” กรณีศึกษาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการตนเองเมื่อยู่โรงพยาบาลว่า

        “อาการก็ทรงตัว แต่ว่าก็ไม่ทรุด ไม่แย่ลง ไม่ดีขึ้น ขาชาเย็นถึงหัวเข่า หมอพาหัดเดิน เอาเข็มขัดคาดเอวแล้วจับข้างหลังให้เดิน สอนให้ทำกายภาพ”

       “หมอฝ้าย (นักกายภาพบำบัด) ช่วยพยุงให้เดิน ทำให้เราแข็งแรงขึ้น”

       “ลูกสาวก็เอาน้ำมันนวด และถามหมอทางโรงพยาบาลว่าอยากได้ลูกประคบมา ประคบขาโรงพยาบาลก็อนุญาต หมอบอกว่าประคบได้แต่อย่าบีบ ก็จ้างเค้ามาประคบ ขายกได้เดินได้ แต่ไม่มีแรงเดิน ลุกยืนไม่ได้ ชาไปหมดเลย”

       “จ้างหมอนวดให้ประคบทั้งตัว วันละ 100 บาท ประคบนานประมาณ 2 ชั่วโมง”

       “ญาติพี่น้อง พี่สาว ก็จะบอกว่าไม่ต้องเครียด ถ้างั้นจะไม่หาย ไม่ต้องกังวล ค่าห้อง ค่ารักษา จะออกเงินให้ ทำให้สบายใจ ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จึงมุ่งมั่นดูแลตนเอง”

กรณีศึกษายืนยันว่าตนเองได้กำลังใจจากเพื่อนบ้าน ทีมบริหารท้องถิ่น และคณะกรรมการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

      “นายกก็มาเยี่ยม ให้สตางค์ด้วย ช่วยเราตลอด ช่วยจ่ายค่ายา”

      “ก็ให้กำลังใจว่าต้องหาย หมอบอกว่าของเรายังน้อย”

       “ก็มีเพื่อนบ้าน ก็ไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจ ไปพูดว่าต้องหายๆ หมอก็บอกว่าต้องหาย หมออนามัยก็ไปเยี่ยม”

       “อ.สุมาลีก็มาเยี่ยมที่ รพ. หมออนามัย หมอแดง ก็ไปเยี่ยม”

        “รู้สึกอบอุ่น มีคนมาเยี่ยมเยอะ เพราะว่าตัวเองอยู่นี่ไม่มีญาติพี่น้อง มาจากใต้ เราก็ดีใจในฐานะของเพื่อนบ้าน และถ้าเป็นเรื่องของกายภาพบำบัดหรือว่าอนามัย มีความรู้สึกอย่างไร เวลาเค้ามา เห็นเค้าว่าคิดว่าเราอยู่ตรงนี้มาเป็น อสม. เค้าก็ไม่ทิ้ง ดูแลเรา

       “นอนอยู่บนเตียงลุกไม่ได้ ก็ทำตลอด ทำไปเรื่อยๆ เวลาประมาณก็แล้วแต่ ถ้าเกิดนอนอยู่เฉยๆ ก็ทำไปเรื่อยๆ บางทีเป็น 100 ครั้ง”

        “ญาติอยู่ใต้ ก็สั่งว่าไม่ให้กินของมัน ตอนนอนอยู่บนเตียงก็ให้ทำไปเรื่อยๆ ลูกสาวเอาช้อนกาแฟป้อนให้ ตอนนั้นน้ำหนักลดไป 9 กิโลกรัม ข้าวกินได้ 3-4 คำก็กินไม่ลง ติดคอ ช่วงหลังๆ ก็กินได้เยอะ กินข้าวสวยได้”

ขั้นตอนที่ 4 การจัดการตนเองเมื่อออกจากโรงพยาบาล

เมื่อกรณีศึกษาออกจากโรงพยาบาล มีการบริหารจัดการตนเอง ดังนี้

           (1) มีลูกสาวเป็นผู้ดูแลหลัก และประยุกต์อุปกรณ์ จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแล ทั้งดูแลด้านการทำกายภาพบำบัด การจัดหาอาหารที่เหมาะสมกับโรค ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเดินจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นำการบ้าน (โปรแกรมการทำกายภาพบำบัด) ที่นักกายภาพบำบัดมอบให้ไปบริหารร่างกายต่อที่บ้านมาฝึกต่อ

       “ลูกสาว 2 คน ลูกสาวดูแลเอาใจใส่ดีมากๆ ช่วยแม่นอนก็ยกขาสูง และก็หุงข้าวให้กิน ให้กำลังใจด้วย ทั้ง 2 คน”

       “ตื่น 6 โมงเช้ามาก็ให้ลูกพาเดินตามราว เกาะ ตั้งแต่ก่อนตี 5 ตื่น นอนไม่หลับ ก็บอกลูกให้เอาไม้ถูบ้าน เอามาตั้งให้ เกรงใจลูกๆ ก็นอนอยู่ไม่กล้าเรียก ว่างก็นั่งถูออกกำลังกาย จนกว่าจะเหงื่อออก พอลูกสาวตื่นขึ้นมา ก็ให้เค้าพาเดิน เดินไปที่ลานปูนนอกบ้าน เดินถึงก็ไปนั่งคุยบ้านตรงโน่นแล้วก็เดินกลับ ประมาณครึ่งชั่วโมงกลับมาก็ให้ลูกต้มน้ำไว้ พอน้ำเดือดก็เอาน้ำใส่กระมังอาบ ตอนแรกๆ ลูกอาบให้ ฉันไม่มีแรง ตอนหลังก็อาบเองเพราะช่วยเหลือตัวเองได้”

        "นำการบ้านจากนักกายภาพบำบัดมาบริหารร่วมกับการสอบถามวิธีการบริหารกับคนที่เคยเป็น“กายภาพ ก็ถามคนที่เป็นบอกว่า ลูกชายนายกก็เคยเป็น ให้ทำท่านี้คุณหมอสอนมา แนะนำเรื่องออกกำลังกาย ทำราวเกาะเดินที่บ้าน เพื่อนบ้านที่เป็นแล้วหาย ก็ถามเค้าว่าทำอย่างไร เราก็ทำตามเขา ออกกำลังกาย หมอก็ทำกายภาพ ก็สอนแบบนี้ ลุกเดินไปที่หน้าต่าง”      

         (2) ประยุกต์อุปกรณ์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแล

ลูกสาวได้ซื้อเก้าอี้มาเจาะ ให้ถ่ายอุจจาระ และใช้ถุงสวมเข้าไปในถังเพื่อรองรับอุจจาระ ปัสสาวะ

 “นอน นั่ง ตรงนี้แหละ เดิน แต่เข้าห้องน้ำไม่ได้ ต้องนั่งถ่ายตรงนี้ เอากระเป๋งมารองข้างหน้า อึใส่ ฉี่ก็ฉี่ตรงนี้ ไปห้องน้ำไม่ได้”  

          (3) ผู้ป่วยต้องเยียวยาตนเองทั้งกายและใจอยู่เสมอ

ด้านร่างกายดูแลรับประทานยาลดความดัน และยาละลายลิ่มเลือดที่ได้รับจากโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ  

          “กินยาหมอที่โรงพยาบาลมีกิน 2 ครั้งหลังอาหาร เช้า เย็น กิน 1 เม็ด แล้วก็มียาบำรุง คลายประสาทสมอง กินมาตั้งแต่กลับจากโรงพยาบาล กินมาตลอดเลย หลังอาหารเช้า มียาละลายลิ่มเลือด หมอบอกว่าอย่าให้มีบาดแผล ไม่งั้นจะเลือดไหล”

 ด้านจิตใจนั้นความเจ็บป่วยทำให้ไปไหนมาไหนไม่สะดวกทำให้กรณีศึกษารู้สึกอึดอัดใจมาก และได้ให้กำลังใจตนเองที่เป็นการเยียวยาใจของตนเองอยู่เสมอ นึกถึงคำพูดให้กำลังใจจากลูก และอาจารย์พยาบาลที่ไปเยี่ยมเยือน

          “อึดอัดมาก ๆ ขนาดเดินไม่ได้แค่เดินเดียว แต่ก่อนตัวเองไปไหนต่อไหนได้ รู้สึกอึดอัดมาก บางทีนอนเอามือก่ายหน้าผาก ลูกบอกว่าอย่าเครียดนะ แม่ต้องหาย พูดให้กำลังใจแม่”

           “ก็ยังเครียดอยู่ แต่หมอบอกว่าต้องหาย อ.สุมาลี ก็บอกว่าต้องหาย มีให้กำลังใจ บอกตัวเองว่าต้องหาย ๆ อ.สุมาลีก็บอกว่าให้คิดว่าเราต้องหาย”

 

ขั้นตอนที่ 5 อพมก.เยี่ยมให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง

           (1) เพื่อนบ้านเยี่ยมให้กำลังใจ การให้กำลังใจมีส่วนทำให้กรณีศึกษาเกิดความพยายาม และมีความมั่นใจว่าตนเองต้องหาย ป้านิ่มนวลกล่าวถึงการได้รับกำลังใจจากเพื่อนบ้านว่า

      “เพื่อนบ้านมาเยี่ยมทุกวัน นานเป็นเดือน มาเยี่ยมกันจนเดินได้แหล่ะ อาจเป็นเพราะว่าตอนที่เราเป็น อสม.เราไปเยี่ยมเขาไว้เยอะ นี่แม่ค้าตลาด กลับจากตลาดก็แวะมาเยี่ยมทุกวัน”

          (2) มีผู้ดูแลช่วยดูแลช่วยดูแลอย่างสม่ำเสมอ

       “ลูกสาวพาเดินทุกวัน ประยุกต์เข็มขัดรัดเอวจับพาเดิน ลูกถือเก้าอี้เดินตามหลังไปด้วย กลัวแม่เหนื่อย พอเหนื่อยก็จะได้นั่ง ตัวเองก็ใช้ วอกเกอร์ ที่ได้จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพช่วยเดิน”

       บทเรียนของการดูแลผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์รายนี้ ศูนย์เรียนรู้ในชุมชนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการมีความภูมิใจมากจึงร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการดูแลคนพิการจากอัมพฤกษ์ที่มีโอกาสหายเป็นปกติได้

       สรุป    

    ความสำเร็จของการดูแลคนไข้อัมพฤกษ์ เพื่อไม่ให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตที่เป็นความพิการถาววร นับว่ามีความสำคัญมาก จะเห็นได้ว่า อพมก. เข้าไปเกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มมีอาการต้องส่งโรงพยาบาลภายใน 180 นาที เมื่ออยู๋โรงพยาบาลติดตามเยี่ยมให้กำลังใจ และเมื่อกลับบ้านดูแลช่วยเหลือจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแล ให้กำลังใจผู้ดูแลที่ต้องรับภาระ จนในที่สุดเมื่อหายเป็นปกติ ก็ยังคงต้องดูแลเพื่อป้องการกลับเป็นซ้ำอีก 

     อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการหายเป็นปกติของกรณีศึกษานี้ อพมก.คือส่วนเสริม แต่ที่เป็นหลักและทำให้คนไข้หายเป็นปกติที่จะลืมไม่ได้คือ ผู้ดูแล จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อ อพมก.ว่า กรณีที่คนที่เป็นอัมพฤกษ์ไม่มีผู้ดูแล อพมก.จะจัดการดูแลอย่างไร หรือ กรณีที่ผู้ดูแลมีงานประจำต้องทำงานนอกบ้าน ชุมชนจะจัดการอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่เป็นอัมพฤกษ์กลับฟื้นเป็นปกติได้

 

เรียบเรียงโดย ดร.บุญสืบ โสโสม

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

จากส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง

“กระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพบุคคลที่มีความพิการ”

ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

หมายเลขบันทึก: 486860เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านดร. พัทลุงก็เกาะติดเรื่องคนพิการ " เคยทำโครงการทวีพลังคนพิการทุกประเภท ก่อตั้งสมาคมคนตาบอดขับเคลื่อนงาน

ตามมาอ่านครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ

ปรับเพิ่มเนื้อหาให้ชัดเจน แต่ว่าไม่ได้ใส่รูปเท่านั้นเองค่ะ

เพิ่งเข้ามาอ่าน เป็นพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอยู่ ขอบคุณที่มีการเผยแพร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท